ฟีลิปโป ลิปปี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฟิลลิปโป ลิปปี)
แม่พระและพระกุมาร
ราว ค.ศ. 1440-1445
พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติ, วอชิงตัน ดี.ซี., สหรัฐอเมริกา
“ภาพเหมือนผู้ชายและผู้หญิงในห้อง” (Portrait of a Man and Woman at a Casement) ราว ค.ศ. 1440
พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตัน, นครนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา
ภาพเหมือนกับลูกศิษย์

ฟีลิปโป ลิปปี (อิตาลี: Filippo Lippi) (ค.ศ. 1406 - 8 ตุลาคม ค.ศ. 1469) เป็นจิตรกรยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาคนสำคัญของประเทศอิตาลีในคริสต์ศตวรรษที่ 15 มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนจิตรกรรมฝาผนัง

ชีวิตและงาน[แก้]

ฟิลลิปโป ลิปปีเกิดที่ฟลอเรนซ์ พ่อเป็นคนขายเนื้อชื่อโทมัสโซ ทั้งพ่อและแม่เสียชีวิตตั้งแต่ลิปปียังเด็ก โมนา ลาปาเชียซึ่งเป็นน้าจึงเป็นผู้ดูแลแทน ในปี ค.ศ. 1432 ลิปปีก็เข้าปฏิญาณตนเป็นไฟรอาร์คณะคาร์เมไลท์ที่ฟลอเรนซ์ขณะอายุได้ 16 ปีในปี ค.ศ. 1421[1] ในหนังสือ “ชีวิตศิลปิน” ของ จอร์โจ วาซารี กล่าวว่า: “แทนที่จะเรียนหนังสือ, ฟีลิปโปใช้เวลาทั้งหมดวาดรูปในสมุดของตนเองและของคนอื่นๆ” อธิการจึงตัดสินใจส่งไปเรียนการวาดรูป

ในที่สุดฟราฟีลิปโปก็ลาออกจากอารามแต่ดูเหมือนว่าจะคงยังเป็นนักบวชอยู่เพราะในจดหมายที่เขียนเมื่อปี ค.ศ. 1439 ฟีลิปโปกล่าวถึงตัวเองว่าเป็นไฟรอาร์ที่จนที่สุดในฟลอเรนซ์ ต้องรับผิดชอบหลานสาวถึงหกคน ในปี ค.ศ. 1452 ฟีลิปโปก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นจิตตาภิบาลประจำคอนแวนต์ซันโจวันนีที่ฟลอเรนซ์ ในปี ค.ศ. 1457 ก็ได้เป็นเรกเตอร์ประจำโบสถ์ซันควีรีโกที่เลจาเนีย (S. Quirico in Legania) มีรายได้ดีขึ้นแต่ก็มักจะมีปัญหาเรื่องเงิน ซึ่งกล่าวกันว่าฟีลิปโปเอาไปใช้ซื้อ “ความรัก” (amours) วาซารีเองก็กล่าวถึงการผจญภัยในทางที่ว่านี้ของลิปปี แต่นักเขียนชีวประวัติสมัยใหม่ไม่มีความเชื่อถือในข้อมูลที่ว่าเท่าใด แต่นอกเหนือไปจากคำบรรยายของวาซารีไปแล้วก็ไม่มีเอกสารอื่นใดที่กล่าวถึงฟิลลิปโปอีก แม้แต่เรื่องการเดินทางไปอังโคนา หรือเนเปิลส์ หรือเรื่องที่ถูกจับไปเป็นทาสโดยโจรสลัดที่บาบารีไม่ไกลจากโมร็อกโกในปัจจุบัน แต่ถูกปล่อยตัวเพราะความที่มีฝีมือในการเขียนภาพเหมือนจากปี ค.ศ. 1431 ถึง 1437 ไม่มีเอกสารเกี่ยวกับงานอาชีพใดๆ ที่กล่าวถึงลิปปี

