พระธรรมวิโรจนเถร (พลับ ฐิติกโร)
พระธรรมวิโรจนเถร (พลับ ติกโร) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2414 (84 ปี 276 วัน ปี) |
มรณภาพ | 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดธรรมบูชา สุราษฎร์ธานี |
อุปสมบท | พ.ศ. 2435 |
พรรษา | 56 |
ตำแหน่ง | อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา อดีตเจ้าคณะธรรมยุต จังหวัดสุราษฎร์ธานี |
พระธรรมวิโรจนเถร นามเดิม พลับ ฉายา ฐิติกโร เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สังกัดคณะธรรมยุติกนิกาย รูปแรกของภาคใต้ อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชาและอดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ธรรมยุต) อดีตประธานกรรมการคณะจังหวัดสงขลา และอดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส (จังหวัดสงขลา)
ประวัติ
[แก้]เกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2414 (วันพุธ เดือน 3 ปีมะแม) ณ หมู่บ้านสามบ่อ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา[1]
พ.ศ. 2435 อายุครบ 21 ปี ได้อุปสมบท ณ วัดสนธิ์ ตำบลวัดสน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โดยมี พระอุปัชฌายะเสน วัดสนธิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย อยู่ศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักพระอุปัชฌาย์ วัดสนธิ์ 4 ปี
พ.ศ. 2439 อายุ 25 ปี ได้ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดเขาพังไกร ( ปัจจุบัน วัดคีรีอัศจรรย์ ) ได้ดำเนินการผูกพัทธสีมา จนแล้วเสร็จ
พ.ศ. 2444 อายุ 31 ปี ได้เข้าขอเปลี่ยนนิกายเดิม สู่ ธรรมยุตินิกาย โดยมีพระครูเหมเจติยานุรักษ์ (เนียม ธมฺมปาโล) อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช วัดชลเฉียน เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนทฺธโช) เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราชขณะนั้น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า ติกโร
พ.ศ. 2445 ได้รับมอบหมายจากพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนทฺธโช) เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช ให้ไปช่วยปกครองดูแลกิจการทางพระศาสนา ณ วัดโตนด เมืองหลังสวน ช่วงที่ เจ้าคณะจังหวัดไปเปลี่ยนนิกายที่กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2446 ย้ายไปอยู่ที่วัดเกษตรชลธี (วัดตะเครียะ) อำเภอระโนด ซึ่งเป็นวัดชาติภูมิของท่าน และเป็นวัดธรรมยุตวัดแรกในอำเภอนี้
พ.ศ. 2460 ออกเดินทางธุดงค์ไปสู่จังหวัดสงขลา ตรัง นครศรีธรรมราช ไปพักอยู่ที่บนภูเขา พอสมควร ท่านออกเดินทางธุดงค์เรื่อยไปจนถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปพักอยู่ในเขตป่าช้าวัดธรรมบูชาในสมัยที่พระครูโยคาธิการวินิต (ทอง) เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งเคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อน และได้อยู่จำพรรษาด้วยกันที่วัดธรรมบูชาเป็นเวลา 5 ปี ต่อมาในปี
