บูบูร์อายัม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บูบูร์อายัม
บูบูร์อายัม หรือโจ๊กไก่อินโดนีเซีย
มื้อจานหลัก โดยทั่วไปมักรับประทานเป็นอาหารเช้าหรืออาหารค่ำ
แหล่งกำเนิด อินโดนีเซีย[1]
ภูมิภาคทั่วไป
อุณหภูมิเสิร์ฟHot
ส่วนผสมหลักโจ๊กข้าวกับเนื้อไก่

บูบูร์อายัม (อินโดนีเซีย: bubur ayam แปลว่า "โจ๊กไก่") เป็นโจ๊กไก่ของอินโดนีเซียซึ่งประกอบด้วยโจ๊กโรยหน้าด้วยเนื้อไก่ฉีกและเครื่องปรุงอื่น ๆ ได้แก่ต้นหอมซอย หอมแดงเจียว ขึ้นฉ่าย ตั้งฉ่ายหรือตงไจ (tongcai) ถั่วเหลืองทอด ปาท่องโก๋หรือจา-กเว (cakwe) และซีอิ๊วทั้งเค็มและหวาน และบางครั้งก็จะราดน้ำซุปไก่สีเหลืองและโรยกรูปุก (ข้าวเกรียบหรือเกี๊ยวกรอบ) ลงไปด้วย บูบูร์อายัมจะไม่มีรสเผ็ดเหมือนอาหารอินโดนีเซียทั่วไป สำหรับผู้ที่ต้องการรับประทานรสเผ็ดจะมีซัมบัลเสิร์ฟแยกต่างหาก ชาวอินโดนีเซียนิยมรับประทานบูบูร์อายัมเป็นอาหารเช้า บูบูร์อายัมมีขายทั้งโดยพ่อค้าแม่ค้าเร่ ร้านค้าริมทางหรือวารุง ร้านอาหารจานด่วน หรือแม้แต่ในโรงแรมระดับห้าดาว พ่อค้าแม่ค้าจะเร่ขายบูบูร์อายัมผ่านย่านชุมชนในช่วงเช้า[1][2]

ลักษณะ[แก้]

รถเร่ขายบูบูร์อายัมมักพบได้ตามย่านชุมชนในกรุงจาการ์ตา

บูบูร์อายัมมีต้นกำเนิดมาจากโจ๊กไก่ของจีน ซึ่งร่องรอยของอิทธิพลจากอาหารจีนที่ยังคงหลงเหลืออยู่ได้แก่จา-กเวหรือปาท่องโก๋ ตงไจหรือตั้งฉ่าย และซีอิ๊ว[3] บูบูร์อายัมมีผลิตภัณฑ์จากไก่หลายชนิด โดยมีทั้งเนื้อไก่ฉีกในตัวบูบูร์อายัมเอง และเครื่องเคียงหลายชนิดที่ใช้ส่วนต่าง ๆ ของไก่ โดยทั่วไปแล้วบูบูร์อายัมมักจะรับประทานโดยมีเครื่องเคียงได้แก่ไข่ไก่ต้ม ตับ กึ๋น ไส้ และอูรีตัน (uritan) หรือไข่ไก่ที่ค้างในตัวไก่หลังเชือดไก่ ซึ่งจะเสิร์ฟแบบสะเต๊ะ บูบูร์อายัมยังแตกต่างกันไปตามแต่พื้นที่ เช่น บูบูร์อายัมบันดุงและบูบูร์อายัมซูกาบูมีในจังหวัดชวาตะวันตกเป็นต้น[4] ซึ่งบูบูร์อายัมซูกาบูมีจะใช้ไข่ไก่ดิบจากไก่ที่ปล่อยให้เลี้ยงหากินในหมู่บ้านเป็นส่วนประกอบ ผู้ปรุงจะตักโจ๊กร้อนราดลงบนไข่ดิบเพื่อให้ความร้อนจากโจ๊กทำให้ไข่มีสภาพกึ่งสุกกึ่งดิบ ส่วนประกอบอื่น ๆ จะเสิร์ฟด้านบนโจ๊ก[5] สูตรการปรุงและเครื่องเคียงสำหรับบูบูร์อายัมที่ขายตามรถเร่หรือร้านวารุงก็จะแตกต่างจากบูบูร์อายัมที่ขายตามร้านอาหารจานด่วนหรือโรงแรม

เนื่องจากบูบูร์อายัมนิยมรับประทานขณะร้อนและมีเนื้อสัมผัสที่นุ่มเช่นเดียวกับโซโตอายัมและนาซีติม ทำให้บูบูร์อายัมถือได้ว่าเป็นอาหารอุ่นใจ (comfort food) ในวัฒนธรรมอินโดนีเซีย เนื้อสัมผัสที่อ่อนของโจ๊กและเนื้อไก่ฉีกยังทำให้เหมาะสำหรับเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ความนิยมของอาหารชนิดนี้ยังทำให้ธุรกิจอาหารจานด่วนเช่นแมคโดนัลด์ในอินโดนีเซีย[6]และมาเลเซีย[7] และเคเอฟซีในอินโดนีเซีย[8]ก็จำหน่ายบูบูร์อายัมควบคู่กับเมนูปกติด้วยเช่นกัน นอกจากบูบูร์อายัมที่ใช้โจ๊กข้าวแล้วยังมีสูตรที่ใช้ข้าวโอ๊ตแทนที่เรียกว่า "บูบูร์อายัมฮาเฟอร์มุต"[9] บูบูร์อายัมยังมีวางจำหน่ายแบบกึ่งสำเร็จรูปซึ่งสามารถเติมน้ำร้อนลงไปแล้วรับประทานได้[10]

ภาพ[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Kraig, Bruce; Sen, Colleen Taylor, บ.ก. (2013). Street Food around the World: An Encyclopedia of Food and Culture. ABC-CLIO. ISBN 978-1598849547.
  2. Tan, M G (2008). Etnis Tionghoa Di Indonesia: Kumpulan Tulisan. Yayasan Obor Indonesia. p. 115. ISBN 978-9794616895.
  3. Media, Kompas Cyber (2022-08-23). "Resep Bubur Ayam China, Sajikan Bersama Tongcai". KOMPAS.com (ภาษาอินโดนีเซีย). สืบค้นเมื่อ 2023-09-17.
  4. Dina Indrasafitri. "Bubur Ayam Sukabumi". Street Directory.com. สืบค้นเมื่อ 2 June 2012.
  5. Eka Septia Wulan (7 April 2011). "Unik Lezat, Bubur Ayam Manyar". detikFood.com. สืบค้นเมื่อ 2 June 2012.
  6. "Bubur Ayam". McDonald's Indonesia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 April 2018. สืบค้นเมื่อ 20 September 2015.
  7. Michelle Woo (11 December 2009). "Happy Meals: 10 Asia-inspired fast food menu items". CNNGO.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-15. สืบค้นเมื่อ 2 June 2012.
  8. "Bubur Ayam". KFC Indonesia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 August 2009. สืบค้นเมื่อ 2 June 2012.
  9. "Bubur Ayam Havermut Nikmat dan Bergizi" (ภาษาอินโดนีเซีย). Tribunnews.com. 28 April 2012. สืบค้นเมื่อ 2 June 2012.
  10. "Super Bubur Chicken - Instant Porridge". Asian Grocery Store. สืบค้นเมื่อ 2 June 2012.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]