อาสนวิหารกลอสเตอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มหาวิหารกลอสเตอร์)
วิวจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของอาสนวิหาร
กลอสเตอร์เมื่อปี ค.ศ. 1828

อาสนวิหารกลอสเตอร์ (อังกฤษ: Gloucester Cathedral) เป็นอาสนวิหารที่ตั้งอยู่ตอนเหนือของเมืองกลอสเตอร์ ประเทศอังกฤษ แต่เดิมเป็นแอบบีย์ที่อุทิศให้นักบุญเปโตร เมื่อราวปี ค.ศ. 678 หรือ 679 มาจนกระทั่งเปลี่ยนเป็นอาสนวิหาร (cathedral) เมื่อปี ค.ศ. 1541

ประวัติ[แก้]

วิวจากทางตะวันตกของอาสนวิหารกลอสเตอร์ 2004
ระเบียงฉันนบถที่แสดงให้เห็นถึงเพดานโค้งใบพัด

เมื่อปี ค.ศ. 1072 พระเจ้าวิลเลียมที่ 1แห่งอังกฤษ แต่งตั้งให้อธิการแซร์ลอ (Serlo) จากมง-แซ็ง-มีแชล (ประเทศฝรั่งเศส) มาปกครองอาสนวิหารนี้ ตอนนั้นอารามอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมมาก[1] แซร์ลอทุ่มตัวสร้างวัดขึ้นมาใหม่จนเป็นที่เห็นกันทุกวันนี้ ต่อมาท่านก็ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นดีนของอาสนวิหารเอ็กซีเตอร์ วอลเตอร์ กลอสเตอร์ (Walter Gloucester) นักประวัติศาสตร์ของอารามนี้ได้เป็นอธิการอารามเมื่อปี ค.ศ. 1381 อาสนวิหารกลอสเตอร์เดิมขึ้นอยู่กับมุขมณฑลวูสเตอร์ (Worcester) จนถึงปี ค.ศ. 1541 จากนั้นก็ย้ายไปขึ้นกับมุขมณฑลทูกสบรี (Tewkesbury) โดยมีจอห์น เวกแมน (John Wakeman) อธิการองค์สุดท้ายได้เป็นบิชอป มุขมณฑลทูกสบรีครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของกลอสเตอร์เชอร์รวมถึงบางส่วนเฮริฟอร์ดเชอร์และวิลท์เชอร์

อาสนวิหารนี้เป็นอาสนวิหารที่เดิมสร้างแบบโรมาเนสก์แต่ต่อมาต่อเติมเป็นแบบกอทิกที่สวยงามมาก ภายในมีบานหน้าต่างประดับกระจกสี ในช่องเล็ก ๆ ของบานหนึ่งซึ่งทำเมื่อปี ค.ศ. 1350 มีรูปคล้ายคนเล่นกอล์ฟ เชื่อกันว่าเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่กล่าวถึงกีฬาเล่นกอล์ฟ รูปนี้ทำขี้นก่อนรูปที่พบสกอตแลนด์ ประมาณ 300 ปี[2] นอกจากนั้นก็ยังมีรูปคนเล่นฟุตบอลซึ่งเชื่อกันว่าเป็นรูปการเล่นฟุตบอลที่เป็นหลักฐานเก่าที่สุดจากยุคกลาง

การก่อสร้างและสถาปัตยกรรม[แก้]

