ยุทธวิธีทหารราบ
ยุทธวิธีทหารราบ เป็นการรวมมโนทัศน์และวิธีการทางทหารที่ทหารราบใช้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางยุทธวิธีระหว่างการรบ ตรงแบบบทบาทของทหารราบในสนามรบคือการเข้าประชิดและประจัญบานข้าศึก และยึดที่หมายดินแดน ยุทธวิธีทหารราบเป็นวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ เดิมทีทหารราบประกอบขึ้นเป็นส่วนใหญ่สุดของกำลังรบของกองทัพ จึงมีกำลังพลสูญเสียมากที่สุดตามไปด้วย ตลอดประวัติศาสตร์ ทหารราบพยายามจำกัดความสูญเสียให้น้อยที่สุดทั้งในการเข้าตีและตั้งรับโดยยุทธวิธีที่มีประสิทธิภาพ
ยุทธวิธีทหารราบเป็นวิธีการสงครามที่เก่าแก่ที่สุดและมีมาทุกยุคสมัย ในสมัยต่าง ๆ เทคโนโลยีที่มีอยู่ทั่วไปในเวลานั้นมีผลกระทบสำคัญต่อยุทธวิธีทหารราบ ในทางตรงข้าม วิธีการทางยุทธวิธีสามารถส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีบางอย่างได้ ในทำนองเดียวกัน เมื่ออาวุธและยุทธวิธีมีวิวัฒนาการ รูปขบวนทางยุทธวิธีที่ใช้ก็มีวิวัฒนาการตามไปด้วย เช่น แฟแลงซ์ของกรีก เตซิโอของสเปน แถวตอนนโปเลียน หรือ "แนวสีแดงบาง" ของบริเตน ในสมัยต่าง ๆ จำนวนกำลังที่วางกำลังเป็นหน่วยเดียวยังแตกต่างกันมาก มีตั้งแต่หลายพันถึงไม่กี่สิบนาย
ยุทธวิธีทหารราบสมัยใหม่แตกต่างกันตามการวางกำลังทหารราบแต่ละชนิด ทหารราบยานเกราะ (armoured หรือ mechanised infantry) มีการเคลื่อนพลและสนับสนุนในหน้าที่ด้วยยานพาหนะ ขณะที่ทหารราบประเภทอื่นอาจปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกจากเรือ หรือทหารส่งทางอากาศที่เข้าไปด้วยเฮลิคอปเตอร์ ร่มชูชีพหรือเครื่องร่อน ส่วนทหารราบเบาอาจปฏิบัติการด้วยเท้าเป็นหลัก ในช่วงปีหลัง ปฏิบัติการรักษาสันติภาพเพื่อสนับสนุนความพยายามบรรเทาทุกข์ทางมนุษยธรรมได้มีความสำคัญเป็นพิเศษ ยุทธวิธียังแตกต่างกันตามภูมิประเทศ ซึ่งยุทธวิธีในเขตเมือง ป่า ภูเขา ทะเลทรายหรือพื้นที่อาร์กติกล้วนต่างกันมาก
ประวัติศาสตร์โบราณ[แก้]
แฟแลงซ์ทหารราบเป็นรูปขบวนยุทธวิธีของสุเมเรียนย้อนไปถึงสามสหัสวรรษก่อนคริสตกาล[1] เป็นกลุ่มฮอปไลต์ที่เชื่อมโยงกันแน่นหนา ซึ่งฮอปไลต์ปกติเป็นชายชนชั้นสูงและกลาง ตรงแบบมีความลึกแปดถึงสิบสองแถว สวมหมวกเกราะ เกราะอกและกรีฟ (เกราะใต้เข่า) พกพาไพก์ยาวสองถึงสามเมตร และโล่ทรงกลมเกย[2] แฟแลงซ์มีประสิทธิภาพมากที่สุดในพื้นที่แคบ เช่น เทอร์มอพิลี หรือเมื่อมีทหารจำนวนมาก แม้ชาวกรีกยุคแรกจะมุ่งเน้นแชเรียต (chariot) เนื่องจากภูมิศาสตร์ท้องถิ่น แต่แฟแลงซ์มีการพัฒนาอย่างดีในกรีซและเข้าแทนที่ยุทธวิธีทหารม้าส่วนใหญ่ในสงครามกรีก-เปอร์เซีย ในศตวรรษที่สี่ก่อนคริสตกาล พระเจ้าพีลิปโปสที่ 2 แห่งมาเกโดนีอาทรงจัดระเบียบกองทัพใหม่โดยเน้นแฟแลงซ์[3] และการวิจัยทางทหารแบบวิทยศาสตร์ครั้งแรก[4] ยุทธวิธีของมาซิโดเนียและธีปส์เป็นแบบที่มุ่งเน้นจุดชุมพลเพื่อเจาะผ่านแฟแลงซ์ข้าศึก ตามด้วยการกระแทกของทหารม้า[5] แฟแลงซ์มีการจัดระเบียบอย่างระวังและฝึกอย่างถี่ถ้วน[6] เหล่านี้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในฃพระหัตถ์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งมาซีโดเนีย
แม้แฟแลงซ์ของกรีกจะมีประสิทธิภาพก็ตาม แต่มันไม่ยืดหยุ่น โรมทำให้กองทัพเป็นองค์การอาชีพซับซ้อน โดยมีโครงสร้างผู้นำพัฒนาแล้วและระบบชั้นยศ โรมันทำให้ผู้บัญชาการหน่วยขนาดเล็กได้รับบำเหน็จและเหรียญตราสำหรับความกล้าและความสำเร็จในการรบ ข้อได้เปรียบสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ รูปขบวนยุทธวิธีแบบใหม่
อย่างไรก็ตามแม้ประสิทธิภาพเท่ากับ แฟแลงซ์ กรีก แต่มันไม่ยืดหยุ่น กรุงโรม ทำให้กองทัพของพวกเขากลายเป็นองค์กรมืออาชีพที่มีโครงสร้างความเป็นผู้นำที่ได้รับการพัฒนาและระบบการจัดอันดับ ชาวโรมันทำให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยเล็ก ๆ ได้รับรางวัลและเหรียญตราสำหรับความกล้าหาญและความก้าวหน้าในการต่อสู้ ข้อได้เปรียบที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการสร้างยุทธวิธีใหม่ ลีจันมานิปุลุส (มีมติเห็นชอบเมื่อประมาณ 300 ปีก่อน ค.ศ.[7] ) ซึ่งสามารถปฏิบัติได้อย่างอิสระเพื่อฉวยประโยชน์จากช่องว่างในแนวของข้าศึก ดังที่ใช้ประโยชน์จากช่องว่างในแนวข้าศึกในขณะที่ ยุทธการที่พิดนา (Pydna) บางทีนวัตกรรมสำคัญที่สุดคือการปรับปรุงคุณภาพการฝึกอบรมจนถึงระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้วิธีการเดี่ยว ๆ มีคนรุ่นก่อน ๆ ใช้แล้ว แต่ชาวโรมันสามารถรวมวิธีการเหล่านั้นเข้ากับกองทัพที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง สามารถพิชิตข้าศึกใด ๆ เป็นเวลากว่าสองศตวรรษ[7]
ระบบยุทธวิธีโรมัน[แก้]
ในระดับทหารราบ กองทัพโรมันมีการรับอาวุธใหม่หลายอย่าง ได้แก่ พิลุม (หอกซัดเจาะ), กลาดิอุส (ดาบฟันสั้น) และสกูตุม (โล่นูนขนาดใหญ่) ซึ่งให้การป้องกันจากการโจมตีส่วนใหญ่โดยปลอดความไม่ยืดหยุ่นของแฟแลงซ์[8] โดยทั่วไปแล้วจะเปิดฉากการรบด้วยการระดมพิลุมเบาจากระยะ 18 เมตร (และอาจน้อยกว่านั้นได้บ่อยครั้ง)[9] ตามด้วยระดมยิงพิลุมหนักก่อนชนด้วยสกูตุมและกลาดิอุส ทหารโรมันได้รับการฝึกให้ใช้ดาบแทงแทนการฟัน ให้รักษาโล่ไว้เบื้องหน้าเสมอ รักษารูปขบวนกำแพงโล่หนาแน่นกับเพื่อนทหาร เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ ทหารโรมันที่เข้าใกล้ระยะ 2 เมตรจากข้าศึก (เขาจำเป็นต้องทำเช่นนั้นด้วยกลาดิอุส) เขาจะได้เป็นพลเมืองหลังทำเช่นนั้นเมื่อรับราชการครบเวลา[9] วินัยทหารราบของโรมันเข้มงวด และมีการฝึกสม่ำเสมอซ้ำ ๆ
ลีจันมานิปุลุสเป็นพัฒนาการเหนือกว่าแฟแลงซ์ซึ่งใช้เป็นพื้นฐาน โดยให้ความยืดหยุ่นและการตอบโต้ซึ่งไร้เทียมทานก่อนเวลานั้น โดยการเพิ่มการแยกขบวน (dispersal) ซึ่งเป็นสามเท่าของแฟแลงซ์ตรงแบบ ลีจันมานิปุลุสมีประโยชน์ที่คาดไม่ถึงในการลดอันตรายถึงตายของอาวุธฝั่งตรงข้าม[10] เมื่อรวมกับการฝึกอบรมที่ยอดเยี่ยมและผู้นำที่มีประสิทธิภาพ กองทัพโรมันจึงเป็นกองทัพดีที่สุดในโลกเป็นเวลาหลายศตวรรษ พลังของกองทัพในสนามนรบนั้นมีมากเสียจนผู้นำกองทัพเลี่ยงป้อมสนามส่วนใหญ่ และนิยมเผชิญกับข้าศึกในที่เปิดโล่งมากกว่า ในการหักเอาป้อมสนามที่ฝ่ายข้าศึกถือครองอยู่ กองทัพโรมันจะตัดเส้นทางเสบียง สร้างหอคอยรอบแนวป้องกัน ตั้งคาตาพัลท์และบีบให้ข้าศึกพยายามหยุดการพังกำแพงของป้อมสนาม ความสำเร็จของกองทัพโรมันมีการแกะสลักในศิลาบนเสาไตรยานุส และมีบันทึกดีในสิ่งประดิษฐ์ที่ที่เกลื่อนกลาดในสนามรบทั่วทวีปยุโรป
