จฺวินจีชู่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กรมความลับทหาร)
สำนักงานของจฺวินจีชู่
สำนักงานของจฺวินจีชู่ เป็นอาคารอันไม่โดดเด่น อยู่ใกล้เขตพระราชฐานในพระราชวังต้องห้าม
ภาพมุมกว้าง

จฺวินจีชู่ (จีนตัวย่อ: 军机处; จีนตัวเต็ม: 軍機處; พินอิน: Jūnjīchù; "สภาความลับทหาร"; อังกฤษ: Grand Council) เป็นองค์กรสำคัญในการกำหนดนโยบายการปกครองแผ่นดินของประเทศจีนสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งจักรพรรดิยงเจิ้ง (雍正帝) ทรงจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1733 เดิมมีอำนาจหน้าที่ทางทหารเท่านั้น แต่ภายหลังขยายขอบข่ายภารกิจมากขึ้น จนมีอำนาจหน้าที่เทียบเท่าสภาองคมนตรีในโลกตะวันตก ถึงขนาดมีบทบาทและความสำคัญยิ่งกว่าเน่ย์เก๋อ (內閣; "ศาลาใน") ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในระบบราชการจีน

แม้มีบทบาทสำคัญในราชการ แต่สถานะของจฺวินจีชู่ในการเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายนั้นกลับไม่เป็นทางการ ทั้งสมาชิกของจฺวินจีชู่ก็ควบตำแหน่งอย่างอื่นในราชสำนักด้วย เดิมทีสมาชิกส่วนใหญ่ของจฺวินจีชู่เป็นชาวแมนจู แต่ภายหลังก็ได้ชาวฮั่นเข้ามาร่วมมากขึ้นตามลำดับ หนึ่งในสมาชิกชาวฮั่นกลุ่มแรก คือ จาง ถิงอฺวี้ (張廷玉)

จฺวินจีชู่มีสำนักงานอยู่ ณ อาคารเล็ก ๆ ทางด้านตะวันตกของประตูสู่พระที่นั่งเฉียนชิง (乾清宫) ในพระราชวังต้องห้าม

องค์ประกอบ[แก้]

จำนวนสมาชิกของจฺวินจีชู่นั้นต่างกันไปในแต่ละยุค บางครั้งมีสาม บางครั้งมีสิบ แต่ปรกติแล้วมีห้า เป็นชาวแมนจูสอง ชาวฮั่นสอง และมีองค์ชายที่ดำรงฐานะเหอชั่วชินหวัง (和碩親王) อีกหนึ่งพระองค์เป็นประธาน ซึ่งในวงราชการเรียก "หลิ่งปานจฺวินจีต้าเฉิน" (領班軍機大臣; "แม่กองมหาอำมาตย์ความลับทหาร") แต่มิใช่คำเรียกอย่างเป็นทางการ

ประวัติ[แก้]

อี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้[แก้]

ในช่วงแรกของราชวงศ์ชิง อำนาจทางการเมืองนั้นอยู่ในเงื้อมมือของอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ (議政王大臣會議; "ที่ประชุมมหาอำมาตย์และราชวงศ์เพื่อทรงหารือราชกิจ") อันจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1637 ประกอบด้วย องค์ชายแปดพระองค์ซึ่งควบตำแหน่งที่ปรึกษาในพระมหากษัตริย์ และข้าราชการชาวแมนจูอีกจำนวนหนึ่ง มีหน้าที่ลงมติเกี่ยวกับนโยบายสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน มติของที่ประชุมมีอำนาจเหนือกว่ามติของเน่ย์เก๋อ หรือแม้แต่ของคณะเสนาบดี นอกจากนี้ จักรพรรดิหนูเอ่อร์ฮาชื่อ (努爾哈赤) ยังทรงบัญญัติให้ที่ประชุมมีอำนาจถอดถอนพระมหากษัตริย์ด้วย ครั้น ค.ศ. 1643 จักรพรรดิซุ่นจื้อ (順治帝) ทรงให้เพิ่มเจ้าหน้าที่ชาวฮั่นเข้าไปในที่ประชุม และขยายอำนาจของที่ประชุมให้ครอบคลุมกิจการสำคัญทั้งปวงของจักรวรรดิ แต่เมื่อมีการจัดตั้งหนานชูฝางและจฺวินจีชู่ขึ้น บทบาทของที่ประชุมก็ลดลงเรื่อย ๆ จนยุบทิ้งไปใน ค.ศ. 1717

