การเน่าเปื่อย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก การเน่าสลายตัว)

การเน่าเปื่อย (อังกฤษ: decomposition) เป็นการเปลี่ยนแปลงหลังการตายตามธรรมชาติอย่างหนึ่งของร่างกายสิ่งมีชีวิต เมื่อเกิดการตายและหัวใจหยุดเต้น ร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลังการตายตามลำดับก่อนหลัง โดยเกิดรอยเขียวช้ำหลังตาย สภาพแข็งทื่อหลังตาย การลดลงของอุณหภูมิร่างกายหลังตายและเกิดการเน่าเปื่อยในลำดับสุดท้าย ซึ่งการเน่าเปื่อยของร่างกาย จะเกิดจากการสลายตัวของเนื้อเยื่อภายในร่างกายโดยมีหลักการเน่าเปื่อยสองประการคือ การสลายตัวเองและการเน่าสลาย

รูปแบบการเน่าเปื่อย[แก้]

การสลายตัวเอง[แก้]

การสลายตัวเอง (อังกฤษ: Autolysis) เป็นการเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีที่มีน้ำย่อยเซลล์ออกมาจากตัวเอง ทำให้เนื่อเยื่อเกิดการสลายตัว และเนื่องจากการสลายตัวของเซลล์เองเป็นปฏิกิริยาทางเคมี จึงขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและสภาพของสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย ถ้าอุณหภูมิสูงจะเกิดปฏิกิริยาการเน่าสลายตัวอย่างรวดเร็วเช่น ศพในบริเวณทะเลทราย ความร้อนระอุของทรายจะเป็นตัวช่วยเร่งให้ศพเกิดการเน่าสลายตัวเร็วยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้าอุณหภูมิต่ำจะเกิดปฏิกิริยาการเน่าสลายตัวอย่างช้าเช่น ศพในบริเวณขั้วโลกเหนือ ความเย็นของหิมะ ธารน้ำแข็งจะเป็นตัวช่วยรักษาสภาพของศพให้เกิดการเน่าสลายตัวอย่างช้า ๆ อวัยวะภายในร่างกายส่วนใดที่มีน้ำย่อยเซลล์จำนวนมาก อวัยวะในส่วนนั้นจะเกิดการเน่าสลายตัวอย่างรวดเร็ว เช่นเมื่อตายร่างกายจะเกิดการย่อยสลายที่บริเวณตับอ่อน ซึ่งจะเกิดการเน่าสลายตัวก่อนหัวใจเป็นต้น

การสลายตัวในร่างกาย เกิดจากแบคทีเรียทำปฏิกิริยาเคมีในเนื้อเยื่อของร่างกาย เนื่องจากแบคทีเรียส่วนใหญ่มีอยู่ในลำไส้ใหญ่อยู่แล้ว หลังตายแบคทีเรียเหล่านี้จะเริ่มพัฒนาการและเจริญเติบโตมากขึ้น รวมทั้งเริ่มปรากฏให้เห็นเป็นสิ่งแรกในร่างกายคือการเริ่มมีสีเขียวจาง ๆ ที่บริเวณท้องน้อย เมื่อตายมาประมาณ 24 ชั่วโมง จะพบว่าบริเวณท้องน้อยด้านขวาจะเริ่มปรากฏสีเขียวมากกว่าด้านซ้าย เนื่องจากการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในบริเวณนั้นจะสร้างก๊าซซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งก๊าซนี้จะซึมซาบไปทุกส่วนของร่างกาย วิ่งไปตามเส้นเลือดทุกเส้นทำให้เส้นเลือดเกิดเป็นสีเขียวคล้ำ เป็นลวดลายมองดูคล้ายกับลายของหินอ่อนปรากฏบนบริเวณผิวหนังทั่วทั้งร่างกายเรียกว่า "Marbling"[1]

การเน่าสลาย[แก้]

