ฟร็องซัว มีแตร็อง
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ฟร็องซัว มีแตร็อง François Mitterrand | |
---|---|
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส | |
ดำรงตำแหน่ง 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 – 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 | |
นายกรัฐมนตรี | ปีแยร์ โมรัว โลร็อง ฟาบียุส ฌัก ชีรัก มีแชล รอการ์ เอดิต แครซง ปีแยร์ เบเรโกวัว เอดัวร์ บาลาดูร์ |
ก่อนหน้า | วาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง |
ถัดไป | ฌัก ชีรัก |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม | |
ดำรงตำแหน่ง 31 มกราคม พ.ศ. 2499 – 12 มิถุนายน พ.ศ. 2500 | |
นายกรัฐมนตรี | กี มอเล |
ก่อนหน้า | รอแบร์ ชูมาน |
ถัดไป | เอดัวร์ กอร์นีกลียง-มอลีนีเย |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย | |
ดำรงตำแหน่ง 19 มิถุนายน พ.ศ. 2497 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 | |
นายกรัฐมนตรี | ปีแยร์ ม็องแด็ส-ฟร็องส์ |
ก่อนหน้า | เลอง มาร์ตีโน-เดอปลา |
ถัดไป | มอริส บูร์แฌ็ส-โมนูรี |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโพ้นทะเลฝรั่งเศส | |
ดำรงตำแหน่ง 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 – 11 สิงหาคม พ.ศ. 2494 | |
นายกรัฐมนตรี | เรอเน เปลอว็อง และอ็องรี เกย |
ก่อนหน้า | ปอล ก็อสต์-ฟลอเร |
ถัดไป | หลุยส์ ฌากีโน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 26 ตุลาคม พ.ศ. 2459 ฌาร์นัก ประเทศฝรั่งเศส |
เสียชีวิต | 8 มกราคม พ.ศ. 2539 (79 ปี) ปารีส ประเทศฝรั่งเศส |
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
พรรคการเมือง | พรรคสังคมนิยม |
คู่สมรส | ดาเนียล มีแตร็อง |
อาชีพ | ทนายความ |
ลายมือชื่อ | |
ฟร็องซัว มอริส อาเดรียง มารี มีแตร็อง IPA: [fʁɑ̃swa mɔʁis mitɛˈʁɑ̃] (26 ตุลาคม พ.ศ. 2459 – 8 มกราคม พ.ศ. 2539) อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโพ้นทะเลฝรั่งเศส
ฟร็องซัว มีแตร็องเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสตั้งแต่ พ.ศ. 2524 ถึง 2538 โดยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในฐานะตัวแทนพรรคสังคมนิยม (PS) เขาชนะการเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส พ.ศ. 2524 กลายเป็นประธานาธิบดีสังคมนิยมคนแรกของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5และเป็นประมุขแห่งรัฐที่มาจากฝ่ายซ้ายคนแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2500 และในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส พ.ศ. 2531นั้น เขาก็ชนะอีกครั้งหนึ่งและดำรงตำแหน่งจนถึงปี พ.ศ. 2538 ก่อนที่จะต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในปีเดียวกัน ในการดำรงตำแหน่งทั้งสองวาระนั้น เขาได้ยุบสภาเพื่อที่จะได้เสียงข้างมากในสภา แต่ทว่าพรรคสังคมนิยมก็ได้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองครั้ง และทำให้เกิด "การบริหารร่วมกัน" ในสองปีสุดท้ายของทั้งสองวาระ โดยมีฌัก ชีรักเป็นแกนนำตั้งแต่ พ.ศ. 2529 ถึง 2531 และเอดูอาร์ด บัลลาดูร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ถึง 2538
ในปัจจุบันฟร็องซัว มีแตร็องเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดด้วยระยะเวลา 14 ปี ทั้งยังเป็นประธานาธิบดีที่อาวุโสที่สุดอีกด้วย (สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งเมื่ออายุ 78 ปี) ฟร็องซัว มีแตร็องถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2539 หลังจากเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสที่ประเทศอียิปต์