พ.ศ. 2465 ทางการคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกำแพง (ปัจจุบันคือวัดกาญจนาราม) อำเภอกาญจนดิษฐ์ ซึ่งเป็นวัดตั้งอยู่ใกล้ที่ว่าการอำเภอกาญจนดิษฐ์ และว่างเจ้าอาวาสมานาน ปรากฏว่าได้รับการต้อนรับจากทางข้าราชการ และทางคณะสงฆ์ โดยมีพระเถระผู้ใหญ่จากกรุงเทพมหานครมาร่วมด้วย และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ในคณะธรรมยุตนี้ด้วย เมื่อท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกาญจนารามแล้วได้พัฒนาวัดให้เป็นรมณียสถาน เป็นสำนักออค้า บรมกรรมฐานมีพระภิกษุ สามเณร ข้าราชการ ทายกทายิกา เข้าวัดมากขึ้น ทำให้วัดกาญจนารามเป็นวัดที่มีหลักฐานมั่นคงมาถึงปัจจุบัน [2]
พ.ศ. 2467 นางพยอม สารสิน ได้ริเริ่มประเพณีการทอดผ้าป่าออกพรรษา โดยการแนะนำของ " พระธรรมวิโรจน์เถระ" ซึ่งท่านได้แนะนำวิธีทำและพรรณนาอานิสงส์ให้ฟัง นางพยอม จึงชักชวนคนที่รู้จัก คุ้นเคยกันและมีจิตศรัทธาทั้งหลายตั้งพุ่มผ้าป่าที่หน้าบ้านของตน ทำต่อมาจนกระทั่งมีคนศรัทธา เห็นดีเห็นงามและร่วมตั้งพุ่มผ้าป่ากันมากขึ้น [3]
พ.ศ. 2468 พระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตโม) เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร และคณะมณฑลนครศรีธรรมราช ได้สร้างวัดสามแก้วขึ้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร (ขณะนั้นจังหวัดชุมพร-สุราษฎร์ธานี ขึ้นอยู่กับการปกครองของเจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช) ยังขาดผู้บริหารที่มีความสามารถไปเป็นเจ้าอาวาส เจ้าคณะมณฑลฯ ได้พิจารณาเห็นว่า พระธรรมวิโรจนเถร (ขณะนั้นเป็น พระอุปัชฌาย์พลับ ฐิติกโร) เป็นผู้มีความสามารถ จึงได้นิมนต์ให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดสามแก้ว
พ.ศ. 2470 ย้ายจากวัดกาญจนาราม ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดสามแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ได้พัฒนาวัดให้เป็นรมณียสถานเช่นเดียวกับเคยจัดที่วัดกาญจนาราม จนทำให้มีพระภิกษุ สามเณร ทายกทายิกา ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน เลื่อมใสเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ท่านได้รับการยกย่องจากทางการคณะสงฆ์ให้เป็น พระคณาจารย์โท ในทางแสดงธรรมเทศนา
พ.ศ. 2472 วัดมัชฌิมาวาส พระอารามหลวง จังหวัดสงขลา ว่างเจ้าอาวาสลงเนื่องจาก พระรัตนธัชมุนี (จู อิสฺสรญาโณ) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพเมธี ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติลาออกจาก เจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส และเจ้าคณะจังหวัดสงขลา เพื่อกลับไปอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานครตามเดิม ทางการปกครองคณะสงฆ์จึงมีคำสั่งให้ท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส และเจ้าคณะจังหวัดสงขลาเนื่องจากท่านเป็นชาวสงขลา และประกอบกับมีความสามารถด้านบริหาร เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ปกครองตลอดมา เมื่อท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส และเจ้าคณะจังหวัดสงขลา ก็ให้พัฒนาวัดมัชฌิมาวาส ให้เจริญรุ่งเรื่องขึ้นทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ในฝ่ายคณะสงฆ์ก็ปกครองร่วมกันทั้งสองนิกาย ได้รับความร่วมมือในการบริหารคณะสงฆ์จากบรรดาเจ้าอาวาสและเจ้าคณะปกครองทุกชั้น ช่วยเหลือสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ในที่สุดท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูศาสนภารพินิจ สังฆวาหะ