ซากหนูที่เกิดการเน่าสลายตัวแบบแห้งตายซาก

การเน่าสลาย (อังกฤษ: Putrefaction) ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จะเกิดหลังจากเกิดการเน่าสลายของเซลล์ ตามใบหน้า ไหล่และหน้าอกเริ่มเกิดสีเขียวคล้ำและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ร่างกายค่อย ๆ เกิดการอืดมากขึ้น บริเวณผิวหนังเริ่มเกิดถุงน้ำจากการที่เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังเกิดการเน่าสลายตัว ทำให้เกิดน้ำเหลืองดันใต้ผิวหนังส่งผลให้ผิวหนังโป่งบวมมากขึ้น และต่อมาผิวหนังก็จะเกิดการเน่าปริและหลุดลอกออกไป เส้นผม เส้นขนตามบริเวณร่างกายเกิดการหลุดออก ในช่วงระยะเวลานี้จะพบมีน้ำเหลืองซึ่งมีลักษณะสีแดงคล้ำไหลออกมาทางปากหรือทางจมูกของศพอีกด้วย

ระยะแรก[แก้]

การเน่าสลายของร่างกายในระยะแรก จะมีน้ำเหลืองจำนวนมากไหลออกมาขังอยู่ตามช่องต่าง ๆ ในร่างกายเช่นในบริเวณช่องอก ช่องท้อง และในขณะเดียวกันร่างกายก็จะเกิดบวมพองมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเกิดจากแรงดันของก๊าซที่เกิดขึ้นในร่างกาย ก๊าซที่มีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้ลิ้นในกระพุ้งแก้มถูกดันออกมาจุกที่ปากในลักษณะของลิ้นจุกปาก เพดานปากและลิ้นไก่เกิดการเน่า ลูกนัยน์ตาทั้งสองข้างจะถูกแรงดันให้ทะลักล้นออกมานอกเบ้าตา ในผู้ชายถุงอัณฑะจะเกิดการโป่งบวมพอง อวัยวะเพศชายมีลักษณะบวมเป่งและมีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม ในผู้หญิงจะเกิดการบวมพองที่ทวารหนักและช่องคลอด จะถูกแรงดันทำให้เกิดการแบะออกมาภายนอก ร่างกายทั่วไปถูกดันจนข้อต่าง ๆ มีการงอเข้ามาเล็กน้อย นิ้วมือบวมเป่งจนดันกันให้กางออกทั้งสองข้าง ซึ่งระยะเวลานี้เรียกว่าเกิดการอืดของร่างกายอย่างเต็มที่ ในอุณหภูมิทั่วไปในประเทศไทยประมาณ 3-4 วันหลังจากตาย[2]

ระยะสุดท้าย[แก้]

หลังจากการเน่าสลายตัวในระยะแรก อวัยวะบางส่วนจะเกิดจากหลุดลอก หลังจากในช่วงระยะเวลาประมาณ 3-4 วัน เนื้อเยื่อจะเริ่มสลายตัวมากยิ่งขึ้นจนเริ่มมองเห็นกระดูกบริเวณหน้าผากหรือโหนกแก้ม ซึ่งการเน่าสลายตัวของร่างกายในช่วงระยะเวลานี้ จะใช้เวลาประมาณ 7 วันและเริ่มมากขึ้นจนเห็นมองกระดูกซี่โครงและอวัยวะภายในช่องอกที่เน่าสลายตัวอยู่ภายใน เมื่อเวลาประมาณ 2 อาทิตย์การเน่าสลายตัวจะเพิ่มมากขึ้นจนเกิดการสลายตัวในช่องท้อง จนสามารถมองเห็นอวัยวะต่าง ๆ ได้เกือบหมดในช่วงระยะเวลาประมาณ 3 อาทิตย์ และเมื่อ 4 อาทิตย์หลังจากตาย ร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลังการตายและการเน่าสลายตัวจนมองเห็นกระดูกเกือบทั้งตัว[3]

