ข้ามไปเนื้อหา

คณะประสานเสียงเด็กชายแห่งเวียนนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะประสานเสียงเด็กชายแห่งเวียนนาในเครื่องแบบ "ชุดเดินทาง" ในงานคอนเสิร์ตปี พ.ศ. 2546 ที่ห้องโถง Wiener Musikverein ในนครเวียนนา
คณะประสานเสียงในเครื่องแบบ "ชุดทางการ" บนเวทีหน้าออร์แกนที่ห้องโถง Wiener Musikverein โดยให้เสียงกับ ซิมโฟนีของคนนับพัน ของกุสทัฟ มาเลอร์ ร่วมกับคณะประสานเสียง Wiener Singverein แห่งเวียนนา, วงดุริยางค์ Slovenský filharmonický zbor และ Staatskapelle Berlin, มีผู้ควบคุม คือ Pierre Boulez ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2552

คณะประสานเสียงเด็กชายแห่งเวียนนา (เยอรมัน: Wiener Sängerknaben, อังกฤษ: Vienna Boys' Choir, Vienna Choir Boys, ตัวย่อ VBC) เป็นคณะประสานเสียงของเด็กชายที่มีเสียงระดับโซปราโนและแอลโตแห่งนครเวียนนา ประเทศออสเตรีย เป็นคณะประสานเสียงเด็กชายที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคณะหนึ่งในโลก เด็กส่วนใหญ่มาจากออสเตรีย แต่ก็มีที่มาจากประเทศอื่น รวมทั้งประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์[1] มาเลเซีย[2] อินเดีย และไต้หวัน[3] คณะประสานเสียงเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร มีเด็กนักร้องประมาณ 100 คนอายุระหว่าง 10-14 ปี โดยแบ่งออกเป็น 4 คณะที่ออกเดินทาง ตั้งชื่อมุ่งใช้ภายในสถาบันตามผู้ประพันธ์ดนตรีชาวออสเตรียที่ใกล้ชิดกับคณะ คือ บรุกเนอร์ ไฮเดิน โมทซาร์ท และชูเบิร์ท[4] แต่ละคณะแยกเรียนต่างหากและออกเดินทางประมาณปีละ 11 อาทิตย์[5]

คณะประสานเสียงได้รับค่าเล่าเรียนและเงินสนับสนุนจากการออกคอนเสิร์ตและการขายเสียงอัด นอกจากการร้องเพลงเพื่อพิธีมิสซาทุกวันอาทิตย์ ในโบสถ์ที่พระราชวังฮอฟบูร์กแล้ว คณะจะออกเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้อุปถัมภ์ จากเทศบาลนครเวียนนา และจากรัฐบาลประเทศออสเตรีย ปกติจะเดินทางไปยังสหรัฐและญี่ปุ่นทุกปี ซึ่งเป็นที่ที่คณะได้รับความนิยมมาก คณะยังเดินทางไปประเทศจีน ไต้หวัน สิงค์โปร์ เกาหลีใต้ เขตตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย อเมริกาใต้ และประเทศยุโรปอื่น ๆ เป็นประจำ คณะพิจารณาว่าเป็นองค์การทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดองค์การหนึ่งของประเทศ โดยนักการเมืองมักเรียกพวกเด็ก ๆ ว่าเป็น "ทูตที่อายุน้อยที่สุดในออสเตรีย"

คณะประสานเสียงเด็กชายแห่งเวียนนา - ร้องเพลง ที่ที่ต้นเลมอนออกดอก (Wo die Zitronen bluhn) Op. 364 ประพันธ์โดยโยฮันน์ ชเตราสส์ ที่สอง

องค์การ/สมาคม

[แก้]

ตามกฎหมายแล้ว VBC เป็นสมาคมเอกชนจัดตั้งโดยไม่หวังผลกำไรและมีสมาชิกประมาณ 100 คน โดยสมาชิกต้องเป็นอดีตเด็กนักร้องของคณะเท่านั้น สมาชิกจะจัดเลือกทั้งคณะกรรมการบริหารและประธานองค์กร โดยมีนาย เจอรัลด์ เวิร์ธ เป็นประธานบริหารองค์กรตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2556[6][7] ประธานสมาคมกับรองประธานสองคนทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสมาคม ในกิจทั้งภายในภายนอก