ตัวโบสถ์เดิมเป็นแบบโรมาเนสก์ หรือ นอร์มัน ตามที่เรียกกันที่ประเทศอังกฤษ การต่อเติมภายหลังเป็นแบบกอทิกหลายยุค ตัววัดลึก 420 ฟุต กว้าง 144 ฟุต มีหอกลางที่ต่อเติมเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 15 สูง 225 ฟุต ข้างบนมียอดสี่ยอด ตัวโบสถ์ด้านในเป็นเพดานสมัยอังกฤษตอนต้น มีห้องใต้ดินสำหรับเก็บศพ (Crypt) แบบโรมาเนสก์อยู่ภายใต้บริเวณร้องเพลงสวด ห้องใต้ดินของอาสนวิหารนี้เป็นเพียงหนึ่งในสี่ของสถานที่แบบเดียวกันนี้ที่หลงเหลืออยู่ในประเทศอังกฤษ อีกสามแห่งอยู่ที่ อาสนวิหารวูสเตอร์ อาสนวิหารวินเชสเตอร์ และอาสนวิหารแคนเทอร์เบอรี จากนั้นก็มีหอประชุมนักบวช

ระเบียงฉันนบถด้านใต้เป็นสถาปัตยกรรมกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ซึ่งเป็นสมัยสุดท้ายของสถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ เพดานเป็นโค้งใบพัดหรือที่เรียกว่าเพดานพัด เหมือนกับทางด้านเหนือ ภายในตัววัด ทางด้านใต้เป็นลักษณะที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมกอทิกวิจิตร บริเวณที่ทำพิธีเป็นลวดลายเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ทำทับงานเดิมที่เป็นแบบโรมาเนสก์ มีโบสถ์น้อยประกบทั้งสองข้าง ระหว่างโบสถ์น้อยสองส่วนนี้เป็นโบสถ์น้อยแม่พระ หน้าต่างทางด้านตะวันออกเป็นแบบเด็คคอเรทีฟแต่งด้วยกระจกสีสมัยยุคกลาง

สิ่งที่สวยงามที่สุดภายในโบสถ์นี้คือซุ้มที่ฝังพระศพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ที่ถูกปลงพระชนม์ที่ปราสาทบาร์คลี (Berkeley Castle) อาสนวิหารนี้มั่งคั่งขึ้นมาด้วยรายได้จากนักแสวงบุญที่มาถวายความเคารพที่ฝังพระศพนี้ ในโบสถ์น้อยทางด้านข้างมีอนุสรณ์ที่ทำจากไม้บ็อกโอ๊ก (bog oak) ของโรเบิร์ต เคอธอส ดยุกแห่งนอร์ม็องดี (Robert Curthose) ผู้เป็นพระโอรสองค์โตของ พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของโบสถ์ และยังมีอนุสรณ์ที่น่าจดจำของนายแพทย์เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ อารามแห่งนี้เป็นสถานที่ประกอบพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1216 ซึ่งมีบันทึกเป็นภาพในหน้าต่างกระจกสีทางทิศใต้[3]

ระหว่างปี ค.ศ. 1873–1890 และ ปี ค.ศ.1897 ทางอาสนวิหารมีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยเซอร์จอร์จ กิลเบิร์ต สกอตต์ (George Gilbert Scott)

ทางเดินกลาง ทางเดินข้าง[แก้]

โถงทางเดินกลางรายด้านแนวเสาโรมาเนสก์สูงกว่า 9 เมตรเป็นเสาเดิมของโบสถ์ ภายในกลวงถมด้วยวัสดุก่อสร้าง ตอนล่างของเสาจะออกสีแดงซึ่งเป็นผลจากการความร้อนจากหลังคาที่ร่วงลงมาหลังจากเกิดไฟไหม้สองครั้ง หลังคาเดิมเป็นไม้เมื่อสร้างหลังคาใหม่ครั้งสุดท้ายจึงเปลี่ยนวัสดุก่อสร้างเป็นหิน ทรงเพดานเป็นแบบกอทิกอังกฤษยุคแรก โค้งจึงยังไม่แหลมมาก

