กัมพูชาเชื้อสายจีน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน
งานแต่งงานของชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนในจังหวัดกัมปงธม
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
พนมเปญ, จังหวัดพระตะบอง, จังหวัดกันดาล, จังหวัดกัมปงจาม, จังหวัดกัมปงธม, จังหวัดเปรยแวง, จังหวัดเกาะกง และจังหวัดตาแก้ว
กัมพูชา ประเทศกัมพูชา
ภาษา
ภาษาเขมร, ภาษาแต้จิ๋ว, ภาษากวางตุ้ง, ภาษาฮกเกี้ยน, ภาษาแคะ, ภาษาไหหลำ และภาษาไทย
ศาสนา
ส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนา (นิกายมหายานและ/หรือนิกายเถรวาท) และลัทธิเต๋า[1]

ชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน (เขมร: ចិនកម្ពុជា) คือชาวจีนที่เกิดในประเทศกัมพูชา หรือเป็นเชื้อสายของผู้อพยพชาวจีน หรือ ชาวจีนโพ้นทะเล โดยอาจเป็นลูกผสมระหว่างชาวกัมพูชากับจีนที่อาศัยอยู่ภายในประเทศกัมพูชา ในช่วง ค.ศ. 1960-1970 มีชาวจีนอาศัยอยู่ในกัมพูชาประมาณ 425,000 คน แต่ภายหลังเหตุการณ์ของเขมรแดง ชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนจำนวนมากต่างอพยพออกนอกประเทศ ทำให้ประชากรชาวจีนในช่วงปี ค.ศ. 1984 มีจำนวนชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนเพียง 61,400 คน โดยชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ถือสัญชาติกัมพูชา

ประวัติ[แก้]

ยุคประวัติศาสตร์[แก้]

ในช่วงศตวรรษที่ 13 โจว ต้ากวน (จีน: 周达观) นักการทูตชาวจีนในสมัยนั้นได้เดินทางมาสู่ดินแดนอาณาจักรเจนฬา โดยได้ทำการบันทึกเกี่ยวกับวัฒนธรรมการดำรงชีวิตของกัมพูชาในสมัยนั้นจนทำให้ดินแดนนี้เป็นที่รู้จักของชาวจีนมาช้านาน จนกระทั่งในศตวรรษที่ 16 นักเดินเรือชาวโปรตุเกสได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับชาวจีนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตพนมเปญในปี ค.ศ. 1620 โดยผู้อพยพชาวจีนในสมัยนั้น ส่วนมากจะเป็นผู้ชายและได้แต่งงานกับสาวในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ชาวเขมร และชาวจาม และลูกหลานของพวกเขาเหล่านี้ก็ถูกหลอมรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยส่วนมากคนเชื้อสายจีนจะเป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ และอาศัยอยู่ร่วมกันกับชาวเขมรดั้งเดิมที่ทำเกษตรกรรม โดยผู้สืบเชื้อสายจีนที่เป็นชาย จะไว้ทรงผมที่เป็นเอกลักษณ์ของจีน โดยกลุ่มลูกหลานชาวจีนในกัมพูชาที่อพยพเข้ามาในช่วงราชวงศ์หมิงยังคงอัตลักษณ์ความเป็นจีนไว้ เช่น ทรงผม อาหารการกิน จนกระทั่งถึงบ้านเรือน จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 18[2]

ยุคเขมรแดง[แก้]

หลังปี ค.ศ. 1979 เนื่องจากเขมรแดงขึ้นมามีอำนาจในแผ่นดินกัมพูชาโดยมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับทางการจีน ดังนั้นนโยบายต่อคนจีนในประเทศจึงได้รับการผ่อนปรนบ้างระดับหนึ่ง แต่ในช่วงนี้ก็มีชาวจีนบางส่วนอพยพออกนอกประเทศเป็นจำนวนมากเนื่องจากเกรงกลัวระบอบคอมมิวนิสต์ ต่อมารัฐบาลเขมรแดงถูกโค่นอำนาจโดยกองกำลังของเวียดนาม และได้จัดตั้งรัฐบาลหุ่นเฮง สัมรินขึ้นมา ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองอย่างยืดเยื้อ แต่ภายหลังก็สามารถลงนามในข้อตกลงปารีสเพื่อแก้ปัญหากัมพูชา โดยเวียดนามได้ยอมถอนทหารออกจากกัมพูชาในปี ค.ศ. 1991 หลังจากนั้นก็ได้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ขึ้น