สมัยกลาง[แก้]
หลังจักรวรรดิโรมันล่มสลาย ยุทธวิธีที่หลักแหลมจำนวนมากที่โรมันใช้ก็หายไปด้วย เผ่าต่าง ๆ เช่น วิสิกอทและแวนดัล นิยมโถมใส่ข้าศึกในกลุ่มขนาดใหญ่ เผ่าชนเหล่านี้มักชนะการรบต่อข้าศึกที่ก้าวหน้ากว่าโดยใช้ความจู่โจมและกำลังคนที่เหนือกว่า จักรวรรดิไบแซนไทน์ที่เกิดจากการแบ่งจักรวรรดิโรมัน สร้างกองทัพที่มีประสิทธิภาพ ทหารเกณฑ์ได้รับค่าจ้างงามและมีผู้บัญชาการที่ได้รับการศึกษาในยุทธวิธีและประวัติศาสตร์ทางทหาร อย่างไรก็ดี กองทัพอาศัยทหารม้าเป็นหลัก ทำให้ทหารราบเป็นส่วนที่เล็กกว่าของกำลังโดยรวม
ไวกิงสามารถต่อกรศัตรูที่แข็งแกร่งกว่าอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความจู่โจมและความคล่องตัว ไวกิงสามารถตัดสินว่าจะเข้าตีเมื่อใดและที่ใด ดุจกองโจรในสงครามอื่น ๆ ส่วนหนึ่งเพราะเรือท้องแบน ซึ่งสามารถทำให้ลักลอบเข้าไปลึกในแผ่นดินยุโรปทางแม่น้ำก่อนดำเนินการเข้าตี โดยข้าศึกไม่ทันตั้งตัวอยู่บ่อยครั้ง อารามเป็นเป้าหมายบ่อย ๆ เพราะมักไม่ค่อยได้รับการคุ้มครองอย่างดี และมักมีปริมาณสิ่งของมีค่าอยู่พอสมควร ไวกิงน่าเกรงขามในการรบ แต่ยิ่งน่าเกรงขามยิ่งขึ้นอีกเมื่อมีเบอเซอเกอร์
การรบในยุคกลางมักมีขนาดเล็กกว่าการรบที่เกี่ยวข้องกับกองทัพโรมันและกรีซในสมัยโบราณ กองทัพมีการกระจายอำนาจมากกว่า (ซึ่งคล้ายกับรัฐในยุคนั้น) มีการจัดระเบียบการส่งกำลังและยุทธภัณฑ์อย่างเป็นระบบน้อย ผู้นำมักขาดประสิทธิภาพ ฐานะอำนาจของผู้นำมักขึ้นอยู่กับชาติกำเนิด ไม่ใช่ความสามารถ ทหารส่วนใหญ่ภักดีต่อเจ้าศักดินามากกว่ารัฐของพวกตน และการไม่อยู่ใต้บังคับภายในกองทัพก็พบดาษดื่น อย่างไรก็ดี ข้อแตกต่างใหญ่สุดระหว่างสงครามสมัยก่อนและสงครามในยุคกลางได้แก่การใช้ทหารม้าหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัศวิน อัศวินสามารถไล่กวดทหารราบที่ติดอาวุธาดบ ขวานและกระบองอย่างง่ายดาย ตรงแบบทหารราบมีจำนวนมากกว่าอัศวินระหว่างห้าถึงสิบต่อหนึ่ง ทหารราบสนับสนุนอัศวินและคุ้มกันของแย่งชิง (loot) ใด ๆ ที่รูปขบวนนั้นมี ทหารราบที่ติดอาวุธด้วยหอกสามารถตอบโต้ภัยคุกคามที่เกิดจากทหารม้าข้าศึก ในโอกาสอื่น หลุม ขวาก แวกอนหรือบ่อไม้ปลายแหลมสามารถใช้เพื่อป้องกันทหารม้าที่กำลังบุกประชิดได้ ส่วนพลธนูยิงลูกศรใส่ทหารม้าข้าศึก ทหารอังกฤษใช้ขวากเพื่อป้องกันอัศวินฝรั่งเศสในยุทธการที่อาแซ็งกูร์ในปี 1415
พลไพก์มักมาทดแทนในชุมชนและหมู่บ้านที่ไม่สามารถมีกำลังทหารม้าหนักขนาดใหญ่ ไพก์อาจยาวได้ถึง 5.5 เมตร ส่วนหอกมีความยาวเพียง 2.4 เมตร พลธนูสามารถผสมเข้ากับกำลังพลหอกหรือพลไพก์เพื่อยิงห่าลูกศรใส่ข้าศึก ส่วนหอกหรือไพก์ตรึงข้าศึกอยู่กับที่ โพลอาร์มได้รับการปรับปรุงอีกครั้งด้วยการสร้างแฮลบัด แฮลบัดสามารถมีความยาวเท่ากับหอก แต่มีหัวเป็นขวานเพื่อให้ผู้ใช้ฟันหรือสับทหารม้าข้าศึกที่อยู่ด้านหน้าของขวานหรือปลายบางตรงฝั่งตรงข้าม ชาวญี่ปุ่นก็มีโพลอาร์มเหมือนกัน นางินาตะประกอบด้วยก้านยาว 1,8 เมตร และใบมีด 0.76 เมตร หญิงมักใช้นางินาตะเพื่อเฝ้าปราสาทเมื่อไม่มีชาย

หน้าไม้ ซึ่งไม่ต้องอาศัยพลธนูที่ผ่านการฝึก พบใช้บ่อยในกองทัพซึ่งการฝึกอย่างกว้างขวางที่จำเป็นสำหรับธนูยาวนำมาปฏิบัติจริงไม่ได้ ข้อเสียใหญ่สุดของหน้าไม้คือเวลาบรรจุกระสุนช้า เมื่อมีตัวช่วยดึงเหล็กกล้าและกลไก หน้าไม้จึงทรงพลังยิ่งกว่าแต่ก่อน ชุดเกราะสามารถป้องกันธนูยาวและหน้าไม้เก่าได้ แต่ไม่สามารถหยุดลูกหน้าไม้จากอาวุธปรับปรุงเหล่านี้ได้ สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 2 สั่งห้ามหน้าไม้เหล็กเกล้าและกล แต่การใช้อาวุธร้ายแรงนี้ก็ได้เริ่มต้นไปแล้ว
อาวุธดินปืนอย่างแรก ๆ ปกติประกอบด้วยท่อโลหะผูกกับเสาไม้ ปกติอาวุธเหล่านี้สามารถยิงได้เพียงครั้งเดียว ปืนใหญ่มือเหล่านี้มีความแม่นยำไม่มาก และปกติใช้ยิงจากกำแพงนครหรือในการซุ่มโจมตี เช่นเดียวกับหน้าไม้ ปืนใหญ่มือไม่ต้องอาศัยทหารที่ผ่านการฝึกและสามารถเจาะเกราะที่ทหารข้าศึกสวมใส่ได้ พลยิงระยะไกลเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองด้วยทหารที่มีอาวุธประชิด อัศวินจะอยู่สองข้างของกำลังนี้และบุกใส่ข้าศึกเพื่อทำลายหลังอ่อนกำลังจากการระดมยิงเหล่านี้แล้ว การริเริ่มอาวุธปืนเป็นเค้าลางการปฏิวัติทางสังคม เพราะชาวนาที่ไม่รู้หนังสือสามารถฆ่าอัศวินชั้นสูงได้
ประวัติศาสตร์สมัยใหม่[แก้]
สมัยใหม่ตอนต้น[แก้]
เมื่ออาวุธปืนมีราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเริ่มแพร่หลายในหมู่ทหารราบเริ่มตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 อาวุธปืนต้องการการฝึกเพียงเล็กน้อย ไม่นานจึงทำให้ดาบ คทา ธนูและอาวุธอื่นล้าสมัยไป ไพก์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรูปขบวนไพก์และยิงอยู่ได้นานกว่ามาก เมื่อถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 อาวุธปืนกลายเป็นอาวุธหลักในหลายกองทัพ อาวุธปืนหลักในเวลานั้นได้แก่อาร์ควิบัส แม้ว่าจะมีความแม่นยำแน่นกว่าธนู แต่อาร์ควิบัสสามารถเจาะทะลุเกราะส่วนใหญ่ในเวลานั้นและต้องการการฝึกเล็กน้อย เพื่อเป็นการตอบโต้ เกราะจึงมีการทำให้หนาขึ้น ทำให้หนักมากและแพง ผลคือ ควิแรส (cuirass) เข้ามาแทนฮอเบิร์ก (hauberk) และชุดเกราะเต็มยศ และมีเพียงทหารม้าที่ทรงคุณค่าที่สุดเท่านั้นที่สวมใส่มากกว่าเสื้อแผ่นซับ
ทหารที่ถืออาร์ควิบัสปกติมีการจัดเป็นสามแถว เพื่อให้แถวหนึ่งยิงได้ ส่วนอีกสองแถวบรรจุกระสุน ยุทธวิธีนี้ทำให้รักษาการยิงปืนอย่างต่อเนื่อง และชดเชยความไม่แม่นยำของอาวุธได้ มีการวางเครื่องกีดขวางทำจากไม้หรือพลไพก์อยู่หน้าพลอาร์ควิบัสเพื่อหยุดทหารม้า ตัวอย่างเช่นในยุทธการที่นากาชิโนะ
มอริสแห่งนัสเซา ผู้นำกบฏดัตช์ในคริสต์ทศวรรษ 1580 สร้างนวัตกรรมทางยุทธวิธีหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการแบ่งทหารราบออกเป็นหน่วยเล็ก ๆ และเคลื่อนที่ได้มากกว่า แทนจัตุรัสอุ้ยอ้ายและเคลื่อนไหวช้าแบบเดิม[11] การริเริ่มการระดมยิงช่วยชดเชยความไม่แม่นยำของปืนคาบษิลาและมีใช้ครั้งแรกในการรบในทวีปยุโรป ณ นิวพอร์ทในปี 1600 การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต้องอาศัยทหารที่ฝึกอย่างดีซึ่งสามารถรักษารูปขบวนได้ระหว่างที่บรรจุและบรรจุกระสุนใหม่ กอปรกับมีการควบคุมและผู้นำที่ดีกว่า ผลโดยรวมคือทำให้นายทหารและทหารมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น บางทีมีการอ้างว่ามอริสเป็นผู้สร้างเหล่านายทหารสมัยใหม่
