ข้ามไปเนื้อหา

มนุษย์พรุพีต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มนุษย์ลินเดาว์ที่พบในเชสเชอร์ในอังกฤษ

มนุษย์พรุพีต (อังกฤษ: Bog body หรือ bog people) คือร่างของมนุษย์ที่ได้รับการรักษาไว้ให้อยู่ในสภาพที่ดีโดยธรรมชาติที่พบในพรุพีตทางตอนเหนือของยุโรปและเกาะบริติช ร่างของมนุษย์ที่ตายในพรุพีตไม่เหมือนกับร่างของมนุษย์โบราณอื่นๆ ตรงที่ร่างที่ตายในพรุพีตจะยังคงมีหนังและอวัยวะภายในอยู่ เพราะได้รับการรักษาไว้โดยสภาพแวดล้อมที่มีคุณสมบัติพิเศษ สภาพแวดล้อมดังกล่าวก็รวมทั้งน้ำที่เป็นค่อนข้างเป็นกรด, อุณหภูมิที่ต่ำ และบรรยากาศที่ขาดออกซิเจน ปัจจัยดังกล่าวนี้ทำให้ผิวของผู้เสียชีวิตออกเป็นสีน้ำตาลแดงจัด แม้ว่าหนังจะอยู่ในสภาพดีแต่กระดูกจะไม่มีเหลืออยู่ เพราะกรดจากพีตทำการละลายแคลเซียมฟอสเฟตในกระดูก

นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันด็อคเตอร์อัลเฟรด ดีคจัดทำสารบรรณของมนุษย์ที่เสียชีวิตในพรุพีตที่พบทางทางตอนเหนือของยุโรปได้ถึงกว่า 1850 ร่างในปี ค.ศ. 1965[1][2] เกือบทุกร่างที่พบเป็นร่างที่มีอายุมาตั้งแต่ยุคเหล็ก และหลายร่างดูเหมือนว่าจะถูกสังหาร และจัดวางไว้ในพรุในรูปแบบการวางที่มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งทำให้สันนิษฐานได้ว่าอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม ที่นักโบราณคดีหลายท่านเชื่อกันว่าร่างเหล่านี้อาจจะเป็นของผู้ที่ถูกฆ่าเพื่อการสังเวยตามประเพณีเพกันของชนเจอร์มานิคในสมัยยุคเหล็ก ตัวอย่างสำคัญๆ ก็ได้แก่มนุษย์โทลลุนด์ที่พบที่เดนมาร์ก และ มนุษย์ลินเดาว์ของอังกฤษ

องค์ประกอบทางเคมีของพรุพีต

[แก้]

มีพรุพีตเพียงไม่กี่แห่งที่มีคุณสมบัติที่เหมาะแก่การรักษาเนื้อเยื่อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในบริเวณที่มีอากาศเย็นทางตอนเหนือของยุโรปที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณที่มีน้ำเค็ม[3] เช่นในบริเวณเดนมาร์กซึ่งเป็นที่พบมนุษย์ฮาราลดสแคร์ บรรยากาศที่มีเกลือจากทะเลเหนือพัดผ่านพรุบนคาบสมุทรจัตแลนด์ ซึ่งทำให้เกิดบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของพีต[4] เมื่อพีตใหม่มาแทนที่พีตเก่าๆ ภายใต้ก็จะเน่าและปล่อยกรดฮิวมิคหรือที่เรียกว่ากรดบอก (bog acid) กรดฮิวมิคและระดับpHที่คล้ายคลึงกับน้ำส้มสายชูสามารถดองร่างของมนุษย์ได้คล้ายกัยการดองแตงกวาในน้ำส้ม[5] พรุพีตเป็นบริเวณที่ขาดการระบายน้ำซึ่งทำให้เกิดสภาวะแทบจะที่เรียกว่าสภาวะขาดอากาศ (anaerobic conditions) เป็นบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมที่มีกรดสูง, ขาดออกซิเจน และขาดสิ่งมีชีวิตภายใต้พื้นผิวที่จะเป็นตัวที่ทำให้เกิดการเน่าสลายตัว นักค้นคว้าพบว่าการอนุรักษ์จะเกิดขึ้นต่อเมื่อร่างนั้นถูกนำไปทิ้งไว้ในพรุระหว่างฤดูหนาวหรือต้นฤดูใบไม้ผลิเมื่ออุณหภูมิของน้ำในพรุต่ำราวต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส[5] ซึ่งเป็นสภาวะที่ช่วยให้กรดฮิวมิคสามารถซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อได้ก่อนที่กระบวนการเน่าสลายตัวจะมีโอกาสเริ่มขึ้น แบคทีเรียไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วพอที่จะก่อให้เกิดการเน่าสลายเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส[5]