สิ่งที่น่าสนใจของอาสนวิหารคือโถงทางเดินข้างที่กระหนาบทางเดินกลางด้านเหนือเป็นของเดิมตั้งแต่สร้างโบสถ์เป็นแบบโรมาเนสก์สังเกตได้จากหน้าต่างเป็นโค้งมนแต่งรอบโค้งบนด้วยรอยหยัก แต่ทางเดินข้างด้านใต้เป็นแบบกอทิกรายด้วยหน้าต่างโค้งแหลม สาเหตที่เป็นคนละแบบเพราะทางเดินด้านใต้ทรุดเพราะสร้างบนที่ซึ่งเดิมเคยเป็นคูของโรมัน เมื่อกำแพงทรุดก็เป็นอันตรายที่อาจจะดึงตัวอาสนวิหารตามไปด้วย ถ้ายืนมองจากมุมหนึ่งจะเห็นได้ว่ากำแพงด้านตะวันออกของวัดจะเอียงไปทางด้านนอกอาสนวิหาร จึงจำเป็นต้องสร้างและเสริมใหม่เป็นกอทิกวิจิตร ซึ่งจะเห็นได้จากรูปดอกไม้ตกแต่งรอบหน้าต่าง ว่ากันว่าในวันหนึ่ง ๆ ช่างแกะหินจะแกะได้เพียง 5 ดอก เมื่อดูแต่ละหน้าต่างจะมีดอกไม้ตกแต่งเป็นร้อยแสดงให้เห็นถึงความอุตสาหะของผู้ก่อสร้างสมัยนั้น

ด้านนี้มีหน้าต่างประดับกระจกสีที่น่าสนใจสองหน้าต่างหนึ่งเป็นรูปพิธีราชาภิเษกพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ผู้ยังทรงพระเยาว์ที่อาสนวิหารนี้ และเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษองค์เดียวที่ราชาภิเษกที่อาสนวิหารนี้ พระเจ้าเฮนรีที่ 3 เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ เหนือพระเศียรมิได้เป็นมงกุฏแต่เป็นที่รัดแขนของพระมารดา เพราะเกวียนเครื่องราชภัณฑ์ไปล่มลงในหนองที่ทางตะวันออกของอังกฤษจึงไม่มีอะไรเหลือ

หน้าต่างประดับกระจกสีทางด้านตะวันออกอีกบานหนึ่งเป็นรูปการสร้างอนุสรณ์ที่ฝังพระศพ และการฝังพระศพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 โดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ผู้เป็นพระราชโอรสที่อาสนวิหารนี้

บริเวณสวดมนต์และร้องเพลงสวด[แก้]

ประตูเข้าด้านข้าง

บริเวณนี้อยู่หลังฉากหินมหึมาแยกจากโถงกลางมาเป็นศักดิ์สิทธิสถาน บริเวณนี้ได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่โดยเปลี่ยนจากแบบโรมาเนสก์เดิมเป็นสถาปัตยกรรมกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ซึ่งเป็นสมัยปลายกอทิกที่เน้นแนวดิ่ง เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 เพื่อให้สมพระเกียรติกับการเป็นสถานที่ที่เป็นที่ฝังพระศพพระราชบิดา โครงสร้างเดิมที่เป็นโรมาเนสก์มิได้ถูกรื้อทั้งหมดทิ้งแต่ “ปะหน้า” ด้านศักดิ์สิทธิสถานด้วยกอทิก ฉะนั้นถ้าออกไปทางด้านนอกศักดิ์สิทธิสถาน (ทางเดินรอบบริเวณสวดมนต์) จะเห็นว่าหน้าต่างที่เห็นด้านในเป็นกอทิกด้านนอกจะยังคงเป็นโรมาเนสก์ ภายในบริเวณสวดมนต์มีหน้าต่างประดับกระจกสีรอบด้านทำให้มีแสงส่องผ่านกระจกสีเข้ามาได้ทั่วถึงทำให้มีลักษณะโปร่ง เพดานประดับด้วยปุ่มหินนับร้อย แต่ชิ้นที่สำคัญที่สุดเป็นรูปพระเยซูประทานพร ล้อมรอบด้วยชิ้นทูตสวรรค์เล่นดนตรี