นวัตกรรมของเขามีการดัดแปลงเพิ่มเติมโดย กุสตาฟ อะดอล์ฟ ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพและความเร็วของการระดมยิง โดยใช้ปืนคาบศิลาล้อล็อกและกระสุนปลอมกระดาษ ขณะที่เพิ่มการเคลื่อนที่โดยลดเกราะหนักเสีย[12] บางทีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สุดคือการเพิ่มจำนวนพลปืนคาบศิลาและลดความจำเป็นสำหรับพลไพก์โดยการใช้ดาบปลายปืนแบบเสียบ[13] ข้อเสียคือปืนคาบศิลาจะใช้ยิงไม่ได้อีกเมื่อติดดาบ ดาบปลายปืนแบบเบ้าชนะปัญหาดังกล่าวได้ แต่ปัญหาทางเทคนิคว่าจะรักษาให้ดาบติดกับปืนอย่างไรนั้นใช้เวลาในการแก้ไขให้สมบูรณ์

เมื่อปัญหานี้ได้รับการแก้ไขในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 การปฏิบัติที่ยอมรับคือทั้งสองฝ่ายยิงก่อนแล้วจึงบุกประชิดด้วยดาบปลายปืนที่ติดแล้ว การกระทำเช่นนี้ต้องอาศัยการคำนวณอย่างระวังเพราะยิ่งแนวใกล้กันมากเท่าไร การระดมยิงชุดแรกก็ยิ่งมีประสิทธิภาพมากเท่านั้น ตัวอย่างที่ขึ้นชื่อที่สุดตัวอย่างหนึ่ง คือ ที่ฟองเทนอย ในปี 1745 เมื่อมีการอ้างว่าทหารบริเตนและฝรั่งเศสเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายยิงก่อน[14]
ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 เน้นการป้องกันและโจมตีที่มั่นป้อมค่ายและเลี่ยงการรบเว้นเสียแต่เงื่อนไขอำนวยอย่างยิ่งเท่านั้น[15] ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 การเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีและอาวุธทหารราบหมายความว่ามีความเต็มใจยอมรับการรบมากขึ้น ฉะนั้นการฝึก วินัยและการรักษารูปขบวนจึงมีความสำคัญมากขึ้น มีหลายเหตุผลสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ ข้อหนึ่งคือจนกว่ามีการประดิษฐ์ดินปืนไร้ควัน การรักษาการติดต่อกับทหารทั้งสองฝั่งของบุคคลบางทีเป็นทางเดียวที่จะทราบได้ว่าจะรุกหน้าไปทางใด ทหารราบในแนวเส้นมีความเปราะบางต่อการเข้าตีของทหารม้าอย่างยิ่ง นำให้มีการพัฒนาจัตุรัส แม้ยังไม่ทราบ แต่ทหารม้าที่ทลายจัตุรัสที่รักษาไว้ดีนั้นพบน้อย
สมัยใหม่ตอนปลาย[แก้]
นโปเลียน[แก้]
นโปเลียน โบนาปาร์ตมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างต่อสภาพของการสงคราม หากจะให้ยกมรดกยิ่งใหญ่ที่สุดของนโปเลียนในการสงครามมาหนึ่งอย่าง จะได้แก่การใช้และการเสริมแต่งการใช้กองทัพกระจายอย่างกว้างขวาง คือ เขาแยกกลุ่มหน่วยในกองทัพของเขาเพื่อให้กระจายออกไปในพื้นที่กว้างกว่า แต่ยังให้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชากลางของเขา ไม่เหมือนกับกาลก่อนที่กลุ่มแยกจะรบเป็นอิสระต่อกัน แบบนี้ทำให้เขาบังคับการรบโดยหันทิศทางหรือล้อมกองทัพข้าศึก ขณะที่ในอดีต กองทัพจะต่อสู้เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันหรือเพราะมีการดำเนินกลยุทธ์แบบจู่โจมซึ่งทำให้กองทัพพบอุปสรรคอย่างแม่น้ำ
เขาอาศัยแถวตอนอย่างหนัก ซึ่งแถวตอนเป็นรูปขบวนความกว้างน้อยกว่าหนึ่งร้อยคน และประกอบด้วยทั้งกองพลน้อยในรูปขบวนติดแน่นและส่วนใหญ่รุกเข้าปะทะด้วยดาบปลายปืน การเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องและมวลของรูปขบวนนี้สามารถเจาะผ่านแนวของข้าศึกส่วนใหญ่ได้ แต่มีความอ่อนไหวถึงเจาะโดยการยิงที่ฝึกมาดีหรือปริมาณมากเพราะรูปขบวนนี้ไม่สามารถยิงระหว่างบุกได้ ข้อได้เปรียบหลักคือความสามารถในการเคลื่อนทัพอย่างรวดเร็วและวางกำลังเป็นเส้นตรงได้ค่อนข้างง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารที่ฝึกอย่างดีและมีแรงจูงใจอย่างที่นโปเลียนมีหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ต่อมาเขาใช้รูปขบวนลำดับผสมซึ่งสามารถประกอบด้วยทหารหนึ่งหน้ากระดานหรือมากกว่า สนับสนุนโดยแถวตอนตั้งแต่หนึ่งแถวตอนขึ้นไป ซึ่งทำให้มีอำนาจยิงขยายของหน้ากระดาน กับความสามารถตอบโต้อย่างรวดเร็วของแถวตอนสนับสนุนอยู่
รูปขบวนแถวตอนทำให้หน่วยเคลื่อนได้รวดเร็ว การบุกประชิดที่มีประสิทธิภาพมาก (เนื่องจากจำนวนมาก) หรือสามารถก่อจัตุรัสอย่างรวดเร็วเพื่อต้านทานการเข้าตีของทหารม้า แต่โดยสภาพแล้ว มีปืนคาบศิลาบางส่วนเท่านั้นที่สามารถเปิดฉากยิงได้ หน้ากระดานทำให้ได้ด้านหน้าของปืนคาบศิลาใหญ่กว่ามากจึงมีสมรรถนะการยิงสูงกว่า แต่ต้องอาศัยการฝึกอย่างกว้างขวางเพื่อให้หน่วยเคลื่อนที่ไปพร้อมกันขณะที่รักษาหน้ากระดานไว้
ระเบียบผสมยังเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิยมยุทธวิธีของฝรั่งเศส ขณะที่กองทัพฝรั่งเศสมีวินัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีจุดแข็งทั้งของรูปขบวนหน้ากระดานและแถวตอน ขณะที่เลี่ยงจุดอ่อนติดตัวรูปขบวนเหล่านั้นบางส่วน นโปเลียนใช้รูปขบวนดังกล่าวอย่างกว้างขวางเมื่อบังคับบัญชากองทัพใหญ่
รูปขบวนนี้แซงหน้ากองทัพอื่นในวเลานั้นซึ่งเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ เพื่อรักษาหน้ากระดานให้ตรงและชิดกัน เพื่อป้องกันทหารม้าจากด้านใน ช่องว่างสามารถเฝ้ารักษาได้ด้วยการยิงปืนคาบศิลา แต่หน้ากระดานโดยทั่วไปจำเป็นต้องมีแนวตรงกันและอาจเสียรูปขบวนไปได้แม้พื้นดินคลื่นลอนลาดที่ดูราบเมื่อทหารแต่ละคนช้าลงหรือเร็วขึ้นเมื่อข้ามที่ดินต่างระดับกัน ทางแก้เดียวคือการเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ และแถวตอนมีการดำเนินกลยุทธ์ในสนามรบทางยุทธวิธี ฉะนั้นมีโอกาสโอบหรือชนะกลยุทธ์ข้าศึก หรือที่สำคัญกว่านั้น สะสมกำลังต่อจุดอ่อนในแนวข้าศึก
นโปเลียนยังเป็นผู้ใช้ปืนใหญ่ตัวยง เขาเริ่มอาชีพของเขาเป็นนายทหารปืนใหญ่ และใช้ปืนใหญ่ได้ผลดีเนื่องจากความรู้เชี่ยวชาญของเขา กองทัพฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสมีแรงจูงใจอย่างสูง และหลังการปฏิรูปปี 1791 ได้รับการฝึกอย่างดีในหลักนิยมใหม่สุด
สุดท้ายนโปเลียนปราชัย แต่ยุทธวิธีของเขามีการศึกษาจนล่วงเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 19 แม้เมื่ออาวุธที่มีการปรับปรุงขึ้นทำให้การเข้าตีของทหารราบคราวละมาก ๆ มีอันตรายมากยิ่งขึ้น
ยุทธวิธีนอกแบบ[แก้]