พ.ศ. 2472 - พ.ศ. 2477 พระครูศาสนาภารพินิจ (พลับ) เป็นเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสรูปนี้มาจากวัดสามแก้ว ช่วงนี้พระยาศรีธรรมราช (ทองคำ กาญจนโชติ) เป็นสมุหเทสาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ได้เป็นประธานทำการบูรณปฏิสังขรณ์รณ์พระวิหาร มีหลวงพินิจทัณฑการ หลวงประธานราษฎร์นิกร เป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้าง เปลี่ยนเครื่องไม้ใหม่ทั้งหมด เอาฝาประจันห้องหน้าพระประธานออก และก่ออิฐระหว่างโค้งเสาระเบียง ขึ้นตั้งกรอบหน้าต่างติดลูกกรงเหล็ก และมีประตูปิดดังปรากฏอยู่ในบัดนี้ ในการบูรณะวิหารครั้งนี้ พระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตโม) เจ้าอาวสาวัดราชาธิวาสวิหาร กรุงเทพฯ เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช-ภูเก็ต ให้ไวยาวัจกร อนุโมทนา 6000 บาท สมทบทุนบริจาคและพระครูศาสนาภารพินิจ ได้ร่วมกับพุทธมามาะกะ รื้อกุฎิแถวคณะตะวันออกด้านใต้ที่เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) สร้างไว้ ทำขึ้นใหม่เป็นกุฎิแถวฝาไม้กระดาน เช่นเดี่ยวกับทางด้านเหนือ ซึ่งสมเด็จฯ อุปราชปักษ์ใต้ทรงเป็นประธานปฏิสังขรณ์ก่อนแล้ว และได้เอาไม้เก่าๆจากกุฎินี้สร้างโรงเลี้ยงหลังยาวด้านตะวันออกวิหารพร้อมโรงสูทธรรม ซึ่งนางเหี้ยง เฑียนสุนทร สร้างถวาย ( บัดนี้รื้อหมดแล้ว)[4]
พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จสงขลา มาบำเพ็ญพระราชกุศลเฉลิมพระชนมพรรษา พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีและพระบรมวงศานุวงส์ ข้าราชบริพาร ที่วิหารวัดมัชฌิมาวาส
พ.ศ. 2477 ท่านได้ขอลาออกจากเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส พระอารามหลวง และเจ้าคณะจังหวัดสงขลา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้บริหารบ้าง ท่านไม่ยึดติดกับตำแหน่งและสถานที่ กลับไปอยู่วัดกาญจนาราม และวัดธรรมบูชา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามเดิมจนถึง
พ.ศ. 2477 - พ.ศ. 2484 จำพรรษา ณ วัดกาญจนาราม เปิดเป็นสำนักธรรมปฏิบัติขึ้นในบริเวณป่าช้าข้างวัดกาญจนาราม อำเภอกาญจนดิษฐ์ มีภิกษุอาวุโสเข้าศึกษาธรรมปฏิบัติมากรูปและปลูกกุฎิเล็กๆ โดยทั่วไปในบริเวณนั้น และท่านก็ได้พักอยู่กุฎิเล็กเหมือนกับนักศึกษาธรรมปฏิบัติทั้งหลาย
พ.ศ. 2485-2486 จำพรรษา ณ วัดบุปผาราม และ วัดราชาธิวาสราชวรวิหารกรุงเทพมหานคร เพื่อรักษาอาการป่วย จนหายปกติและเดินทางกลับ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
พ.ศ. 2487 จำพรรษา ณ กุฎิพิเศษในบริเวรป่าช้าวัดธรรมบูชา
พ.ศ. 2487 เริ่มก็สร้างวัดสารวนาราม ( วัดท่าเพชร)
พ.ศ. 2490 ได้จัดการปลงศพ พระครูโยคาธิการวินิต (ทอง) อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา เรียบร้อยแล้ว
พ.ศ. 2490 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชาและต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวัดธรรมบูชาได้รับพระราชทานยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง ต่อมาท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะยก ฝ่ายวิปัสสนา ที่พระธรรมวิโรจนเถร นับเป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา พระอารามหลวง รูปแรก
พ.ศ. 2492 เริ่มก็สร้างวัดโมกขธรรมราม (วัดดอนเกลี้ยง)