ต่อลำดับจากประธานและรองประธาน ยังมีผู้อำนวยการบริหาร ผู้อำนวยการศิลป์ (ปัจจุบันคือนาย เจอรัลด์ เวิร์ธ[7] ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544) ผู้นำคณะประสานเสียงหลายคน ผู้อำนวยการศึกษา ซึ่งเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนประถมปลาย-มัธยมปลาย (realgymnasium) ด้วย โดยยังมีผู้บริหารเรื่องหอพักและอาหาร และผู้อำนวยการโรงเรียนประถมต้น (Grundschul) อีกด้วย

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 คณะได้ใช้พระราชวังเก่า คือ Palais Augarten เป็นโรงเรียนกินนอน

อาคาร

[แก้]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 คณะได้ใช้พระราชวังเก่า คือ Palais Augarten ซึ่งเป็นที่ล่าสัตว์ส่วนพระองค์ของเชื่อพระวงค์ในราชวงศ์ฮับส์บูร์กซึ่งสร้างขึ่นในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 อาคารนี้ ประกอบด้วยโรงเรียนระดับ Realgymnasium (ป. 5 - ม. 7) ที่ฝึกซ้อมดนตรี หอพักและห้องพักผ่อนหย่อนใจของเด็ก สำนักงานบริหารและอำนวยการศิลป์ก็อยู่ในอาคารนี้ด้วย บวกกับที่ตัดเย็บเครื่องแต่งกายและเครื่องแบบ ส่วนกลางของอาคารมีห้องนิทรรศการศิลปะ (Salon) เพื่อจัดคอนเสิร์ตในโรงเรียน โดยมีสถานที่หลายแห่งรวมทั้งบันไดที่สวยงดงาม ที่รู้จักอย่างแพร่หลายเนื่องจากภาพถ่ายและภาพยนตร์

ติดกับอาคารเป็นอาคารใหม่ซึ่งมีทางเชื่อมกับพระราชวังเก่า เป็นห้องส่วนตัวและห้องส่วนรวมของเด็ก ๆ รวมทั้งที่ทำ/รับประทานอาหารและที่เล่นกีฬาต่าง ๆ ต่อจากอาคารมีสวนขนาดใหญ่ สระว่ายน้ำ สนามฟุตบอล สนามวอลเลย์บอล สนามบาสเกตบอล และโรงยิมเนเซียม ส่วนโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถมต้นอยู่ในตึกอื่น ๆ ข้าง ๆ สวน

ในเขต Augartenspitz ที่อยู่ติดกับสวนของ VBC มีหอดนตรี-ละครใหม่ชื่อว่าหอ "MuTh" (จากคำว่า music และ theater) โดยสามารถบรรจุคนได้ 400 ที่นั่ง ซึ่งสามารถใช้เป็นที่ฝึกซ้อมหรือที่แสดงสำหรับเด็ก ๆ เป็นหอที่พึ่งเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2555 ที่คณะได้ร่วมจัดคอนเสิร์ตกับวงศ์ดุริยางค์ Vienna Philharmonic หอนี้เคยได้สร้างความขัดแย้งกับผู้ไม่เห็นด้วยโดยมีการประท้วงยับยั้งการก่อสร้างเป็นเดือน ๆ เนื่องจากว่าสวนสาธารณะในเขตนี้เป็นสวนยุคบารอกที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป เป็นสวนผ่อนใจที่ใหญ่ที่สุดในเวียนนา และผู้ประท้วงเกรงว่า VBC จะยึดสถานที่ที่เป็นสมบัติของชาตินี้ไปใช้ในการส่วนตัวเพิ่มขึ้น เพราะว่าส่วนอื่น ๆ ที่ VBC เช่าจากประเทศไม่เปิดให้ใช้สอยได้โดยสาธารณะ

รายละเอียดอื่น ๆ

[แก้]

