ดาวแคระน้ำเงิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ดาวแคระน้ำเงิน (อังกฤษ; blue dwarf) คือดาวฤกษ์ตามการคาดการณ์อันวิวัฒนาการมาจากดาวแคระแดงหลังจากที่พวกมันได้ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนส่วนใหญ่ไปแล้ว เนื่องจากดาวแคระแดงนั้นหลอมไฮโดรเจนของตัวเองอย่างเชื่องช้าและรวมถึงการพาความร้อนที่เต็มรูปแบบ (เชื้อเพลิงไฮโดรเจนทั้งหมดสามารถถูกใช้เพื่อหลอมได้ มิใช่เพียงแค่ที่แกนกลาง) จึงมีการคาดการณ์ไว้ว่าพวกมันสามารถมีอายุขัยได้นับล้านล้านปี ทว่าเอกภพในปัจจุบันนั้นยังเก่าแก่ไม่พอสำหรับการก่อตัวของดาวแคระน้ำเงิน ฉะนั้นการมีตัวตนของพวกมันจึงมีอยู่ในแบบจำลองทางทฤษฎีเพียงเท่านั้น[1]

เหตุการณ์ตามสมมติฐาน[แก้]

ดาวฤกษ์นั้นจะมีกำลังส่องสว่างที่มากขึ้นตามอายุ ดาวที่ยิ่งมีความสว่างมากยิ่งต้องแผ่พลังงานออกมาให้เร็วเพื่อรักษาสภาวะสมดุลของตนเอง ดาวฤกษ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าดาวแคระแดงจะใช้วิธีเพิ่มขนาดของตัวเองและกลายเป็นดาวยักษ์แดงเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิว ดาวแคระแดงที่มีมวลน้อยกว่า 0.25 มวลดวงอาทิตย์ได้รับการคาดการณ์ว่าแทนที่จะขยายตัวพวกมันจะเพิ่มอัตราการแผ่พลังงานด้วยการเพิ่มอุณหภูมิพื้นผิวและเปลี่ยนเป็นสีฟ้าหรือน้ำเงินเมื่อเวลาผ่านไป สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องด้วยชั้นพื้นผิวของดาวแคระแดงจะมีความทึบแสงที่ไม่มากนักเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น[1]

แม้ว่าวัตถุเหล่านี้จะมีชื่อเรียกเช่นนี้แต่ก็ไม่จำเป็นที่ดาวแคระน้ำเงินจะต้องเพิ่มอุณหภูมิให้สูงเทียบเท่าหรือกลายเป็นดาวฤกษ์สีน้ำเงิน มีการสร้างแบบจำลองทร่ได้ทำนายถึงวิวัฒนาการในอนาคตของดาวแคระแดงที่มีมวลอยู่ที่ 0.06 และ 0.25 มวลดวงอาทิตย์[1][2][3] ซึ่งจากแบบจำลองนี้ก็ได้ทราบว่าดาวแคระน้ำเงินที่มีความเป็นสีน้ำเงินมากที่สุดนั้นเริ่มต้นจากดาวแคระแดงที่มีมวล 0.14 มวลดวงอาทิตย์ และจบลงด้วยอุณหภูมิพื้นผิวที่ประมาณ 8600 K ทำให้มันถูกจัดประเภทอยู่ในดาวฤกษ์ประเภท A ซึ่งเป็นดาวสีฟ้า-ขาว

จุดจบชีวิตดาว[แก้]

เป็นที่เชื่อกันว่าดาวแคระน้ำเงินจะใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนของตัวเองจนหมดสิ้นในที่สุด และความดันภายในจะไม่เพียงพอต่อการหลอมรวมเชื้อเพลิงอื่น ๆ และเมื่อการหลอมนั้นจบลงจะไม่ใช่ดาวแคระในแถบลำดับหลักอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นดาวแคระขาว ถึงแม้ว่าจะถูกเรียกชื่อเช่นนี้แต่พวกมันไม่ใช่ดาวแคระในแถบลำดับหลักและไม่ใช่ดาวฤกษ์ หากแต่เป็นซากดาว[1]

เมื่ออดีตดาวแคระน้ำเงินดวงนี้เริ่มเข้าสู่กระบวนการเสื่อม ซากที่หลงเหลือในชื่อของดาวแคระขาวจะเย็นตัวลงและเริ่มสูญเสียความร้อนที่หลงเหลืออยู่จากการหลอมไฮโดรเจนครั้งสุดท้ายในช่วงชีวิตของมัน กระบวนการเย็นตัวลงนี้จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานมาก ซึ่งยาวนานกว่าอายุของเอกภพในปัจจุบัน เฉกเช่นเดียวกันกับระยะเวลาที่เปลี่ยนพวกมันจากดาวแคระแดงไปสู่ช่วงสุดท้ายในชีวิตที่เรียกว่าดาวแคระน้ำเงิน ท้ายที่สุดแล้วซากหลงเหลือที่เป็นดาวแคระขาวจะเย็นตัวลงจนกลายเป็นดาวแคระดำ (เอกภพยังไม่เก่าแก่มากพอที่จะให้ซากหลงเหลือต่าง ๆ ได่เย็นตัวลงจนกลายเป็นสีดำ ฉะนั้นแม้ว่าตัวตนของดาวแคระดำจะมีความเป็นไปได้ แต่ยังคงเป็นเพียงวัตถุตามสมมติฐาน)

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Adams, F. C.; Bodenheimer, P.; Laughlin, G. (December 2005). "M dwarfs: planet formation and long term evolution". Astronomische Nachrichten (ภาษาอังกฤษ). 326 (10): 913–919. doi:10.1002/asna.200510440. ISSN 0004-6337.
  2. Laughlin, Gregory; Bodenheimer, Peter; Adams, Fred C. (June 10, 1997). "The End of the Main Sequence". The Astrophysical Journal. 482 (1): 420–432. doi:10.1086/304125. ISSN 0004-637X.
  3. Adams, F.C.; Laughlin, G.; Graves, G.J.M. (2004). Red dwarfs and the end of the Main Sequence. Revista Mexicana de Astronomía y Astrofísica. Vol. 22. pp. 46–49. CiteSeerX 10.1.1.692.5492.