ในปี ค.ศ. 1456 มีหลักฐานว่าฟีลิปโปอยู่ที่เมืองปราโตไม่ไกลจากฟลอเรนซ์เพื่อเขียนจิตรกรรมฝาผนังในบริเวณสงฆ์ที่มหาวิหารพราโต ในปี ค.ศ. 1458 ขณะที่ยังเขียนภาพให้มหาวิหารพราโต ฟิลลิปโปก็ไปทำงานเขียนให้กับคอนแวนต์ซานตามาเกอริตาที่พราโตด้วย ซึ่งเป็นที่ที่ฟิลลิปโปพบลูเครเซีย บูติ (Lucrezia Buti) ลูกสาวคนสวยของฟรานเชสโค บูติ พ่อค้าชาวฟลอเรนซ์ ผู้อาจจะเป็นแม่ชีฝึกหัดหรือเป็นถูกฝากให้อยู่กับคอนแวนต์ ฟิลลิปโปขอให้ลูเครเซียนั่งเป็นแบบสำหรับพระแม่มารีหรือไม่ก็นักบุญมาร์การเร็ต แล้วฟิลลิปโปก็ลักตัวลูเครเซียไปอยู่ด้วยแม้ว่าทางคอนแวนต์จะประท้วงขอตัวคืน

ผลก็คือลูกชายชื่อฟิลลิปินโน ลิปปีผู้กลายมาเป็นจิตรกรผู้มีชื่อเสียงไม่น้อยไปกว่าพ่อ คำบรรยายนี้มาจากบทเขียนของวาซารีซึ่งพิมพ์ไม่ถึงร้อยปีหลังจากเหตุการณ์ที่กล่าวแต่ก็ไม่มีใครค้านจนสามร้อยปีให้หลังเมื่อกล่าวกันว่าฟิลลิปโปอาจจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับลูเครเซียอย่างที่กล่าว หรือฟิลลิปินโนอาจจะเป็นเพียงลูกบุญธรรม หรืออาจจะเป็นเพียงญาติเท่านั้นก็ได้ ภาพเขียนสองภาพที่ถกเถียงกันว่าเป็นภาพเหมือนของลูเครเซียหรือไม่คือภาพพระแม่มารีที่ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พิติ, ฟลอเรนซื, ประเทศอิตาลี และอีกภาพหนึ่งเป็นภาพของพระแม่มารีเช่นกันในภาพ “การประสูติของพระเยซูพิพิธภัณฑ์ลูฟร์, ปารีส, ประเทศฝรั่งเศส แต่ภาพที่ว่าน่าจะเป็นภาพของลูเครเซียมากกว่าคือรูปนักบุญมาร์การเร็ตที่ปัจจุบันอยู่ที่แกลเลอรีที่พราโต

จิตรกรรมฝาผนังภายในบริเวณที่มหาวิหารปราโตเป็นเรื่องราวของนักบุญยอห์นแบปติสต์และนักบุญสเทเฟนบนผนังตรงกันข้าม ถือกันว่าเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นงานสำคัญที่สุดและชิ้นใหญ่ที่สุดของฟิลลิปโปโดยเฉพาะภาพสะโลเมเต้นรำซึ่งมีลักษณะที่มาเห็นอีกต่อมาในงานของซันโดร บอตตีเซลลีผู้เป็นลูกศิษย์ และ ฟีลิปีโน ลิปปีผู้เป็นลูก รวมทั้งฉากที่แสดงความโศกเศร้าในการเสียชีวิตของนักบุญสเทเฟน ฉากหลังนี้เชื่อกันว่ามีภาพเหมือนของฟีลิปโป แต่ว่าจะเป็นคนใดในรูปก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ บนผนังอีกด้านหนึ่งเป็นภาพเขียนของนักบุญโจวันนี กวัลแบร์โต และนักบุญอัลแบร์โต บนเพดานเป็นภาพขนาดใหญ่ของผู้นิพนธ์พระวรสารสี่ท่าน