องค์ประกอบทางเคมีของพรุพีตจะต้องเป็นสภาวะที่เป็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยกรด ที่มีกรดอินทรีย์สูง และ มีแอลดีไฮด์ปรากฏ นอกจากนั้นชั้นมอส sphagnum และ พีตเองก็ยังช่วยในการรักษาร่างโดยการห่อไว้ไม่ให้เคลื่อนไหวได้ ซึ่งเป็นการหยุดยั้งการหมุนเวียนของน้ำและการเติมออกซิเจน นอกจากนั้นแล้วสภาวะการขาดอากาศในพรุกรดก็ยังช่วนอนุรักษ์ผม, เสื้อผ้า และ สิ่งของที่ทำด้วยหนังไว้ด้วย ตัวอย่างก็ได้แก่มนุษย์เอกทเวดของยุคสำริดที่พบบนคาบสมุทรจัตแลนด์ในเดนมาร์กเช่นกัน นักทดลองสมัยใหม่สามารถจำลองสภาวะของพรุในห้องทดลอง และสามารถแสดงการสาธิตกระบวนการอนุรักษ์ได้สำเร็จ ที่สั้นกว่า 2,500 ปีที่ใช้ในการอนุรักษ์ตามธรรมชาติของมนุษย์ฮาราลดสแคร์ ร่างเกือบทุกร่างที่พบมีบางส่วนที่เน่าสลายไป หรือ ได้รับรักษาไว้อย่างไม่ถูกต้อง เมื่อถูกอากาศปกติเข้าร่างของมนุษย์พรุพีตก็อาจจะเริ่มเน่าสลายอย่างรวดเร็ว

บริบทของประวัติศาสตร์

[แก้]

มนุษย์พรุพีตยุคเหล็ก

[แก้]
สตรีฮัลเดรอโมสที่พบบนคาบสมุทรจัตแลนด์ในเดนมาร์ก

ร่างของมนุษย์พรุพีตส่วนใหญ่ที่พบมาจากยุคเหล็ก ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่พรุพีตทางตอนเหนือของยุโรปเป็นบริเวณที่กว้างใหญ่กว่าในปัจจุบันมาก ร่างของมนุษย์พรุพีตของยุคเหล็กมีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง ที่ทำให้ทราบถึงประเพณีธรรมเนียมนิยมของการสังหารและวิธีทิ้งร่างผู้ตาย ชนยุคเหล็กก่อนสมัยโรมันเป็นสังคมที่ตั้งถิ่นฐานแบบถาวรภาพ ที่สร้างหมู่บ้าน และมีระบบสังคมที่มีระดับชั้น ชนเหล่านี้เป็นเกษตรกร และ เลี้ยงสัตว์ และมีความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง ในบางบริเวณของทางตอนเหนือของยุโรป ก็อาจจะมีการตกปลาเพื่อใช้เป็นอาหารเสริม แม้ว่าจะยังเป็นอิสระจากจักรวรรดิโรมันผู้มีอิทธิพลอยู่ทางตอนใต้ของยุโรป แต่ก็มีการติดต่อค้าขายกัน[6]

ในหมู่มนุษย์ในยุคหิน พรุพีตมีความสำคัญบางอย่าง และเป็นสถานที่สำหรับอุทิศสิ่งสักการะลงไปที่มักจะเป็นเครื่องประดับคอ, ข้อมือ หรือ ข้อเท้าที่ทำด้วยสำริดหรือบางครั้งแต่ไม่บ่อยนักก็อาจจะเป็นทอง นักโบราณคดีปีเตอร์ กลอบเชื่อว่าสิ่งที่พบในพรุเป็น “สิ่งสักการะที่มอบให้แก่เทพเจ้าแห่งความเจริญพันธุ์และความมีลาภ”[7] ซึ่งเป็นความคิดเห็นที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ฉะนั้นจึงเป็นที่สันนิษฐานกันว่าร่างที่พบในพรุพีตเป็นร่างที่โยนลงไปในพรุด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกันดังกล่าว และเป็นแบบอย่างของการสังเวยด้วยมนุษย์แด่เทพดาฟ้าดิน แต่กระนั้นก็ยังมีผู้ที่เชื่อว่าอาจจะเป็นร่างของผู้ที่ถูกทำร้ายโดยอาชญากรรมแทนที่จะเป็นเหตุผลทางด้านประเพณีความเชื่อข้างต้น[8]

ร่างที่พบหลายร่างในพรุแสดงร่องรอยของการถูกแทง, ถูกทุบด้วยวัตถุหนัก, ถูกแขวนคอ หรือ ถูกบีบคอ, หรือ มีร่องรอยหลายอย่างพร้อมกันตามที่กล่าวมา ในบางกรณีก็อาจจะถูกตัดหัวเช่นในกรณีของหัวออสเตอร์บีย์ที่พบที่โคห์ลมอร์ใกล้ออสเตอร์บีย์ในเยอรมนีในปี ค.ศ. 1948 ที่พบแต่ศีรษะในพรุโดยไม่มีร่าง[9]