โดยไม่เหมือนคณะประสานเสียงชายอื่น ๆ VBC เป็นคณะที่มีแต่เด็กชายเสียงระดับโซปราโนและแอลโตเท่านั้น โดยมีคณะประสานเสียง Chorus Viennensis ของโบสถ์ในพระราชวังฮอฟบูร์กที่สมาชิกเป็นอดีตสมาชิก VBC ล้วน ๆ (จัดตั้ง พ.ศ. 2495) เป็นผู้ให้เสียงระดับเท็นเนอร์และเบสในงานคอนเสิร์ตและการอัดเสียงต่าง ๆ นอกจากนั้นแล้ว ในปี 2553 องค์กรยังได้จัดตั้งคณะประสานเสียงประจำโรงเรียนแบบมีเสียงทุกระดับคือ Chorus Juventus ขึ้นอีกด้วย

องค์กรบริหารโรงเรียนระดับต่าง ๆ ที่เน้นการศึกษาเรื่องดนตรี นอกจาก รร. ระดับตอนกลาง (อายุ 10-14 ปี ป. 5 - ม. 2) ที่ให้นักร้องเรียนได้เท่านั้นแล้ว[8] องค์กรยังดำเนินการโรงเรียนระดับอนุบาล โรงเรียนระดับประถมต้น (ป. 1 - ป. 4 ระดับ Grundschul) โรงเรียนระดับมัธยมปลาย (Oberstufenrealgymnasiums ระดับ ม. 3 เป็นต้น) ที่รับทั้งเด็กชายเด็กหญิงโดยทั่วไปอีกด้วย[9] โดยปีละสองครั้ง คณะจะจัดทดสอบการแสดงสำหรับเด็กชายที่มีพรสวรรค์ทางเสียงหรือทางดนตรีเพื่อเข้าโรงเรียนเตรียมตัวพิเศษเป็นเวลา 2 ปี (โดยปกติปีเดียวหรือน้อยกว่านั้นถ้าเก่งเป็นพิเศษ) ซึ่งเด็กจะได้รับการศึกษาอย่างเข้มงวดโดยเน้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในการร้องเพลง และฝึกหัดเล่นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง

เมื่อถึงอายุประมาณ 9 ขวบ (ประมาณ ป. 4) เด็กจะต้องสอบไล่เข้าคณะประสานเสียง ซึ่งความสามารถทางด้านดนตรีล้วน ๆ จะเป็นเครื่องตัดสิน และถ้าผ่านก็จะได้รับเข้าคณะ หรือถ้าไม่ผ่านก็จะต้องออกจากโรงเรียน หลังจากสอบเข้าได้ (เป็นนักเรียน ป. 5 คือสอบเข้าคณะประสานเสียงได้) เด็กจะได้รับเครื่องแบบเป็นทางการชุดแรกและเข้าร่วมเรียนกับเด็กอีกประมาณ 100 คนในคณะ โดยค่าใช้จ่ายทุกอย่าง คือ ที่อยู่ อาหาร และค่าเทอร์ม คณะจะเป็นผู้ออกให้ โดยได้รายได้มาจากการออกทัวร์ การอัดเสียง รายการทีวี และภาพยนตร์ (เด็กเคยแสดงในภาพยนตร์แล้ว 5 เรื่องโดยปี 2534 รวมทั้ง Almost Angels)[10] และได้การสนับสนุนอื่น ๆ จากผู้มีอุปการะ นครเวียนนา และรัฐบาลประเทศออสเตรีย

นักเรียนจะได้รับการศึกษาในระดับ ป. 5 - ม. 2 โดยสามารถเลือกภาษาละตินเป็นวิชาเลือก (ซึ่งจำเป็นในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแพทย์) ในช่วงออกเดินทาง เด็ก ๆ จะมีผู้ควบคุมดนตรีคนหนึ่ง ครู/พี่เลี้ยงอีก 2 ท่าน และผู้จัดการทัวร์ติดตามไปด้วย และจะไม่ใช้ตารางเรียนปกติ แต่จะฝึกร้องเพลงวันละ 2 ชม. ทุกวัน และได้การสอนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ดังนั้น เด็ก VBC จะได้รับการศึกษาทางดนตรีอย่างดีตั้งแต่อายุน้อย ๆ โดยบางคนอาจอยู่ในสถาบันตั้งแต่อนุบาลจนจบมัธยมปลาย