เมื่อบั้นปลายของชีวิตฟีลิปโปอาศัยอยู่ที่สโปเลตโตซึ่งเป็นที่เขียนจิตรกรรมฝาผนังภายในบริเวณมุขด้านตะวันออกของมหาวิหารสโปเลตโตเป็นฉากชีวิตของพระแม่มารีย์[1] ซึ่งประกอบด้วย “การชื่นชมพระเยซู” “การสวมมงกุฏพระแม่มารีย์” และ “งานศพพระแม่มารี” ตรงกลางโดมครึ่งวงกลมเป็นภาพการสวมมงกุฏของพระแม่มารีย์ (Coronation of the Virgin) ซึ่งพร้อมไปด้วยนางฟ้าเทวดา และประกาศก งานนี้ไม่เท่าเทียมกับงานที่พราโตเขียนเสร็จโดยฟราดิอาเมนเต (Fra Diamante) หลังจากที่ฟิลลิปโปเสียชีวิต

จากจิตรกรรมฝาผนังที่มหาวิหารพราโด ราว ค.ศ. 1452-65

เรื่องที่ว่าฟีลิปโปเสียชีวิตที่สโปเลตโตเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1469 ก็ยังเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยังถกเถียงกันอยู่ กล่าวกันว่าพระสันตะปาปาอนุญาตให้ฟีลิปโปแต่งงานกับลูเครเซียแต่ก่อนที่ใบอนุญาตจะมาถึงฟิลลิปโปก็ถูกวางยาโดยญาติผู้ไม่พอใจของลูเครเซียเองหรือผู้หญิงคนอื่นที่ฟิลลิปโปไปมีความสัมพันธ์ด้วย แต่เรื่องเหล่านี้ของฟิลลิปโปก็ถือกันว่าเป็นตำนานมากกว่าโดยเฉพาะความสมเหตุสมผลในเรื่องการแก้แค้นผู้มีอายุร่วม 63 ปีผู้ไปมีเรื่องเสียหายเมื่ออายุ 52 ปีซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ ร่างของฟิลลิปโปฝังไว้ที่สโปเลตโตโดยมีอนุสาวรีย์ผู้ตายสร้างให้โดยลอเรนโซ เดอ เมดิชิ (ออกแบบโดยฟีลิปปีโน ลิปปีแต่มิได้สร้างจนปี ค.ศ. 1490) เพราะฟิลลิปโปได้รับการอุปถัมภ์จากตระกูลเมดีชีเริ่มตั้งแต่โกซีโม เด เมีชี ลูกศิษย์ของฟีลิปโปก็มีฟรันเชสโก เปเซลลีโน (Francesco Pesellino) ซันโดร บอตตีเซลลี และจิตรกรคนอื่นๆ

ฉากประดับแท่นบูชาที่ฟิลลิปโปเขียนเมื่อปี ค.ศ. 1441 สำหรับซันอัมโบรในปัจจุบันตั้งอยู่ที่กาลเลอเรียเดลอคาเดเมีย, ฟลอเรนซ์ ซึ่งเป็นภาพที่กวีบราวนิงเขียนโคลงสดุดี เป็นภาพของการสวมมงกุฏของพระแม่มารีย์กับทูตสวรรค์และนักบุญรวมทั้งนักบวชคณะเบอร์นาดีน คนหนึ่งในจำนวนนี้ทางด้านขวาเป็นภาพเหมือนครื่งตัวของฟีลิปโป ฟีลิปโปได้ค่าวาดในปี ค.ศ. 1447 เป็นจำนวนเงิน 1200 ฟลอเรนซืลีรา ซึ่งเป็นจำนวนมากในสมัยนั้น

