สมัยละแวก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อาณาจักรเขมรละแวก)
แผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณปี พ.ศ. 2083: สีเขียวอ่อน: ละแวก สีม่วงน้ำเงิน: อยุธยา สีชมพู: ล้านช้าง สีน้ำเงิน: ล้านนา สีม่วง:ไดเวียต สีชมพู:จามปา
แผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณปี พ.ศ. 2083:
สีเขียวอ่อน: ละแวก
สีม่วงน้ำเงิน: อยุธยา
สีชมพู: ล้านช้าง
สีน้ำเงิน: ล้านนา
สีม่วง:ไดเวียต
สีชมพู:จามปา

สมัยละแวก มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ เมืองละแวก (เขมร: លង្វែក,อังกฤษ: Lovek) ปัจจุบัน คือ อำเภอกำปงตระลาจ จังหวัดกำปงชนัง โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2096 ถึง พ.ศ. 2136 ตรงกับช่วงประมาณสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง เป็นยุคสมัยที่อาณาจักรเขมรรุ่งเรืองขึ้นเป็นครั้งแรกหลักจากประสบกับความเสื่อมโทรมมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสองร้อยกว่าปี โดยเขมรในสมัยนี้มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกับสเปน (ผิดกับชาติเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่นพม่า ไทย เวียดนาม มลายู ซึ่งติดต่อกับโปรตุเกสเป็นส่วนใหญ่) ประกอบกับการที่อาณาจักรอยุธยากำลังอ่อนแอด้วยการรุกรานของพม่า ทำให้เขมรยกทัพเข้ากวาดต้อนชาวบ้านตามหัวเมืองต่าง ๆ ทางภาคตะวันออกของอาณาจักรอยุธยา จึงทำให้สามารถขึ้นมาเป็นฝ่ายรุกได้ แต่ก็เป็นช่วงเวลาอันสั้นเท่านั้น เพราะกรุงละแวกได้ถูกเผาทำลายลงด้วยกองทัพของทัพสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทำให้พระยาละแวกต้องหลบหนีออกจากเมืองไปหลบซ่อนอยู่ที่เมืองสตรึงแตรง ทำให้เขมรเข้าสู่กลียุคอีกครั้งและตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรอยุธยายาวนานสี่ร้อยกว่าปี

พระศรีสุคนธบท กษัตริย์เขมรเมืองปาสาณได้ถูกเสนาบดีชื่อว่า เจ้ากอง ทำการปฏิวัติล้มราชบัลลังก์และทรงถูกสำเร็จโทษ พระยาจันทราชาพระอนุชาต่างพระราชมารดาเสด็จลี้ภัยไปยังกรุงศรีอยุธยา ต่อมาถึงกลับเข้ามาเขมรอีกครั้งพร้อมกับกองทัพอยุธยาเพื่อทำสงครามทวงราชบัลลังก์คืนจากเจ้ากอง โดยเจ้ากองสิ้นพระชนม์ในการรบกับพระยาจันทราชาใน พ.ศ. 2069 โดยเมื่อหมดเสี้ยนหนามแล้ว พระยาจันทราชาได้ประกอบพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็น พระบรมราชาที่ 2 (พญาจันทน์) สมเด็จพระบรมราชาฯ ก็โปรดฯ ให้สร้างราชธานีแห่งใหม่ ชื่อว่า เมืองละแวก หรือ ลงแวก

เมืองละแวกเมื่อแรกสร้างนั้นเป็นค่าย สมเด็จพระบรมราชาฯ โปรดฯ ให้หล่อพระพุทธรูปอัฐรัศขึ้นสี่องค์ แต่ละองค์หันหน้าสี่ทิศประดิษฐานอยู่ในพระวิหารจตุรมุขมหาปราสาท หรือวัดตรอแลงแกงอันเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองละแวก

ความรุ่งเรืองของกัมพูชาในยุคกรุงละแวก[แก้]