โดยทั่วไปแล้ว หลักสูตรของ Realgymnasium จะต่างไปตามโรงเรียน แต่ปกติจะรวมภาษาเยอรมัน คณิตศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ภูมิศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี ประวัติศาสตร์ ปรัชญา หน้าที่พลเมือง สังคมศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ สำหรับเด็กในชั้นต้น ๆ หลักสูตรจะเป็นแบบบังคับทั้งหมด ส่วนในชั้นปลาย ๆ จะมีวิชาให้เลือก นอกจากนั้นแล้ว ยังอาจบังคับให้เรียนวิชาพละและจริยธรรม/ศาสนาอีกด้วย

เด็กจะเรียนวิชาต่าง ๆ เป็นกลุ่มย่อย ๆ โดยมีหลักสูตรเสริมรวมทั้ง เบสบอล ยูโด ฟุตบอล โรลเลอร์เบลด ว่ายน้ำ มีโอกาสศึกษาผ่อนคลายโดยไปชมคอนเสิร์ตเพลงป็อป อุปรากร เล่นเกม ดูภาพยนตร์ สร้างผลงานตนเองโดยเป็นการเขียน การแสดง เกี่ยวกับชีวิตในคณะ ในระหว่างปิดภาคเรียน คณะอาจเชิญเด็กอายุระหว่าง 4-14 ปีจากโรงเรียนอื่น ๆ เพื่อมาร่วมร้องเพลงกับเด็ก ๆ ซึ่งเป็นที่นิยมมาก เป็นวิธีสร้างบรรยากาศให้เด็ก ๆ รักเรียนดนตรี และเพื่อพัฒนาทักษะความสามารถทางด้านดนตรีของพวกเขาอย่างเต็มที่

ตารางประจำวัน
เวลา กิจกรรม
06.45 ตื่นนอน
07.00 อาหารเช้า
07.30 วิชาทั่วไป
10.30 อาหารว่าง
11.00 ฝึกร้องประสานเสียง
13.00 อาหารกลางวัน+เวลาว่าง
14.30 วิชาทั่วไป+ฝึกซ้อมแสดงบนเวที
16.05 เวลาน้ำชา
16.25 วิชาทั่วไป+การใช้เครื่องดนตรี+การฝึกร้อง
18.00 อาหารเย็น+เวลาว่าง
21.00 นอน

เด็กที่ยังอยู่ในคณะประสานเสียงจะอยู่กินนอนที่โรงเรียนแม้ว่าบ้านอาจจะอยู่ในนครเวียนนาเอง คณะปีหนึ่งจะใช้เวลา 4 อาทิตย์ในภาคฤดูร้อนที่บ้านพักร้อนในรัฐคารินเทียใกล้ทะเลสาบโวทเฮอร์ซี (Wörthersee) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งในประเทศ

เครื่องแบบ

[แก้]

คณะปัจจุบันมีเครื่องแบบกะลาสี 2 ชุด ชุดแรกเป็นสีน้ำเงินเข้มใช้เป็น "ชุดเดินทาง" (travelling) สำหรับการออกข่าวอย่างเป็นทางการ และการปรากฏตัวในงานทางศาสนาต่าง ๆ ชุดที่สองมีสีขาวใช้เป็น "ชุดทางการ" (dress) สำหรับงานคอนเสิร์ตอื่น ๆ โดยทั้งสองมีตราประจำชาติของประเทศออสเตรียอยู่บนหน้าอกข้างซ้าย เป็นรูปนกอินทรีสีดำประกอบกับโล่สีแดง-ขาว-แดงบนพื้นขาว เป็นเครื่องแบบที่จัดวัดตัดเย็บภายในโรงเรียน โดยได้หมวกจากโรงงานที่จะเติมแถบคาดและริบบิ้นหมวกเมื่อจัดร่วมกับเครื่องแบบ นอกจากนั้นแล้ว ในเดือนตุลาคม 2558 คณะยังได้แสดงตัวเป็นครั้งแรกในเครื่องแบบนักเรียนทหารมหาดเล็กสีน้ำเงินเข้มตามรูปแบบในประวัติหลังจากไม่ได้ใช้เป็นเวลานานถึง 97 ปี

ประวัติ

[แก้]

