พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนนฺโท)
พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนนฺโท) | |
---|---|
![]() | |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2418 (63 ปี) |
มรณภาพ | 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 |
นิกาย | มหานิกาย |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดบางนมโค พระนครศรีอยุธยา |
อุปสมบท | พ.ศ. 2439 |
พรรษา | 42 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดบางนมโค |
หลวงพ่อปาน ฉายา โสนนฺโท (16 กรกฎาคม พ.ศ. 2418 — 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2481) เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบางนมโครูปที่ 3 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2478 จนถึงปี พ.ศ. 2481
ประวัติ
[แก้]พระครูวิหารกิจจานุการ มีนามเดิมว่า ปาน สุทธาวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2418 ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บ้านตำบลบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายสะอาดและนางอิ่ม สุทธาวงศ์ [1] ต่อมาในปี พ.ศ. 2439 ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดบางนมโค โดยมีหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์จ้อย วัดบ้านแพน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์อุ่ม วัดสุธาโภชน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาจากพระอุปัชฌาย์ว่า โสนนฺโท ต่อมาท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงพ่อสุ่นพอสมควรแล้ว จึงได้เดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และวัดเจ้าเจ็ดใน เรียนแพทย์แผนโบราณจากวัดสังเวชฯ ศึกษาเพิ่มเติมกับหลวงพ่อเนียม และ หลวงพ่อโหน่ง อินฺทสุวณฺโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดคลองมะดัน เรียนวิชาสร้างพระเครื่องดินจากชีปะขาว เรียนการปลุกเสกพระเครื่องและเป่ายันต์เกราะเพชรจากอาจารย์แจง สวรรคโลก ได้รับพระคาถาปัจเจกโพธิสัตว์มาจากครูผึ้ง ชาวนครศรีธรรมราช
หลังจากนั้น ท่านจึงได้มาอยู่ที่วัดบางนมโค และในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูวิหารกิจจานุการ[2]
กิจวัตรของท่านก็คือหลังจากท่านฉันภัตตาหารเพลแล้ว ท่านก็จะมาสงเคราะห์ชาวบ้าน ตลอดทั้งวัน และการทำน้ำมนต์เพื่อรักษาคนไข้ รวมทั้งผู้ที่ถูกกระทำคุณไสยด้วย
หลวงพ่อปานมรณภาพเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ตรงกับรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รวมสิริอายุได้ 63 ปี พรรษา 42 เหลือแต่มรดกที่ล้ำค่า เช่น พระเครื่องดินเผา ผ้ายันต์เกราะเพชร ผ้ายันต์ชนิดต่าง ๆ และพระคาถาพระปัจเจกโพธิโปรดสัตว์ มอบให้แก่ศิษย์สืบไป ลูกศิษย์ของท่าน ที่สืบทอดวัดบางนมโคต่อจากท่านก็คือหลวงพ่อเล็ก เกสโร เจ้าอาวาสรูปที่ 4 ของวัดบางนมโค
ศิษยานุศิษย์สำคัญ
[แก้]- พระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) หรือหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ เจ้าอาวาสวัดจันทาราม (ท่าซุง) จังหวัดอุทัยธานี
- หลวงปู่ฤๅษีลิงขาว (ช่อ อภินนฺโท) เจ้าอาวาสวัดฤกษ์บุญมี จังหวัดสุพรรณบุรี
- หลวงพ่อฤๅษีลิงเล็ก (บุญศรี อินทวณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดใหม่ศรีสุทธาวาส จังหวัดนครสวรรค์
- พระมงคลวราจารย์ (เชิญ ปุญฺญสิริ) เจ้าอาวาสวัดโคกทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อ้างอิง
[แก้]- หนังสือรวมสุดยอดพระคณาจารย์ทั้งหมด 180 พระองค์
- ↑ "หลวงพ่อปาน โสนันโท พระนครศรีอยุธยา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-26. สืบค้นเมื่อ 2011-07-23.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์, หน้า 2929
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- หลวงพ่อปาน-วัดบางนมโค เก็บถาวร 2012-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- หลวงพ่อปาน-วัดบางนมโค-บูรพาจารย์หลวงพ่อฤๅษี-วัดท่าซุงเก็บถาวร 2013-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ก่อนหน้า | พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนนฺโท) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระอธิการเย็น สุนทรวงษ์ | ![]() |
เจ้าอาวาสวัดบางนมโค (พ.ศ. 2478 — พ.ศ. 2481) |
![]() |
หลวงพ่อเล็ก เกสโร |