หนานชูฝาง[แก้]

หนานชูฝาง (南書房; "หอสมุดใต้") เป็นองค์กรกำหนดนโยบายสูงสุด จักรพรรดิคังซี (康熙帝) ทรงจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1677 และยุบเลิกไปใน ค.ศ. 1898 รัชกาลจักรพรรดิกวังซฺวี่ (光绪帝)

องค์กรนี้จัดตั้งขึ้นที่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของพระที่นั่งเฉียนชิง จึงมีคำว่า "ใต้" อยู่ในนาม บุคลากรขององค์กรเป็นบัณฑิตจากสำนักฮั่นหลิน (翰林院; "สำนักป่าพู่กัน") ซึ่งคัดเลือกโดยพิจารณาผลงานด้านอักษรศาสตร์เป็นหลัก พระมหากษัตริย์จะได้ทรงสะดวกในการปรึกษาและอภิปราย ผู้ใดได้รับเลือกเข้าองค์กรนี้ ก็มักเรียกว่า ได้ "เหยีบย่างหอสมุดใต้" (南書房行走) และโดยที่มีบทบาทได้รับใช้ใกล้ชิดยุคลบาท สมาชิกขององค์กรนี้จึงมีอิทธิพลสูงยิ่งต่อองค์พระมหากษัตริย์ แต่เมื่อจัดตั้งจฺวินจีชู่ขึ้นแล้ว องค์กรนี้ก็สูญสิ้นอำนาจหน้าที่ในการถวายคำปรึกษาไป แต่ยังคงเป็นองค์กรสำคัญในราชการอยู่

จฺวินจีชู่[แก้]

จักรพรรดิยงเจิ้ง (ครองราชย์ ค.ศ. 1722–1735) ผู้ทรงก่อตั้งจฺวินจีชู่

ใน ค.ศ. 1729 จักรพรรดิยงเจิ้งทรงเปิดศึกกับรัฐข่านจฺวิ่นก๋าเอ่อร์ (准噶尔汗国; Dzungar Khanate) และเกิดความวิตกกังวลกันว่า การที่เน่ย์เก๋อมีสำนักงานอยู่นอกประตูไท่เหอ (太和門; "ประตูมหาสันติ") จะทำให้ความลับทหารไม่ปลอดภัย จักรพรรดิยงเจิ้งจึงทรงจัดตั้งจฺวินจีชู่ขึ้น ณ ราชสำนักชั้นใน และทรงเลือกสมาชิกคณะเสนาบดีที่ทรงไว้วางพระทัยไปควบตำแหน่งในหน่วยงานใหม่นี้[1]

เมื่อทรงพิชิตรัฐข่านได้แล้ว จักรพรรดิยงเจิ้งทรงเห็นว่า หน่วยงานที่ทรงตั้งขึ้นใหม่นี้ช่วยลดความไร้ประสิทธิภาพในวงราชการได้ ดังนั้น ใน ค.ศ. 1732 จฺวินจีชู่จึงกลายสถานะจากหน่วยงานชั่วคราวเป็นสถาบันชั้นสูงในราชการ ภายหลังก็ค่อย ๆ กลืนอำนาจของอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ และหนานชูฝาง จนที่สุดก็กลายเป็นองค์กรกำหนดนโยบายหลักของจักรวรรดิ

การจัดตั้งซ้ำ[แก้]

