ข้ามไปเนื้อหา

พระราชสังวราภิมณฑ์ (โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชสังวราภิมณฑ์

(โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ)
ชื่ออื่นหลวงปู่โต๊ะ
ส่วนบุคคล
เกิด27 มีนาคม พ.ศ. 2430 (93 ปี 344 วัน ปี)
มรณภาพ5 มีนาคม พ.ศ. 2524
นิกายมหานิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพมหานคร
บรรพชาพ.ศ. 2447
อุปสมบท16 กรกฎาคม พ.ศ. 2450
พรรษา73
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี

พระราชสังวราภิมณฑ์ (โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ) ( 27 มีนาคม พ.ศ. 2430 — 5 มีนาคม พ.ศ. 2524) เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดธนบุรีในอดีต เป็นพระคณาจารย์ที่รู้จักกันดี ด้วยวัตรอันปฏิบัติอันงดงามเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธทุกชนชั้น ท่านถึงพร้อมด้วยบุญบารมีและอิทธิบารมี พระเครื่องของท่านมีปาฏิหาริย์ศักดิ์สิทธิ์ มีประสบการณ์เล่าขานมากมายจากเหนือจดใต้ทั่วประเทศไทย จนกลายเป็นพระหลักยอดนิยมของเมืองไทย[1] ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 — 5 มีนาคม พ.ศ. 2524 จนกระทั่งมรณภาพ รวมระยะเวลานานถึง 68 ปี ขณะนี้ พระครูวินัยธรเพลิน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสมาตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 จนถึงปัจจุบัน

ประวัติ

[แก้]

พระราชสังวราภิมณฑ์ หรือ หลวงปู่โต๊ะ เกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2430 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเป็นชาวสมุทรสงครามโดยกำเนิด เป็นบุตรของนายพลอย และนางทับ รัตนคอน มีพี่น้องอยู่ร่วมกัน 2 คน ซึ่งถึงแก่กรรมก่อนหลวงปู่ตั้งนานแล้ว ในวัยเด็ก เด็กชายโต๊ะ ได้เข้าเรียนวิชาอยู่ที่วัดเกาะแก้ว (จังหวัดสมุทรสงคราม) ใกล้บ้านเกิดของท่าน เมื่อมารดาถึงแก่กรรม พระภิกษุแก้ว เห็นความขยันหมั่นเพียรของเด็กชายโต๊ะ จึงได้พาเด็กชายโต๊ะ มาฝากอยู่กับพระอธิการสุข เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีในสมัยนั้น ส่วนนายเฉื่อยก็ไม่ได้ตามมาด้วย คงอยู่ที่วัดเกาะแก้วเหมือนเดิม ท่านได้มาเรียนหนังสืออยู่ที่วัดประดู่ฉิมพลีอยู่เป็นเวลาอยู่ 4 ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 17 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2447 โดยมีพระอธิการสุขเป็นอุปัชฌาย์ บรรพชาได้วันเดียวพระอธิการสุข ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์และผู้อุปการะของท่านก็ได้มรณภาพ นายคล้าย นางพันธ์ ซึ่งเป็นพี่ชายกับพี่สะใภ้ของพระอธิการสุข และมีบ้านอยู่ใกล้วัดประดู่ฉิมพลีจึงได้อุปการะท่านต่อมา เมื่อบรรพชาแล้ว ท่านก็มาเรียนศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ที่ วัดประดู่ฉิมพลี ซึ่งต่อมามีพระอธิการคำ เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา พร้อมทั้งเรียนกรรมฐานกับพระอาจารย์พรหม วัดประดู่ฉิมพลีอีกท่านหนึ่งด้วย จนกระทั่งเมื่อมีอายุได้ 20 ปี สามเณรโต๊ะ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 ณ พัทธสีมา วัดประดู่ฉิมพลี โดยมีพระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอักขรานุสิต (ผ่อง) วัดนวลนรดิศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูธรรมวิรัต (เชย) วัดกำแพง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า อินทสุวัณโณ หลงจากนั้น ท่านได้เรียนศึกษาปฏิบัติคันทธุระ วิปัสสนาธุระ หลวงปู่โต๊ะ ท่านเป็นคนมีความเพียรพยายาม จนกระทั่งสอบได้นักธรรมชั้นตรี ต่อมาพระอธิการคำ ได้มรณภาพลง ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งท่านให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีสืบต่อมาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2456[2]

ออกธุดงค์

[แก้]