ตำแหน่งงานปกครองคณะสงฆ์
[แก้]- พ.ศ. 2439 - พ.ศ. 2444 เป็นเจ้าอาวาสวัดเขาพังไกร ( ปัจจุบัน วัดคีรีอัศจรรย์ ) อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
- พ.ศ. 2446-พ.ศ. 2450 เป็นเจ้าอาวาสวัดเกษตรชลธี อ.ระโนด จ.สงขลา
- พ.ศ. 2465- พ.ศ. 2469 เป็นเจ้าอาวาสวัดกาญจนาราม อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี
- 8 มกราคม พ.ศ. 2469-พ.ศ. 2472 เป็นเจ้าคณะแขวงท่าตะเภา (อ.เมือง ) จ.ชุมพร
- พ.ศ. 2469-พ.ศ. 2472 เป็นเจ้าอาวาสวัดสามแก้ว อ.เมือง จ.ชุมพร
- พ.ศ. 2472-พ.ศ. 2477 เป็นประธานกรรมการคณะจังหวัดสงขลา ( เทียบเจ้าคณะจังหวัด การบริหารของจังหวัดสงขลา บริหารตามรูปแบบคณะกรรมการ ตามพระบัญชา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า )
- พ.ศ. 2472-พ.ศ. 2477 เป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส (จังหวัดสงขลา) พระอารามหลวง อ.เมือง จ.สงขลา
- พ.ศ. 2487-พ.ศ. 2494 เป็นเจ้าอาวาส รูปแรก วัดสารวนาราม ( ท่าเพชร) อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
- พ.ศ. 2490-พ.ศ. 2498 เป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา พระอารามหลวง และเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ธรรมยุต)
- พ.ศ. 2492 เป็นเจ้าอาวาส รูปแรก วัดโมกขธรรมราม (วัดดอนเกลี้ยง)
ประธานกรรมการคณะจังหวัดสงขลา
[แก้]ตามบันทึกระเบียบคณะกรรมการสงฆ์ จังหวัดสงขลา[5] โดย พระธรรมวโรดม เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราชและภูเก็ต ใจความสำคัญ ดังนี้...ร่างกายที่มีชีวิตก็ดี เมื่อเกิดขึ้นแล้วหรือสร้างขึ้นแล้ว ต้องมีการบริหารทำนุบำรุงด้วยวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม หรือตัดตอนพิทักษ์รักษา ถ้าไม่เช่นนั้น ร่างกายก็ดี สิ่งก่อสร้างก่อดี ไม่อาจทรงอยู่แลเจริญสืบไปได้ หมู่คนอันดังอยู่เป็นคณะ เช่น คณะสงฆ์ของเราก็เป็นอันนั้นจึงต้องมีเจ้าหน้าที่ทำการบริหาร เป็นชั้นๆขึ้นไป ในหมู่คณะน้อยๆ การบริหารก็มีน้อย เหมือนคนๆ เดี่ยวหรือเหนือสิ่งก่อสร้างหลังเดียว ก็มีการงานน้อยฉะนั้น เมื่อรวมกันเป็นคณะใหญ่ขึ้นเท่าใด การงานก็มีมากขึ้นเท่านั้น จึงต้องเพิ่มเรียวแรง สำหรับบริหารให้มากขึ้นตาม แต่เรียวแรงนั้นไม่จำเป็นกันว่าน้อยคนหรือมากคน คนเดี่ยวอาจมีเรียวแรงเท่าหลายคนก็ได้ หลายคนอาจมีเรียวแรงไม่เท่าคนเดี่ยวก็ได้ เมื่อกล่าวเฉพาะความเห็น ท่านว่าใช้ความเห็นของคนมากเป็นดี ลักษณะปกครองในพระศาสนาก็นิยมทำนองนี้ จึงยกคณะสงฆ์เป็นใหญ่ในกรรมคือการงานของศาสนา เช่น ญัติจุคุตถกรรมเป็นตัวอย่าง อันนักปราชญ์ยอมรับรองว่าเป็นวิธีที่ดี แม้ในประเทศที่นับว่าเจริญอยู่ในโลกบัดนี้ ก็นิยมคณะกรรมการสำหรับดำเนินการงาน ที่เป็นระเบียบอันดีทั่วไป เพราะฉะนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า จึงโปรดเกล้าให้จัดตั้งกรรมการสงฆ์ รักษาการคณะจังหวัดสงขลา ตั้งแต่บัดนี้ ฯ แต่เจ้าเจ้าหน้าที่ผู้ร่วมกันเป็นคณะ ยังต้องมีผู้เป็นหัวหน้าเป็นประธานอีก ชั้นหนึ่ง ที่เห็นตัวอย่างการอุปสมบทกุลบุตร ที่ต้องมีพระอุปัชฌาย์ ทำหน้าที่เป็นประธาน เป็นต้น เพื่ออำนวยการให้ถึงความสำเร็จ แม้คณะกรรมการสงฆ์จังหวัดนี้ ก็ต้องมีผู้เป็นประธานเช่นนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้าจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระอุปัชฌายะพลับ เป็นประธานกรรมการคณะจังหวัดสงขลา แต่วันที่ 29 เมษายน พุทธศักราช 2472 แล้วนั้น อาศัยพระอนุมัติให้ตั้งคณะกรรมการสงฆ์ ดังกล่าวแล้ว ขอให้พระ 7 รูปคือ 1.