ประเทศซึ่งไม่เคยเป็นมหาอำนาจสำคัญของโลกใช้ยุทธวิธีทหารราบแบบอื่น ในแอฟริกาใต้ อิมปี (กรมทหาร) ของซูลูขึ้นชื่อจากยุทธวิธีเขากระทิง ซึ่งมีการแบ่งทหารออกเป็นสี่กลุ่ม สองกลุ่มด้านหน้า และอีกหนึ่งกลุ่มทางซ้ายและขวา ทั้งสี่กองจะล้อมหน่วยข้าศึก เข้าประชิดและทำลายด้วยแอสซะไกสั้น ขณะที่ชาวซูลูที่มีอาวุธปืนคอยยิงรบกวน นักรบซูลูทำให้ข้าศึกประหลาดใจ และบ่อยครั้งชนะข้าศึก แม้ต่อกับข้าศึกที่มีอาวุธดีกว่าและมียุทธภัณฑ์มากกว่าอย่างกองทัพบริติช
ชาวซูดานต่อสู้กับข้าศึกโดยใช้พลปืนเล็กยาวจำนวนหนึ่งเพื่อล่อพลปืนเล็กยาวของข้าศึกให้อยู่ในพิสัยของพลหอกซูดานที่ลอบเร้นอยู่ ในนิวซีแลนด์ ชาวเมารีซ่อนอยู่ในบังเกอร์ป้อมสนามหรือปาซึ่งสามารถรับการเข้าตีจากอาวุธที่ทรงอำนาจอันดับต้น ๆ ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้ ก่อนล่อกำลังฝ่ายตรงข้ามเข้าสู่การซุ่มโจมตี บางทีชนพื้นเมืองจะติดอาวุธด้วยอาวุธที่คล้ายหรือเหนือกว่าประเทศจักรวรรดินิยมที่ตนกำลังต่อสู้ด้วย ระหว่างยุทธการที่ลิตเติลบิกฮอร์น พันโท จอร์จ คัสเตอร์และทหารห้าจากสิบสองกองร้อยแห่งกรมทหารม้าที่ 7 ถูกทำลายโดยเผ่าซูและไชแอน[16]
กลยุทธ์ทหารราบนอกแบบมักทำให้ข้าศึกตามแบบตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบ ระหว่างสงครามโบเออร์ครั้งที่สอง ชาวโบเออร์ใช้กลยุทธ์กองโจรต่อสู้กับกองทัพบริติชตามแบบ พลยิงแม่นชาวโบเออร์สามารถฆ่าทหารบริติชจากระยะหลายร้อยหลา การเข้าตีด้วยพลยิงแม่นอย่างต่อเนื่องนี้บีบให้ทหารราบบริติชสวมเครื่องแบบสีกากีแทนสีแดงตามประเพณี ชาวโบเออร์มีความคล่องตัวกว่าทหารราบบริติชมาก ฉะนั้นปกติจึงสามารถเลือกได้ว่าการรบจะเกิดขึ้นที่ใด กลยุทธ์นอกแบบเหล่านี้บังคับให้ฝ่ายบริติชต้องรับยุทธวิธีนอกแบบของตนบ้าง
หลังปี 1945[แก้]
สงครามเกาหลีเป็นความขัดแย้งหลักครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีการริเริ่มใช้เครื่องมือใหม่ รวมทั้งวิทยุขนาดเล็กและเฮลิคอปเตอร์ การส่งด้วยร่มชูชีพซึ่งมักกระจายทหารจำนวนมากทั่วสนามรบ ถูกแทนที่ด้วยปฏิบัติการเคลื่อนที่ทางอากาศโดใช้เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงคนอย่างแม่นยำ เฮลิคอปเตอร์ยังให้การยิงสนับสนุนหลายครั้ง และสามารถใช้เร่งรุดเพื่อโจมตีอย่างแม่นยำต่อข้าศึก ฉะนั้นทหารราบจึงมีอิสระพิสัยไกลเกินตำแหน่งปืนใหญ่อยู่กับที่แต่เดิม ทหารราบยังสามารถปฏิบัติการหลังแนวข้าศึก แล้วนำกำลังออกทางอากาศในภายหลังได้ ทำให้เกิดมโนทัศน์การโอบแนวตั้ง (ซึ่งเดิมเป็นแนวคิดสำหรับกำลังส่งทางอากาศ) ซึ่งข้าศึกไม่ได้ถูกกระหนาบจากทางซ้ายหรือขวา แต่จากบนฟ้า

ยุทธวิธีทหารราบเคลื่อนที่[แก้]
มีการพัฒนายุทธวิธีทหารราบใหม่โดยเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการสงครามยานเกราะ ซึ่งปรากฏในบลิทซ์ครีก การรบประกอบด้วยทหารราบทำงานร่วมกับรถถัง อากาศยาน ปืนใหญ่มากกว่าที่เคยเป็นมา โดยเป็นส่วนหนึ่งของการรบผสมเหล่า ตัวอย่างหนึ่งของการรบผสมเหล่าคือจะมีการส่งทหารราบไปหน้ารถถังเพื่อค้นหาทีมต่อสู้รถถัง วิทยุพกพาทำให้ผู้บัญชาการสนามสื่อสารกับกองบังคับการได้ ทำให้มีการถ่ายทอดคำสั่งได้ทันที
การพัฒนาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือวิธีการขนส่ง ทหารไม่ต้องเดิน (หรือขี่ม้า) จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม การขนส่งด้วยยานยนต์ยังมีน้อยอยู่ เยอรมนีใช้ม้าเพื่อการขนส่งในสงครามโลกครั้งที่สองมากกว่าในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และกองทัพบริติชเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 1944 ยังไม่ได้ใช้ยานยนต์ทั้งหมด แม้มีรถบรรทุกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งแล้ว แต่ความคล่องตัวของรถบรรทุกไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่เพราะการคุมเชิงกันในการสงครามสนามเพลาะ ตลอดจนภูมิประเทศที่ถูกทำลายย่อยยับที่แนวหน้าและประสิทธิภาพต่ำของยานพาหนะในเวลานั้น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สามารถเคลื่อนย้ายทหารราบจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้โดยใช้รถกึ่งสายพาน รถบรรทุกหรือแม้แต่อากาศยาน ซึ่งทำให้ทหารราบพักผ่อนดีขึ้นและสามารถรบได้เมื่อถึงเป้าหมายแล้ว
มีการวางกำลังพลร่ม เป็นทหารราบแบบใหม่เช่นกัน ทหารเหล่านี้ติดอาวุธเบาและกระโดดร่มหลังแนวข้าศึกเพื่อหวังจู่โจมข้าศึกโดยไม่ให้ตั้งตัว ฝ่ายเยอรมันใช้ครั้งแรกในปี 1940 เพื่อยึดวัตถุประสงค์สำคัญและยึดไว้นานพอให้กำลังเพิ่มเติมมาถึง ทว่าพลร่มต้องการการสนับสนุนทันท่วงทีจากกำลังรบหลัก กองพลส่งทางอากาศที่ 1 ของบริเตนถูกกวาดล้างที่อาร์นเฮม หลังถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง
เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามรถถัง ทหารราบสงครามโลกครั้งที่สองมีตัวเลือกน้อยมากนอกจากระเบิดที่เรียก "โมโลตอฟค็อกเทล" (ทหารจีนใช้ครั้งแรกต่อรถถังญี่ปุ่นรอบเซี่ยงไฮ้ในปี 1937[17]) และปืนเล็กยาวต่อสู้รถถัง ทั้งสองอย่างไม่มีประสิทธิภาพมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายานเกราะมีทหารราบสนับสนุน ทั้งสองวิธี รวมทั้งทุ่นระเบิดต่อสู้รถถังในเวลาต่อมา ซึ่งบางส่วนสามารถติดกับรถถังด้วยแม่เหล็ก ต้องอาศัยผู้ใช้เข้าใกล้ พัฒนาการภายหลังอย่างบาซูกา พีไอเอที และพันแซร์เฟาสท์ ทำให้การเข้าตีมีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อยานเกราะจากระยะไกล ฉะนั้น รถถังจึงถูกบีบให้มีหมู่ทหารราบสนับสนุน โดยเฉพาะในเขตซากเมือง
นาวิกโยธินโดดเด่นขึ้นมาระหว่างสงครามแปซิฟิก ทหารเหล่านี้มีสามารถในการสงครามสะเทินน้ำสะเทินบกระดับที่เคยทราบมาก่อน ในฐานะทหารราบนาวิก ทั้งนาวิกโยธินญี่ปุ่นและอเมริกันได้รับการสนับสนุนจากเรือ อย่างเรือประจัญบาน เรือลาดตระเวน และเรือบรรทุกเครื่องบินที่พัฒนาใหม่ เช่นเดียวกับทหารราบปกติ นาวิกโยธินใช้วิทยุสื่อสารกับส่วนสนับสนุน และสามารกเรียกการทิ้งระเบิดทางทะเลและอากาศได้อย่างรวดเร็ว
ความแพร่หลายของเฮลิคอปเตอร์หลังสงครามโลกครั้งที่สองทำให้เกิดยุทธวิธีการเคลื่อนที่ทางอากาศอย่างการโอบทางอากาศ
ยุทธวิธีหมู่[แก้]
ยุทธวิธีรุก[แก้]
ยุทธวิธีหมู่ก้าวร้าวคล้ายกันทั้งสองฝ่าย แม้รายละเอียดในอาวุธ จำนวนและรายละเอียดของหลักนิยมแตกต่างกัน เป้าหมายหลักคือการรุกคืบด้วยวิธีการยิงและเคลื่อนที่โดยให้มีกำลังพลสูญเสียน้อยที่สุด ระหว่างที่รักษาประสิทธิภาพและการควบคุมหน่วย