โดยทั่วไปแล้วร่างที่พบจะเป็นร่างเปลือย หรือบางครั้งก็จะมีชิ้นส่วนของเครื่องแต่งกายติดตัวอยู่บ้าง โดยเฉพาะเครื่องสวมศีรษะ[10] ในหลายกรณีก็จะมีกิ่งไม้, ท่อนไม้ หรือหินวางทับอยู่บนร่าง และบางครั้งก็จะวางเป็นทรงกางเขน หรือบางครั้งก็จะปักกิ่งไม้ลงในเลนพีตเพื่อยึดร่างเอาไว้กับที่ นักโบราณคดีปีเตอร์ กลอบกล่าวว่า “การกระทำดังกล่าวอาจจะเป็นเครื่องแสดงถึงความต้องการที่จะยึดร่างของผู้ตายอย่างแน่นหนาเอาไว้ในพรุ”[11] บางร่างก็แสดงร่องรอยของการถูกทรมาน เช่นร่างของมนุษย์โครกัห์นที่มีรอยปาดใต้หัวนม

มนุษย์พรุพีตบางร่างเช่นมนุษย์โทลลุนด์จากเดนมาร์กพบพร้อมกับเชือกที่ใช้ในการรัดคอที่ยังคงพันอยู่รอบคอ หรือผมด้านหนึ่งของหัวของมนุษย์ยเดที่พบในเนเธอร์แลนด์ และร่างอื่นๆ ที่พบในไอร์แลนด์ถูกตัดเกรียน แต่อาจจะเป็นได้ว่ามาจากการที่ศีรษะด้านนั้นถูกออกซิเจนเป็นเวลานานกว่าอีกข้างหนึ่ง สิ่งที่คล้ายกันของมนุษย์พรุพีตที่พบคือเป็นบุคคลที่มาจากชนชั้นสูง ที่เห็นได้จากเล็บที่ตัดอย่างเรียบร้อย และจากการทดสอบโปรตีนในผมมักจะพบว่าเป็นผู้ที่เคยกินดีอยู่ดี สตราโบบันทึกว่าชนเคลต์มีประเพณีการควักใส้พุงของผู้ตาย ใส้พุงของร่างบางร่างที่พบในพรุเช่นร่างของมนุษย์เวียร์ดินจ์ที่พบทางตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์ก็พบว่าใส้พุงบางส่วนถูดดึงออกมาทางรอยผ่า[ต้องการอ้างอิง]

จากการวิจัยทางนิติเวชสมัยใหม่ในปัจจุบันพบว่ารอยบาดเจ็บบางอย่าง เช่นกระดูกหัก หรือ หัวกะโหลกที่ถูกทุบจนแตกมิได้เป็นผลมาจากการทรมาน แต่มาจากน้ำหนักของวัสดุในพรุ[12] ตัวอย่างเช่นกะโหลกที่ร้าวของมนุษย์เกราบอลล์ที่เคยเชื่อกันว่าเป็นเพราะถูกทุบหัว แต่จากการใช้การถ่ายภาพส่วนตัดด้วยคอมพิวเตอร์โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเดนมาร์กพบว่าสาเหตุที่ร้าวมาจากแรงกดดันของวัตถุในพรุเป็นเวลานานหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว[12]

ร่างอื่นนอกจากมนุษย์พรุพีตยุคเหล็ก

[แก้]

มนุษย์พรุพีตที่มิได้มาจากยุคเหล็กก็มี ร่างที่เก่าที่สุดก็ได้แก่มนุษย์เคิลบ์แยร์กที่พบที่เดนมาร์กที่เชื่อกันว่ามีอายุราว 8000 ปีก่อนคริสต์ศักราชในระหว่างยุคหิน ในบรรดาร่างที่พบล่าสุดก็มีร่างของสตรีที่พบในไอร์แลนด์ที่มาจากคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่มีหลักฐานเป็นว่าผู้ที่เสียชีวิตเพราะฆ่าตัวตาย ฉะนั้นจึงได้รับการฝังไว้ในพรุพีต แทนที่จะเป็นในสุสานของคริสต์ศาสนสถานเพราะได้ทำบาปตามหลักปรัชญาของคริสต์ศาสนา[ต้องการอ้างอิง] มนุษย์พรุพีตอื่นๆ ก็เป็นศพของทหารรัสเซียและเยอรมันที่ถูกสังหารที่แนวรบด้านตะวันออกของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในภูมิภาคทะเลสาบมาซูเรียนทางตะวันออกเฉียงเหนือของโปแลนด์[13]

การค้นพบและการสืบสวนทางโบราณคดี

[แก้]