เมื่อสิ้นรัชสมัยจักรพรรดิยงเจิ้งใน ค.ศ. 1735 แล้ว จฺวินจีชู่ก็เป็นอันสิ้นสุดลง แต่ก่อนจะสิ้นพระชนม์ จักรพรรดิยงเจิ้งได้ทรงตั้งองค์กรชั่วคราว เรียก "จ๋งหลี่ชื่ออู้ชู่" (總理事務處; "กรมกิจการนายก") ไว้ถวายความช่วยเหลือพระโอรสซึ่งจะขึ้นสืบราชย์ต่อมาเป็นจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆帝)[2] ไม่ช้าองค์กรนี้ก็มีบทบาททับซ้อนกับหน่วยงานหลายหน่วย จนมีขอบข่ายอำนาจกว้างขวาง[3] ที่สุดใน ค.ศ. 1738 จักรพรรดิเฉียนหลงจึงทรงยุบองค์กรดังกล่าวทิ้ง และจัดตั้งจฺวินจีชู่ขึ้นใหม่[4]

จฺวินจีชู่มีหน้าที่หลายประการในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง บางอย่างก็เป็นหน้าที่ธุรการ เช่น ติดตามหนังสือเวียน[5] ตลอดจนจัดกิจกรรม อย่างมหรสพในวัง และการประพาส[6] หน้าที่อย่างอื่นที่เกี่ยวกับการบริหารรัฐกิจก็มี เช่น ร่างราชโองการ[7] และถวายความเห็นเรื่องนโยบายและปัญหาอื่น[8] ความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ราชสำนักชั้นใน และความลับทางราชการ รวมถึงสถานะที่ไม่เป็นทางการ ทำให้จฺวินจีชู่มีบทบาทเป็นหน่วยงานกลางในการปกครองแผ่นดิน ทั้งไม่อยู่ในความควบคุมของหน่วยงานราชสำนักชั้นนอกด้วย[9]

หลังรัชสมัยเฉียนหลง[แก้]

ใน ค.ศ. 1796 จักรพรรดิเฉียนหลงทรงสละพระราชสมบัติให้พระโอรสเสวยราชย์สืบมาเป็นจักรพรรดิเจียชิ่ง (嘉慶帝) ครั้น ค.ศ. 1799 จักรพรรดิเฉียนหลงสิ้นพระชนม์ จักรพรรดิเจียชิ่งทรงปฏิรูปจฺวินจีชู่หลายประการ รวมถึงลดจำนวนสมาชิกของจฺวินจีชู่ และขับเหอเชิน (和珅) ขุนนางคนโปรดของจักรพรรดิเฉียนหลงซึ่งเข้าอยู่ในจฺวินจีชู่มาตั้งแต่ ค.ศ. 1776 ออกจากตำแหน่ง[10] จักรพรรดิเจียชิ่งยังทรงกำหนดโทษทางปกครองไว้สำหรับสมาชิกของจฺวินจีชู่[11] และทรงกำหนดให้การแต่งตั้งเสมียนของจฺวินจีชู่ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมขุนนาง[12]

สมัยพระพันปีฉือสี่[แก้]

