ข้ามไปเนื้อหา

จักรพรรดิซ่งเหรินจง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จักรพรรดิซ่งเหยินจง)
ซ่งเหรินจง
จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซ่ง
ครองราชย์24 มีนาคม ค.ศ. 1022 – 30 เมษายน ค.ศ. 1063
ราชาภิเษก24 มีนาคม ค.ศ. 1022
ก่อนหน้าจักรพรรดิซ่งเจินจง (宋真宗)
ถัดไปจักรพรรดิซ่งอิงจง (宋英宗)
ประสูติ30 พฤษภาคม ค.ศ. 1010(1010-05-30)
จ้าว โช่วอี้ (趙受益; ค.ศ. 1010–1018)
จ้าว เจิน (赵祯; ค.ศ. 1018–1063)
สวรรคต30 เมษายน ค.ศ. 1063(1063-04-30) (52 ปี)
รัชศก
  • เทียนเชิ่ง (天聖; ค.ศ. 1023–1032)
  • หมิงเต้า (明道; ค.ศ. 1032–1033)
  • จิ่งโย่ว (景祐; ค.ศ. 1034–1038)
  • เป่า-ยฺเหวียน (寶元; ค.ศ. 1038–1040)
  • คังติ้ง (康定; ค.ศ. 1040–1041)
  • ชิ่งลี่ (慶曆; ค.ศ. 1041–1048)
  • หฺวังโย่ว (皇祐; ค.ศ. 1049–1053)
  • จื้อเหอ (至和; ค.ศ. 1054–1056)
  • เจียโย่ว (嘉祐; ค.ศ. 1056–1063)
พระสมัญญานาม
จักรพรรดิถี่เทียน ฝ่าเต้า จี้กง เฉฺวียนเต๋อ เฉินเหวิน เชิ่งอู่ รุ่ยเจ๋อ หมิงเซี่ยว (體天法道極功全德神文聖武睿哲明孝皇帝) (ได้รับใน ค.ศ. 1083)
พระอารามนาม
เหรินจง (仁宗)
ราชวงศ์ราชวงศ์ซ่ง
พระราชบิดาจักรพรรดิซ่งเจินจง
พระราชมารดานางหลี่ (李氏)

ซ่งเหรินจง (จีน: 宋仁宗; พินอิน: Sòng Rénzōng; 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1010 – 30 เมษายน ค.ศ. 1063 หรือ 14 เมษายน ค.ศ. 1010 [ปีต้าจงเสียงฝู (大中祥符) ที่ 3] – 29 มีนาคม ค.ศ. 1063 [ปีเจียโย่ว (嘉祐) ที่ 8] ตามปฏิทินจีน) ชื่อตัวว่า จ้าว เจิน (จีนตัวย่อ: 赵祯; จีนตัวเต็ม: 趙禎; พินอิน: Zhào Zhēn) เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 4 ของราชวงศ์ซ่ง (宋朝) แห่งจักรวรรดิจีน และเมื่อแบ่งราชวงศ์ซ่งออกเป็นสมัยเหนือกับสมัยใต้ นับเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 4 ของราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋朝) เสวยราชย์ราว 41 ปีตั้งแต่ ค.ศ. 1022 จนสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1063 นับเป็นจักรพรรดิราชวงศ์ซ่งที่อยู่ในราชสมบัตินานที่สุด

จ้าว เจิน เป็นโอรสองค์ที่ 4 ของจ้าว เหิง (趙恆) ผู้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิซ่งเจินจง (宋真宗) กับนางหลี่ (李氏) ผู้ซึ่งเมื่อเสียชีวิตแล้วได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระราชชนนีพันปีหลวง ฐานันดรศักดิ์ว่า "จางอี้หฺวังไท่โฮ่ว" (章懿皇太后) จ้าว เจิน เดิมชื่อ "จ้าว โช่วอี้" (趙受益) แต่มีราชโองการใน ค.ศ. 1018 ให้เปลี่ยนเป็นจ้าว เจิน

เอกสาร ซ่งฉื่อ (宋史) บันทึกว่า จ้าว เจิน เป็นจักรพรรดิที่เปี่ยมเมตตา อ่อนน้อมถ่อมตน มีความอดทนสูง และน้อยครั้งที่จะแสดงอารมณ์ออกมา ร่ำลือกันว่า คืนหนึ่ง จ้าว เจิน อยากเสวยเนื้อแกะ มหาดเล็กจึงจะไปสั่งให้วิเสทปรุงมาถวาย แต่จ้าว เจิน สั่งให้ไม่ต้องไป และยอมทนหิวแทน จ้าว เจิน ยังสั่งให้ข้าราชการระมัดระวังในการลงโทษประหาร ครั้งหนึ่ง รับสั่งว่า "แค่ด่าใครให้ไปตายเรายังไม่เคยทำ แล้วเราจะกล้าลงโทษตายโดยมิชอบได้อย่างไร"[1]