ชุดเยอรมันจะชนะ ฟอยเออร์คัมฟ์ (การยิงปะทะ) จากนั้นยึดตำแหน่งสำคัญ ชุดปืนเล็กยาวและปืนกลไม่ได้แยกกัน แต่เป็นส่วนหนึ่งของกรุพเพอ แม้ทหารมักยิงได้ตามใจ ชัยจะเป็นของฝ่ายที่สามารถสะสมการยิงถูกเป้าหมายมากที่สุดและเร็วที่สุด โดยทั่วไปทหารได้รับคำสั่งให้หยุดยิงจนข้าศึกอยู่ในระยะ 600 เมตรหรือน้อยกว่า เมื่อทหารเปิดฉากยิงใส่เป้าหมายใหญ่เป็นหลัก ทหารจะถูกยิงจากระยะไม่เกิน 400 เมตร
ชุดเยอรมันมีสองรูปขบวนหลักระหว่างเคลื่อนที่บนสนามรบ เมื่อรุกคืบในไรเฮอ (Reihe) หรือแถวตอนเดี่ยว ซึ่งผู้บังคับหมู่นำแถว ตามด้วยพลปืนกลและผู้ช่วย ตามด้วยพลปืนเล็กยาว โดยมีผู้ช่วยผู้บังคับหมู่เคลื่อนที่ปิดท้าย ไรเออเคลื่อนที่ส่วนใหญ่บนเส้นทางและปรากฏเป็นเป้าขนาดเล็กจากด้านหน้า ในบางกรณี สามารถวางกำลังปืนกลขณะที่ชุดที่เหลือยึดด้านหลัง ในกรณีส่วนใหญ่ ทหารใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศ อยู่หลังกำบัง และวิ่งออกสู่ที่โล่งเมื่อไม่มีกำบัง
ไรเฮอยังสามารถก่อเป็นชึทเซนเคทเทอหรือแถวขยายได้โดยง่าย มีการวางกำลังปืนกล ณ จุดนั้น ส่วนพลปืนเล็กยาวเติมขึ้นมาทางฝั่งขวา ซ้ายหรือทั้งสองฝั่ง ผลคือได้แนวขาดตอนซึ่งทหารอยู่ห่างกันห้าก้าว เข้ากำบังเมื่อใดก็ตามที่หาได้ ในพื้นที่ซึ่งการต้านทานรุนแรง ชุดจะดำเนินการ "ยิงและเคลื่อนที่" ซึ่งอาจใช้โดยทั้งหมู่ หรือชุดปืนกลนั่งลงขณะที่พลปืนเล็กยาวรุกหน้า ผู้บังคับบัญชามักระวังไม่ยิงปืนกลจนถูกการยิงของข้าศึกบีบ วัตถุประสงค์ของการยิงปะทะไม่จำเป็นต้องเป็นไปเพื่อทำลายข้าศึก แต่เพื่อปราบ ทำให้เงียบหรือทำให้หมดสมรรถภาพ
ระยะสุดท้ายของการปฏิบัติหมู่บุก คือ การยิงต่อสู้ การรุก การโจมตีและการยึดครองตำแหน่ง
การยิงต่อสู้ เป็นตอนของหน่วยยิง ผู้บังคับตอนดังกล่าวปกติสั่งให้พลปืนกลเบาเปิดฉากยิงใส่ข้าศึก หากมีกำบังอยู่มากและผลการยิงที่ดีเป็นไปได้ พลปืนเล็กยาวจะเข้าร่วมรบด้วยเร็ว พลปืนเล็กยาวส่วนมากต้องอยู่ที่แนวหน้าภายหลังเพื่อเตรียมการโจมตี ปกติพลปืนเล็กยาวยิงแยกกันยกเว้นผู้บังคับบัญชาสั่งให้พุ่งไปยังเป้าหมายเดียว
การรุก เป็นตอนที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าในรูปขบวนอย่างหลวม ปกติพลปืนกลเบาเป็นแนวการเข้าตี ยิ่งพลปืนเล็กยาวตามหลังพลปืนกลเบาไกลมากเท่าใด ปืนกลด้านหลังยิ่งสามารถยิ่งผ่านพลปืนเล็กยาวได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
การโจมตี เป็นการบุกหลักในการปฏิบัติของหมู่ ผู้บังคับบัญชาโจมตีเมื่อใดที่เขามีโอกาสไม่ใช่เมื่อได้รับคำสั่งให้ทำเช่นนั้น ทั้งตอนรีบรุดไปโจมตีระหว่างที่ผู้บังคับบัญชานำทาง ตลอดการโจมตี ต้องประจัญบานข้าศึกด้วยอัตราการยิงสูงสุด พลปืนกลเบาเข้าร่วมในการโจมตี ยิงระหว่างเคลื่อนที่ไปด้วย หมู่ใช้ระเบิดมือ ปืนพกกล ปืนเล็กยาว ปืนพก และพลั่วสนามพับได้ และพยายามฝ่ายการต้านทานของข้าศึก หมู่ต้องจัดระเบียบใหม่อย่างรวดเร็วเมื่อการโจมตีสิ้นสุด
เมื่อครอบครองตำแหน่ง ชุดพลปืนเล็กยาวจัดกลุ่มเป็นกลุ่มละสองหรือสามคนรอบพลปืนเล็กยาวเพื่อให้ได้ยินผู้บังคับตอน
รูปขบวนพื้นฐานของชุดอเมริกันคล้ายกับรูปขบวนพื้นฐานของเยอรมัน แนวชุดของสหรัฐมีทหารกระจายออกโดยมีหัวหน้าชุดและทหารปืนเล็กยาวอัตโนมัติบราวน์นิง (BAR) นำหน้าพลปืนเล็กยาวเป็นแนวอยู่ด้านหลังประมาณ 60 ก้าว รูปขบวนนี้ควบคุมและดำเนินกลุยทธ์ได้ง่าย และเหมาะสมสำหรับพื้นที่ข้ามซึ่งเปิดโล่งต่อการยิงด้วยปืนใหญ่ เคลื่อนผ่านเส้นทางมีกำบังแคบ ๆ และการเคลื่อนที่เร็วในป่า หมอก ควันและความมืด
แถวขยาย คล้ายกับรูปขบวนชึทเซนเคทเทอ ในรูปขบวนดังกล่าว มีการวางกำลังชุดเป็นแถวยาวประมาณ 60 ก้าว ซึ่งเหมาะสมสำหรับการโผเร็วสั้น ๆ แต่ควบคุมได้ไม่ง่าย รูปลิ่มชุด เป็นทางเลือกของแถวขยาย และเหมาะสำหรับการเคลื่อนที่พร้อมในทุกทิศทางหรือโผล่ออกจากกำบัง ลิ่มมักใช้ห่างจากพิสัยการยิงของพลปืนเล็กยาวเพราะมีความเปราะบางมากกว่าแถวขยาย
ในบางโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชุดทำงานแยกกันเพื่อยึดตำแหน่งของข้าศึก ผู้บังคับบัญชาสั่งชุดให้เข้าตีเป็นหมู่ย่อย "ชุดเอเบิล" ประกอบด้วยพลลาดตระเวนปืนเล็กยาวสองนาย ซึ่งคอยหาตำแหน่งข้าศึก "ชุดเบเกอร์" ประกอบด้วยพล BAR และพลปืนเล็กยาวสามนาย จะเปิดฉากยิง "ชุดชาร์ลี" ประกอบด้วยหัวหน้าชุดและพลปืนเล็กยาวห้านายที่เหลือจะโจมตี การโจมตีจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ที่เป็นไปได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความคืบหน้าของหมู่อื่น หลังการโจมตี หมู่จะรุก หลบหากำบังและติดดาบปลายปืน และจะเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วใส่ข้าศึก ยิงและรุกในพื้นที่ที่ทหารฝ่ายตรงข้ามยึดครอง ปกติมีการยิงดังกล่าวในตำแหน่งยืนด้วยอัตราเร็ว หลังยึดตำแหน่งข้าศึกแล้ว ผู้บังคับบัญชาจะสั่งให้หมู่ป้องกันตำแหน่งนั้นหรือรุกต่อ
รูปขบวนวิธีแบบบริติชขึ้นอยู่กับพื้นที่และประเภทการยิงของข้าศึกที่พบ มีการใช้ห้ารูปขบวนหมู่เป็นหลัก บล็อบ แถวตอนเรียงหนึ่ง แถวตอนหลวม หัวลูกศรนอกแบบ และแถวตอนเปิดระยะ รูปขบวนบล็อบ ซึ่งใช้ครั้งแรกในปี 1917 หมายถึงการรรวบรวมเฉพาะกิจทหาร 2 ถึง 4 นาย หลบซ่อนดีที่สุดเท่าที่ทำได้ รูปขบวนแถวตอนเรียงหนึ่งตามแบบใช้เฉพาะในบางสถานการณ์เท่านั้น เช่น เมื่อหมู่รุกอยู่หลังรั้วต้นไม้ รูปขบวนแถวตอนหลวมเป็นแนวกระจัดกระจายมากกว่าเล็กน้อยซึ่งเหมาะสำหรับการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว แต่เสี่ยงถูกข้าศึกยิง หัวลูกศรสามารถวางกำลังอย่างรวดเร็วจากปีข้างใดข้างหนึ่งและสามารถหยุดจากทางอากาศได้ยาก แถวตอนเปิดระยะยอดเยี่ยมสำหรับการโจมตีขั้นสุดท้าย แต่เปราะบางหากถูกยิงจากทางปีก
หมู่บริติชปกติจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มเบรนประกอบด้วยชุดปืนเบรนสองนาย และรองผู้บังคับบัญชาซึ่งประกอบเป็นหนึ่งส่วน ด้านส่วนหลักอันประกอบด้วยพลปืนเล็กยาวและผู้บังคับหมู่เป็นอีกชุดหนึ่ง กลุ่มใหญ่กว่าที่ประกอบด้วยผู้บังคับหมู่นั้นรับผิดชอบต่อการประชิดข้าศึกและรุกทันทีเมื่อถูกยิง เมื่ออยู่ภายใต้การยิงอย่างมีประสิทธิภาพ พลปืนเล็กยาวเข้าสู่ "การยิงและเคลื่อนที่" เต็มรูปแบบ พลปืนเล็กยาวได้รับคำสั่งให้หมอบลงกับพื้นเมื่อถูกยิง แล้วคลานไปยังตำแหน่งยิงที่ดี พวกเขาเล็งอย่างรวดเร็วและยิงอย่างอิสระจนกว่าผู้บังคับหมู่สั่งหยุดยิง ในบางโอกาส กลุ่มเบรนรุกโดยห้วงการเปลี่ยนกำบัง ไปยังตำแหน่งที่จะเปิดฉากยิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมักเป็นตำแหน่งที่ทำมุม 90 องศากับการโจมตีหลัก ในกรณีนี้ทั้งสองกลุ่มจะยิงคุ้มกันให้แก่กัน การโจมตีสุดท้ายเป็นหน้าที่ของพลปืนเล็กยาวซึ่งได้รับคำสั่งให้ยิงจากสะโพกระหว่างที่บุกเข้าไป
