ดาวยักษ์เล็ก
ดาวยักษ์เล็ก (อังกฤษ: Subgiant star) เป็นประเภทของดาวฤกษ์ที่สว่างกว่าดาวแคระปกติในแถบลำดับหลักในชั้นสเปกตรัมเดียวกัน แต่ไม่สว่างเท่ากับดาวยักษ์ ถึงแม้ว่าดาวยักษ์เล็กจะมีลักษณะแน่นอนว่าเป็นดาวสว่างผิดปกติซึ่งอุดมไปด้วยโลหะและมีปฏฺกิริยาฟิวชั่นไฮโดรเจน (แบบเดียวกับดาวกึ่งแคระว่าเป็นดาวฤกษ์มัวผิดปกติซึ่งมีโลหะอยู่น้อยและมีปฏิกิริยาฟิวชั่นไฮโดรเจน) แต่ก็เป็นที่เชื่อกันทั่วไปว่าดาวยักษ์เล็กเป็นดาวฤกษ์ที่เผาผลาญเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่แกนกลางจนหมดหรือกำลังจะหมดแล้ว ในดาวยักษ์เล็กที่มีมวลประมาณ 1 มวลดวงอาทิตย์ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้แกนกลางยุบตัวลง ซึ่งเพิ่มอุณหภูมิใจกลางของดวงฤกษ์ให้สูงพอที่จะย้ายฟิวชั่นไฮโดรเจนไปยังเปลือกหุ้มรอบแกน และยังเพิ่มขนาดของดาวจนกระทั่งกลายเป็นดาวยักษ์ ที่จุดเริ่มต้นของระยะดาวยักษ์เล็ก (อย่างเช่น โปรซิออน) เส้นผ่านศูนย์กลางและความสว่างจะเพิ่มขึ้น แต่ดาวจะยังไม่เย็นตัวลงหรือเปลี่ยนสีอย่างเห็นได้ชัด ดาวยักษ์เล็กในช่วงหลังจะมีความคล้ายดาวยักษ์มากขึ้นโดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ขึ้นและมีอุณหภูมิต่ำกว่าดาวฤกษ์ที่มีมวลเท่ากันในแถบลำดับหลัก ความสว่างโดยรวมเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยระหว่างระยะดาวยักษ์เล็ก ดังที่แสดงให้เห็นโดยวิวัฒนาการตามแนวนอนอย่างเหมาะสมออกจากแถบลำดับหลักในทันที ลักษณะดังกล่าวมีความโดดเด่นอย่างมากในไดอะแกรมของแฮร์ทสชปรุง-รัสเซลล์ของกระจุกดาวทรงกลม