ประวัติ
[แก้]ฟร็องซัว มีแตร็องเกิดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2459 ที่เมืองฌาร์นัค จังหวัดชาร็องต์ แคว้นปัวตู-ชาร็องต์ ในครอบครัวจารีตนิยมและเลื่อมใสในนิกายโรมันคาทอลิก ฌีลแบร์ เฟลิกซ์ โฌแซ็ฟ บิดาของเขาทำงานเป็นนายสถานีรถไฟ ต่อมาประกอบอาชีพที่โรงผลิตน้ำส้มสายชูจนเป็นประธานสมาคมสันนิบาตของผู้ผลิตน้ำส้มสายชู โดยที่ยายของเขานั้นเป็นชนชั้นสูง สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 3 แห่งคาสตีลและพระเจ้าจอห์นแห่งบรีแอนน์ กษัตริย์เยรูซาเลม ส่วนทางด้านมารดาของเขานั้นมีนามว่ามารี กาเบรียล อีวอน ลอแรน ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากหลานสาวของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 22 ฟร็องซัว มีแตร็องมีพี่น้อง 7 คน (ชาย 3 : รอแบร์, ฌัก, ฟีลิป / หญิง 4) ภรรยาของเขา ดาเนียล มีแตร็อง แต่งงานกันในปี พ.ศ. 2487 มีลูกชาย 3 คนได้แก่ ปัสกาล (10 มิถุนายน พ.ศ. 2488 – 17 กันยายน พ.ศ. 2488) , ฌ็อง-คริสต็อฟ (19 ธันวาคม พ.ศ. 2489 — ) และฌีลแบร์ มีแตร็อง (4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 — ) และยังมีลูกสาวอีกหนึ่งคนคือ มาซารีน แป็งโฌ เขามีหลานชายคือ เฟรเดริก มีแตร็อง ซึ่งเป็นนักแสดงและนักหนังสือพิมพ์ (และซ้ำยังสนับสนุนฝ่ายขวา ฌัก ชีรักอีกด้วย) และยังมีลูกเขยคือ รอแบร์ อาแน็ง ซึ่งเป็นนักแสดงและผู้กำกับชื่อดัง
มีแตร็องเข้าศึกษาที่อ็องกูแล็มตั้งแต่ พ.ศ. 2468 ถึง 2477 ซึ่งเขาเป็นสมาชิกเชเออเซ (JEC) คือองค์กรสนับสนุนและกระตุ้นความสนใจในการเป็นคาทอลิกในสังคม (Action catholique) เขาได้เข้ากรุงปารีสในฤดูร้อน พ.ศ. 2477 และเข้าศึกษาที่โรงเรียนรัฐศาสตร์เอกชน (École Libre des Sciences Politiques) จนถึง พ.ศ. 2480
สมัยดำรงตำแหน่ง
[แก้]เมื่อสงครามโลกครั้งทมี่ 2 สิ้นสุดลง นายฟร็องซัวได้เข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างจริงจัง เริ่มจากการชนะการเลือกตั้งและได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ ในขณะที่อายุเพียง 30 ปี ต่อมาเขาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกิจการทหารผ่านศึก ซึ่งในขณะนั้นเขาเป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุด
เขาเคยลงแข่งขันในการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ต้องพ่ายแพ้แก่นายพลเดอโกลและวาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง เป็นระยะเวลา 16 ปีเต็มแห่งความพ่ายแพ้ แต่ในที่สุดเขาก็ประสบความสำเร็จในปี 1981 นายฟร็องซัวเป็นนักการเมืองฝ่ายซ้ายคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี และอีก 7 ปีต่อมาเขาได้ชัยชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง จึงทำให้นายฟร็องซัวได้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง
บทสุดท้ายของมิแตรรอง
[แก้]วันที่ 8 มกราคม 1996 อดีตประธานาธิบดีฟร็องซัว มีแตร็อง ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 79 ปี ขณะที่หลับอยู่ในอพาร์ทเมนต์ข้าง ๆ สำนักงานของเขา หลังต่อสู้กับความเจ็บปวดจากโรคมะเร็งที่ต่อมลูกหมากมาเป็นระยะเวลาหลายปี และต้องได้รับการผ่าตัดถึง 3 ครั้ง
เหตุการณ์สำคัญในสมัยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
[แก้]การก่อการร้ายในฝรั่งเศส (เดือนกันยายน 1986
[แก้]- วันที่ 12 กันยายน 1986 ที่ย่านธุรกิจใจกลางกรุงปารีสเกิดระเบิดขึ้นที่ร้านขายอาหาร Cafétéria มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 42 คน
- วันที่ 18 กันยายน ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารฝรั่งเศสชื่อ Christian Goutierre ถูกฆาตกรรมที่กรุงเบรุต เลบานอน