ยุทธวิธีรับ[แก้]
ยุทธวิธีหมู่รับของเยอรมันเน้นย้ำความสำคัญของบูรณาการกับแผนใหญ่กว่าและหลักการในที่ตั้งที่กระจัดกระจายในทางลึก คาดหมายว่ากรุพเพอจะขุดหลุมลึก 30 ถึง 40 เมตร (ความลึกสูงสุดที่ผู้บังคับหมู่สามารถควบคุมดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ) มีคำกล่าวว่ากำบังอื่นอย่างต้นไม้เดี่ยว ๆ และสันเนินดึงดูดการยิงของข้าศึกมากเกินไปและมีใช้น้อย เมื่อขุด สมาชิกหมู่คนหนึ่งจะยืนยาม ช่องว่างระหว่างหมู่ที่ขุดลงไปอาจเหลืออยู่ แต่คุมกันด้วยการยิง การวางปืนกลเป็นหัวใจสำคัญของการรับของหมู่เยอรมัน ซึ่งได้รับตำแหน่งทางเลือกหลายตำแหน่ง ปกติวางห่างกัน 50 เมตร
มีการวางกำลังทหารหนึ่งคู่ในหลุมบุคคล สนามเพลาะหรือคู ทหารคู่นั้นยืนใกล้กันเพื่อให้สื่อสารกัน ส่วนย่อยขนาดเล็กอาจแยกกันเล็กน้อย จึงลดผลของการยิงจากข้าศึก หากข้าศึกไม่ระดมทันที จะมีการใช้การตั้งรับขั้นที่สอง การตั้งมั่นในสนามเพลาะ (entrenching) สนามเพลาะเหล่านี้มีการสร้างอยู่หลังแนวหลักโดยที่ทหารสามารถอยู่หลังกำบังได้จนกว่ามีความจำเป็นต้องเรียกใช้
ปืนกลทำหน้าที่ยิงปะทะรับจากพิสัยมีประสิทธิภาพ โดยที่พลปืนเล็กยาวซ่อนอยู่ในหลุมบุคคลจนถึงการโจมตีของข้าศึก ระเบิดมือของข้าศึกที่ตกใส่ตำแหน่งของหมู่เลี่ยงได้โดยการดำหลบแรงระเบิดหรือขว้างหรือเตะระเบิดมือกลับ ยุทธวิธีนี้อันตนรายมาก และแหล่งข้อมูลของสหรัฐรายงานว่าทหารอเมริกันเสียมือหรือเท้าเพราะเหตุนี้
ในส่วนหลังของสงคราม มีการเน้นการรับยานเกราะ ตำแหน่งรับสร้างอยู่บน "เครื่องกีดขวางป้องกันรถถัง" ซึ่งประกอบด้วยอาวุธต่อสู้รถถังอย่างน้อยหนึ่งชิ้น ตลอดจนการสนับสนุนจากปืนใหญ่ที่มีผู้สังเกตชี้นำ เพื่อขัดขวางรถถังที่รุกล้ำตำแหน่งรับ หมู่มักลาดตระเวนมักมีอาวุธต่อสู้รถถังด้วย
ยุทธวิธีหมวด[แก้]
ตอนเป็นหน่วยย่อยของกองร้อย ปะรกอบด้วยสามตอนโดยมีสำนักงานใหญ่หมวด กำลังของหมวดทหารราบมาตรฐานแตกต่างกันระหว่าง 25 ถึง 36 นาย
การสงครามทหารราบตามประเภท[แก้]
การสงครามป่า[แก้]
การสงครามป่าเป็นรูปเป็นร่างจากประสบการณ์ของมหาอำนาจในเขตปฏิบัติการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ภูมิประเทศแบบป่ามีแนวโน้มแบ่งแยกหน่วย มักแบ่งการรบออกเป็นส่วน ๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระและความเป็นผู้นำสูงขึ้นในหมู่ผู้นำด้อยอาวุโส และมหาอำนาจทุกประเทศเพิ่มระดับการฝึกและระดับประสบการณ์ที่จำเป็นแก่นายทหารด้อยอาวุโสและนายทหารชั้นประทวน แต่การสู้รบซึ่งผู้นำหมู่หรือหมวดพบว่าตนต่อสู้อยู่เพียงลำพังยังต้องการอำนาจการยิงสูงขึ้นด้วย ฉะนั้น พลรบทุกคนจึงพบวิธีเพิ่มอำนาจการยิงของทั้งหมู่และหมวด เจตนาคือรับประกันว่าหมู่และหมวดสามารถต่อสู้ตามลำพังได้
ยกตัวอย่างเช่นญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนอาวุธหนักในแต่ละหมู่ หมู่ "เสริมกำลัง" ใช้ตั้งแต่ปี 1942 เป็นต้นมาปกติมี 15 นาย หมู่ญี่ปุ่นมีอาวุธอัตโนมัติประจำหมู่หนึ่งชิ้น (ปืนกลที่ป้อนจากซองกระสุนและเบาพอให้พลปืนหนึ่งคนและพลแบกกระสุนผู้ช่วยหนึ่งคนบรรทุกได้) พลแม่นปืนที่ได้รับมอบหมายยังเป็นส่วนหนึ่งของชุดด้วย เช่นเดียวกับแกรนาเดียร์พร้อมเครื่องยิงลูกระเบิดยาว อัตราการจัดและยุทธภัณฑ์ของหมู่ยังรวมชุดเครื่องยิงลูกระเบิด ที่นักประวัติศาสตร์เรียกผิดว่า "ปืนครกเข่า" ที่จริงแล้วเป็นปืนครกเบาจนาด 50 มม. ซึ่งยิงกระสุนระเบิดแรงสูง เรืองแสงและควันได้ไกลถึง 400 เมตร ปืนครกนี้ตั้งอยู่บนพื้นและยิงโดยเหยียดแขน ผู้ควบคุมปืนปรับพิสัยการยิงโดยปรับความสูงของสลักในลำกล้อง (ทำให้ปืนครกยิงได้ผ่านรูเล็ก ๆ ในร่มไม้ของป่า)
ผลคือแต่ละหมู่บัดนี้เป็นหน่วยรบที่พึ่งพาตนเองได้ แต่ละหมู่มีสมรรถนะอาวุธอัตโนมัติ ในบทบาทตั้งรับ สามารถตั้งปืนกลเพื่อสร้าง "ย่านกระสุนตก" ซึ่งไม่มีข้าศึกใดสามารถรุกและรอดชีวิตได้ ในการเข้าตี หมู่สามารถยิงห่ากระสุนเพื่อบังคับให้ข้าศึกก้มหัวลงระหว่างที่ทหารฝ่ายเดียวกันรุก ปืนครกเบาทำให้หัวหน้าหมู่มีสมรรถนะ "ปืนใหญ่กระเป๋า" โดยอ้อม ปืนครกสามารถยิงกระสุนระเบิดแรงสูงและกระสุนสังหารเพื่อไล่ข้าศึกออกจากป้อมสนามดินและที่ซ่อน ปืนครกสามารถยิงควันเพื่ออำพรางการรุก หรือกระสุนเรืองแสงเพื่อส่องเป้าหมายข้าศึกยามวิกาล พลแม่นปืนยังทำให้หัวหน้าหมู่มีสมรรถนะฆ่าเป้าเล็กระยะไกล
สี่หมู่ประกอบเป็นหนึ่งหมวด ไม่มีตอนกองบังคับการ มีเพียงผู้บังคับหมวดและรองผู้บังคับหมวดเท่านั้น ในทางปฏิบัติ หนึ่งหมวดสามารถต่อสู้เป็นหน่วยรบที่เป็นอิสระไม่ต้องพึ่งพาหน่วยอื่น
กองทัพบริติชเคยสู้รบอย่างกว้างขวางในป่าและไร่ใหญ่ยางพาราแห่งมาลายาระหว่างเหตุวิกฤต และเกาะบอร์เนียวกับอินโดนีเซียระหว่างการเผชิญหน้า ผลจากประสบการณ์เหล่านี้ทำให้บริติชเพิ่มอำนาจการยิงระยะใกล้ของพลปืนเล็กยาวปัจเจกโดยการแทนปืนเล็ยาวลี-เอ็นฟิลด์แบบลูกเลื่อนสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สองด้วยอาวุธอัตโนมัติที่เบากว่าอย่างปืนเล็กสั้นเอ็ม2 ของอเมริกันและปืนกลมือสเตอร์ลิง
อย่างไรก็ดี กองทัพบริติชมีอาวุธอัตโนมัติของชุดที่ดีอยู่ในครอบครองแล้ว (เบรน) และยังมีการจัดสรรให้หนึ่งกระบอกต่อหมู่ เบรนเป็นอำนาจการยิงส่วนใหญ่ของหมู่ แม้หลังการริเริ่มปืนเล็กยาวบรรจุเอง (สำเนากึ่งอัตโนมัติของ FN-FAL ของเบลเยียม) ฝ่ายบริติชไม่วางกำลังปืนครกในระดับหมู่ แต่มีปืนครกขนาด 2 นิ้ว 1 กระบอกในระดับหมวด
ฝ่ายกองทัพสหรัฐใช้วิธีแตกต่างออกไปเล็กน้อย โดยเชื่อว่าประสบการณ์ในเวียดนามแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของหมู่ขนาดเล็กลงที่มีสัดส่วนของอาวุธหนักสูงกว่า หมู่ทหาร 12 นายโดยปกติติดอาวุธด้วยปืนเล็กยาวกึ่งอัตโนมัติและปืนเล็กยาวอัตโนมัติ 1 กระบอกถูกลดเหลือ 9 นาย ผู้บังคับหมู่ถือปืนเอ็ม16 และวิทยุเอเอ็น/พีอาร์ซี-6 เขาบังคับบัญชาชุดยิง 2 ชุด ชุดละ 4 นาย (หนึ่งชุดยิงมีหัวหน้าชุดยิงถือเอ็ม16 แกรนาเดียร์ถือเอ็ม16/203 พลปืนเล็กยาวอัตโนมัติที่ได้รับมอบหมายถือเอ็ม16 ที่มีขาทราย กับพลปืนต่อสู้รถถังถือปืน LAW และเอ็ม16)
