พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ)
พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 2 มิถุนายน พ.ศ. 2427 (93 ปี 253 วัน ปี) |
มรณภาพ | 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
การศึกษา | เปรียญธรรม 4 ประโยค |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช |
อุปสมบท | 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช |
พระรัตนธัชมุนี นามเดิม แบน ฉายา คณฺฐาภรโณ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมฝ่ายธรรมยุติกนิกาย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และอดีตเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช
ประวัติ
[แก้]พระรัตนธัชมุนี มีนามเดิมว่า แบน ฤทธิโชติ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2427 ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก เวลา 22.15 น. เป็นบุตรของหมื่นทิพยจักษุ (ขาว ฤทธิโชติ) กับนางเป็ด นามสกุลเดิม ธรรมิกกุล ภูมิลำเนาอยู่บ้านดอนทะเล หมู่ 2 ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ท่านมีพี่น้องร่วมมารดาบิดาเดียวกัน 3 คน ชื่อสิน เรือง และขาบ ตามลำดับ[1] ต่อมาได้เรียนหนังสือที่วัดจนจบชั้นประถมศึกษา[2]
วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง ได้อุปสมบท ณ นทีสีมา หน้าวัดท่าโพธิ์ โดยมีพระครูเหมเจติยานุรักษ์ (เนียม ธมฺมปาโล) วัดพระนคร ซึ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราชในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระศิริธรรมมุนี (ม่วง รตนทฺธโช) เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราชขณะนั้น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า คณฺฐาภรโณ[1]
หลังจากอุปสมบทได้ศึกษาที่วัดท่าโพธิ์ ถึงปี พ.ศ. 2454 พระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนทฺธโช) ได้ส่งไปศึกษากับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และสอบได้นักธรรมชั้นตรีในปีนั้น หลังจากนั้นได้ติดตามพระอริยกระวี (เซ่ง อุตฺตโม) ในฐานะพระปลัดฐานานุกรมของท่านไปอยู่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ศึกษาต่อที่สำนักนั้นจนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยคในปี พ.ศ. 2456 และได้เปรียญธรรม 4 ประโยคในปี พ.ศ. 2458 แล้วหยุดสอบเพียงแค่นั้น เพื่อไม่ให้สูงกว่าอาจารย์คือพระรัตนธัชมุนี (ม่วง) ซึ่งได้เปรียญธรรม 4 ประโยคเช่นกัน[2] ในปีนั้นท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูปริตรฐานานุกรมในสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ แล้วมีพระบัญชาให้ท่านไปเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร จนถึงปี พ.ศ. 2461 จึงย้ายกลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ทำหน้าที่เลขานุการในสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ[3]
ปี พ.ศ. 2462 ลาออกจากตำแหน่งเลขานุการในสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ กลับไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมที่วัดท่าโพธิ์[3] เมื่อเจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์มรณภาพ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้นนานถึง 7 ปี แล้วจึงย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นอกจากนี้ท่านยังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 แล้วเลื่อนเป็นเจ้าคณะจังหวัดในปี พ.ศ. 2470 และเป็นรองเจ้าคณะภาค (ธรรมยุต) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ตราบจนมรณภาพ[4]
ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2480 โปรดให้ตั้งเป็นพระคณาจารย์โท ในทางแสดงธรรม[5]
ลำดับสมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2454 เป็นพระปลัด ฐานานุกรมในพระอริยกระวี (เซ่ง อุตฺตโม)[6]
- พ.ศ. 2457 เป็นพระครูปริตร ฐานานุกรมในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่ พระครูประสาทพุทธปริตร[6]
- พ.ศ. 2462 ลาออกจากสมณศักดิ์[6]
- พ.ศ. 2463 เป็นพระครูปลัดศีลวัฒน์ ฐานานุกรมในพระธรรมโกษาจารย์ (ม่วง รตนทฺธโช)[6]
- พ.ศ. 2466 เป็นพระครูปลัดศรีธรรมวัฒน์ ฐานานุกรมในพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนทฺธโช)[6]
- 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูเหมเจติยานุรักษ์[7]
- 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีธรรมประสาธน์ มหาธาตุเจติยานุรักษ์ สังฆปาโมกข์[8]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2494 เป็นพระราชาคณะชั้นราชในราชทินนามเดิม[6]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระศรีธรรมประสาธน์ มหาธาตุเจติยานุรักษ์ ธรรมิกคณิสสร บวสังฆาราม คามวาสี[9]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2505 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระรัตนธัชมุนี ศรีธรรมราชธรรมสาธก ตรีปิฎกคุณาลังการ ศีลสมาจารวินัยสุนทร ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[10]
มรณภาพ
[แก้]พระรัตนธัชมุนี มรณภาพด้วยโรคชรา ณ โรงพยาบาลนครศรีธรรมราช เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 เวลา 10.49 น. สิริอายุได้ 93 ปี 253 วัน ศพตั้งบำเพ็ญกุศลที่กุฏิ ณ นคร 1 แล้วย้ายไปไว้ที่พระวิหารธรรมศาลา[11] จนกระทั่งออกเมรุวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2523 ได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนชั้นโกศจากโกศโถเป็นโกศแปดเหลี่ยม (เสมอพระราชาคณะเจ้าคณะรอง)[12] วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2523 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 รัตนธัชมุนีอนุสรณ์, หน้า [1]
- ↑ 2.0 2.1 รัตนธัชมุนีอนุสรณ์, หน้า [2]
- ↑ 3.0 3.1 รัตนธัชมุนีอนุสรณ์, หน้า [4]
- ↑ รัตนธัชมุนีอนุสรณ์, หน้า [5]
- ↑ "แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง ตั้งพระคณาจารย์โท" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 54 (0 ง): 3337. 28 มีนาคม 2480. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 รัตนธัชมุนีอนุสรณ์, หน้า [3]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 42, ตอน 0 ก, 15 พฤศจิกายน 2468, หน้า 211
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์, เล่ม 48, ตอน 0 ง, 8 พฤศจิกายน 2474, หน้า 2,921
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 74, ตอน 6 ง ฉบับพิเศษ, 12 มกราคม 2500, หน้า 2
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 80, ตอน 3 ง ฉบับพิเศษ, 4 มกราคม 2506, หน้า 1
- ↑ รัตนธัชมุนีอนุสรณ์, หน้า [21]
- ↑ รัตนธัชมุนีอนุสรณ์, หน้า [22]
- บรรณานุกรม
- ฉลอง เจยาคม. พระรัตนธัชมุนีนามนี้คือสมณปราชญ์. กรุงเทพฯ : มหรรรพ, 2539. 175 หน้า. หน้า 15-93. ISBN 974-89824-2-4
- วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร. รัตนธัชมุนีอนุสรณ์. นครศรีธรรมราช : กรุงสยามการพิมพ์, กันยายน 2523. 272 หน้า. หน้า [1]-[22]. [ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ-เปรียญ)]