รัชกาลของจ้าว เจิน เป็นจุดรุ่งเรืองสุดในด้านอำนาจและอิทธิพลของราชวงศ์ซ่ง วัฒนธรรมของราชวงศ์ซ่ง โดยเฉพาะด้านวรรณกรรม ก็เริ่มเฟื่องฟูในยุคนี้ กวีปราชญ์ราชบัณฑิตชื่อดังในประวัติศาสตร์จีนหลายคนก็มีชีวิตหรือเริ่มสร้างสรรค์ผลงานในรัชกาลนี้ ในจำนวนนี้มีฟ่าน จ้งยาน (范仲淹), เหมย์ เหยาเฉิน (梅堯臣), และโอวหยาง ซิว (歐陽脩) เป็นอาทิ ครั้นปีเจียโย่วที่ 2 มีการสอบขุนนาง หลายคนที่สอบผ่านในครั้งนี้ในอนาคตจะได้เป็นบุคคลสำคัญชื่อก้องโลก เช่น เจิง ก่ง (曾鞏), ซู เจ๋อ (苏辙), ซู ชื่อ (蘇軾), และซู ซฺวิน (苏洵)

อย่างไรก็ดี รัชกาลนี้กลับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความเสื่อมสลายของราชวงศ์อันจะส่งผลต่อเนื่องไปกว่า 150 ปีข้างหน้า[2] ปัจจัยสำคัญก็คือนโยบายต่างประเทศ เพราะแต่เดิมมา ราชวงศ์ซ่งเน้นสร้างความสงบสุขมากกว่าสร้างสงครามกับต่างชาติ จึงส่งเสริมกิจการพลเรือนมากกว่าทหาร ทำให้การทหารอ่อนแอ รัฐเพื่อนบ้านอย่างราชวงศ์เซี่ยตะวันตก (西夏) ของชาวตั่งเซี่ยง (党項; Tangut) จึงฉวยโอกาสรุกรานตามชายแดน ครั้นจ้าว เจิน ขึ้นสู่ราชสมบัติ ก็ให้ปรับปรุงการทหารให้เข้มแข็ง แต่ก็ยอมจ่ายเงินมหาศาลเพื่อผูกมิตรกับรัฐศัตรูของราชวงศ์เซี่ยอย่างราชวงศ์เหลียว (遼朝) ของชาวชี่ตัน (契丹; Khitan) ด้วยหวังว่า จะช่วยประกันความปลอดภัยของราชวงศ์ซ่ง แต่นโยบายเช่นนี้ต้องอาศัยเงินจำนวนมาก จึงมีการขึ้นภาษีอย่างหนัก เป็นเหตุให้ชาวบ้านรากหญ้าตกทุกข์ได้ยากเนือง ๆ นำไปสู่การลุกฮือและก่อกบฏทั่วแว่นแคว้น ส่งผลให้อำนาจปกครองของรัฐเสื่อมทรามลง

ใน ค.ศ. 1063 จ้าว เจิน ประชวรสิ้นพระชนม์ และไร้โอรสสืบบัลลังก์ จึงมีการยกจ้าว ฉู่ (趙曙) ผู้เป็นพระญาติ ขึ้นเป็นจักรพรรดิซ่งอิงจง (宋英宗) สืบราชวงศ์ต่อไป