หลังจากนั้นเนื้อเยื่อภายในร่างกายยังคงย่อยสลายตัวต่อไป จนเส้นเอ็นต่าง ๆ ที่ยึดตามข้อกระดูกเริ่มหลุดออกจากกัน กระดูกนิ้วมือ กระดูกนิ้วเท้าหลุดแยกออกจากกัน ข้อมือ ข้อเท้าหลุดออกจากกัน การเน่าสลายตัวของร่างกายในช่วงระยะเวลานี้จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ร่างกายจะคงเหลือเพียงกระดูกสันหลังเท่านั้นที่ยังคงยึดติดกันอยู่ได้ และในช่วงระยะเวลา 6 เดือนหลังจากตาย กระดูกทุกชิ้นในร่างกายจะหลุดออกจากกันจนเกือบหมด และยังอาจจะได้กลิ่นเหม็นเน่าของกระดูกซึ่งคงมีอยู่ตลอดเวลา กลิ่นเหม็นเน่านี้อาจจะมีต่อไปอีกนานหลายเดือนกว่าจะหมดกลิ่น ในช่วงระยะเวลาประมาณว่า 1 ปี ศพจะคงเหลือแต่เพียงโครงกระดูกขาวโพลน ปราศจากเนื้อเยื่อใด ๆ หลงเหลืออยู่อีกต่อไป

การเน่าสลายในความร้อน[แก้]

บางครั้งศพที่อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือภูมิประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนและแห้งจัดเช่นในแถบทะเลทราย ร่างกายของผู้ตายอาจเกิดเป็นมัมมี่ (อังกฤษ: Mummification) ขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยบริเวณผิวหนังทั่วทั้งร่างกายเริ่มเปลี่ยนสีจากสีผิวหนังเดิมเกิดการเปลี่ยนแปลงออกไปเป็นลักษณะคล้ายหนังหมูตากแห้ง แม้สภาพภายนอกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการแห้งแบบตายซาก แต่เนื่อเยื่อภายในจะยังคงสลายตัวต่อไป โดยที่ความร้อนจากทะเลทราย จะเป็นตัวแปรอย่างดีในการช่วยรักษาสภาพของศพไม่ให้เกิดการเน่าสลาย

ดังนั้นเมื่อมีการค้นพบมันมี่ในแถบอียิปต์ จะสามารถพบร่างกายมนุษย์ที่อยู่ในภาพที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ยกเว้นแต่เพียงผิวหนัง ใบหน้า นิ้วมือเท่านั้นที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย หดแฟบลงเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกเท่านั้น ซึ่งการเน่าสลายในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศเย็นหรือในโคลนตม จะเป็นการช่วยรักษาสภาพของศพได้เป็นอย่างดี ไม่ให้เกิดการเน่าสลายตามธรรมชาติได้อีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่ออีกแบบหนึ่ง ที่จะทำให้เนื้อเยื่อไม่สลายตัวเรียกว่าอดิโพเซีย (อังกฤษ: Adipocere) เนื่องจากแบคทีเรียบางชนิดเช่น Clostridium Perfringens เกิดปฏิกิริยาให้เนื้อเยื่อไขมันเกิดการเปลี่ยนเป็นกรดบางประเภท Oleic, Palmitic and Stearic Acid ทำให้เนื้อก้อนนั้นมีลักษณะคล้ายก้อนขี้ผึ้ง สีออกเทาถึงน้ำตาล และมักพบในบริเวณเนื้อเยื่อไขมันในศพที่มักจะอยู่ในน้ำ ซึ่งต่อไปจะแข็งตัวแห้งเป็นของแข็งที่เปราะได้

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. การเน่าสลายตัวของร่างกาย, นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549, หน้า 31
  2. การเน่าสลายตัวของร่างกายในระยะแรก, นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549, หน้า 32
  3. การเน่าสลายตัวของร่างกายในระยะสุดท้าย, นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549, หน้า 32