ครึ่งทางด้านใต้เป็นที่นั่งของนักร้องเพลงสวดและนักบวชที่แกะสลักเสลาอย่างสวยงาม ภายใต้ที่นั่งเป็นเก้าอี้อิงซึ่งเป็นคันยื่นออกมาราวหกนิ้วเมื่อพับม้านั่ง นักพรตคณะเบเนดิกตินต้องอธิษฐานวันละแปดหน เวลาสวดก็ต้องยืนทำให้บางครั้งเมื่อย ฉะนั้นภายใต้เก้าอี้พับจะมีที่รองนั่งสั้น ๆ ยื่นออกมา กล่าวกันว่าใช้สำหรับให้พระเอนเวลาเมื่อยจะได้ไม่เห็นว่านั่ง การแกะสลักภายใต้ที่นั่งจะพบมากที่สุดในประเทศอังกฤษ ส่วนใหญ่ถูกทำลายไปมาก ลักษณะการแกะสลักก็น่าสนใจเพราะจะไม่เป็นศิลปะศาสนาแต่จะเป็นศิลปะชาวบ้านและเป็นการแสดงความมีอารมณ์ขันของช่างสลักไม้ เช่นอาจจะทำเป็นรูปสามีภรรยาตบตีกัน ภาพเงือก ภาพผู้หญิงทำอาหาร ภาพการเก็บเกี่ยว แต่ละอันก็จะไม่ซ้ำกัน

นอกจากนั้นในบริเวณนี้ยังมีอาสนะบิชอป แต่สิ่งที่แปลกกว่าอาสนวิหารคืออาสนวิหารกลอสเตอร์มีที่นั่งตรงกันข้ามกับบิชอปแต่มีขนาดใหญ่กว่าที่นั่งของบิชอป ที่ทำขึ้นเพื่อแสดงความขอบคุณต่อนายกเทศมนตรีของเมืองกลอสเตอร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่สามารถพูดหว่านล้อมให้ทหารของกองทัพของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ย้ายม้าไปผูกนอกอาสนวิหาร ไม่เช่นนั้นอาสนวิหารก็คงจะเสียหายมากกว่านั้น

ด้านเหนือของบริเวณสวดมนต์เป็นฉากแท่นบูชาขนาดใหญ่สร้างในสมัยฟื้นฟูกอทิกในสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย อยู่หน้าบานกระจกประดับสีที่ใหญ่ที่สุดในอาสนวิหารที่เรียกว่า “The Great East Window”

คูหาสวดมนต์พระแม่มารี[แก้]

มองจาก Lady chapel เข้าไปในบริเวณพิธี

ด้านหลังของบริเวณสวดมนต์และร้องเพลงสวดเป็นทางเดินรอบ (Ambulatory) จากทางเดินออกไปมีคูหาสวดมนต์สามคูหา คูหาที่สำคัญที่สุดอยู่ตรงกลางเรียกว่า Lady chapel เป็นคูหาสวดมนต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับคูหาสวดมนต์แบบนี้ในอังกฤษ ตัวคูหามีหน้าต่างกระจกล้อมรอบจนไม่มีกำแพงดูเหมือนเรือนกระจก

ระเบียง[แก้]

ระเบียงฉันนบถทางด้านเหนือของอาสนวิหารเป็นสถาปัตยกรรมกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ ซึ่งเป็นสมัยปลายกอทิกที่เน้นเส้นดิ่ง รอบระเบียงเป็นซุ้มโค้งสลักด้วยหินอย่างวิจิตรตลอดทั้งสี่ด้าน ตัวระเบียงล้อมรอบลานสี่เหลี่ยม เพดานเป็นแบบเพดานพัด ซึ่งเป็นลักษณะเอกลักษณ์ของอังกฤษ ทางด้านเหนือของระเบียงเป็นหอประชุมนักบวช ซึ่งเป็นที่ประชุมอ่านพระคัมภีร์ประจำวันเป็นบทบท ในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อห้อง ทางด้านนี้เคยเป็นทางเข้าหอที่พระพำนักอยู่แต่มาถูกทำลายในสมัย พระเจ้าเฮนรีที่ 8 พร้อมกับโรงฉันของพระ ทางด้านเหนือของระเบียงเป็นซุ้มแคบยาวเกือบตลอดแนวภายในมีรางตลอดซึ่งใช้เป็นบริเวณซักล้าง ทางด้านใต้มีคูหาเล็ก ๆ ตลอดแนวใช้เป็นที่ที่นักบวชทำกิจกรรมต่าง ๆ