องค์ชายอี้ซิน (奕訢) ประธานจฺวินจีชู่ในสมัยพระพันปีฉือสี่

ครั้นพระพันปีฉืออัน (慈安太后) และพระพันปีฉือสี่ (慈禧太后) เข้าดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิถงจื้อ (同治帝) ร่วมกันใน ค.ศ. 1856 จฺวินจีชู่รับหน้าที่ลงมติทางการเมืองหลายประการ เหตุผลสำคัญประการหนึ่งเพราะพระนางทั้งสองยังทรงไม่จัดเจนราชการนัก ครั้น ค.ศ. 1861 มีราชโองการวางรายละเอียดในการดำเนินงานเกี่ยวกับหนังสือราชการ โดยกำหนดให้หลายเรื่องเป็นไปตามมติของจฺวินจีชู่ ราชโองการนี้ระบุให้ส่งหนังสือราชการไปยังพระพันปีทั้งสองก่อน แล้วพระพันปีทั้งสองจะทรงส่งคืนไปยังองค์ชายอี้ซิน (奕訢) ผู้ดำรงฐานันดรศักดิ์กงชินหวัง (恭親王) และเป็นประธานจฺวินจีชู่[13] จากนั้น จฺวินจีชู่จะประชุมปรึกษา แล้วขอพระวินิจฉัยจากพระพันปีทั้งสอง ก่อนจะร่างมติตามนั้น แล้วส่งร่างให้พระพันปีทั้งสองทรงอนุมัติอีกชั้นหนึ่ง[14] กระบวนการดังกล่าวทำให้แม่ทัพเจิง กั๋วฟาน (曾國藩) กล่าวหลังเข้าเฝ้าใน ค.ศ. 1869 ว่า "ราชการแผ่นดินทั้งสิ้นทั้งปวงตกเป็นสิทธิ์ขาดของสมาชิกจฺวินจีชู่...ผู้ซึ่งมีอำนาจยิ่งกว่าราชครู" ("the state of affairs hinged entirely on the Grand Councillors....whose power surpassed that of the imperial master.")[15] ขั้นตอนดำเนินงานเช่นนี้ยังมีสืบมาจนถึงช่วงที่พระพันปีฉือสี่สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิกวังซฺวี่

ภายหลังจากที่จักรพรรดิกวังซฺวี่ทรงว่าราชการด้วยพระองค์เองแล้ว ทั้งจักรพรรดิเองและจฺวินจีชู่ก็ยังขอพระวินิจฉัยจากพระพันปีฉือสี่ต่อไป หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญ คือ ใน ค.ศ. 1894 เมื่อเกิดสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งแรก จฺวินจีชู่ส่งสำเนาฎีกาไปถวายทั้งองค์จักรพรรดิและพระพันปี[16] ขั้นตอนเช่นนี้ปฏิบัติต่อมาจนถึง ค.ศ. 1898 เมื่อพระพันปีฉือสี่ทรงยึดอำนาจจากจักรพรรดิกวังซฺวี่

การยุบเลิก[แก้]

เมื่อพระพันปีฉือสี่และจักรพรรดิกวังซฺวี่สิ้นพระชนม์ในเวลาไล่เลี่ยกันใน ค.ศ. 1908 องค์ชายผู่อี๋ (溥儀) สืบสันตติวงศ์ต่อมาเป็นจักรพรรดิเซฺวียนถ่ง (宣统帝) โดยมีพระบิดา คือ องค์ชายไจ้เฟิง (載灃) ซึ่งทรงดำรงฐานันดรศักดิ์ฉุนชินหวัง (醇親王) สำเร็จราชการแทน ครั้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1911 องค์ชายไจ้เฟิงทรงยุบเลิกจฺวินจีชู่ และจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (内阁) ขึ้นแทน เพื่อปฏิรูปประเทศ ทว่า ความพยายามนี้สายเกินไป จักรวรรดิชิงล่มสลายลงใน ค.ศ. 1912

สมาชิกที่มีชื่อเสียงของจฺวินจีชู่[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. 梁章鉅《枢垣纪略》卷廿七
  2. Bartlett, Beatrice Monarchs and Ministers: The Grand Council in Mid-Ch'ing China, 1723–1820 (University of California Press, 1990) pg. 139 http://publishing.cdlib.org/ucpressebooks/view?docId=ft287004wt&brand=ucpress
  3. Bartlett, pg. 142
  4. Bartlett, pgs. 166 & 167
  5. Bartlett, pgs. 191-192
  6. Bartlett, pg. 195
  7. Bartlett, pg. 193
  8. Bartlett, pg. 194
  9. Bartlett, pg. 170
  10. Bartlett, pgs. 242-243
  11. Bartlett, pg. 243-244
  12. Bartlett, pg. 247
  13. Kwong, Luke S.K. A Mosaic of the Hundred Days: Personalities, Politics and Ideas of 1898 (Harvard University Press, 1984) pg. 21
  14. Kwong, pg. 21
  15. Kwong, pgs. 36 & 37
  16. Kwong, pgs. 27 & 28

บรรณานุกรม[แก้]