ปัจจุบัน[แก้]

หลังจากการเลือกตั้งครั้งแรกในปี ค.ศ. 1993 และ ค.ศ. 1998 ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและกัมพูชาก็กลับมาดีขึ้นตามลำดับซึ่งส่งผลดีต่อชาวจีนภายในประเทศด้วย โดยรัฐบาลเองก็เรียกร้องให้บรรดาชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนที่อพยพออกนอกประเทศกลับมาลงทุน ทำธุรกิจ หรือพำนักในประเทศได้[3][4]นอกจากรัฐบาลจะสนับสนุนในเรื่องธุรกิจแล้ว รัฐบาลยังสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมชาวจีน รวมไปถึงการเรียนการสอนภาษาจีนภายในประเทศด้วย

ปัจจุบันชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนส่วนใหญ่จะประกอบธุรกิจการค้า[5] โดยมีเกษตรกรส่วนน้อยที่ประกอบอาชีพปลูกสวนพริกไทย (กลุ่มชาวไหหลำ) แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนได้หันมาประกอบอาชีพอื่นมากขึ้น เช่น ร้านโชห่วย ร้านน้ำชา ร้านเหล้า ร้านขายผ้า ห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ร้านขายนาฬิกา ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านขายรถจักรยานยนต์ ร้านขายยา โรงงานแปรรูปไม้ ผับ บาร์ โรงงานสิ่งทอ โรงงานโลหะ โรงงานทอผ้า เป็นต้น

กลุ่มชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน[แก้]

เด็กชายชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน และลูกครึ่งเขมร-จีน ขณะชมการแห่มังกร ในกรุงพนมเปญ

ชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนมีอยู่ประมาณ 343,855 คน โดยส่วนมากเป็นเชื้อสายแต้จิ๋วประมาณ 60% รองลงมาได้แก่ กวางตุ้ง 20% ฮกเกี้ยน 7% ส่วนกลุ่มแคะ และไหหลำ มีรวมกันมีเพียง 4%

แต้จิ๋ว[แก้]

แต้จิ๋ว (潮州) เป็นกลุ่มที่มากที่สุดในบรรดาชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน โดยส่วนใหญ่บรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองเจียหยัง (กิกเอี๊ย), เฉาหยัง (เตี่ยเอี๊ย) และผู่หนิง (โผวเล้ง) โดยกลุ่มนี้จะเป็นผู้กุมอำนาจในด้านของการค้าสินค้าเกษตรกรรม พบได้ทั่วไปตามเมืองขนาดใหญ่ของกัมพูชา[6]

กวางตุ้ง[แก้]

กวางตุ้ง (廣東) เป็นกลุ่มที่อพยพมาพำนักอยู่ก่อนกลุ่มการอพยพของกลุ่มแต้จิ๋วในช่วงปี ค.ศ. 1930 ชาวกวางตุ้งส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง ชาวกวางตุ้งจะประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งคมนาคม และมีจำนวนไม่น้อยที่ทำงานเกี่ยวกับการก่อสร้าง โดยเฉพาะช่างไม้ ชาวกัมพูชาเรียกคนจีนกลุ่มนี้ว่า เจินคะตุง (Chen-Catung) มีชุมชนขนาดใหญ่ในจังหวัดกำปงจาม[6]

ไหหลำ[แก้]

ไหหลำ (海南) เป็นกลุ่มชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองกัมปอด จังหวัดกัมปอด โดยจะประกอบอาชีพทำสวนพริกไทยแต่ปัจจุบันส่วนใหญ่อพยพไปอยู่ในพนมเปญ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 กลุ่มชาวจีนไหหลำเป็นผู้กุมเศรษฐกิจเกี่ยวกับการโรงแรม และธุรกิจร้านอาหาร