หน้าต่างประดับกระจกสี[แก้]

สิ่งที่เด่นที่สุดของอาสนวิหารกลอสเตอร์คือหน้าต่างประดับกระจกสีแบบเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ซึ่งมีรอบอาสนวิหาร แต่ที่สำคัญคือบานใหญ่มหึมา 5 บาน และหน้าต่างโดย ทอมัส เด็นนี (Thomas Denny)

  • ด้านหน้าหรือด้านตะวันตก
  • ด้านแขนกางเขนด้านใต้
  • ด้านแขนกางเขนด้านเหนือ
  • ด้านหลังหรือด้านตะวันออกหลังโบสถ์น้อยแม่พระ หน้าต่างด้านนี้เสียหายมากจนต้องเอามาประกอบแบบหาที่ปะเข้าไปโดยไม่เป็นรูปอะไรแน่นอนผลที่ออกมาจึงเป็นกึ่งนามธรรม
  • กลางบริเวณพิธี หน้าต่างนี้ใหญ่ขนาดสนามเทนนิส สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1350 เป็นหน้าต่างที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษในสมัยนั้น บานกระจกแบ่งเป็นห้าชั้น ชั้นแรกเป็นตราตระกูล ชั้นบนถัดไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ ถัดไปเป็นพระเยซูยกพระหัตถ์ทำเครื่องหมายประทานพร พระแม่มารีย์และสาวก ถัดขึ้นไปเป็นทูตสวรรค์
  • หน้าต่างโดยทอมัส เด็นนี อยู่ภายในโบสถ์น้อยเล็กทางด้านใต้ เป็นบานหน้าต่างกระจกสีสีน้ำเงินสดเป็นส่วนใหญ่ที่ทำเมื่อปี ค.ศ. 1992 เป็นเรื่องพระเจ้าสร้างโลกสองบานประกบรูปกลางซึ่งเป็นรูปพระเยซูกับนักบุญทอมัส โบสถ์น้อยนี้ยังใช้เป็นที่สวดมนต์ตอนเช้าทุกวัน

ออร์แกน[แก้]

ออร์แกนถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1666 โดยโธมัส แฮร์ริส และเป็นออร์แกนของโบสถ์สมัยศตวรรษที่ 17 ที่สมบูรณ์เพียงหลังเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในสหราชอาณาจักร ท่อลมที่ปรากฏที่ด้านหน้าของเครื่องยังคงใช้งานได้ ออร์แกนได้รับการขยายขนาดและแก้ไขโดยผู้สร้างออร์แกนเกือบทุกรายในสหราชอาณาจักร รวมทั้งเฮนรี "ฟาเธอร์" วิลลิส ที่บำรุงรักษาออร์แกนในปี ค.ศ. 1847 และทำการสร้างใหม่ในปี ค.ศ. 1888–89[4] ออร์แกนถูกสร้างใหม่อีกครั้งในปี ค.ศ. 1920 โดย แฮร์ริสัน & แฮร์ริสัน[5]

ในปี ค.ศ. 1971 ฮิลล์, นอร์แมนและเบียร์ด ได้ทำการออกแบบใหม่ทั้งหมด ภายใต้การดูแลของจอห์น แซนเดอร์ส นักออร์แกนของอาสนวิหารและที่ปรึกษาราล์ฟ ดาวเนส ในปี ค.ศ. 1999 นิโคลสัน & โค ได้ทำการซ่อมแซมใหญ่ออร์แกน โดยมีการซ่อมแซมซาวด์บอร์ด ระบบท่อ และการจ่ายลม และปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ ในปี ค.ศ. 2010 นิโคลสันยังได้เพิ่ม Trompette Harmonique solo reed[5]