คณะสืบประวัติมาจากคณะประสานเสียงเด็กชายในพระราชวังของจักรพรรดิออสเตรีย เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยกลาง โดยจัดตั้งขึ้นตามพระราชเลขาของจักรพรรดิมักซีมีเลียนที่ 1 แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2041 เมื่อทรงย้ายพระราชวังจากเมืองอินส์บรุคไปยังเวียนนา โดยมีพระราชบัญชาให้ว่าจ้างผู้ควบคุมนักร้อง 1 คน นักร้องชายเสียงเบส (เสี่ยงต่ำสุดของชาย) 2 คน และเด็กชายอีก 6 คน (โดยภายหลังเพิ่มเป็น 14-20 คน) โดยมี Jurij Slatkonja (ต่อมาเป็นบิชอปแห่งเวียนนา) เป็นผู้อำนวยการคนแรกของคณะ บทบาทของคณะที่มีจำนวนระหว่าง 24-26 คน ก็เพื่อให้เสียงร้องร่วมสำหรับพิธีมิสซาในโบสถ์ นอกจากนั้นแล้ว พี่น้องเด็กชายตระกูลไฮเดิ้น ยังเป็นสมาชิกของคณะประสานเสียงแห่งมหาวิหารเซนต์สตีเฟนซึ่งในช่วงเวลานั้นผู้อำนวยการของคณะมหาวิหารคือ เกออร์ก ร็อยท์เทอร์ (Georg Reutter II) ได้อาศัยคณะนี้เพื่องานดนตรีของเขาในพระราชวัง ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีนักร้องเด็กชายเอง ในศตวรรษต่อ ๆ มา คณะนี้ได้ร่วมงานกับนักประพันธ์ดนตรีผู้มีชื่อเสียงมากมายรวมทั้ง Heinrich Isaac, Paul Hofhaimer, Heinrich Ignaz Biber, Johann Fux, Antonio Caldara, คริสท็อฟ วิลลีบัลท์ กลุค, อันโตนีโอ ซาลีเอรี, ว็อล์ฟกัง อมาเดอุส โมทซาร์ท, ฟรันทซ์ ชูเบิร์ท (ผู้เป็นอดีตนักร้อง), และ Anton Bruckner[6]

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2461 วงศ์ดุริยางค์ของพระราชวังรวมทั้งคณะประสานเสียง ได้เล่นดนตรีเพื่อกิจในพระราชวัง ในพิธีมิสซา ในงานสังสรรค์ส่วนบุคคล และในกิจราชการเพียงเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2463 ตามการล่มสลายของจักรวรรดิออสเตรีย วงดนตรีแห่งพระราชวังก็ได้สลายตัว แต่ว่า พระอธิการของโบสถ์แห่งพระราชวัง Josef Schnitt ในเวลานั้นต้องการดำรงประเพณีสืบต่อไป ในปี พ.ศ. 2467 คณะประสานเสียงเด็กชายแห่งเวียนนาจึงได้ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยได้ทุนเริ่มต้นจากเงินส่วนตัวของพระอธิการ จนได้กลายมาเป็นคณะดนตรีมืออาชีพ (เนื่องจากเงินบริจาคเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการดูแลเด็ก ๆ) ที่ออกแสดงในสถานที่ต่าง ๆ คณะได้เริ่มใช้เครื่องแบบกะลาสีสีขาว-น้ำเงินที่ปัจจุบันรู้จักกันดี โดยเป็นเครื่องแบบวัดตัดเย็บในโรงเรียน ทดแทนเครื่องแบบนักเรียนทหารมหาดเล็กที่มีดาบพกด้วย[11] ที่ใช้เครื่องแบบนี้ก็เพราะในเวลานั้น ครอบครัวคนชั้นกลางมักแต่งตัวเด็กชายในชุดกะลาสี นักแต่งเพลงทรงอิทธิพล HK Gruber เป็นนักเรียนเก่าของคณะที่ปฏิรูปแล้วนี้คนหนึ่ง[12]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 คณะได้ใช้พระราชวังเก่า คือ Palais Augarten เป็นที่ฝึกซ้อมและโรงเรียนกินนอน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยม 2 (ปัจจุบันถึงมัธยมปลาย) ในปี พ.ศ. 2504 บริษัทวอลต์ดิสนีย์ได้สร้างหนังเรื่อง Almost Angels เป็นภาพยนตร์นิยายเกี่ยวกับและแสดงโดยคณะเด็กชาย และถ่ายทำที่พระราชวังที่เป็นโรงเรียน เพื่อรมณีย์ยภาพแห่งภาพยนตร์ ตัวนายดิสนีย์เอง จึงได้เกลี้ยกล่อมรัฐบาลประเทศออสเตรียเพื่ออนุญาตให้เด็กใส่เครื่องแบบที่มีเครื่องหมายประจำชาติบนหน้าอกด้านซ้ายอย่างถูกกฎหมายได้ ซึ่งเป็นประเพณีที่ยังสืบมาจนถึงทุกวันนี้