สาเหตุที่ผู้ก่อการร้ายวางระเบิดที่กรุงปารีส เนื่องมาจากต้องการให้รัฐบาลฝรั่งเศสปล่อยตัวนายจอร์จ อิบราฮิม อับดลเลาะห์ หัวหน้ากลุ่มกองกำลังติดอาวุธปฏิวัติเลบานอนหรือกลุ่มฟาร์ล (Farl) ก่อการร้ายในฝรั่งเศสและอิตาลีตั้งแต่ปี 1980 รวมทั้งสังหารนักการทูตอเมริกันและอิสราเอลในกรุงปารีส นายจอร์จ อิบราฮิมเป็นชาวคริสต์เลบานอน นิยมฝ่ายซ้าย ถูกตำรวจฝรั่งเศสจับกุมได้ที่เมืองลียงทางใต้ของฝรั่งเศส ศาลสั่งจำคุก 4 ปีด้วยความผิดที่มีเอกสารปลอมและพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตพร้อมทั้งคดีอื่น ๆ ที่เคยทำ เช่น การสังหารนักการทูตในกรุงปารีส เป็นต้น
การประท้วงครั้งใหญ่ของนักศึกษาฝรั่งเศส
[แก้]วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2529 นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการและผู้ปกครองรวมตัวกันทำการประท้วง เนื่องจากความไม่พอใจที่รัฐบาลประกาศเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งจัดทำโดยนายอาแล็ง เดอวาเก (Alain Devaquet) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาระดับสูงหรือทบวงมหาวิทยาลัย เป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ขึ้นมา พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษามหาวิทยาลัยใหม่ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีการคัดเลือก แข่งขันและเลือกเฟ้นเฉพาะผู้ที่เก่งเฉพาะด้าน โดยเพิ่มค่าเข้าเรียนให้สูงขึ้นและออกประกาศนียบัตรใบปริญญาที่ระบุชื่อสถาบันแก่ผู้ที่ศึกษาจบปริญญาจากมหาวิทยาลัยนั้น ๆ แต่นักศึกษาทำการประท้วงไม่เห็นด้วยกับพระราชบัญญัติฉบับใหม่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะนำมาซึ่งความแตกต่างด้านคุณภาพ ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย เกิดความไม่เสมอภาคทางการศึกษาและการมีอิสระในการเก็บค่าเล่าเรียน ทำให้ค่าเข้าเรียนสูงกว่าจำนวนที่กำหนดเดิม
การประท้วงเริ่มขึ้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2529 มีการเจรจาระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงและนายเดอวาเกต์ให้ยกเลิกพระราขบัญญัติฉบับใหม่นี้ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จทำให้มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ในที่สุดรัฐบาลก็ประกาศยกเลิกการปฏิรูปการศึกษาในระดับมัธยมและระดับมหาวิทยาลัย การประท้วงยุติลงในวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2529
สภาวะทางเศรษฐกิจ
[แก้]การวางแผนการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจ หลังจากที่นายฟร็องซัวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส เขาได้วางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศสใหม่ คือ เริ่มระบบการโอนกิจการอุตสาหกรรมมาเป็นของรัฐ การโอนกิจการนี้ทำให้ระบบการให้สินเชื่อของประเทศตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ และการให้ค่าชดเชยแก่บรรดาผู้ถึอหุ้นในกิจการที่ถูกยึดมาเป็นของรัฐจะกระทำในลักษณะพันธบัตรรัฐบาล แต่นโยบายนี้ไม่ได้ทำให้ประเทศฝรั่งเศสขยายตัวทางเศรษฐกิจมากนัก อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเริ่มจากการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคในอัตราที่สูงขึ้น เป็นผลให้งบประมาณแผ่นดินขาดดุล เกิดภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น และปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากภาวะการเงินในอัตราสูง ทำให้เกิดภาวะกดดันแก่เงินฟรังก์ ก่อให้เกิดปัญหาต่อค่าเงินฟรังก์ในระบบการเงินยุโรป คือเกิดช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยในยุโรปขึ้น
