งูอนาคอนดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
งูอนาคอนดา
งูอนาคอนดาเหลือง (E. notaeus)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Squamata
อันดับย่อย: Serpentes
วงศ์: Boidae
วงศ์ย่อย: Boinae
สกุล: Eunectes
Wagler, 1830[1]
ชนิดต้นแบบ
Eunectes murinus
(Linnaeus, 1758)[1]
ชนิด
4 ชนิด (ดูในเนื้อหา)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์

งูอนาคอนดา (อังกฤษ: anaconda) หรือ งูโบอาน้ำ (water boa) เป็นชื่อสามัญและสกุลของงูขนาดใหญ่ 4 ชนิดที่อยู่ในวงศ์ย่อย Boinae ในวงศ์ใหญ่ Boidae ใช้ชื่อสกุลว่า Eunectes

อาศัยอยู่ใน หนอง บึง และแม่น้ำในป่าดิบชื้นในทวีปอเมริกาใต้และเกาะตรินิแดด

โดยที่คำว่า Eunectes มาจากภาษากรีกคำว่า Eυνήκτης หมายถึง "ว่ายน้ำได้ดี"

การจำแนก[แก้]

  • งูอนาคอนดาโบลิเวีย (Eunectes beniensis) พบเป็นครั้งแรกในโบลิเวีย ได้รับการตั้งชื่อเมื่อปี ค.ศ. 2002 โดย ลุตซ์ เดิร์กเซน และกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา[2][3]
  • งูอนาคอนดาเขียว หรือ งูอนาคอนดาธรรมดา (Eunectes murinus) จัดเป็นชนิดที่ใหญ่ที่สุดและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด โดยมีรายงานว่ามีความยาวถึง 10 เมตร แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีความยาวเฉลี่ย 4.5 เมตร แม้จะมีความยาวน้อยกว่างูเหลือมซึ่งเป็นงูชนิดที่มีบันทึกว่ายาวที่สุด แต่ก็ยังมีน้ำหนักมากกว่า จัดว่าเป็นงูที่หนักที่สุดในโลกที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ อาจมีน้ำหนักถึง 250 กิโลกรัม และมีเส้นผ่านศูนย์กลางลำตัวมากกว่า 30 เซนติเมตร ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ โดยตัวเมียจะมีความยาวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.6-7.8 เมตร ขณะที่ตัวผู้มีความยาวเฉลี่ย 3.6-4.8 เมตร พบทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ อย่างเช่นในเวเนซุเอลา, โคลัมเบีย, บราซิล, เอกวาดอร์, ทางตอนเหนือของโบลิเวีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเปรู, กายอานา และตรินิแดด แม้ว่าจะเป็นที่สนใจมาก แต่ก็ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับงูชนิดนี้อยู่น้อยมาก จนกระทั่งปี ค.ศ. 1992 จึงได้มีการศึกษาในทางชีววิทยาเป็นครั้งแรกในเวเนซุเอลา โดย ดร.เฮซุส ริวาซ

ลักษณะทั่วไปและพฤติกรรม[แก้]

โดยรวมแล้วงูอนาคอนดาที่มีหัวขนาดใหญ่และลำคอหนา ตาและรูจมูกอยู่ที่ส่วนบนของหัว ทำให้สามารถหายใจและมองเห็นเหยื่อในขณะที่อยู่ใต้น้ำได้ ฆ่าเหยื่อโดยใช้ลำตัวบีบรัด เป็นงูที่ไม่มีพิษ แต่ยังมีฟันและขากรรไกรที่แข็งแรงที่ใช้กัดเหยื่อ โดยจะคาบเหยื่อแล้วลากลงไปในน้ำเพื่อให้เหยื่อจมน้ำตาย

ด้วยความที่มีน้ำหนักมากทำให้เมื่ออยู่บนบกงูอนาคอนดาจะเคลื่อนไหวได้ช้าและงุ่มง่ามมาก แต่จะเคลื่อนไหวได้ดีและรวดเร็วผิดกับรูปร่างเมื่ออยู่ในน้ำ ในบางครั้งอาจลอยตัวนิ่ง ๆ อยู่บนผิวน้ำปล่อยให้กระแสน้ำพัดไป

