กระดูกทราพีเซียม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระดูกทราพีเซียม
(Trapezium)
กระดูกทราพีเซียมจากข้อมือซ้าย
รายละเอียด
ข้อต่อด้านปลายกับกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 1
ด้านต้นกับกระดูกสแคฟฟอยด์
ด้านใกล้กลางกับกระดูกทราพีซอยด์
ด้านใกล้กลางกับกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 2
ตัวระบุ
ภาษาละตินos trapezium, os multangulum majus
MeSHD051222
TA98A02.4.08.008
TA21255
FMA23721
ศัพท์ทางกายวิภาคของกระดูก

กระดูกทราพีเซียม (อังกฤษ: Trapezium bone; Greater multangular bone) เป็นกระดูกข้อมือ (carpus) ในแถวปลาย อยู่ภายในข้อมือ

กระดูกทราพีเซียมมีลักษณะเด่นคือจะมีร่องลึกทางด้านฝ่ามือ กระดูกชิ้นนี้จะตั้งอยู่ที่ด้านเรเดียส (ด้านนิ้วหัวแม่มือ) ของข้อมือ ระหว่างกระดูกสแคฟฟอยด์ (scaphoid) และกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 1 (first metacarpal bone)

รากศัพท์ของชื่อกระดูกมาจากภาษากรีก trapezion ซึ่งหมายความตามตัวอักษรว่า รูปสี่เหลี่ยมไม่สม่ำเสมอ (irregular quadrilateral) หรือมาจาก trapeza หมายถึง โต๊ะ หรือมาจาก tra- แปลว่า สี่ และ peza แปลว่า เท้า หรือ ขอบ

พื้นผิว[แก้]

พื้นผิวด้านบน (superior surface) ชี้ขึ้นด้านบนและไปทางด้านใกล้กลาง ด้านใกล้กลางมีลักษณะเรียบและเกิดข้อต่อกับกระดูกสแคฟฟอยด์ ด้านข้างมีลักาณะขรุขระและต่อเนื่องกับพื้นผิวด้านข้าง

พื้นผิวด้านล่าง (inferior surface) มีรูปร่างวงรี เว้าทางด้านข้างแต่นูนจากหน้าไปหลัง ทำให้มีรูปร่างพื้นผิวข้อต่อเป็นรูปอานม้า เกิดเป็นข้อต่อกับกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 1

พื้นผิวด้านหลังมือ (dorsal surface) มีลักษณะขรุขระ

พื้นผิวด้านฝ่ามือ (palmar surface) มีลักษณะแคบและขรุขระ ส่วนบนของพื้นผิวนี้เป็นร่องลึก วิ่งจากด้านบนเฉียงลงมาด้านล่างและไปทางด้านใกล้กลาง เป็นทางผ่านของเอ็นจากกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ คาร์ไพ เรเดียลิส (Flexor carpi radialis muscle) ขอบด้านข้างของร่องนี้เป็นสันเฉียงซึ่งพื้นผิวนี้เป็นจุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนไหวของนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งได้แก่กล้ามเนื้อออพโพเนนส์ พอลิซิส (Opponens pollicis) , กล้ามเนื้อแอบดักเตอร์ พอลิซิส เบรวิส (Abductor pollicis brevis muscle) , และกล้ามเนื้อเฟลกเซอร์ พอลิซิส เบรวิส (Flexor pollicis brevis muscle) และยังให้เป็นจุดเกาะของเอ็นทรานสเวิร์สคาร์ปัล (transverse carpal ligament)

พื้นผิวด้านข้าง (lateral surface) กว้างและขรุขระ เป็นจุดเกาะของเอ็นต่างๆ

พื้นผิวด้านใกล้กลาง (medial surface) เป็นหน้าประกบ 2 หน้า หน้าด้านบนมีลักษณะเว้าและใหญ่ เกิดเป็นข้อต่อกับกระดูกทราพีซอยด์ (trapezoid) และหน้าประกบด้านล่างมีขนาดเล็ก เป็นรูปวงรี เกิดเป็นข้อต่อกับกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 2 (second metacarpal)

ปุ่มกระดูกของกระดูกทราพีเซียม[แก้]

ปุ่มกระดูกทราพีเซียม (tubercle of trapezium) บางครั้งอาจเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อแอบดักเตอร์ พอลิซิส เบรวิส (abductor pollicis brevis muscle)

ภาพอื่นๆ[แก้]