ตั้งแต่ยุคเหล็กเป็นต้นมา พรุใช้เป็นสถานที่สำหรับการขุดพีตที่ใช้ในการเป็นเชื้อเพลิง และนานๆ ครั้งตลอดมาในประวัติศาสตร์ผู้ขุดพีตก็จะพบร่างที่ฝังอยู่ในพรุ บันทึกการพบดังกล่าวมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 และในปี ค.ศ. 1640 ก็ได้มีการพบมนุษย์พรุพีตที่ชายเลนชาลค์โฮลซ์ที่ฮ็อลชไตน์ในเยอรมนี ซึ่งอาจจะเป็นร่างของมนุษย์พรุพีตร่างแรกที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน แต่บันทึกการพบที่มีรายละเอียดมากกว่าเป็นร่างที่พบบนภูเขา Drumkeragh ในเคานตี้ดาวน์ในไอร์แลนด์ ที่ได้รับการบันทึกไว้โดยเลดี้ม็อยรา ภรรยาของเจ้าของที่ดินในท้องถิ่น[14] รายงานประเภทเดียวกันนี้ทำต่อมาจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เช่นรายงานของร่างที่พบที่เกาะฟินในปี ค.ศ. 1773[15] หรือร่างของมนุษย์คิบเบิลการ์นที่พบในเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1791 ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อมีการพบมนุษย์พรุพีตก็จะถูกย้ายจากพรุและนำมาฝังตามพิธีคริสต์ศาสนาตามประเพณีของคริสต์ศาสนิกชนของประชาคมที่เป็นที่ตั้งของพรุ[16]

จนกระทั่งเมื่อลัทธิโบราณวิทยาเริ่มแพร่หลายขึ้น ผู้คนบางคนก็เริ่มจะสันนิษฐานว่าร่างของมนุษย์พรุพีตเหล่านี้ไม่ใช่ร่างของผู้ที่ถูกฆาตกรรมเมื่อไม่นานมานี้แต่เป็นร่างของมนุษย์โบราณ ในปี ค.ศ. 1843 ก็มีการพบร่างมนุษย์พรุพีตที่คอร์เซลิทซ์ที่เกาะฟอลสเตอร์ในเดนมาร์กที่ฝังพร้อมกับเครื่องตกแต่งที่แปลกออกไป (ลูกปัดแก้วเจ็ดลูกและเข็มกลัดสำริด) ที่ได้รับการฝังตามประเพณีของคริสต์ศาสนา แต่กลับถูกขุดขึ้นมาอีกตามโองการของเจ้าชายรัชทายาทเฟรเดอริคผู้ทรงเป็นนักโบราณวิทยาให้นำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แทนที่ นักโบราณคดีปีเตอร์ กลอบมีความเห็นว่า “พระองค์, มากกว่าผู้ใด, ผู้เป็นผู้กระตุ้นให้โบราณวิทยาของเดนมาร์กเป็นที่สนใจกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น”[17] ในบางกรณีการพบก็ถูกบดบังโดยจินตนการนิยมอันเกินเลยโดยไม่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ทางด้านการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ เช่นเมื่อมีการพบมนุษย์ฮาราลดสแคร์ในเดนมาร์ก เธอก็ถูกนำไปแสดงในฐานะที่เป็นพระราชินีกุนฮิลด์ผู้เป็นสตรีในตำนานอันเลื่องลือของยุคกลางตอนต้น ซึ่งเป็นที่คัดค้านโดยนักโบราณคดี เจ.เจ.เอ. วอร์แซผู้โต้ว่ามนุษย์ฮาราลดสแคร์เป็นร่างที่มาจากยุคหินเช่นเดียวกับมนุษย์พรุพีตร่างอื่นๆ ที่พบมา[18] มนุษย์พรุพีตร่างแรกที่ได้รับการถ่ายภาพคือมนุษย์เร็นด์สวือเรินที่พบในปี ค.ศ. 1871 ที่พรุไฮด์มัวร์ใกล้เมืองคีลในเยอรมนี ต่อมามนุษย์เร็นด์สวือเรินก็ถูกนำมารมควันโดยเป็นความพยายามที่มีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์เพื่อที่จะนำไปตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์[19]

เมื่อการศึกษาทางโบราณคดีพัฒนาขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 มนุษย์พรุพีตก็เริ่มได้รับการขุดขึ้นมาและสืบสวนกันอย่างระมัดระวังและละเอียดละออมากขึ้น

กรรมวิธีทางโบราณคดี

[แก้]