นาย เจอรัลด์ เวิร์ธ (อดีตเด็กนักร้อง) ได้เป็นผู้อำนวยการทางศิลป์ (artistic director) ของคณะตั้งแต่ปี 2544 ตั้งแต่นั้น คณะได้ตกอยู่ใต้แรงกดดันที่จะพัฒนาให้ทันสมัยขึ้น และได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องมาตรฐานทางดนตรี ซึ่งทำให้คณะได้แยกตัวออกจากคณะอุปรากร Vienna State Opera และเป็นครั้งแรกที่คณะต้องโฆษณาหานักร้องใหม่ หลังจากที่ผู้อำนวยการของคณะอุปรากรได้จัดตั้งโรงเรียนคณะประสานเสียงอีกที่หนึ่งโดยเป็นคู่แข่ง เพราะเขาได้บ่นถึงทั้งมาตรฐานที่แย่ลงและการประสานงานที่ไม่ดีของคณะ คือ เขาบอกว่า บางครั้งคณะอุปรากรได้ฝึกเด็กเพื่อบทบาทในอุปรากรโดยเฉพาะ แต่พบว่า พอถึงวันแสดง เด็กกลับไม่อยู่เนื่องจากได้ออกเดินทางไปกับคณะ โดยมีเด็กบางคนชอบโรงเรียนคู่แข่งมากกว่า เพราะมีบรรยากาศที่สบาย ๆ กว่า และจ่ายค่าแสดงให้กับนักเรียนโดยตรง[13]

VBC ได้พยายามปรับปรุงภาพพจน์ของตน โดยอัดเสียงเพลงป็อป แล้วสร้างเครื่องแบบทางเลือกนอกเหนือไปจากชุดกะลาสีที่ใช้ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1920 ซึ่งช่วยให้เด็กสามารถเต้นรำไปด้วยเมื่อร้องเพลง[14] และตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2556 นาย เจอรัลด์ เวิร์ธ ก็ได้รับตำแหน่งเป็นประธานบริหารขององค์กรเพิ่มขึ้นอีกด้วย[6][7]

ในปี พ.ศ. 2553 หลังจากเกิดการแจ้งเหตุทารุณกรรมทางเพศโดยอดีตนักร้อง 2 คนที่เกิดในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1960 และต้น 1980 คณะได้เปิดโทรศัพท์และอีเมลสายตรงเพื่อให้โอกาสคนอื่นแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดกับตน โดยผู้ดำเนินการเป็นมืออาชีพและผู้เชี่ยวชาญอิสระนอกโรงเรียน และได้มีอดีตนักร้องที่อาจเป็นผู้รับเคราะห์ 8 คนที่แจ้งว่าได้ถูกทารุณโดยเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่หรือสมาชิกเด็กคนอื่น ๆ[15] ซึ่งต่อมาคณะสรุปว่ามีผู้แจ้งเหตุรวมทั้งหมด 11 รายที่โดยมากแจ้งบ่นเรื่องระบบการศึกษาที่เข้มงวดเกินไป โดยมีแค่ 2-3 กรณีที่เป็นทารุณกรรมทางกายหรือทางเพศจริง ๆ

ในปีเดียวกัน โรงเรียนได้จัดตั้งคณะประสานเสียงประจำโรงเรียนที่รวมนักเรียนชายหญิงในระดับมัธยมทั้งหมด (นอกเหนือไปจากเด็กชายที่ยังอยู่ในคณะประสานเสียง) โดยตั้งชื่อว่า Chorus Juventus (จัดตั้งในปี พ.ศ. 2553) ซึ่งรวมเสียงชายหญิงทุกระดับ (จากโซปราโนจนถึงเบส) โดยฝึกร้องเพลงในห้องเรียน และต่างจากคณะประสานเสียงประจำโรงเรียนอื่น ๆ เพราะมีการฝึก 3 ครั้งต่ออาทิตย์ครั้งละ 2 ชม. มีงานคอนเสิร์ตที่แสดงแก่สาธารณชน และการแสดงเดี่ยว