ออร์แกนประกอบด้วยสี่แป้นคีย์บอร์ดและสี่คันเหยียบ ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อเล่นจากตำแหน่งฉากกางเขน ให้สามารถรับฟังไปจนถึงฝั่งตะวันออกและตะวันตกของอาสนวิหาร ส่วนขยายเสียง (Swell) ตั้งอยู่ที่กึ่งกลางของเครื่องที่ระดับคอนโซลและควบคุมโดยแป้นเหยียบสองอัน อันหนึ่งสำหรับแต่ละด้านของเครื่อง ตรงเหนือ Swell คือส่วนประกอบขนาดใหญ่ของออร์แกนซึ่งแบ่งออกเป็นส่วนตะวันออกและตะวันตก ประกอบด้วยส่วนประสานเสียงสองส่วนหลักที่แยกจากกัน คีย์บอร์ดแป้นที่สี่คือออร์แกนขนาดเล็กสำหรับด้านตะวันตก (West Positive) มีการทำงานเช่นเดียวกับของออร์แกนประสานเสียงสำหรับฝั่งตะวันตกของอาสนวิหาร[5]

ที่ฝังศพและอนุสรณ์[แก้]

ที่ฝังพระศพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2

ที่ฝังพระศพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2[แก้]

อนุสรณ์ที่ฝังศพที่สวยงามที่สุดภายในวัดนี้คือซุ้มที่ฝังพระศพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ที่สร้างโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 พระราชโอรสเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชบิดาผู้ถูกปลงพระชนม์อย่างทารุณที่ปราสาทบาร์คลี (Berkeley Castle) อาสนวิหารนี้มั่งคั่งขึ้นมาด้วยรายได้จากผู้แสวงบุญที่มาสักการะที่ฝังพระศพนี้

ที่ฝังพระศพของโรเบิร์ต เคอธอส[แก้]

โรเบิร์ต เคอธอส (Robert Curthose) เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แต่มิได้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษต่อจากพระราชบิดา ได้เป็นเพียงดยุกแห่งนอร์ม็องดีที่เป็นตำแหน่งเดิมของพระราชบิดา เมื่อ โรเบิร์ต เคอธอสมีชีวิตอยู่ก็มีความประสงค์อยากจะฝังร่างของท่านเองเมื่อตายไปที่อาสนวิหารกลอสเตอร์ อนุสรณ์ของโรเบิร์ต เคอธอสทำจากไม้บอกโอค ทาสีอย่างสวยงามตั้งอยู่ทางด้านเหนือนอกบริเวณพิธีติดกับฉากแท่นบูชาเอก แต่ว่าร่างของโรเบิร์ตเองว่ากันว่าถูกฝังไว้ภายในหอประชุมสงฆ์ภายในระเบียง

ที่ฝังพระศพของพระเจ้าออสริคแห่งเมอร์เซีย[แก้]

ทางด้านเหนือนอกบริเวณพิธีติดกับฉากแท่นบูชาเอกเป็นอนุสรณ์พระเจ้าออสริกแห่งเมอร์เซีย (Prince Osric of Mercia) ผู้เป็นผู้สร้างอาสนวิหาร เป็นรูปพระเจ้าออสริคนอนราบอุ้มอาสนวิหารในมือซ้าย รูปคล้ายกันนี้อีกรูปหนึ่งอยู่ด้านขวาของทางเข้าอาสนวิหารด้านใต้คู่กับบาทหลวงเซอร์โลทางด้านซ้ายผู้เป็ผู้มีบทบาทสำคัญในการบูรณะอาสนวิหาร

เหตุการณ์สำคัญ[แก้]