มาจนกระทั่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่มาของมนุษย์พรุพีตก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอนว่าเป็นร่างที่ถูกฝังมาเป็นปีๆ, เป็นสิบๆ ปี หรือ เป็นร้อยๆ ปี แต่จากการสืบสวนโดยใช้กรรมวิธีทางนิติเวชและทางการแพทย์สมัยใหม่เช่นการใช้การหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี (Radiocarbon dating) ที่พัฒนาขึ้นมาทำให้นักค้นคว้าสามารถทราบข้อมูลเกี่ยวกับมนุษย์พรุพีตได้อย่างแน่นอนขึ้น เช่นอายุเมื่อเสียชีวิต, อายุการฝัง และรายละเอียดอื่นๆ นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาผิวหนัง, จำลองรูปลักษณ์ และ แม้แต่ระบุอาหารมื้อสุดท้ายที่รับประทานจากสิ่งที่พบในท้อง นอกจากนั้นฟันก็เป็นเครื่องบอกอายุผู้ตาย และประเภทของอาหารที่บริโภคในขณะที่ดำรงชีวิตอยู่[ต้องการอ้างอิง]

การฉายรังสีเอกซ์เป็นก้าวสำคัญในการทำความเข้าใจมนุษย์พรุพีต เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่อยู่ในพีต ที่ทำให้สามารถนำออกมาจากพีตได้โดยไม่ได้รับความเสียหายเมื่อเทียบการพยายามดึงร่างออกมาโดยไม่ทราบรายละเอียดของตำแหน่งรายละเอียดของร่าง การหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสีก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้กันมากในการวัดอายุได้อย่างเที่ยงตรง ซึ่งทำให้ทราบว่าส่วนใหญ่แล้วมาจากยุคหิน ในด้านการระบุสาเหตุของการเสียชีวิต ทำให้ทราบได้ว่ามีร่างเป็นจำนวนมากที่มีร่องรอยของการเสียชีวิตอย่างทารุณและถูกฆาตกรรม เช่นร่างของมนุษย์โทลลุนด์ที่มีเชือกแขวนอยู่รอบคอ หรือ มนุษย์วิเดอบีย์ที่หนึ่งที่ถูกทับด้วยขอนไม้และกิ่งไม้คาอยู่ใต้น้ำ[ต้องการอ้างอิง]

จากการที่บริเวณที่เป็นเลนพีตช่วยอนุรักษ์เนื้อเยื่ออ่อน ทำให้การวิจัยเนื้อหาของสิ่งที่หลงเหลืออยู่ในท้องเป็นไปได้ และทำให้ทราบถึงธรรมเนียมด้านการโภชนาการของบุคคลเหล่านี้ การสร้างใบหน้าใหม่ทางนิติเวชเป็นกรรมวิธีอันน่าทึ่งที่ใช้ในการศึกษาร่างกายของมนุษย์พรุพีต กรรมวิธีนี้เดิมพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการสืบสวนอาชญากรรมได้รับการนำมาใช้ในการระบุหน้าตาของมนุษย์พรุพีตจากกะโหลกที่พบ ใบหน้าของมนุษย์พรุพีตคนหนึ่งมนุษย์ยเดได้รับการจำลองขึ้นในปี ค.ศ. 1993 โดยริชาร์ด นีฟแห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์โดยการถ่ายภาพส่วนตัดด้วยคอมพิวเตอร์ของส่วนศีรษะ การจำลองใบหน้าด้วยวิธีนี้ก็ได้นำมาใช้ในการจำลองใบหน้าของมนุษย์พรุพีตอีกหลายคนต่อมา

มนุษย์พรุพีตที่สำคัญ

[แก้]

มนุษย์พรุพีตที่สำคัญที่เป็นร่างที่อยู่ในสภาพการอนุรักษ์ที่ดีและได้รับการศึกษาอย่างลึกซึ้งโดยนักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์สาขานิติเวชก็ได้แก่