ฟิลลิปโป ลิปปีสร้างงานเขียนภาพความตายของนักบุญเบอร์นาร์ด (Death of St. Bernard) ให้กับเจอร์มินยาโน อินกิรามิแห่งพราโต งานฉากแท่นบูชาหลักที่พราโตเป็นฉากการประสูติของพระเยซูภายในโรงฉัน (refectory) ของวัดซานโดเม็นนิโค ซึ่งเป็นภาพพระแม่มารีย์และนักบุญโยเซฟชื่นชมพระกุมารที่นอนอยู่บนพื้น ระหว่างนักบุญจอร์จและนักบุญดอมินิกในฉากทิวทัศน์ที่เป็นหิน โดยมีคนเลี้ยงแกะเล่นและทูตสวรรค์หกองค์บนท้องฟ้า ภาพที่ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ยูฟิซิที่ฟลอเรนซ์เป็นภาพพระแม่มารีย์ชื่นชมพระกุมารที่ทูตสวรรค์สององค์อุ้ม และภาพที่ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งชาติที่ลอนดอนเป็นภาพ “นิมิตของนักบุญเบอร์นาร์ด” (Vision of St Bernard) และภาพ “พระนางพรหมจารีและพระกุมารกับทูตสวรรค์” (Virgin and Infant with an Angel) แต่ผู้เขียนจริงยังไม่ตกลงกันแน่นอนว่าเป็นลิปปี

ฟีลิปโป ลิปปีเสียชีวิตเมือวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1469 ขณะที่เขียนจิตรกรรมฝาผนัง “ฉากชีวิตของพระนางพรหมจารี”[2] (Storie della Vergine) ภายใต้มุขตะวันออกของมหาวิหารสโปเล็ตโต ซึ่งประกอบด้วยฉาก “แม่พระรับสาร” “งานพระศพของพระแม่มารี” “การชื่นชมพระบุตร” และ “การสวมมงกุฏของพระแม่มารี” ในกลุ่มผู้เฝ้าดู “งานพระศพของพระแม่มารี” มึภาพเหมือนตนเองของฟิลลิปโปและฟิลลิปินโนลูกชายกับฟราดีอามันเต (Fra Diamante) และเพียร์ มาเทโอ ดาเมเลีย ผู้ช่วยยืนอยู่ข้างๆ ร่างของลิปปีบรรจุอยู่ที่ทางขวาของแขนกางเขนภายในมหาวิหาร จิตรกรรมฝาผนัง “ฉากชีวิตของพระแม่มารี” มาเขียนเสร็จโดยฟีลิปินโน ลิปปีผู้ที่เป็นผู้ออกแบบอนุสรณ์สำหรับฟิลลิปโปด้วยโดยโลเรนโซ เด เมดีชีเป็นผู้ออกเงิน แต่ก็ไม่ได้สร้างจนปี ค.ศ. 1490 โดยช่างแกะสลักชาวฟลอเรนซ์

งานของฟีลิปโปจะเป็นงานที่แสดงลักษณะ “naïveté” สีสว่าง มีชีวิตจิตใจและมีลูกเล่น การสร้างศิลปะทางศาสนาจากการสังเกตที่มิใช่แบบที่มีความศรัทธาสูงแต่เป็นการวาดจากสังคมและความรู้สึกของชาวบ้าน ฟิลลิปโปเป็นศิลปินผู้มีความเชี่ยวชาญที่สุดคนหนึ่งในทางวิธีเขียนและการใช้สีและการร่างของสมัยเรอเนซองส์ เพราะฟิลลิปโปเป็นนักธรรมชาติวิทยาการเขียนจึงไม่เหมือนศิลปินร่วมสมัยตรงการแสดงออกอย่างสัจจะนิยม และมักจะมีการแสดงอารมณ์ขันในภาพ ฟิลลิปโปเกือบมิได้พยายามใช้ทัศนมิติหรือการเขียนภาพลึก (foreshortening) ที่ทำให้ภาพดูลึกกว่าเป็นจริง และมักจะชอบตกแต่งภาพด้วยสถาปัตยกรรม เวซารีกล่าวว่าฟิลลิปโปต้องการจะซ่อนมือไม้ไว้ในม่านเพื่อเลี่ยงสิ่งที่เขียนยาก งานของฟิลลิปโป ลิปปีเป็นงานที่วิวัฒนาการแต่มิได้มีการเปลี่ยนแปลงทางลักษณะและการใช้สี

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

สมุดภาพ[แก้]