ที่ฝังพระศพของโรเบิร์ต เคอธอส
  • 678-9 เริ่มมีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานใกล้วัดระหว่างสมัยแซกซันนำโดย Osric of the Hwicce น้องสาวของ Hwicce เป็นอธิการิณีอาราม (Abbess) องค์แรก
  • 1017 นักพรตเบเนดิกตินติน เข้ามาปกครองหลังจากที่บาทหลวงประจำมุขมณฑล (Secular priests) ถูกไล่ออกจากไป
  • 1072 แซร์ลอได้รับแต่งตั้งโดยพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ให้มาเป็นเจ้าอาวาส
  • 1089 โรเบิร์ต เดอ โลซินยา (Robert de Losinga) บิชอปแห่งแฮรฟอร์ด (Hereford) วางศิลาฤกษ์
  • 1100 ได้รับการสถาปนา (consecrate) เป็นวัดเซนต์ปีเตอร์
  • 1216 พระราชพิธีราชาภิเษกพระเจ้าเฮนรีที่ 3
  • 1327 พระราชพิธีฝังพระศพพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2
  • 1331 ซ่อมบริเวณทำพิธีของนักพรตแบบเพอร์เพ็นดิคิวลาร์
  • 1373 อธิการฮอร์ตัน (Horton) เริ่มสร้างระเบียง มาเสร็จเอาสมัยอธิการฟรูสเตอร์ (Frouster)
  • 1420 อธิการมอร์เว้นท์ (Morwent) ปฏิสังขรณ์ด้านตะวันตก
  • 1450 อธิการซีโบรค (Sebrok) ต่อเติมหอ มาเสร็จโดยโรเบิร์ต ทัลลี (Robert Tully)
  • 1470 อธิการแฮนลี (Hanley) ปฏิสังขรณ์ Lady Chapel มาเสร็จเอาสมัยอธิการฟาร์ลี (Farley)
  • 1540 อารามถูกยุบตามพระราชกฤษฎีกายุบอาราม ของพระเจ้าเฮนรีที่ 8
  • 1541 พระเจ้าเฮนรีที่ 8 สถาปนาอารามที่ถูกยุบไปขึ้นเป็นอาสนวิหาร
  • 1616-21 วิลเลียม ลอด เป็นอธิการ
  • 1649-60 ตำแหน่งอธิการถูกยุบแต่ถูกตั้งใหม่โดย พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2
  • 1735-52 บิชอปมาร์ติน เบ็นสัน (Martin Benson) ปฏิสังขรณ์อาสนวิหารครั้งใหญ่
  • 1847-73 บูรณปฏิสังขรณ์สมัยวิกตอเรีย โดย สถาปนิก เอฟ เอส วอลเลอร์ (F.S.Waller) และ เซอร์จอร์จ กิลเบิร์ต สก็อต
  • 1968 ปูหลังคาใหม่
  • 1994 เสร็จการปฏิสังขรณ์หอ
  • 2000 ฉลองครบรอบ 900 ปึ

เกร็ดน่ารู้[แก้]

อาสนวิหารกลอสเตอร์ใช้เป็นฉากถ่ายภาพยนตร์เรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ตอนที่หนึ่ง สอง และหก เมื่อปี ค.ศ. 2000

สมุดภาพ[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Gloucester Cathedral - History". Gloucester Cathedral. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 October 2014.
  2. "The first Golf record?". A Royal and Ancient Golf History video. Fore Tee Video. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 January 2009. สืบค้นเมื่อ 16 January 2009.
  3. David Welander (June 1991). The history, art, and architecture of Gloucester Cathedral. Wolfeboro Falls, NH: Alan Sutton. ISBN 978-0862998219.
  4. "Gloucestershire, Gloucester Cathedral of St. Peter and Holy Trinity [D07556]". Npor.org.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-23. สืบค้นเมื่อ 2007-12-20.
  5. 5.0 5.1 5.2 "Gloucester Cathedral – Organ". Gloucestercathedral.org.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 December 2016. สืบค้นเมื่อ 12 December 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]