แคะ[แก้]

แคะ (客家) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพนมเปญ และจังหวัดสตึงแตรง[6] โดยชาวแคะรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพเป็นทันตแพทย์ นอกนั้นยังประกอบอาชีพขายยาจีนแผนโบราณ และร้านโชห่วย

ฮกเกี้ยน[แก้]

ฮกเกี้ยน (福建) เป็นกลุ่มชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนที่สำคัญมากกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากมีบทบาทในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ รวมไปถึงการธนาคาร และชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนที่ร่ำรวยส่วนมากจะเป็นกลุ่มชาวฮกเกี้ยน มีศูนย์กลางอยู่ในจังหวัดกำปงธม มีบางส่วนในจังหวัดเสียมราฐ, พระตะบอง และกำปงชนัง[6]

การฟื้นฟูภาษาจีน[แก้]

กลุ่มสมาคมชาวจีน และการเรียนภาษาจีนในกัมพูชาได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว มีการจัดตั้งสมาคมจีนกัมพุชาขึ้นในปี ค.ศ. 1990 โดยมีสาขาต่างๆกระจายอยู่ทั่วประเทศ สมาคมชาวจีนสำเนียงต่างๆก็ได้รับการฟื้นฟู เช่น สมาคมจีนกวางตุ้ง, สมาคมจีนแคะ, สมาคมจีนแต้จิ๋ว ฯลฯ ดดยสมาคมเหล่านี้มีผลงานสำคัญในการเร่งฟื้นฟูภาษาจีน ปัจจุบันมีโรงเรียนจีนในกัมพุชาเกือบ 60 แห่ง มีนักเรียนกว่า 50,000 คน โดยในกรุงพนมเปญจะมีโรงเรียนจีนเอกชนมากที่สุด โดยโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดเป็นของกลุ่มแต้จิ๋วชื่อ ตวงฮั้ว มีนักเรียนประมาณ 4,500 คน ส่วนสมาคมจีนแคะก็มีไม่ต่ำกว่า 2,000 คน

นอกจากการตั้งโรงเรียนจีนแล้ว ทางการกัมพูชายังอนุมัติให้มีหนังสือพิมพ์ภาษาจีน 3 ฉบับ และยังมีหนังสือพิมพ์จีนที่ดำเนินการโดยชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนอีก 1 ฉบับ อีกทั้งยังมีหนังสือพิมพ์จีนจากไทยไปจำหน่าย เช่น หนังสือพิมพ์สากลรายวัน (The Universal Daily News) และหนังสือพิมพ์เอเชียนิวส์ไทม์ (Asia News Time)

ชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนที่มีชื่อเสียง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Brandon Toropov, Chad Hansen. The Complete Idiot's Guide to Taoism. Alpha Books. p. 121. ISBN 0028642627.
  2. Nyíri, Savelʹev (2002), p. 256
  3. "China-Cambodia: More than just friends?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-22. สืบค้นเมื่อ 2010-03-11.
  4. "华人在柬埔寨几度沉浮". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-04. สืบค้นเมื่อ 2010-03-11.
  5. "The rise and rise of a Cambodian capitalist". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-04. สืบค้นเมื่อ 2010-03-11.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Cambodia - The Chinese
  7. Gottesman (2004), p. 427
  8. Visit to Japan by Gen. Tea Banh, Deputy Prime Minister and Minister of National Defense of Cambodia
  9. "Election results" เก็บถาวร 2008-06-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Cambodia National Election Committee. Accessed June 18, 2008.
  10. "吴锐成主任出席柬埔寨中国港澳侨商总会十周年会庆". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-05. สืบค้นเมื่อ 2010-03-11.
  11. รุ่งมณี เมฆโสภณ. คนสองแผ่นดิน. กรุงเทพ : บ้านพระอาทิตย์, มีนาคม 2551
  • อดุลย์ รัตนมั่นเกษม. กำเนิดและวิวัฒนการของคนแต้จิ๋วอดีตถึงปัจจุบัน.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ขุนเขา. หน้า 138-139