หนึ่งหมวดประกอบด้วยสามหมู่ร่วมกับชุดปืนกลสองสามนาย (ผู้บังคับหมู่ถือเอ็ม16 พลปืนถือปืนกลเอ็ม60 และพลปืนผู้ช่วยถือเอ็ม16) นอกจากชุดปืนกลเอ็ม60 สร้างอำนาจการยิงมากกว่าในระดับหมวด ผู้บังคับหมวดสามารถจัดเรียงชุดเพื่อให้การยิงคุ้มกัน โดยใช้สามหมู่ที่เหลือเป็นส่วนดำเนินกลยุทธ์ การผสมเอ็ม16/203 เป็นประดิษฐกรรมของอเมริกันโดยเฉพาะ (ร่วมกับเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม79 ซึ่งเป็นที่มาของปืน) เอ็ม16/203 ไม่มีพิสัยของปืนครก 50 มม. ของญี่ปุ่น ทว่า ถือคล่องมือกว่า และสามารถยิงลูกระเบิดแรงสูงโดยอ้อมได้ และให้การสนับสนุนด้วยทั้งกระสุนควันและเรืองแสง กองทัพสหรัฐยังมีปืนครก 60 มม. ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและมีสมรรถนะมากกว่าปืนครก 50 มม. ของญี่ปุ่น แต่เป็นปืนหนักเกินกว่าสำหรับใช้ในระดับหมู่หรือแม้แต่ระดับหมวด จึงมีใช้เฉพาะในระดับกองร้อย
ความบกพร่องของรูปขบวนสหรัฐยังเป็นพลปืนเล็กยาวอัตโนมัติ ซึ่งย้อนไปถึงสมัยพลปืนเล็กยาวอัตโนมัติเบรานิงในสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพสหรัฐพบว่าปืนเล็กยาวอัตโนมัติเป็นตัวแทนที่ไม่ดีของปืนกลจริง ปืนเล็กยาวที่ยิงแบบอัตโนมัติต่อเนื่องจะร้อนเกินง่าย และเปลี่ยนลำกล้องไม่ได้ สมัยหลังสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐใช้มินิมิของเบลเยียมเพื่อแทนเอ็ม16 อัตโนมัติ ด้วยลำกล้องเปลี่ยนใช้กันได้และซองกระสุนใหญ่กว่า อาวุธนี้ ซึ่งเรียกเอ็ม249 ในพัสดุของสหรัฐ ซึ่งให้การยิงอัตโนมัติต่อเนื่องตามต้องการได้
กองทัพสาธารณรัฐสิงคโปร์ซึ่งมีประสบการณ์ 100% ในภูมิประเทศป่าตลอดจนไร่ใหญ่ยางพาราเป็นหลัก ใช้แนวโน้มดังกล่าวไปอีกหนึ่งขั้น รูปขบวนประกอบด้วยทหาร 7 นาย แต่มีพลปืนอัตโนมัติหมู่ 2 นาย (ด้วยอาวุธอัตโนมัติ 5.56 มม.) แกรนาเดียร์สองนายถือเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม16/203 และพลปืนต่อสู้รถถังหนึ่งนายถือเครื่องยิงจรวดและปืนเล็กยาวจู่โจม
ฉะนั้นกล่าวสั้น ๆ คือ การสงครามป่าเพิ่มจำนวนการรบปะทะสั้น ๆ หรือฉับพลันในระดับหมวดหรือแม้แต่ระดับหมู่ ผู้บังคับหมวดและหมู่จำเป็นต้องมีความสามารถปฏิบัติอย่างอิสระมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายดังนี้ แต่ละหมู่ (หรืออย่างน้อยหมวด) จำเป็นต้องมีการจัดสรรอาวุธอย่างสมดุลเพื่อให้ปฏิบัติภารกิจได้โดยไม่ต้องมีผู้ช่วย
การสงครามภูเขา[แก้]
ระหว่างสงครามโซเวียต–อัฟกานิสถาน กองทัพบกและกองทัพอากาศโซเวียตต่อสู้กับกำลังที่เรียก มุญาฮีดีน แม้กองทัพโซเวียตมีอำนาจการยิงสูงกว่าและยุทโธปกรณ์สมัยใหม่กว่ามุญาฮีดีน แต่ไม่สามารถทำลายล้างได้อย่างเด็ดขาดเพราะความยากของการตอบโต้กลยุทธ์กองโจรในเขตภูเขา
เมื่อมีการส่งมอบขีปนาวุธสติงเกอร์ให้มุญาฮีดีน พวกเขาเริ่มใช้มันซุ่มโจมตีเฮลิคอปเตอร์ของโซเวียตและอากาศยานปีกตรึงในละแวกสนามบินทหาร ทั้งนี้ เพราะสติงเกอร์มีประสิทธิภาพเฉพาะในพิสัย 15,000 ฟุต (4,600 เมตร) มุญาฮีดีนจึงจำเป็นต้องโจมตีอากาศยานขณะนำเครื่องขึ้นหรือลงจอดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สติงเกอร์ไม่ใช่ "อาวุธที่ชนะสงคราม" แม้สติงเกอร์มีผลสำคัญต่อการดำเนินสงคราม แต่ไม่ได้ใช้ยิงอากาศยานตกมากนัก แต่บังคับฝ่ายโซเวียตให้ดัดแปรยุทธวิธีเฮลิคอปเตอร์ของตน เฮลิคอปเตอร์เริ่มประสานงานใกล้ชิดกับกำลังภาคพื้นดินมากขึ้น อากาศยานปีกตรึงเริ่มบินที่ระดับความสูงสูงขึ้น และมีการเพิ่มระบบป้องกันอิเล็กทรอนิกส์ยานเกราะและต่อต้านขีปนาวุธเพื่อช่วยป้องกันจากสติงเกอร์
ฝ่ายโซเวียตตอบโต้ยุทธวิธีของมุญาฮีดีนหลายทาง มีการใช้สเปซนาซอย่างกว้างขวางในปฏิบัติการพิเศษโดยการวางกำลังด้วยเฮลิคิปเตอร์เข้าสู่พื้นที่ที่ระบุว่าเป็นพื้นที่ที่มุญาฮีดีนผ่าน หรือเป็นจุดซุ่มโจมตี ยุทธวิธีของสเปซนาซมีประสิทธิภาพต่อมุญาฮีดีนเพราะใช้ยุทธวิธีคล้ายกับที่มุญาฮีดีนใช้ รถถังและอากาศยานมีประสิทธิภาพน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบเนื่องจากภูมิประเทศและการเคลื่อนที่ของข้าศึก เทคโนโลยีเดียวที่มีผลกระทบสำคัญต่อมุญาฮีดีนได้แก่ทุ่นระเบิดและเฮลิคอปเตอร์ แม้ว่าต่อมามุญาฮีดีนพบวิธีหลบเลี่ยงทั้งสอง
เมื่อปฏิบัติการของโซเวียตหยุดชะงัก พวกเขาเริ่มเอาคืนต่อประชากรพลเรือนที่สนับสนุนมุญาฮีดีน การที่เฮลิคอปเตอร์ของโซเวียตทิ้งระเบิดหมู่บ้านอัฟกานิสถานเพื่อตอบโต้การโจมตีทหารโซเวียตไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ในโอกาสอื่น เฮลิคอปเตอร์ทิ้งทุ่นระเบิดจากอากาศยานลงในทุ่งและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือยิงปศุสัตว์ด้วยอาวุธเฮลิคอปเตอร์ โดยปราศจากการสนับสนุนของชาวบ้าน มุญาฮีดีนถูกบีบให้บรรทุกอาหารของพวกตนนอกเหนือไปจากอาวุธและยุทธภัณฑ์ทางทหาร อีกยุทธวิธีที่ใช้บ่อยอย่างหนึ่งคือการปิดล้อมและตรวจค้นหมู่บ้านหามุญาฮีดีน ยุทธวิธีเหล่านี้คล้ายกับที่สหรัฐใช้ในเวียดนาม หรือเยอรมันใช้ต่อพลพรรคโซเวียตในสงครามโลกครั้งที่สอง
ยุทธวิธีทหารราบตามแบบโดยทั่วไปมีการดัดแปรก่อนนำไปใช้ในการสงครามภูเขาเนื่องจากฝ่ายตั้รับปกติแล้วมีข้อได้เปรียบอย่างเด็ดขาดเหนือฝ่ายเข้าตีโดยการยึดที่สูง และบังคับให้ข้าศึกเข้าตีขึ้นเข้ามาต่อตำแหน่งที่มีสนามเพลาะที่ตระเตรียมอย่างดี ฉะนั้น โดยทั่วไปจึงเลี่ยงการโจมตีทางด้านหน้าโดยการนำกลยุทธ์ปิดล้อมมาใช้และการตัดเส้นทางส่งกำลัง ฉะนั้นจึงสร้างการล้อมประชิด ยุทธวิธีนี้เปลี่ยนในสงครามคาร์กิลปี 1999 เมื่อกำลังอินเดียได้รับภารกิจใหญ่ในการขับไล่ผู้รุกรานและทหารปากีสถานที่พรางตัวที่ยึดตำแหน่งภูเขาสูง แทนที่ใช้ยุทธวิธีปิดล้อม กองทัพอินเดียโจมตีที่ตั้งกองทัพปากีสถานจากด้านหน้า แต่ยุทธวิธีดังกล่าวมีการดัดแปรอย่างเข้มข้นโดยการใช้กำบังปืนใหญ่หนักที่มักยิงในบทบาทโดยตรงและการโจมตีทางอากาศอย่างไม่หยุดหย่อนก่อนหน้าการเข้าตีภาคพื้นดิน เนื่องจากการเข้าตีในเวลากลางวันจะเป็นการฆ่าตัวตาย การเข้าตีทั้งหมดจึงกระทำภายใต้อำพรางของความมืดเพื่อลดกำลังพลสูญเสียให้น้อยที่สุด ปฏิบัติการดังกล่าวใช้เวลาแต่ประสบความสำเร็จ และกองทัพอินเดียยึดตำแหน่งทั้งหมดหลังการสู้รบนานสองเดือน

การสงครามสนามเพลาะ[แก้]

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ด้วยอาวุธสมัยใหม่มีอำนาจพิฆาตสูงขึ้น อย่างปืนใหญ่และปืนกล ทำให้มีการเปลี่ยนยุทธวิธีทหารราบเป็นการสงครามสนามเพลาะ การบุกประชิดของทหารราบแบบคราวละมาก ๆ ปัจจุบันเป็นการฆ่าตัวตายโดยสภาพ และแนวรบด้านตะวันตกหยุดนิ่ง