มนุษย์พรุพีตอื่นๆ

[แก้]
ภาพ ชื่อ
มนุษย์เคย์เฮาสเซน
มนุษย์เคย์เฮาสเซนเป็นมนุษย์พรุพีตที่พบ ที่แซกโซนี,ในประเทศเยอรมนี ที่มีอายุมาตั้งแต่ปี 300 ถึง 400 ก่อนคริสต์ศักราช เป็นร่างของเด็กชายอายุราวเจ็ดขวบเมื่อเสียชีวิต[20] แขนและเท้าถูกมัดไว้ด้วยกันด้วยผ้าและเสื้อคลุม มีร่องรอยว่าถูกแทงหลายครั้งที่คอ[21] เด็กอาจจะป่วยด้วยโรคอักเสบที่ปุ่มกระดูกของตอนบนของกระดูกต้นขาที่อาจจะทำให้ไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเองโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือได้ การพบว่าอัตราการพิการของบรรดามนุษย์พรุพีตสูงเช่นในกรณีมนุษย์ยเดทำให้นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าคนพิการอาจจะถูกสังเวยเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เทพยดาไม่พึงพอใจ[22]
ภาพซ้ายเป็นภาพของเสื้อคลุมขนสัตว์ที่ใช้มัดข้อเท้า
มนุษย์เอลลิง
มนุษย์เอลลิงเป็นมนุษย์พรุพีตสตรีที่พบในปี ค.ศ. 1938 ทางตะวันตกของ Silkeborg ในประเทศเดนมาร์ก สิบสองปีต่อมาก็มีการพบมนุษย์โทลลุนด์ห่างออกไปราว 200 ฟุต[23] มนุษย์เอลลิงพบโดยเยนส ซาคาริอัสสันผู้ที่เดิมเชื่อว่าเป็นร่างของสัตว์ที่จมน้ำตาย ร่างที่พบห่อไว้ในเสื้อคลุมที่ทำด้วยหนังแกะที่มัดไว้รอบขา[24] เชื่อกันว่าสตรีที่พบถูกแขวนคอเช่นเดียวกับมนุษย์โทลลุนด์ ปีที่เสียชีวิตตกราว 280 ปีก่อนคริสต์ศักราชซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับมนุษย์โทลลุนด์ แต่ไม่อาจจะทราบได้ว่าทั้งสองคนถูกฆ่าพร้อมกันหรือไม่ หรืออาจจะไม่สามารถระบุเพศได้ถ้าผมไม่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ ผมที่พบยาว 90 เซนติเมตรถักเป็นเปียและผูกเป็นปม[25] เชื่อกันว่ามนุษย์เอลลิงถูกสังเวย[26] เมื่อมีชีวิตอยู่ก็อาจจะป่วยด้วยโรคกระดูกพรุนเมื่อมีอายุได้เพียงราว 25 ถึง 30 ปี[22]
ภาพซ้ายเป็นการจำลองเสื้อคลุมและแบบผม
มนุษย์เอมเมอร์-เอิร์ฟไชเดินฟีน
มนุษย์เอมเมอร์-เอิร์ฟไชเดินฟีนเป็นมนุษย์พรุพีตที่พบในปี ค.ศ. 1938 ที่เดรนธ์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ มนุษย์เอมเมอร์-เอิร์ฟไชเดินฟีนที่มีอายุมาตั้งแต่ปี 1200 ก่อนคริสต์ศักราชอยู่ในสภาพที่ไม่ไคร่ดีนัก[27] สิ่งสำคัญคือการพบเครื่องแต่งกายที่ได้รับการรักษาไว้ที่รวมทั้ง หมวกขนแกะ, รองเท้าหนังกวาง, เสื้อคลุมหนังวัว และ เครื่องแต่งกายชั้นในที่ทำด้วยขนแกะ[28][29]
สิ่งของที่พบ
สตรีฮัลเดรอโมส
สตรีฮัลเดรอโมสที่เป็นมนุษย์พรุพีตสตรีที่พบบนคาบสมุทรจัตแลนด์ในเดนมาร์กในปี ค.ศ. 1879 เป็นร่างของสตรีสูงอายุจากยุคเหล็ก ร่างที่พบแต่งตัวด้วยกระโปรงขนแกะและเสื้อคลุมยาวที่ทำด้วยหนังสองตัว อายุราวระหว่าง 160 ถึง 340 ก่อนคริสต์ศักราช สตรีฮัลเดรอโมสเสียชีวิตเมื่อมีอายุราว 40 ปี—ซึ่งถือว่าเป็นวัยชราในยุคนั้น[30] แขนขวาถูกตัด แต่อาจจะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างการพยายามขุดเอาร่างขึ้นมา นอกจากนั้นก็มีเชือกขนแกะที่ใช้รวบผมเอาไว้และคล้องรอบคอ แต่ก็ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุได้ว่าถูกเอาเชือกรัดคอ[31]
มนุษย์น็อยเวอร์เซน หรือ Roter Franz
มนุษย์เป็นมนุษย์พรุพีตที่พบในปี ค.ศ. 1900 ที่ Boulanger Moor ระหว่างพรมแดนเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ประเทศ ที่มีอายุมาตั้งแต่ราวระหว่างปี ค.ศ. 220 ถึงปี ค.ศ. 430 ในยุคเหล็กโรมัน[32] ชื่อ “Roter Franz” มาจากสีผมและสีเคราที่เป็นสีแดง มนุษย์น็อยเวอร์เซนถูกสังหารโดยการเชือดคอ และมีบาดแผลที่เกิดจากลูกธนู และ ไหล่ที่หัก[33][34]
หัวออสเตอร์บีย์