โดยปกติแล้ว จะกินสัตว์จำพวกหนูขนาดใหญ่ เช่น คาปรีบารา รวมถึงสัตว์ขนาดใหญ่อย่างอื่น เช่น สมเสร็จ, กวาง, หมูป่า, ปลา, เต่า, นก, แกะ, สุนัข และสัตว์เลื้อยคลานในน้ำอย่าง จระเข้ไคแมน ส่วนตัวที่ยังไม่โตเต็มที่จะกินหนูขนาดเล็ก, ลูกไก่, กบ และปลา โดยการใช้อวัยวะรับรู้คลื่นความร้อนหรืออินฟราเรดที่เป็นแอ่งบริเวณหน้าผากตรวจจับ โดยสัญชาตญาณแล้ว เมื่องูอนาคอนดาพบมนุษย์จะหนีไป การตายของมนุษย์ที่เกิดจากงูอนาคอนดาจึงเกิดขึ้นได้ยาก แม้จะเป็นงูขนาดใหญ่และอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร แต่กระนั้นงูอนาคอนดาขนาดเล็กหรือตัวที่อ่อนแอหรือบาดเจ็บก็จะตกเป็นเหยื่อของสัตว์กินเนื้ออย่างอื่นได้ง่าย เช่น เสือจากัวร์, จระเข้ไคแมน, งูอนาคอนดาด้วยกัน หรือ ปลาปิรันยา

งูอนาคอนดาทุกชนิดขยายพันธุ์ด้วยการออกลูกเป็นตัว ครั้งละประมาณ 20-40 ตัว หรือมากกว่านั้น เป็นงูที่นิยมเลี้ยงกันในสวนสัตว์เพื่อการศึกษา และเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินส่วนตัว[5]

ในวัฒนธรรม[แก้]

ด้วยความที่งูอนาคอนดาเป็นงูขนาดใหญ่ ทำให้แลดูน่าสะพรึงกลัว ชาวพื้นเมืองอเมริกาใต้จึงให้ความนับถือดุจเทพเจ้า เช่น ชาวแอซเท็ก ให้ความนับถือเทพที่ชื่อว่า "เก็ตซัลโกอาตล์" ที่มีรูปลักษณ์เป็นงูขนาดใหญ่ เป็นเทพเจ้าที่สร้างโลกและมนุษย์ให้เกิดขึ้นมาจากเถ้ากระดูก[6]

นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องเล่าลือถึงงูอนาคอนดาขนาดยักษ์ ที่มีขนาดใหญ่กว่างูอนาคอนดาตามปกติ ซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาสเปนว่า "cobra grande" แปลว่า "งูยักษ์" โดยในปี ค.ศ. 1906 พันเอกเพอร์ซี ฟาลเคตต์ ซึ่งเป็นนักสำรวจผู้เขียนแผนที่ป่าอเมซอนได้เขียนลงในบันทึกของเขาว่าเขามีหนังงูที่มีความยาว 62 ฟุต และกล่าวว่า เขาได้สังหารงูตัวนี้ด้วยปืนไรเฟิลด้วยกระสุนขนาด .44 ในกระดูกสันหลังของมัน ซึ่งมันโจมตีใส่เรือของคณะเขา เส้นผ่าศูนย์กลางของลำตัวมันเกินกว่า 12 นิ้ว และอาจจะใหญ่ได้มากกว่านี้ถ้าได้กินอาหารเข้าไป

นอกจากนี้แล้วยังมีความเชื่อของชนพื้นเมืองในป่าดิบชื้นของอเมซอนที่เรียกงูอนาคอนดาขนาดยักษ์ว่า "matatoro" แปลว่า "ตัวกินวัว" โดยมีความยาวกว่า 80 ฟุต[7]

ซึ่งจากความเชื่อและเรื่องเล่าลือนี้ทำให้ในวัฒนธรรมร่วมสมัยเช่น ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดได้สร้างเรื่องเกี่ยวกับงูอนาคอนดายักษ์มาในปี ค.ศ. 1997 คือ Anaconda ซึ่งนำแสดงโดย เจนนิเฟอร์ โลเปซ และจอน วอยต์ และได้มีภาคต่อมาอีกถึง 2 ภาค ในปีหลังจากนี้

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 McDiarmid RW, Campbell JA, Touré T. 1999. Snake Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference, vol. 1. Herpetologists' League. 511 pp. ISBN 1-893777-00-6 (series). ISBN 1-893777-01-4 (volume).
  2. Dirksen, L. (2002) (in German). Anakondas. Münster: Natur und Tier Verlag
  3. Eunectes beniensis DIRKSEN, 2002
  4. Hoffstetter, R., and J. C. Rage. 1977. Le gisement de vertebres miocenes de La Venta (Colombie) et sa faune de serpents. Annales de Paleontologie (Vertebres) 63:161–190.
  5. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หน้า 405-406 (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0
  6. สมฤทธี บัวระมวล. ตำนานแห่งศาสนา ลัทธินิยมและความเชื่อปรัมปรา. กทม. คุ้มคำ.มปป. หน้า 76
  7. MEGACONDA จากAnimal Planet

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Eunectes ที่วิกิสปีชีส์