ยุทธวิธีสามัญที่ใช้ระหว่างขั้นแรก ๆ ของการสงครามสนามเพลาะคือการระดมทิ้งระเบิดแนวสนามเพลาะข้าศึก ซึ่ง ณ จุดนั้นทหารราบฝ่ายเดียวกันจะผละจากความปลอดภัยของสนามเพลาะของพวกตน รุกข้ามแผ่นดินไม่มีเจ้าของ และยึดสนามเพลาะข้าศึก อย่างไรก็ดี ยุทธวิธี "การทิ้งระเบิดเบื้องต้น" ส่วนใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จ สภาพของแผ่นดินไม่มีเจ้าของ (ซึ่งเต็มไปด้วยลวดหนามและเครื่องกีดขวางอื่น) เป็นปัจจัยหนึ่ง สำหรับหน่วยหนึ่งในการเข้าไปยังแนวสนามเพลาะข้าศึก หน่วยจำเป็นต้องข้ามพื้นที่นี้ ยึดตำแหน่งข้าศึก แล้วเผชิญกับการตีโต้ตอบของกองหนุนฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความสามารถของปืนใหญฝ่ายเดียวกันในการข่มทหารราบและปืนใหญ่ข้าศึก ซึ่งบ่อยครั้งถูกจำกัดด้วย "เครื่องป้องกันระเบิด" (บังเกอร์) เขื่อนหินทิ้ง กระสุนที่เลวหรือเพียงการยิงที่ไม่แม่นยำ
กำลังพลสูญเสียที่เกิดจากการยิงของปืนกลนั้นนำไปสู่การวางกำลังปืนกลเบาอย่างปืนลิวอิสในหน่วยทหารขนาดเล็ก การสงครามสนามเพลาะยังนำไปสู่การพัฒนาการออกแบบระเบิดมือใหม่ ระเบิดปืนยาวและปืนครกเบา ซึ่งทั้งหมดเป็นตัวแทนของการเพิ่มอำนาจการยิงที่มีให้ผู้บังคับบัญชาระดับล่างใช้ มีการเน้นทหารทั่วไป (field craft) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกองทัพบริติชและเครือจักรภพ โดยยุทธวิธีลาดตระเวนกลางคืนและการตีโฉบฉวยไม่นานทำให้ต้องมีทักษะการอ่านแผนที่และนำทางที่สูงขึ้น ทหารราบปี 1914 พอใจที่จะฝึกกับปืนเล็กยาวและดาบปลายปืน และปกติเข้าตีในรูปขบวนกองพัน เมื่อถึงปี 1917 ทหารนั้นคุ้นชินกับระเบิดมือ ระเบิดมือปืนยาว ปืนกลเบาและอาวุธชำนัญพิเศษอย่างอื่น และปกติรุกหน้าโดยใช้ยุทธวิธีระดับหมวดหรือตอน[18]
พัฒนาการอย่างหนึ่งคือ การยิงคืบ (creeping barrage) ซึ่งมีการยิงปืนใหญ่หน้าทหารราบที่กำลังรุกทันทีเพื่อกวาดข้าศึกที่ขวางทาง วิธีนี้มีส่วนสำคัญในการรบในช่วงหลังอย่างยุทธการที่อาร์รัส (1917) ซึ่งสันเขาวีมีเป็นส่วนหนึ่ง ยุทธวิธีดังกล่าวอาศัยการประสานงานอย่างใกล้ชิดในยุคก่อนการใช้วิทยุอย่างแพร่หลาย และเมื่อการวางสายโทรศัพท์ท่ามกลางกระสุนมีอันตรายอย่างยิ่ง เพื่อตอบโต้ ฝ่ายเยอรมันคิดค้านการรับยืดหยุ่น และใช้ยุทธวิธีแทรกซึมซึ่งทหารกระแทกแทรกซึมสนามเพลาะส่วนหน้าของข้าศึกในทางลับ โดยปราศจากการยิงปืนใหญ่หนักซึ่งเป็นการเตือนการเข้าตีที่ใกล้จะถึงล่วงหน้า กองทัพฝรั่งเศสและบริติช/เครือจักรภพยังมีการพัฒนายุทธวิธีทหารราบที่คล้ายกัน[19] ฝ่ายสัมพันธมิตรนำรถถังมาใช้เพื่อเอาชนะภาวะชะงักงันของตำแหน่งอยู่กับที่ แต่กลไกที่เชื่อถือไม่ได้ทำให้รถถังไม่สามารถรบรรลุวัตถุประสงค์ได้
ฝ่ายเยอรมันใช้สตอร์มทรูปเปอร์ได้ผลดีในปี 1918 ระหว่างปฏิบัติการมีคาเอล โดยฝ่ายแนวสนามเพลาะของฝ่ายสัมพันธมิตรและทำให้ทหารราบสนับสนุนแห่กันผ่านรอยแตกกว้างในแนวรบ แม้กำลังเยอรมันส่วนใหญ่เดินเท้า แต่ไม่นานก็คุกคามกรุงปารีส มีเพียงการต้านทานที่ยืดเยื้อและเหนียวแน่น การใช้กองหนุน และปัญหาลอจิสติกส์และกำลังคนของเยอรมันป้องกันมิให้ฝ่ายสัมพันธมิตรปราชัย หลังการรุกฤดูใบไม้ผลินี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรเปิดฉากการตีโต้ตอบหลายครั้งด้วยรถถังและทหารราบโจมตีหน่วยเล็กหลายครั้ง ซึ่งมีการคุ้มกันโดยการสนับสนุนทางอากาศและฉากปืนใหญ่อย่างเข้มข้นสั้น ๆ ระหว่างที่กำลังทหารราบหลักติดตามและยึดจุดต้านทานแข็งแรง วิธีนี้บีบให้ฝ่ายเยอรมันล่าถอยและหลังเวลาไม่ถึงสามเดือน ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ดินแดนเป็นจำนวนมากจนเยอรมันต้องยอมเจรจายุติสงครามในที่สุด
การสงครามในเมือง[แก้]
การสงครามในเมืองมีรากเหง้าจากยุทธวิธีและยุทธศาสตร์หลายอย่าง พลรบในเมืองจะเผชิญับปัญหาอย่างผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง สิ่งปลูกสร้างและการเคลื่อนที่ที่จำกัด ต่างจากการรบสมัยนโปเลียน ทหารสมัยใหม่ถูกจำกัดด้วยตรอกแคบ ๆ และถนน ซึ่งทำให้ฝ่ายตรงข้ามทำนายหรือจำกัดการเคลื่อนไหวของยานยนต์อีกฝ่ายหนึ่งโดยใช้อาวุธอย่างระเบิดแสวงเครื่อง อาร์พีจีและปืนใหญ่ได้ ซึ่งบีบให้ทหารราบต้องผลักดันภัยคุกคามนี้ออกไป
อ้างอิง[แก้]
- ↑ Dupuy, p.10.
- ↑ Dupuy, p.10-11.
- ↑ Dupuy, p.11.
- ↑ Dupuy, p.12.
- ↑ Dupuy, p.13.
- ↑ Dupuy, p.13-14.
- ↑ 7.0 7.1 Dupuy, p.16.
- ↑ Dupuy, p.16-17.
- ↑ 9.0 9.1 Dupuy, p.17.
- ↑ Dupuy, p.19. Covering a wider area naturally reduces the tendency of any one soldier to be killed.
- ↑ Messenger, Charles (2001). Reader's Guide to Military History. Routledge. p. 370. ISBN 1579582419. สืบค้นเมื่อ 22 January 2018.
- ↑ Dyer, Gwynne (1985). War (2006 ed.). Basic Books. p. 61. ISBN 0786717718.
- ↑ Dupuy, Trevor (1980). The Evolution Of Weapons And Warfare (1990 ed.). Da Capo Press. p. 131. ISBN 0306803844.
- ↑ Mackinnon, Daniel (1883). Origin and Services of the Coldstream Guards (2017 ed.). Forgotten Books. p. 368. ISBN 152788578X.
- ↑ Messenger, Charles (2001). Reader's Guide to Military History. Routledge. p. 370. ISBN 1579582419. สืบค้นเมื่อ 22 January 2018.
- ↑ Custer suffered from insubordinate junior officers as much as superior enemy weapons, as shown in Sklenar, Larry. To Hell With Honor. Norman, OK: University of Oklahoma Press, 2000.
- ↑ Fitzsimons, Bernard, ed. Illustrated Encyclopedia of Twentieth Century Weapons and Warfare (London: Phoebus, 1978), Volume 18, p.1929-20, "Molotov Cocktail".
- ↑ Tim Cook, Shock Troops: Canadians Fighting the Great War 1917-1918, Viking Canada 2008
- ↑ Paddy Griffith, Battle Tactics of the Western Front: The British Army's Art of Attack 1916-18, Yale University Press, 1994.
บรรณานุกรม[แก้]
คริสต์ศตวรรษที่ 17[แก้]
- Dupuy, Trevor N., Colonel, U.S. Army. Evolution of Weapons and Warfare. Indianapolis: Bobbs-Merrill, 1980. ISBN 0-672-52050-8
- Dyer, Gwynne. War. New York: Crown Publishers, 1985. ISBN 0-517-55615-4
สงครามโลกครั้งที่สอง[แก้]
- World War II Infantry Tactics: Squad and Platoon, Dr Steven Bull, 2004 Osprey Ltd.
- Dupuy, Trevor N., Colonel, U.S. Army. Evolution of Weapons and Warfare. Indianapolis: Bobbs-Merrill, 1980. ISBN 0-672-52050-8