ข้ามไปเนื้อหา

มีนวิทยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มีนวิทยา (อังกฤษ: Ichthyology) เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปลา ลักษณะรูปร่างภายนอกของปลา ระบบภายในตัวปลา รวมถึงอนุกรมวิธานของปลา ออกเป็นกลุ่มหรือประเภท ปลาในที่นี้ประกอบด้วยปลากระดูกแข็ง ปลากระดูกอ่อน ได้แก่ ฉลามและกระเบน และปลาไม่มีขากรรไกร โดยไม่ครอบคลุมไปถึงสัตว์น้ำจำพวกอื่น เช่น หมึก, กบ, กุ้ง, ปู, วาฬ หรือโลมา ซึ่งไม่จัดว่าเป็นปลา

การศึกษาทางด้านมีนวิทยามีความสัมพันธ์อย่างมากกับสาขาวิชาชีววิทยาทางทะเล ชลธีวิทยา และสมุทรศาสตร์ และเรียกนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญและศึกษาศาสตร์ทางด้านนี้ว่า "นักมีนวิทยา"

มีนวิทยา ถือได้ว่าเป็นแขนงย่อยของสัตววิทยา โดยคำว่า "Ichthyology" ที่ใช้เป็นชื่อภาษาอังกฤษนั้น มาจากภาษากรีกคำว่า "Ichthys" (ἰχθύς) แปลว่า ปลา, "logy" หรือ "logos" (λόγος) แปลว่า วิชา หรือ เรื่องราว, "มีน" มาจากภาษาบาลีสันสกฤต แปลว่า ปลา และ "วิทยา" มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ความรู้

โดยบุคคลแรกที่ถือได้ว่าศึกษาศาสตร์มีนวิทยาเป็นคนแรกของโลก คือ อริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีกโบราณที่มีชื่อเสียง เพราะเป็นผู้ริเริ่มจำแนกสิ่งมีชีวิต บันทึกของอริสโตเติลได้กล่าวถึงโครงสร้าง อุปนิสัย การอพยพย้ายถิ่น ฤดูกาลสืบพันธุ์ และความรู้อื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับปลามากชนิด แต่ความจริงมนุษย์รู้จักปลามานานกว่า 50,000 ปีแล้ว จากหลักฐานที่มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้วาดภาพปลาไว้ที่ผนังถ้ำ เช่น รูปปลาบึกที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม เป็นต้น การศึกษาเกี่ยวกับปลาในระยะต่อมาโดยมากยังอ้างอิงผลงานของอริสโตเติล จะมีเพิ่มเติมก็เป็นเรื่องปลีกย่อย จนกระทั่งในศตวรรษที่ 18 การศึกษาเกี่ยวกับปลาตื่นตัวมากขึ้น มีการเขียนตำราวิชาทางวิชาการ ซึ่งใช้อ้างอิงมาจนถึงทุกวันนี้ มีการจำแนกหมวดหมู่ปลากระดูกอ่อน ปลากระดูกแข็ง ศึกษากายวิภาค สรีรวิทยา วิวัฒนาการของปลาจากซากดึกดำบรรพ์

มีนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาศาสตร์ด้านมีนวิทยาที่มีชื่อเสียงหลายคน อาทิ อัลเบิร์ต กึนเธอร์, จอร์จส์ คูเวียร์, อเล็กซานเดอร์ เอ็มมานูเอล อกาซซี, หลุยส์ อกาซซี (บุตรของอกาซซี) รวมถึง คาโรลัส ลินเนียส ผู้ให้กำเนิดหลักการอนุกรมวิธานที่ใช้มาถึงปัจจุบันด้วย

สำหรับในประเทศไทย ศาสตร์แขนงนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ นักมีนวิทยาและนักชีววิทยาที่มีชื่อเสียงชาวอเมริกัน ได้เดินทางสู่ประเทศไทย ในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 จนถึงต้นรัชกาลที่ 7 เพื่อสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคแถบนี้ และได้เข้ารับตำแหน่งเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำ เมื่อปี ค.ศ. 1926 ซึ่งได้พัฒนาจนกลายมาเป็นกรมประมงในปัจจุบัน มีนักศึกษาชาวไทยหลายคนที่ได้ร่ำเรียนกับ ดร.สมิธ อาทิ โชติ สุวัตถิ, จินดา เทียมเมศ, บุญ อินทรัมพรรย์ จนได้ก่อตั้งขึ้นเป็นคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1943 อันเป็นสถาบันหลักในทางการศึกษาทางด้านมีนวิทยาจนถึงปัจจุบันนี้[1][2]

ในปัจจุบัน มีนวิทยาจะถือว่าเป็นศาสตร์ที่ศึกษาพร้อมกับวิชาการทางด้านประมงและสัตววิทยา หรือชีววิทยาทางทะเล มีสถาบันอุดมศึกษาที่ทำการสอนหลายแห่งในประเทศไทย นอกจากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว ยังมี คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น,คณะสหวิทยาการ สาขาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยขอนแก่น,คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น

และมีนักมีนวิทยาชาวไทยที่มีชื่อเสียงหลายคน อาทิ ชวลิต วิทยานนท์, ทศพร วงศ์รัตน์, สืบสิน สนธิรัตน, สุภาพ มงคลประสิทธิ์, สุรินทร์ มัจฉาชีพใครอีกคน เป็นต้น

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "เรื่องทั่วไปเกี่ยวกับมีนวิทยา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-19. สืบค้นเมื่อ 2011-10-06.
  2. ประวัติกรมประมง[ลิงก์เสีย]