พระครูอุทิตยเขตต์คณานุรักษ์ เจ้าคณะแขวงอำเภอหาดใหญ่และอำเภอสะเดา 2.พระครูวิจารณ์ศีลคุณ เจ้าคณะแขวงระโนด 3.พระครูวินัยธร เลี่ยม อลีโน วัดมัชณิมาวาส 4.พระมหาจ่วน ฐานตฺโต วัดมัชณิมาวาส 5. พระมหาเกตุ ติสฺสสโร ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าคณะแขวงอำเภอจะนะแลอำเภอเทภา 6.พระครูจู่ลิ่ม เจ้าคณะแขวงอำเภอกำแพงเพ็ชร์ 7.พระสมุห์ย้อย กิตฺติสโร ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าคณะแขวงอำเภอเมือง เป็นกรรมการสงฆ์รักษาการคณะจังหวัดสงขลา มีพระอุปัชฌายะพลับ ผู้รักษาการวัดมัชฌิมาวาส เป็นประธาน เมื่อประชุมมีกรรมการตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไปนับเป็นองค์ประชุมได้ ฯ กรรมการทุกรูป มีหน้าที่อันจะต้องคิดต้องจัดทำทั่วทั้งจังหวัดรูปใดมีตำแหน่งเดิมเป็นอยู่อย่างไร รูปนั้นคงมีหน้าที่ในตำแหน่งนั้นอยู่อย่างเดิม แต่เพิ่มภารธุระให้ช่วยกันดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น การของคณะสงฆ์ที่มีอยู่แล้วก็ดี ที่ต้องจัดทำขึ้นใหม่ก็ดี ที่เป็นการจรก็ดี ขอให้คณะกรรมการประชุมปรึกษาทำการนั้นๆ พร้อมด้วยผู้เป็นประธานทุกคราวๆ เมื่อประชุมรารถการงานอย่างใด ให้นิยมเอาความเห็นข้างมากเป็นประมาณ ในการงานอย่างนั้น เมื่อกรรมการส่วนมากเห็นชอบแล้ว ให้ประธานกรรมการเป็นผู้สั่งการนั้นฯ อย่างเจ้าคณะจังหวัดทุกประการฯ ขอให้ผู้ได้รับตำแหน่งนี้ จงเห็นแก่พระศาสนา มุ่งธรรมเป็นใหญ่ ทำไฉนคณะสงฆ์จะเจริญด้วยประการใด ขอจงพร้อมใจกันทำนุบำรุงด้วยประการนั้น อันชอบธรรมทุกประการฯ วันที่ 12 พฤษภาคม พุทธศักราช 2472 (ลงนาม) พระธรรมวโรดม เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราชและมณฑลภูเก็ต
สมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2465 พระอธิการพลับ ฐิติกโร
- 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 พระอุปัชฌาย์พลับ ฐิติกโร เป็นพระอุปัชฌาย์รูปแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 พระคณาจารย์ โท ทางด้านการแสดงธรรม[6]
- 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูศาสนภารพินิจ สังฆวาหะ [7]
- 17 มิถุนายน พ.ศ. 2490 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระธรรมวิโรจนเถร[8]
ผลงานด้านถาวรวัตถุ
[แก้]- วัดเขาพังไกร ( ปัจจุบัน วัดคีรีอัศจรรย์ ) อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
- ประธานผูกพัทธสีมา
- วัดเกษตรชลธี อ.ระโนด จ.นครศรีธรรมราช
- ผู้ก่อตั้งวัด
- สร้างศาลาการเปรียญ 1 หลัง
- สร้างอุโบสถ
- วัดกาญจนาราม อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี
- บูรณะอุโบสถให้มั่นคง
- สร้างศาลาการเปรียญ 1 หลัง
- สร้างกุฎิ
- สร้างบ่อน้ำคอนกรีต 1 บ่อ
- สร้างหอฉัน 1 หลัง
- วัดสามแก้ว อ.เมือง จ.ชุมพร
- ร่วมสมทบทุนสร้างศาลาและบ่อน้ำ พ.ศ. 2469[9]
- สร้างกุฎิ 3 หลัง
- ร่วมสมทบทุนจัดสร้างโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดชุมพร พ.ศ. 2468 [10]
- วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา พระอารามหลวง อ.เมือง จ.สงขลา