หัวออสเตอร์บีย์เป็นมนุษย์พรุพีตที่พบในปี ค.ศ. 1948 ที่ออสเตอร์บีย์ในเยอรมนี โดยคนขุดพีตสองคนขณะที่ทำงาน หัวที่พบอยู่ลึกราวสองฟุตจากผิวดิน เป็นหัวที่ห่อไว้ในเสื้อคลุมที่ทำด้วยหนังกวาง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีอายุราวระหว่าง 50 ถึง 60 ปีเมื่อถูกฆ่า หัวออสเตอร์บีย์ถูกตัด แต่ก็ไม่พบส่วนอื่นของร่างกาย ผมผูกเป็นจุกแบบที่เรียกว่ามวยซูบี สีผมเดิมอาจจะเป็นสีบลอนด์อ่อน แต่หลังจากที่จมอยู่ในพรุเป็นเวลานานก็เปลี่ยนเป็นสีแดงจัด[35] ลักษณะของมวยเป็นที่นิยมกันเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว นักประวัติศาสตร์โรมันแทซิทัสกล่าวถึงมวยลักษณะนี้ว่าเป็นทรงที่นิยมกันโดยชาวซูบี[36] หัวส่วนใหญ่เป็นกะโหลก แต่ก็ยังคงมีหนังหลงเหลืออยู่บ้าง[37] สาเหตุการเสียชีวิตมาจากการถูกทุบที่ขมับทางด้านซ้าย[38]
หัวสติดสโฮลท์โมเซอ
หัวสติดสโฮลท์โมเซอเป็นมนุษย์พรุพีตสตรีที่พบในปี ค.ศ. 1859 หัวสติดสโฮลท์โมเซอถูกตัดโดยการทุบที่กระดูกสันหลังชิ้นที่สามหรือสี่ ผมสีแดงเข้มที่เกิดจากปฏิกิริยากับกรดในพรุ ผมผูกเป็นมวย และรัดด้วยแถบสานแต่ถูกทำลายไป อายุยังไม่ได้ทำการระบุ และส่วนอื่นๆ ของร่างก็ไม่ปรากฏ[21] ผมยาว 20 นิ้ว และบางครั้งก็เรียกว่า “Stidsholt Fen Woman”[39]
มนุษย์เรนสวือห์เรน
มนุษย์เรนสวือห์เรนเป็นมนุษย์พรุพีตที่พบในปี ค.ศ. 1871 ที่พรุไฮด์มัวร์ในประเทศเยอรมนี ร่างที่พบประมาณกันว่ามีอายุระหว่าง 40 ถึง 50 เมื่อมาถูกซ้อมจนเสียชีวิตที่ทำให้มีรูสามเหลี่ยมอยู่บนหัว ร่างที่พบไม่มีเสื้อผ้ามีแต่ชิ้นหนังบนขาซ้าย ใกล้ตัวมีเสื้อคลุม จากการศึกษาเครื่องแต่งกายพบว่าเป็นเครื่องแต่งกายของยุคเหล็กของโรมันที่นิยมกันในคริสต์ศตวรรษ 1 ถึง 2 ซึ่งได้รับการยืนยันโดยการใช้คาร์บอน-14 ในการระบุอายุ[32]
มนุษย์เดทเกน
มนุษย์เดทเกนเป็นมนุษย์พรุพีตที่พบในปี ค.ศ. 1959 ไม่ไกลจากเดทเกนในประเทศเยอรมนี มนุษย์เดทเกนถูกซ้อม, แทง และถูกตัดหัว หัวที่ถูกตัดพบราว 10 ฟุตจากร่าง และไม่เชื่อว่าเป็นการสังเวยแต่อาจจะถูกสังหารเพื่อป้องกันการกลับมาในรูปของซอมบี[40]
มนุษย์ฮุสเบค
มนุษย์ฮุสเบคเป็นมนุษย์พรุพีตที่พบในปี ค.ศ. 1939 ที่อัมเมอร์แลนด์ในประเทศเยอรมนี ร่างที่พบเป็นร่างที่นอนคว่ำในพรุ ก่อนจะตายได้กินปลา จากการวิจัยพบว่ามีอายุราว 20 ปีเมื่อเสียชีวิต[41]
มนุษย์กัลลาห์
มนุษย์กัลลาห์เป็นมนุษย์พรุพีตที่พบในปี ค.ศ. 1821 ที่ประมาณว่าเสียชีวิตราว 400 ถึว 200 ปีก่อนคริสต์ศักราช ร่างอยู่ลึกราว 9 ฟุตจากผิวดินในพรุในไอร์แลนด์ รอบคอเป็นเสื้อคลุมที่อาจจะใช้ในการรัดคอ ร่างถูกเสียบด้วยไม้สองชิ้นเพื่อให้ติดอยู่กับพื้น ที่อาจจะเป็นการป้องกันจากการเป็นซอมบีกลับมาหลอกหลอน[42]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Alfred Dieck (1965). Die europaischen Moorleichenfunde. Wachholtz. 136pp
  2. P.V. Glob (1969). The Bog People: Iron Age Man Preserved. London: Faber and Faber Limited. Page 101.
  3. Dente, Jenny, Bog Bodies: Reluctant Time Travelers, .University of Texas, El Paso (2005)
  4. Silkeborg Museum "The Tollund Man - Preservation in the bog". Silkeborg Museum and Amtscentret for Undervisning, Aarhus Amt, 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-20. สืบค้นเมื่อ 2008-08-20. pg=Tollundman.dk เก็บถาวร 2017-04-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน แม่แบบ:Dk icon
  5. 5.0 5.1 5.2 (Silkeborg Museum 2004, p. Tollundman.dk) แม่แบบ:Dk icon
  6. P.V. Glob (1969). The Bog People: Iron Age Man Preserved. London: Faber and Faber Limited. Page 121-125.
  7. P.V. Glob (1969). The Bog People: Iron Age Man Preserved. London: Faber and Faber Limited. Page 136.
  8. Miranda Green, "Humans as Ritual Victims in the Later Prehistory of Western Europe, Oxford Journal of Archaeology, 1998 Vol 17; No. 2, pages 169-190