ต่อมาหลวงปู่โต๊ะ ได้ออกธุดงค์จาริกไปทั้วทุกภาคในประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ท่านได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรม โดยได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ เรียนวิชาพุทธาคม และได้ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน และก็ได้ธุดงค์ไปยังภาคเหนือเพื่อศึกษาวิชากับพระอาจารย์อีกหลายท่าน และในขณะที่ท่านเดินธุดงค์ ท่านก็ได้เรียนวิปัสสนากรรมฐานกับ หลวงพ่อชุ่ม วัดราชสิทธาราม ส่วนสหธรรมิกของท่านที่มีชื่อเสียงได้แก่ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง หลวงพ่อกล้าย วัดหงส์รัตนาราม และต่อจากนั้น ท่านก็เดินทางไปยังภาคใต้ ไปที่จังหวัดปัตตานี และเมื่อหลวงปู่ท่านกลับมาที่ จังหวัดธนบุรี กลับมายังวัดประดู่ฉิมพลี ท่านก็ได้สร้างพระพุทธบาทจำลอง [3]

ปฏิปทาและจริยาวัตร

[แก้]

หลวงปู่โต๊ะ ท่านเป็นคนที่มีศีลวัตรปฏิบัติอันงดงาม มีกริยามารยาทที่งดงาม มีความสุภาพอ่อนโยน มีความเมตตากรุณาต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด และสามารถล่วงรู้เหตุการณ์ในอนาคตได้ และท่านได้เคยเจอเกี่ยวกับโรคระบาด หลวงปู่ท่านเห็นคนหลายคนไม่สบาย ท่านก็รู้สึกไม่สบายใจ เพราะท่านเองก็เป็นโรคนี้ด้วยเหมือนกัน ท่านจึงตั้งจิตว่า หากท่านยังมีชีวิตอยู่ ขอให้ท่านจงหายจากโรคนี้ แต่ถ้า ท่านหมดบุญแล้ว ก็ขอให้ตายซะ ในตอนกลางคืน ท่านได้นิมิตว่า หลวงพ่อบ้านแหลมได้นำน้ำพระพุทธมนต์มาเจริญให้ ตื่นมาท่านก็มาเจริญน้ำพระพุทธมนต์ และสุดท้ายท่านก็หายจากโรคนี้[4]

เบื้องปลายชีวิต

[แก้]

หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ท่านได้เริ่มอาพาธด้วยโรคชรา เนื่องจากว่า ตั้งแต่ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ มีผู้คนมานิมนต์ท่านให้ออกมาให้พร หรือ ขอความช่วยเหลือ ท่านจึงไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน สุขภาพท่านจึงไม่ค่อยแข็งแรง แต่ยังพอฉันอะไรได้ แม้จะรักษาอย่างดีเท่าใด แต่สุขภาพ กายสังขารของท่านก็ไม่อาจจะทนไหว ท่านได้อาพาธครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 และก่อนมรณภาพได้เพียง 7 วัน ท่านลุกจากเตียงไม่ได้เลย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2524 คณะลูกศิษย์ทีเป็นพยาบาล ได้มาถวายรังนกอีก แต่คราวนี้สังเกตได้ว่า แขนของท่าน บวม ท่านอยู่ได้จนกระทั่งเมื่อเวลา 9:55 น. ท่านได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการสงบ รวมสิริอายุได้ 93 ปี 73 พรรษา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดให้เชิญศพไปตั้งที่ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตร พระราชทานเกียรติยศศพเป็นพิเศษ เสมอพระราชาคณะชั้นธรรม พระราชทานโกศโถบรรจุศพ พร้อมฉัตรเบญจาเครื่องประกอบเกียรติยศครบทุกประการ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่การศพโดยตลอด เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน 50 วัน 100 วัน และตามโอกาสอันควรหลายวาระ[5] พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

สมณศักดิ์

[แก้]

หลวงปู่โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ ได้รับสมณศักดิ์ตามลำดับดังนี้[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. หนังสือรวมสุดยอดพระคณาจารย์ทั้งหมด 180 พระองค์ ทศพล จังพาณิชยกุล
  2. "หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-11. สืบค้นเมื่อ 2011-10-09.
  3. "ชีวประวัติหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-18. สืบค้นเมื่อ 2011-10-09.
  4. พระราชสังวราภิมณฑ์ โต๊ะ อินทสุวัณโณ ผู้เรียบเรียง มิ่ง เมืองนนท์
  5. "ชุมชนคนรักมีด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2011-10-09.
  6. วัดประดู่ฉมิพลี, ชีวประวัติและวัตถุมงคล พระราชสังวราภิมณฑ์ หลวงปู่โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ, ม.ป.ป., หน้า 33
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรพระสงฆ์, เล่ม ๓๗, ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๖๓, หน้า ๒๖๓๐
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๐, ตอนที่ ๑๗๗ ง ฉบับพิเศษ, ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๖, หน้า ๘
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๙๗, ตอนที่ ๖๐ ก ฉบับพิเศษ, ๑๖ เมษายน ๒๕๒๓, หน้า ๑๐
ก่อนหน้า พระราชสังวราภิมณฑ์ (โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ) ถัดไป
พระอธิการคำ เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี
(10 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 — 5 มีนาคม พ.ศ. 2524]])
(67 ปี 239 วัน)
พระครูวิโรจน์กิตติคุณ