รายชื่อผลงานบางส่วน

[แก้]

คริสต์มาส

[แก้]
  • Frohe Weihnachten (2015)
  • Wiener Sängerknaben Goes Christmas (2003)
  • Frohe Weihnacht (Merry Christmas) (1999)
  • Christmas in Vienna / Heiligste Nacht (1990)
  • Merry Christmas from the Vienna Choir Boys (1982)
  • Christmas with the Vienna Choir Boys (with Hermann Prey)
  • Christmas with the Vienna Boys' Choir, London Symphony Orchestra (1990)
  • Weihnacht mit den Wiener Sängerknaben (Hans Gillesberger 1980)
  • The Little Drummer Boy (TV 1968)
  • Die Wiener Sängerknaben und ihre Schönsten ... (1967)
  • Frohe Weihnacht (1960)
  • Christmas Angels (RCA Gold Seal)
  • Silent Night

ดนตรีป็อป

[แก้]
  • I Am from Austria (2006)
  • Wiener Sängerknaben Goes Pop (2002)

อื่น ๆ

[แก้]
  • คาร์ล ออร์ฟ - คาร์มินา บูรานา กับนักเปียโนชาวอเมริกัน-เยอรมัน André Previn และวงดุริยางค์ Vienna Philharmonic (1994)
  • Silk Road: Songs Along the Road and Time (เพลงประกอบภาพยนตร์) กับนักร้อง-ดารา Yulduz Usmanova และ Nursultan Saroy (2008)
  • VBC เป็นผู้ร้องเพลง "The Little Drummer Boy" ในรายการทีวีพิเศษที่มีชื่อเดียวกัน

ผู้ประพันธ์เพลงที่ร้อง

[แก้]

ผลงานย่อยอื่น ๆ

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. "Home > About Us > Choirs > Bruckner". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-19. สืบค้นเมื่อ 2016-11-25.
  2. "Home > About Us > Choirs > Haydn". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-22. สืบค้นเมื่อ 2016-11-25.
  3. "Home > About Us > Choirs > Mozart". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-24. สืบค้นเมื่อ 2016-11-25.
  4. "Home > About Us > Choirs: The Four Choir". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-01. สืบค้นเมื่อ 2016-11-25.
  5. "Home > Education". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-28. สืบค้นเมื่อ 2016-11-25.
  6. 6.0 6.1 6.2 "History from the Official web-site of the Choir". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-27. สืบค้นเมื่อ 2016-11-28.
  7. 7.0 7.1 7.2 "Notification of the election of new president" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-10-04. สืบค้นเมื่อ 2016-11-28.
  8. "Realgymnasium" (ภาษาเยอรมัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-15. สืบค้นเมื่อ 2016-11-25.
  9. "Schulen der Wiener Sängerknaben" [Schools of the Vienna Boys' Choir] (ภาษาเยอรมัน). Wiener Sängerknaben. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-12. สืบค้นเมื่อ 2016-11-25.
  10. Rooney, Irene (1991-03). "Inside the Vienna Boys Choir". WorldAndISchool.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-03-14. สืบค้นเมื่อ 2016-10-25. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  11. Loof, Susanna (2002-12-08). "Busy, intense life in the choir is a whole lot of fun, students say". The Register-Guard.
  12. Norris, Geoffrey (2009-02-11). "HK Gruber: a composer who refuses to be bound by rules". The Daily Telegraph. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-13. สืบค้นเมื่อ 2016-11-28.
  13. Chapman, Clare (2003-03-02). "The Vienna Boys' Choir seeks new recruits for the first time". The Daily Telegraph.
  14. Leidig, Michael (2004-07-04). "Chorus of disapproval as Vienna Boys' Choir dons 'Star Trek' suits". The Sunday Telegraph.
  15. Homola, Victor (2010-03-17). "Austria: Choir Faces Abuse Allegations". The New York Times.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]