- สร้างกุฎิ 9 หลัง
- บูรณะศาลาการเปรียญ 1 หลัง
- ร่วมสมทบทุนจัดตั้งทุนบุญนิธิ วัดธรรมบูชา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2476[11]
- วัดสารวนาราม อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
- ผู้ก่อตั้งวัด
- สร้างอุโบสถ
- สร้างศาลาการเปรียญ 1 หลัง
- สร้างกุฎิ
- จัดหาที่ดิน จำนวน 1 ไร่ 2 งาน สร้างอาคารเรียนชั่วคราวนอกวัด พ.ศ. 2493 [12]
- วัดโมกขธรรมาราม อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
- ผู้ก่อตั้งวัด
ผลงานด้านวรรณกรรม
[แก้]- พ.ศ. 2465 หนังสือ เรื่องธรรมรัตนธานีคำกลอน
- พ.ศ. 2466 หนังสือ เรื่องอริสัจจ์คำกลอน
- พ.ศ. 2466 หนังสือ เรื่องแก้วสี่เหลี่ยมคำกลอน
- พ.ศ. 2467 หนังสือ เรื่องกุศลโสภณ 25 คำกลอน
- พ.ศ. 2493 หนังสือ เรื่องธรรมวิโรจนกถา
- พ.ศ. 2498 หนังสือ เรื่องอกุศลโสภณ 12 คำกลอน
สหธรรมิกที่สำคัญ
[แก้]- พระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตโม) อดีตเจ้าคณะมณฑลสุราษฏร์,ภูเก็ต,นครศรีธรรมราช และอดีตเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร
- พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และอดีตเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช
- พระธรรมปรีชาอุดม (หลวงพ่อพุ่ม) วัดตรณาราม, อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
- พระครูจุฬามุนีสังฆวาหะ (หลวงพ่อดำ ตาระโก) วัดสุบรรณนิมิตร จ.ชุมพร, อดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร
- พระเทพวงศาจารย์(พระธรรมจารีย์ จันทร์ โกศโลหรือเจ้าคุณเฒ่า) วัดขันเงิน ,อดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร
- พระครูประกาศิตธรรมคุณ (หลวงพ่อเพชร อินทโชติ) วัดวชิรประดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี อดีตเจ้าคณะอำเภอกาญจนดิษฐ์
- พระครูปราการศิลประกฤต ( พ่อท่านจูลิ่ม ) วัดบางทีง อ.ควนเนียง จ.สงขลา
- หลวงพ่อพัฒน์ นารโท อดีตเจ้าอาวาสวัดพัฒนาราม อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
- พระอุปัฌาย์พุ่ม ฉนฺโท อดีตเจ้าอาวาสวัดปากคู อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี
- พระครูโยคาธิการวินิต อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา , อดีตเจ้าคณะธรรมยุติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- เจ้าอธิการพระมหายุตต์ ธมฺมวิริโยอดีตเจ้าอาวาสวัดกลาง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
- พระครูดิตถารามคณาศัย (หลวงพ่อชม คุณาราโม ) วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี.อดีตเจ้าคณะอำเภอกาญจนดิษฐ์
- เจ้าพระยาพลเทพ (เฉลิม โกมารกุล ณ นคร) อดีตเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ
ศิษย์ที่สำคัญ
[แก้]- พระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี) วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร อดีตเจ้าคณะภาค 16-17-18 (ธ) และอดีตสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครอง
- พระสุธรรมาธิบดี (แสง ชุตินฺธโร) วัดธรรมบูชา อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
- พระธรรมวราลังการ (กล่อม อนุภาสเถร ป.ธ. ๕) วัดบุปผาราม จ.กรุงเทพมหานคร อดีตรองเจ้าคณะภาค ๑๖–๑๗–๑๘ (ธ.)