  9. P.V. Glob (1969). The Bog People: Iron Age Man Preserved. London: Faber and Faber Limited. Page 116-117.
  10. P.V. Glob (1969). The Bog People: Iron Age Man Preserved. London: Faber and Faber Limited. Page 107.
  11. P.V. Glob (1969). The Bog People: Iron Age Man Preserved. London: Faber and Faber Limited. Page 105.
  12. 12.0 12.1 Karen E. Lange, "Tales from the Bog", National Geographic, September 2007, retrieved 23-04-2009
  13. P.V. Glob (1969). The Bog People: Iron Age Man Preserved. London: Faber and Faber Limited. Page 101.
  14. P.V. Glob (1969). The Bog People: Iron Age Man Preserved. London: Faber and Faber Limited. Page 103.
  15. P.V. Glob (1969). The Bog People: Iron Age Man Preserved. London: Faber and Faber Limited. Page 65-66.
  16. P.V. Glob (1969). The Bog People: Iron Age Man Preserved. London: Faber and Faber Limited. Page 63.
  17. P.V. Glob (1969). The Bog People: Iron Age Man Preserved. London: Faber and Faber Limited. Page 68-69.
  18. P.V. Glob (1969). The Bog People: Iron Age Man Preserved. London: Faber and Faber Limited. Page 69-73.
  19. P.V. Glob (1969). The Bog People: Iron Age Man Preserved. London: Faber and Faber Limited. Page 106-107.
  20. Archaeology.about.com
  21. 21.0 21.1 Archaeology.org
  22. 22.0 22.1 WAC6.org[ลิงก์เสีย]
  23. Archaeological Institute of America: Violence in the Bogs
  24. Vandkilde, Helle (2003), "Tollund Man", ใน Bogucki, Crabtree (บ.ก.), Ancient Europe 8000 B.C. - A.D. 1000: Encyclopedia of the Barbarian World, vol. 1, London: Charles Scribner's Sons, p. 27
  25. Tollundman.dk เก็บถาวร 2012-03-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน แม่แบบ:Dk icon
  26. "Silkeborgmuseum.dk". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-10. สืบค้นเมื่อ 2010-05-25.
  27. D. Sivrev, et al, Modern Day Plastination Techinques -- Successor of Ancient Emballment Methods[ลิงก์เสีย], Trakia Journal of Sciences, 2005, Vol. 3, No. 3, pp 48-51
  28. "Clothing and Hair Styles of the Bog People ", "Bodies of the Bogs, Archaeological Institute of America, December 10, 1997
  29. http://www.mummytombs.com/museums/nl.assen.drents.emmer.htm
  30. "he woman from Huldremose" เก็บถาวร 2011-12-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Meet Danish Prehistory, Nationalmuseet, retrieved 03-02-2010
  31. "How did the Huldremose woman die?" เก็บถาวร 2009-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Meet Danish Prehistory, Nationalmuseet, retrieved 03-02-2010
  32. 32.0 32.1 J. van der Plicht, W. A. B. van der Sanden, A. T. Aerts and H. J. Streurman, "Dating bog bodies by means of 14C-AMS"[ลิงก์เสีย], Journal of Archaeological Science Volume 31, Issue 4, April 2004, Pages 471-491
  33. http://ngm.nationalgeographic.com/2007/09/bog-bodies/clark-photography
  34. "Violence in the Bogs ", Bodies of the Bogs, Archaeological Institute of America, December 10, 1997
  35. Mummytombs.com
  36. PBS.org
  37. Books.google.com
  38. PBS.org
  39. Books.google.com
  40. http://www.mummytombs.com/bog/datgen.htm
  41. http://www.mummytombs.com/bog/husbake.htm
  42. http://www.mummytombs.com/bog/gallagh.htm

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ มนุษย์พรุพีต