แผนที่กรุงละแวกโดยชาวดัตช์

ใน พ.ศ. 2083 พงศาวดารเขมรกล่าวว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงนำทัพเข้ามารุกรานเมืองกัมพูชาด้วยพระองค์เอง แต่สมเด็จพระบรมราชาฯ ก็สามารถต้านทานและเอาชนะกองทัพอยุธยาได้และจับได้เชลยเป็นจำนวนมาก สมเด็จพระไชยราชาฯทรงต้องเสด็จหนีกลับไป ใน พ.ศ. 2096 สมเด็จพระบรมราชาฯ ได้ทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษกใหม่ที่กรุงละแวก เป็น พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีฯ ใน พ.ศ. 2098 เจ้าพระยาโอง หรือ พระสิทธนราช พระโอรสในพระศรีราชาที่ถูกทัพอยุธยาจับกลับไปนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงชุบเลี้ยงไว้และให้เป็นเจ้าเมืองสวรรคโลก[1] และทรงส่งเจ้าพระยาโองมาตีนครกัมพูชาเพื่อทวงสิทธิ์ในราชบัลลังก์ สมเด็จพระบรมราชาฯ ทรงนำทัพออกไปพร้อมกับพระรามาธิบดีมหาอุปราชพระราชโอรสออกไปรบกับเจ้าพระยาโอง เจ้าพระยาโองสิ้นพระชนม์ในที่รบ สมเด็จพระบรมราชาฯ โปรดฯ ให้นำพระศพเจ้าพระยาโองมาจัดพิธีอย่างสมพระเกียรติ และออกนามเจ้าพระยาโองว่า สมเด็จพระเรียม

สมเด็จพระบรมราชาฯ สวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2109 พระมหาอุปราชรามาธิบดีก็สิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้า พระโอรสองค์เล็กคือพระปรมินทร์ราชาจึงขึ้นครองราชสมบัติต่อเป็น สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 มีพระโอรสกับพระมเหสีคือ นักพระสัตถา และมีพระโอรสกับพระสนมคือ พระศรีสุพรรณมาธิราช และกับพระสนมอีกนางหนึ่ง คือ เจ้าพญาอน ปีเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2112 สมเด็จพระบรมราชาฯ อาศัยจังหวะที่อยุธยาอ่อนแอยกทัพบุกมาล้อมกรุงศรีฯ ไว้แต่ถูกสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชขับกลับมา เมื่อ พ.ศ. 2119 สมเด็จพระบรมราชาฯ ก็ทรงย้ายไปประทับที่เมืองกัมปงกระสัง เพื่อทรงบัญชาการการเข้าตีเมืองนครราชสีมาของอยุธยาโดยสำเร็จ จับเชลยกลับมาได้เป็นจำนวนมาก ในปีเดียวกันนั้นเองตามพงศาวดารเขมร เจ้ามหาอุปราชแห่งล้านช้าง (ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า) ได้ส่งช้างมาท้าดวลกับช้างทรงของสมเด็จพระบรมราชาฯ หากเมืองไหนแพ้ต้องเป็นเมืองขึ้นของอีกฝ่าย ปรากฏว่าช้างของฝ่ายกัมพูชาชนะ สมเด็จพระบรมราชาฯ จึงทรงกันไพร่พลลาวที่ติดตามมากับช้างไว้ ปล่อยแต่ช้างกลับไป พระมหาอุปราชพิโรธเป็นอย่างมากที่ทรงเสียทีแก่สมเด็จพระบรมราชาฯ จึงทรงนำทัพเรือลาวมาด้วยพระองค์เองลงมาเพื่อบุกเมืองกัมพูชา กษัตริย์สองประเทศกระทำยุทธการกันที่เกาะเจ้าราม สมเด็จพระบรมราชาฯ ทรงชนะ ทัพทางบกเขมรก็เอาชนะลาวได้ และจับเชลยได้เป็นจำนวนมาก ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 ได้มีชาวตะวันตกเข้ามาติดต่อเป็นครั้งแรก เป็นชาวสเปนชื่อ กาสปาร์ด เดอ ครุซ (Gaspard de Cruz) [2] นับแต่นั้นมาอาณาจักรละแวกก็มีความสัมพันธ์อีกดีต่อสเปน

สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 สวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2119 นักพระสัตถาขึ้นครองราชสมบัติต่อ เป็น สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (นักพระสัตถา) มีพระโอรสกับพระมเหสีคือ สมเด็จพระไชยเชษฐา มหาอุปราช และพญาตน ใน พ.ศ. 2127 สมเด็จพระบรมราชาฯ โปรดให้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกให้แก่พระราชบุตรทั้งสอง คือ สมเด็จพระไชยเชษฐา เป็น สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช และพญาตน เป็น พระบรมราชาที่ 5 เท่ากับในขณะนั้นเมืองกัมพูชามีกษัตริย์สามองค์ในเวลาเดียวกัน ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 นี่เอง ที่นักผจญภัยชาวสเปนชื่อ บลาสรุยซ์ (Blas Ruiz de Hernán Gonzáles) และเบลูซู (Diego Veloso) ชาวโปรตุเกส ได้เข้ามารับใช้สนองพระบาท สมเด็จพระบรมราชาฯ ทรงรับเป็นพระโอรสบุญธรรม และทรงจ้างทหารองค์รักษ์เป็นชาวสเปนและโปรตุเกสเสียสิ้น

เหตุการณ์เสียกรุงละแวก[แก้]

อาณาจักรอยุธยาในปี พ.ศ. 2148 ภายหลังการทัพของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ใน พ.ศ. 2136 สมเด็จพระนเรศวร ทรงกรีฑาทัพสยามเข้ามาบุกเมืองกัมพูชา ทรงเข้ายึดเมืองต่าง ๆ ได้ สมเด็จพระบรมราชาฯ พระสัตถามีพระราชโองการให้อย่านำทัพเข้าขัดขวางทัพสยาม แต่ให้อพยพคนหลีบหนีออกจากเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวร และมีพระราชสาสน์ถึงวิศรอยสเปนประจำเมืองมะนิลาเพื่อขอทัพฝรั่งมาช่วยต้านทัพสยาม ฝ่ายเมืองมะนิลาเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่อาจจะได้กัมพูชาเป็นเมืองขึ้นจึงส่งทัพ 120 นายมาป้องกันกรุงละแวก แต่ไม่ทันสมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพมาถึงเมืองละแวกก่อน สมเด็จพระสัตถาประทับช้างทรงออกมานอกเมืองพบกับพระนเรศวรหมายจะกระทำยุทธหัตถี แต่ช้างทรงของสมเด็จพระสัตถากลับคร้ามกลัวช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรและวิ่งเตลิดหนีไป[3] สมเด็จพระสัตถาทรงเสียท่าดังนั้นแล้วจึงพาพระโอรสกษัตริย์ทั้งสองและพระมเหสีหนีไปเมืองศรีสุนทร สมเด็จพระนเรศวรทรงเข้าบุกเผาทำลายเมืองละแวกจนย่อยยับ แล้วใน พ.ศ. 2137 กษัตริย์ทั้งสามและพระมเหสีทรงพากันเสด็จหนีไปเมืองสตึงแตรงของล้านช้าง สมเด็จพระสัตถาและสมเด็จพระไชยเชษฐาฯ พระราชบุตรประชวรสิ้นพระชนม์ที่เมืองสตึงแตรง ฝ่ายทางเมืองกัมพูชาเมื่อไม่มีกษัตริย์คอยดูแล อำนาจจึงตกแก่เชื้อพระวงศ์ชั้นผู้น้อยแต่เป็นขุนนางตำแหน่งสูงชื่อ พระบาทรามเชิงไพร เป็นผู้นำฝ่ายเขมรที่ต่อต้านการยึดครองของสยาม มีฐานที่มั่นที่เมืองศรีสุนทร ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรโปรดให้เลิกทัพกลับไป พร้อมกับกวาดต้อนชาวเขมรกลับไปเป็นจำนวนมาก โดยนำพระศรีสุริโยพรรณพระอนุชาของสมเด็จพระบรมราชาฯ พระสัตถากลับไปด้วย และยังทรงแต่งตั้งพระเอกกษัตรี พระธิดาของพระศรีสุริโยพรรณเป็นพระมเหสี

สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้พระมหามนตรีคุมสถานการณ์ในเขมรไว้ที่เมืองอุดงมีชัย พระบาทรามเชิงไพรจึงกรีฑาทัพมาขับไล่พระมหามนตรีที่เมืองอุดงมีชัยใน พ.ศ. 2138 พระมหามนตรีถอยทัพกลับสยาม พระบาทรามเชิงไพรจึงเป็นเอกกษัตริย์แห่งกัมพูชา ฝ่ายนายบลาสรุยซ์ ซึ่งได้หนีไปเมืองมะนิลา และนายเบลูซูหนีไปมะละกา ได้กลับมายังเมืองกัมพูชาอีกครั้งและได้ทราบข่าวว่าพระราชวงศ์เดิมเสด็จลี้ภัยไปยังสตึงแตรงแล้ว จึงตามเสด็จไปเมืองสตึงแตรงปรากฏว่าพระบรมราชาฯ พระสัตถาได้ประชวรสวรรคตไปเสียแล้ว ฝรั่งสองคนจึงพากันคับแค้นใจมากและวางแผนจะกอบกู้บัลลังก์คืนให้แด่พระบรมราชาที่ 5 พระโอรส ใน พ.ศ. 2139 ฝรั่งทั้งสองได้เดินทางลงมาเฝ้าพระบาทรามเชิงไพร ฝ่ายพระรามเชิงไพรไม่ไว้วางใจฝรั่งทั้งสองจึงวางแผนสังหาร แต่ฝรั่งรู้ตัวก่อนจึงชิงปลงพระชนม์พระรามเชิงไพรเสีย แล้วเชิญพระบรมราชาที่ 5 นิวัติกรุงกัมพูชาอีกครั้ง ขึ้นครองราชสมบัติที่กรุงศรีสุนทร

รายพระนามกษัตริย์เขมรละแวก[แก้]


รายพระนามพระมหากษัตริย์กัมพูชา
พระมหากษัตริย์ ครองราชย์
รัชกาล พระรูป พระนาม ระหว่าง หมายเหตุ
อาณาจักรเขมรละแวก
(พ.ศ. 2083 – 2140)
สถาปนา ละแวก เป็นเมืองหลวง
76 พระบรมราชาที่ 2
(พญาจันทร์)
พ.ศ. 2059 – 2109
(50 ปี)
ย้ายราชธานีมายังกรุงละแวก เข้าสู่ยุคอาณาจักรเขมรละแวก
77 สมเด็จพระบรมราชาที่ 3
(พระยาละแวก, ปรมินทราชา)
พ.ศ. 2109 – 2119
(10 ปี)
ประกาศอิสรภาพจากกรุงศรีอยุธยา, ทำสงครามและเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระบรมราชาที่ 3ทรงประกาศอิสรภาพจากกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรเขมรละแวกได้เอกราชจากกรุงศรีอยุธยา
78 สมเด็จพระบรมราชาที่ 4
(นักพระสัตถา)
พ.ศ. 2119 – 2137
(18 ปี)
ครองราชย์ร่วมกับพระราชโอรส
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพมาตีกรุงละแวกได้สำเร็จ อาณาจักรเขมรละแวกได้ตกเป็นประเทศราชกรุงศรีอยุธยา) เป็นครั้งที่สอง
79 พระไชยเชษฐาที่ 1 พ.ศ. 2127 – 2137
(10 ปี)
ครองราชย์ร่วมกับพระราชบิดา และพระบรมราชาที่ 5
80
(1)
พระบรมราชาที่ 5
(พญาตน)
พ.ศ. 2127 – 2137
(10 ปี)
ครองราชย์ร่วมกับพระราชบิดา และพระไชยเชษฐาที่ 1

อ้างอิง[แก้]

ก่อนหน้า สมัยละแวก ถัดไป
จตุรมุข ราชธานีกัมพูชา
(พ.ศ. 2069 - พ.ศ. 2136)
ศรีสุนทร

พิกัดภูมิศาสตร์: 11°51′53″N 104°45′14″E / 11.86472°N 104.75389°E / 11.86472; 104.75389