- พระเทพกิตติเมธี ( สิริ ฐานยุตฺโต ป.ธ.7 ป วัดเสน่หา จ.นครปฐม อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม-กาญจนบุรี (ธ)
- พระนิกรครุนาถมุนี ( เลื่อน รตตฺญญู ) วัดสามแก้ว จ.ชุมพร อดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร
- พระมงคลพุทธิญาณ (ภักดิ จนิทสิริ) วัดดอนรักษ์ จ.สงขลา อดีตเจ้าคณะอำเภอหาดใหญ่-สะเดา ( ธ)
- พระครูศรีอุทัยธรรม (แดง วิมโล ) วัดอุทัยธรรม (วัดเขาถล่ม) จ.ชุมพร
- พระครูวิจารณ์ศีลคุณ (แดง ปุปฺผโก) เจ้าอาวาสวัดเกษรชลธี ( ตะเครียะ) อดีตเจ้าคณะอำเภอระโนด
- พระครูนิโครทจรรยานุยุตต์ (หลวงพ่อพรหมแก้ว )อดีตเจ้าอาวาสวัดโคดพิกุล.อ.หัวไทร นครศรีฯ , อดีตเจ้าคณะอำเภอหัวไทร
- หลวงพ่อมุม โฆสโก วัดนาสัก อ.สวี จ.ชุมพร
มรณภาพ
[แก้]พระธรรมวิโรจนเถร ได้ถึงแก่มรณภาพ ในอิริยาบถนั่งกราบพระพุทธรูปในกุฎิ ด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2498 คำนวณอายุได้ 85 ปี พรรษา 56 ณ วัดธรรมบูชา และได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุชั่วคราว ในสนามหน้าโรงเรียนสุราษฎร์ธานี ( ปัจจุบัน คือ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา )เมื่อ พ.ศ. 2499 [13]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ธรรมวิโรจเถรกถา ของพระธรรมวิโรจเถร พิมพ์ที่ระลึกในมงคลสมัยอายุครบ 80ปีของท่านเจ้าคุณพระธรรมวิโรจนเถร เจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา และเจ้าคณะธรรมยุติกา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2493'
- ↑ สำเนารายงานการตรวจการคณะสงฆ์ของพระเทพโมลี ( เซ่ง อุตุตโม) พ.ศ. 2465 ที่ระลึกงานฉลองพัดยศเจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษพระครูปัญญาคมสถิต (ถวิล ฐิตปญฺโญ) วัดกาญจนาราม อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2523'
- ↑ จันทร์ เขมจารี, พระมหา. ประวัติผ้าป่าของจังหวัดสุราษฎร์ธานี, (ฉบับพิมพ์แจกในพิธีฌาปนกิจศพ นางพยอม สารสิน), โรงพิมพ์พิมอำไพ, ถนนชนเกษม สุราษฎร์ธานี, ๒๕๑๑
- ↑ หนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเทพวิสุทธิคุณ เลี่ยม อลีโน) พระราชศิลสังวร ( ช่วง อตฺถเวที ) วัดมัชณิมาวาส สงขลา พ.ศ. 2525
- ↑ บันทึกตรวจการคณะสงฆ์ มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลภูเก็ต ของพระธรรมวโรดม เจ้าคณะมณพลนครศรีธรรมราชและมณฑลภูเก็ต พ.ศ. 2451- 2485
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,เรื่อง ตั้งพระคณาจารย์โท ,เล่ม46 หน้า 42
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์, เล่ม ๔๖, ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒, หน้า ๒๖๕๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, ตอนที่ 27, เล่ม 64, วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2490, หน้า 1527
- ↑ แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์สร้างศาลาและบ่อน้ำขึ้นในวัดเขาสามแก้ว
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา ,แจ้งแผนกกรมสมมัญศึกษา เรื่อง สร้างโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดชุมพร ,เล่ม 42 ,ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ,หน้า 2680
- ↑ หนังสือคำอนุโมทนาบุญนิธิ ของ ทายกทายิกา ณะวัดธรรมบูชา สุราษฎร์ธานี แล รายพระนามแลนามผู้บริจาคทุนทรัพทย์เกื้อกูลเพิ่ททุนบุญนิธิ โรงพิมพ์ธรรมพิทยาคาร ถนนข้าวสาร พระนคร พ.ศ. 2476
- ↑ สมุดหมายเหตุรายวัน โรงเรียนบ้านท่าเพชร
- ↑ ที่มา…. หนังสือ 100 ปีวัดธรรมบูชา / หนังสือ 100 ปีชาตกาล พระสุธรรมาธิบดี ( แสง ) วัดธรรมบูชา