กฎหมายอวกาศ
กฎหมายอวกาศ (อังกฤษ: space law) เป็นของเขตของกฎหมายซึ่งครอบคลุมกฎหมายประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมในอวกาศ นักกฎหมายระหว่างประเทศยังไม่สามารถตกลงเพื่อกำหนดคำจำกัดความของ "อวกาศ" ได้ ถึงแม้ว่านักกฎหมายส่วนใหญ่จะเห็นด้วยว่าอวกาศโดยทั่วไปเริ่มต้นจากความสูงที่ต่ำที่สุดที่วัตถุสามารถโคจรรอบโลกได้ คือ ประมาณ 100 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเล
การก่อตั้งขอบเขตของกฎหมายอวกาศเริ่มขึ้นเมื่อมีการส่งดาวเทียมดวงแรกของโลก สปุตนิก โดยสหภาพโซเวียตในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1957 ดาวเทียมที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศนั้นเป็นส่วนหนึ่งของปีธรณีฟิสิกส์สากล นับตั้งแต่นั้น กฎหมายอวกาศได้มีการพัฒนาและมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อมนุษยชาติมีการใช้และพึ่งพาทรัพยากรในอวกาศเพิ่มมากขึ้น
ประวัติ
[แก้]ผลงานที่เก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับกฎหมายอวกาศ คือ Das Weltraum-Recht: Ein Problem der Raumfahrt (แปล: "กฎหมายอวกาศ: ปัญหาการเดินทางในอวกาศ") ของ Vladimír Mandl นักนิติศาสตร์ชาวเช็กเกีย เขียนเป็นภาษาเยอรมันและตีพิมพ์ในปี 1932 ซึ่งเป็นเวลา 35 ปีก่อนที่ดาวเทียมสปุตนิก 1 จะขึ้นสู่อวกาศ[1]
เริ่มต้นแต่ ค.ศ. 1957 ชาติต่าง ๆ ได้เริ่มปรึกษากันถึงระบบที่จะรับประกันการใช้อวกาศอย่างสันติ[2][3] การเจรจาสองฝ่ายระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1958 ส่งผลให้มีการนำเสนอประเด็นดังกล่าวต่อสหประชาชาติเพื่อทำการอภิปราย[2][4][5] ในปี ค.ศ. 1959 สหประชาชาติได้ก่อตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการใช้อวกาศในทางสันติ (COPUOS)[6] ซึ่งสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็นสองคณะกรรมการย่อย คือ คณะกรรมการย่อยด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค กับด้านกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการย่อยด้านกฎหมายของ COPUOS นี้เป็นที่พูดคุยหลักสำหรับการอภิปรายและการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ
สนธิสัญญาระหว่างประเทศ
[แก้]ปัจจุบัน มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศ 5 ฉบับ โดย COPUOS
- สนธิสัญญาว่าด้วยหลักการเกี่ยวกับกิจกรรมของรัฐในการสำรวจและใช้ประโยชน์จากอวกาศ รวมทั้งดวงจันทร์และเทห์ฟากฟ้าอื่น ในปี ค.ศ. 1967
- ข้อตกลงว่าด้วยการช่วยเหลือนักบินอวกาศ การส่งกลับนักบินอวกาศและวัตถุอวกาศที่ถูกส่งเข้าสู่อวกาศ ในปี ค.ศ. 1968
- อนุสัญญาความรับผิดระหว่างประเทศต่อความเสียหายเนื่องจากวัตถุอวกาศ ในปี ค.ศ. 1972
- อนุสัญญาจดทะเบียนวัตถุที่ส่งเข้าสู่อวกาศ ในปี ค.ศ. 1975
- ความตกลงว่าด้วยกิจกรรมของรัฐบนดวงจันทร์และเทห์ฟากฟ้าอื่น ในปี ค.ศ. 1979
สนธิสัญญาอวกาศเป็นสนธิสัญญาที่ได้รับการบังคับใช้อย่างกว้างขวางที่สุด โดยมีสมาชิกถึง 98 ประเทศ ข้อตกลงช่วยเหลือ อนุสัญญาความรับผิด และอนุสัญญาจดทะเบียน เป็นการอธิบายเพิ่มเติมจากข้อกฎหมายของสนธิสัญญาอวกาศ ผู้แทนสหประชาชาติมีเจตนาอย่างชัดเจนให้สนธิสัญญาจันทราถูกใช้เป็นสนธิสัญญญาที่ครอบคลุมฉบับใหม่ซึ่งสามารถเข้าแทนที่หรือเสริมสนธิสัญญาอวกาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดยการอธิบายเพิ่มเติมจากข้อกฎหมายของสนธิสัญญาอวกาศว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรและการห้ามอ้างสิทธิ์ของรัฐเหนืออวกาศ สนธิสัญญาจันทรามีสมาชิกเพียง 12 ประเทศ และหลายฝ่ายเห็นว่าเป็นสนธิสัญญาที่ล้มเหลวเนื่องจากได้รับการยอมรับในวงจำกัด อินเดียเป็นเพียงประเทศเดียวที่ทั้งลงนามในสนธิสัญญาจันทราและประกาศว่าตนมีความสนใจที่จะไปดวงจันทร์ อินเดียยังมิได้ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาดังกล่าว จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์สนธิสัญญาเพื่อทำความเข้าใจว่าจะส่งผลต่อกฎหมายของอินเดียอย่างไร
นอกเหนือจากนี้ สนธิสัญญาห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในชั้นบรรยากาศ ในอวกาศ และใต้น้ำ ("สนธิสัญญาห้ามการทดลองนิวเคลียร์บางส่วน") ค.ศ. 1963 ยังห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในอวกาศด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Kopal, V. The Life and Work of Professor Vladimir Mandl – A Pioneer of Space Law. New Perspectives of Space Law - Proceedings of the 53rd IISL Colloquium on The Law of Outer Space. Paris: International Institute of Space Law, 2011, available online at http://www.iislweb.org/docs/NewPerspectivesonSpaceLaw.pdf เก็บถาวร 21 เมษายน 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน German text of Vladmír Mandl's book is available online at https://www.law.csuohio.edu/sites/default/files/lawlibrary/mandldasweltraum-recht.pdf เก็บถาวร 21 เมษายน 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน English translation is available online at https://ntrs.nasa.gov/api/citations/19850008388/downloads/19850008388.pdf เก็บถาวร 21 เมษายน 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 2.0 2.1 Hans-Joachim Heintze (3–5 มีนาคม 1999). Peaceful Uses of Outer Space and International Law. Space Use and Ethics. inesap.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 มีนาคม 2008.
- ↑ "Resolutions adopted on the reports of the first committee 1148 (XII)" (PDF). UN General Assembly Twelfth Session. pp. 3–4. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-06-24. สืบค้นเมื่อ 2023-06-24.
- ↑ N.Singh; E. WcWhinney. Nuclear Weapons and Contemporary International Law. p. 289.
- ↑ "Resolutions adopted on the reports of the first committee 1348 (XIII)" (PDF). UN General Assembly Thirteenth Session. pp. 5–6. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-06-24. สืบค้นเมื่อ 2023-06-24.
- ↑ "United Nations Committee on the Peaceful Uses of Outer Space". United Nations Office for Outer Space Affairs.