ใน พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) สภาวะเศรษฐกิจของฝรั่งเศสขยายตัวอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ1.9 การว่างงานที่เป็นปัญหาสำคัญในขณะนั้นลดลง อัตราเงินเฟ้อลดลงร้อยละ 2 เป็นผลจากการลดลงของระดับราคาพลังงานที่นำเข้าการบริโภคอยู่ในระดับปานกลาง ขณะที่การลงทุนขยายตัวสูงขึ้น
ผลงานที่สำคัญ
[แก้]ในเวลา 14 ปีที่ดำรงตำแหน่งภายใต้ความคิดสังคมนิยม และมีผลงานที่สนับสนุนแนวคิดนี้มากมาย อาทิ
- ยกเลิกการประหารชีวิต
- ให้เสรีภาพแก่สถานีวิทยุโทรทัศน์
- ออกกฎหมายที่อยู่อาศัย (Loi Quilliot)
- ออกกฎหมายแรงงาน (Loi Auroux) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้มีการทำงาน 39 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และลูกจ้างสามารถลาหยุดงานได้ โดยที่นายจ้างต้องจ่ายเงินให้ และกำหนดให้มีการเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปี
- ออกกฎหมายการศึกษาขั้นสูง (Loi Savary)
- ออกกฎหมายกระจายอำนาจทางการเมืองจากส่วนกลางสู่ภูมิภาค
- ปี 1992 การออกเสียงประชามติของสหภาพยุโรปทำให้นายฟร็องซัวได้เป็นคนวางรากฐานการจัดตั้งเงินสกุลเดียวกันของยุโรป ที่เรียกว่า "ยูโร"
- การสั่งให้ประเทศฝรั่งเศสหยุดแผนทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินในปี 1992
- ประธานาธิบดีฟร็องซัวและนางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษร่วมลงนามในสัญญาสร้างอุโมงค์คู่ลอดช่องแคบอังกฤษเพื่อเชื่อมระหว่างสองประเทศ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1986 ณ มหาวิหารแคนเทอเบอรี่ ประเทศอังกฤษ
- ริเริ่มให้สร้าง L'Arche de la défense ,La Pyramide du Louvre, La Bibliothèque Nationale
- ในสมัยประธานาธิบดีฟร็องซัวมีการทำ cohabitation ที่ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากฝ่ายเดียวกัน ในสมัยนั้นเกิดขึ้น 2 ครั้ง
- ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี 1986-1988 เป็นสมัยที่นายฟร็องซัวแห่งพรรคฝ่ายซ้ายเป็นประธานาธิบดี แต่งตั้งนายฌัก ชีรักแห่งพรรคฝ่ายขวาเป็นนายกรัฐมนตรี
- ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี 1993-1995 เป็นสมัยที่นายเอดัวร์ บาลาดูร์ (Édouard Balladur) เป็นนายกรัฐมนตรีมาจากพรรคฝ่ายขวา
ก่อนหน้า | ฟร็องซัว มีแตร็อง | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
วาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง | ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (พ.ศ. 2524 – 2538) |
ฌัก ชีรัก | ||
วาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง | ผู้ปกครองร่วมแห่งอันดอร์รา ร่วมกับ ชูอัน มาร์ตี อี อาลานิส (พ.ศ. 2524 – 2538) |
ฌัก ชีรัก | ||
เฟลีเป กอนซาเลซ | ประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (30 มิถุนายน พ.ศ. 2532 – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2532) |
ชาลส์ เจมส์ ฮอฮีย์ | ||
รอแบร์ ชูมาน | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐบาลกี มอเล (31 มกราคม พ.ศ. 2499 – 12 มิถุนายน พ.ศ. 2500) |
เอดัวร์ กอร์นีกลียง-มอลีนีเย | ||
เลอง มาร์ตีโน-เดอปลา | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐบาลปีแยร์ ม็องแด็ส-ฟร็องส์ (19 มิถุนายน พ.ศ. 2497 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498) |
มอริส บูร์แฌ็ส-โมนูรี | ||
ปอล ก็อสต์-ฟลอเร | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโพ้นทะเลและอาณานิคม รัฐบาลเรอเน เปลอว็อง 1 และ อ็องรี เกย 3 (12 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 – 11 สิงหาคม พ.ศ. 2494) |
หลุยส์ ฌากีโน |