พระรัตนธัชมุนี (จู อิสฺสรญาโณ)
พระรัตนธัชมุนี (จู อิสฺสรญาโณ) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 19 มกราคม พ.ศ. 2415 (89 ปี 14 วัน ปี) |
มรณภาพ | 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
การศึกษา | เปรียญธรรม 7 ประโยค |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร |
อุปสมบท | 7 มิถุนายน พ.ศ. 2436 |
ตำแหน่ง | เจ้าคณะจังหวัดสงขลา |
พระรัตนธัชมุนี นามเดิม จู ทีปรักษพันธุ์[1] ฉายา อิสฺสรญาโณ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เจ้าอาวาสรูปที่ 9 ของวัดมัชฌิมาวาส (จังหวัดสงขลา)[2] และอดีตเจ้าคณะจังหวัดสงขลา
ประวัติ
[แก้]พระรัตนธัชมุนี มีนามเดิมว่า จู ทีปรักษพันธุ์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ แรม 6 ค่ำ เดือนยี่ ปีวอก ตรงกับที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2415 (นับแบบปัจจุบันเป็นปี พ.ศ. 2416) ภูมิลำเนาอยู่ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา เป็นบุตรคนที่ 3 ของนายทอนกับนางเซ่งเนียว[1] เรียนหนังสือกับบิดาจนมีอายุได้ 11 ปี จึงเรียนภาษาบาลีกับพระอาจารย์ตุ้ย วัดท้ายยอ พระปาน และพระอธิการรอด[3] อายุ 15 ปี ท่านบวชเป็นสามเณรอยู่ 1 ปี จึงลาสิกขาไปเรียนวิชาแพทย์และพาณิชกับครอบครัว และช่วยครอบครัวทำธุรกิจ ถึงวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2436 ท่านจึงได้อุปสมบทที่วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา โดยมีพระภัทรธรรมธาดา (แจ้ง ภทฺทิโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยธรรม (หนู านาโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เสร็จพิธีเวลา 17.05 น.[4]
พ.ศ. 2441 ได้เข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เข้าศึกษาที่มหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร อยู่ 3 ปี เข้าสอบได้เปรียญเอก (เทียบเท่าเปรียญธรรม 3 ประโยค) แต่นั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ทรงฝึกสอนเอง ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นเปรียญธรรม 4 ประโยค เมื่อ พ.ศ. 2444 และเข้าสอบได้อีกปีละประโยค จนได้เปรียญธรรม 5 ประโยคในปี ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445)[5] ได้เปรียญธรรม 6 ประโยคในปี พ.ศ. 2446[6] ต่อมาถึงปี ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) เข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้งได้เป็นเปรียญธรรม 7 ประโยค[7]
ต่อมาท่านทุพพลภาพและอาพาธด้วยโรคเส้นประสาทพิการ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาสและเจ้าคณะจังหวัดสงขลาตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2472[8] แล้วกลับมาจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร
สมณศักดิ์
[แก้]- 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2451 ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระอโนมคุณมุนี มีนิตยภัตเดือนละ 5 ตำลึง ได้รับพัดแฉกพื้นกำมะหยี่ปักทองแล่งหน้าราหูใหญ่เป็นเครื่องยศ[9]
- 24 กันยายน พ.ศ. 2464 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเมธี ศรีประสาธน์สุตาคม อุดมมติปกร ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาาสี[10]
- 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธี ศรีวิบุลยนายก ตรีปิฎกธาดา มหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี[11]
- 4 ธันวาคม พ.ศ. 2491 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระรัตนธัชมุนี ชินสีห์ธรรมสาธก ตรีปิฎกคุณาลังการ เถรธรรมสมาจาร วินัยสุนทร ยติคณิศรบวรสังฆาราม คามวาสี[12]
มรณภาพ
[แก้]พระรัตนธัชมุนี อาพาธด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก รับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลสงฆ์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2500 แล้วพักรักษาตัวที่นั่นจนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 เวลา 08.06 น.[13] สิริอายุได้ 89 ปี 14วัน สำนักอยู่ ณ กุฏิลออ หลิมเซ่งพ่าย ข้างพระวิหารพระศาสดา วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[3]
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 จดหมายหลวงอุดมสมบัติฯ, หน้า (5)
- ↑ ประวัติพระอารามหลวง เล่ม ๒, หน้า 589
- ↑ 3.0 3.1 "พระเถระวัดบวรนิเวศวิหาร: พระรัตนธัชมุนี (จู อิสฺสรญาโณ)". วัดบวรนิเวศวิหาร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-23. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ จดหมายหลวงอุดมสมบัติฯ, หน้า (12)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกสังฆการี เรื่อง พระสงฆ์สามเณรที่สอบไล่พระปริยัติธรรมได้, เล่ม 20, ตอน 4, 26 เมษายน ร.ศ. 122, หน้า 50
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, บัญชีพระสงฆ์สามเณร ที่แปลพระปริยัติธรรมได้ใน ศก๑๒๒, เล่ม 21, ตอน 4, 24 เมษายน ร.ศ. 123, หน้า 40
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี [เรื่อง ประชุมสอบไล่พระสงฆ์สามเณรแปลพระปริยัติธรรม ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และรายนาม], เล่ม 23, ตอน 3, 15 เมษายน ร.ศ. 125, หน้า 57
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง พระราชาคณะเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดขอลาออกจากตำแหน่ง, เล่ม 46, ตอน 0 ง, 28 เมษายน 2472, หน้า 282
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การตั้งพระราชาคณะและพระครู, เล่ม 25, ตอนที่ 15, 12 กรกฎาคม ร.ศ. 127, หน้า 454
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ, เล่ม 38, ตอนที่ 0 ง, 2 ตุลาคม 2464, หน้า 1,833
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 42, ตอนที่ 0 ก, 15 พฤศจิกายน 2468, หน้า 209-210
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 65, ตอนที่ 71, 7 ธันวาคม 2491, หน้า 3,963
- ↑ จดหมายหลวงอุดมสมบัติฯ, หน้า (20)
- บรรณานุกรม
- กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ประวัติพระอารามหลวง เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2548. 622 หน้า. หน้า 313-314.
- อุดมสมบัติ (จัน), หลวง ; ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. จดหมายหลวงอุดมสมบัติ พร้อมด้วยอธิบายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวพร, 2548. 396 หน้า. หน้า (5)-(22). [พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร โปรดให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระรัตนธัชมุนี (อิสฺสรญาณเถร) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2505]