ครอบครัว

[แก้]
บิดามารดา
ภริยาและบุตร
  • กัว ชิงอู้ (郭清悟; ค.ศ. 1012–1035), ได้เป็นชายา ฐานันดรศักดิ์ว่า "จิ้งเฟย์" (淨妃)
  • จักรพรรดินีฉือเซิ่งกวงเสวียน สกุลเกา (曹氏; ค.ศ. 1016–1079)
  • นางจาง (張氏; ค.ศ. 1024–1054), สิ้นชีวิตแล้วได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นมเหสี ฐานันดรศักดิ์ว่า "เวินเฉิงหฺวังโฮ่ว" (溫成皇后)
    • บุตรหญิงไม่ทราบนาม (ค.ศ. 1040–1042), ได้เป็นองค์หญิง ฐานันดรศักดิ์ว่า "จฺวังชุ่นตี้จี" (莊順帝姬)
    • บุตรหญิงไม่ทราบนาม (ค.ศ. 1042–1043), ได้เป็นองค์หญิง ฐานันดรศักดิ์ว่า "จฺวังฉีตี้จี" (莊齊帝姬)
    • บุตรหญิงไม่ทราบนาม (ค.ศ. 1044–1045), ได้เป็นองค์หญิง ฐานันดรศักดิ์ว่า "จฺวังเชิ่นตี้จี" (莊慎帝姬)
  • นางเหมียว (苗氏; ค.ศ. 1017–1086), ได้เป็นชายา ฐานันดรศักดิ์ว่า "เจาเจี๋ยกุ้ยเฟย์" (昭節貴妃)
    • บุตรหญิง (ค.ศ. 1038–1071), ได้เป็นองค์หญิง ฐานันดรศักดิ์ว่า "จฺวังเซี่ยวตี้จี" (莊孝帝姬)
    • จ้าว ซิน (趙昕; ค.ศ. 1039–1041), ได้เป็นองค์ชาย ฐานันดรศักดิ์ว่า "ยงหวัง" (雍王)
  • นางโจว (周氏; ค.ศ. 1022–1114), ได้เป็นชายา ฐานันดรศักดิ์ว่า "เจาชูกุ้ยเฟย์" (昭淑貴妃)
    • บุตรหญิงไม่ทราบนาม (ค.ศ. 1058–1142), ได้เป็นองค์หญิง ฐานันดรศักดิ์ว่า "หลิงเต๋อตี้จี" (令德帝姬)
    • บุตรหญิงไม่ทราบนาม (ตาย ค.ศ. 1112), ได้เป็นองค์หญิง ฐานันดรศักดิ์ว่า "อี้มู่ตี้จี" (懿穆帝姬)
  • นางจาง (張氏), ได้เป็นชายา ฐานันดรศักดิ์ว่า "เจาอี้กุ้ยเฟย์" (昭懿貴妃)
  • นางต่ง (董氏; ตาย ค.ศ. 1062), ได้เป็นชายา ฐานันดรศักดิ์ว่า "ชูเฟย์" (淑妃)
    • บุตรหญิงไม่ทราบนาม (ค.ศ. 1059–1067), ได้เป็นองค์หญิง ฐานันดรศักดิ์ว่า "จฺวังฉีตี้จี" (莊齊帝姬)
    • บุตรหญิงไม่ทราบนาม (ค.ศ. 1059–1083), ได้เป็นองค์หญิง ฐานันดรศักดิ์ว่า "เสียนอี้ตี้จี" (賢懿帝姬)
    • บุตรหญิงไม่ทราบนาม (เกิด ค.ศ. 1061), ได้เป็นองค์หญิง ฐานันดรศักดิ์ว่า "จฺวังหย่านตี้จี" (莊儼帝姬)
  • นางอฺวี๋ (兪氏; ตาย ค.ศ. 1064), ได้เป็นชายา ฐานันดรศักดิ์ว่า "เต๋อเฟย์" (德妃)
    • จ้าว ฝ่าง (趙昉; เกิด ค.ศ. 1037), ได้เป็นองค์ชาย ฐานันดรศักดิ์ว่า "หยางหวัง" (楊王)
    • บุตรหญิงไม่ทราบนาม (ตาย ค.ศ. 1042), ได้เป็นองค์หญิง ฐานันดรศักดิ์ว่า "จฺวังเหอตี้จี" (莊和帝姬)
  • นางหยาง (楊氏; ค.ศ. 1019–1073), ได้เป็นชายา ฐานันดรศักดิ์ว่า "เต๋อเฟย์" (德妃)
    • บุตรหญิงไม่ทราบนาม (เกิด ค.ศ. 1042), ได้เป็นองค์หญิง ฐานันดรศักดิ์ว่า "จฺวังเซฺวียนตี้จี" (莊宣帝姬)
  • นางเฝิง (馮氏), ได้เป็นชายา ฐานันดรศักดิ์ว่า "เสียนเฟย์" (賢妃)
    • บุตรหญิงไม่ทราบนาม (ค.ศ. 1042–1043), ได้เป็นองค์หญิง ฐานันดรศักดิ์ว่า "จฺวังสี่ตี้จี" (莊禧帝姬)
    • บุตรหญิงไม่ทราบนาม (ตาย ค.ศ. 1044), ได้เป็นองค์หญิง ฐานันดรศักดิ์ว่า "จฺวังอี๋ตี้จี" (莊夷帝姬)
  • นางจู (朱氏), ได้เป็นชายา ฐานันดรศักดิ์ว่า "ไฉเหริน" (才人)
    • จ้าว ซี (趙曦; ค.ศ. 1041–1043), ได้เป็นองค์ชาย ฐานันดรศักดิ์ว่า "จิงหวัง" (荊王)

อ้างอิง

[แก้]
  1. Toqto, Alutu (1985). History of Song, China. 中華書局. ISBN 9787101003239.
  2. Zhenoao Xu; W. Pankenier; Yaotiao Jiang; David W. Pankenier (2000). East-Asian Archaeoastronomy: Historical Records of Astronomical Observations of China, Japan and Korea. CRC Press. ISBN 90-5699-302-X.