สยามพารากอน
ด้านหน้าห้างสยามพารากอน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 | |
ที่ตั้ง | 991/1 ถนนพระรามที่ 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร |
---|---|
พิกัด | 13°44′47″N 100°32′6″E / 13.74639°N 100.53500°E |
เปิดให้บริการ | 9 ธันวาคม พ.ศ. 2548 |
ผู้บริหารงาน | บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท สยามพารากอน รีเทล จำกัด โดย บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด |
พื้นที่ชั้นขายปลีก | 500,000 ตารางเมตร |
จำนวนชั้น | 10 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน 2 ชั้น) |
ที่จอดรถ | 4,000 คัน |
ขนส่งมวลชน | สยาม |
เว็บไซต์ | www |
สยามพารากอน (อังกฤษ: Siam Paragon) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมบนพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของย่านสยาม ถนนพระรามที่ 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร บริหารงานโดย บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ร่วมกับกลุ่มเดอะมอลล์ ในนาม บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท สยามพารากอน รีเทล จำกัด โครงการประกอบด้วยศูนย์การค้า โรงแรม และอาคารชุดเพื่อการพักอาศัย
สยามพารากอนเป็นศูนย์การค้าหลักของกลุ่มวันสยาม และเป็นศูนย์การค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในย่านสยาม และใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย รองจากเซ็นทรัลเวิลด์ ไอคอนสยาม และเซ็นทรัล เวสต์เกต เน้นความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง, กลุ่มนักท่องเที่ยว, กลุ่มลูกค้าต่างชาติ และกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบนในศูนย์การค้าเดียว อีกทั้งยังเป็นศูนย์การค้าที่เป็นคู่แข่งกับเซ็นทรัลเวิลด์ในย่านราชประสงค์โดยตรง เนื่องจากอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน โดยมีวัดปทุมวนารามราชวรวิหารคั่นกลาง และยังเป็นห้างที่นำแบรนด์เนมดัง ๆ เข้ามาในไทย อาทิ ZARA[1] Uniqlo แอร์แม็ส[2] หลุยส์ วิตตอง
สยามพารากอนมีลูกค้าชาวไทยประมาณ 60% และชาวต่างชาติ 40%[3] เป็นสถานที่ที่มีผู้แชร์ภาพผ่านอินสตาแกรมมากที่สุดในโลกในปี พ.ศ. 2556[4] และจากข้อมูลในปี พ.ศ. 2560 มีผู้มาเยี่ยมเยือนศูนย์การค้าเฉลี่ย 80,000–200,000 คน/วัน[5] นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนอันดับ 1 คือ จีน รองลงมา คือ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย และมาเลเซีย ตามลำดับ[6]
จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2554 สยามพารากอนใช้ไฟฟ้าราว 123 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งถือว่ามากกว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งมีประชากรราว 2.5 แสนคนและใช้ไฟฟ้า 65 ล้านหน่วย[7]
ประวัติ
[แก้]สยามพารากอนตั้งอยู่บนพื้นที่ทางทิศเหนือของถนนพระรามที่ 1 สร้างบนที่ดินส่วนหนึ่งของวังสระปทุม อันเป็นที่ดินพระราชมรดกของราชสกุลมหิดล ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับสร้างวังพระราชทานแก่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก แต่เดิมที่ดินส่วนนี้เป็นสวนผลไม้ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ในเวลาต่อมา บริษัท บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอล โฮเต็ลส จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2546) ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจากสำนักพระราชวัง เพื่อก่อสร้างโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ซึ่งถือเป็นโรงแรมแห่งแรกของไทยที่บริหารด้วยเครือโรงแรมของต่างประเทศ และในช่วงเวลาดังกล่าว สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดตั้งสยามสแควร์ขึ้นบริเวณฝั่งตรงข้ามถนนพระรามที่ 1 จึงทำให้ในเวลาดังกล่าว พื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งของถนนพระรามที่ 1 ถูกเรียกรวมว่า "ย่านสยาม"
เมื่อโรงแรมดำเนินกิจการมาครบ 30 ปี ครบกำหนดสัญญาเช่าในปี พ.ศ. 2538 และได้รับการขยายอายุสัญญาต่อไปอีก 30 ปี[8] อีกทั้งมีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่บนพื้นที่เดิมของโรงแรม เพื่อให้เหมาะสมกับมูลค่าของที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น จึงได้รื้อโรงแรมและสิ่งปลูกสร้างโดยรอบลง เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์การค้าแห่งใหม่บนพื้นที่ดังกล่าว คือ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างกลุ่มเดอะมอลล์และสยามพิวรรธน์[9] เดิมสยามพารากอนกำหนดเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2547[10] แต่ได้เลื่อนมาเป็นปีถัดจากนั้น โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์การค้าเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2548[11]
ในปี พ.ศ. 2558 สยามพิวรรธน์ได้รวมตัวกับกลุ่มธุรกิจสยามสแควร์ และบริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งสมาคมการค้าพลังสยามขึ้น เพื่อพัฒนาศูนย์การค้าในย่านสยามให้เป็นย่านค้าปลีกระดับโลก[12][13] สยามพิวรรธน์จึงได้รับงบประมาณจำนวน 300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงพื้นที่ศูนย์อาหารบริเวณชั้น G ฝั่งทิศเหนือ โซน The Gourmet Garden ในสยามพารากอน โดยปรับปรุงแล้วเสร็จในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559[14] และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 สยามพารากอนได้ทยอยปรับปรุงอาคารครั้งใหญ่ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงกลางปี พ.ศ. 2567[15]
การจัดสรรพื้นที่
[แก้]สยามพารากอนเป็นอาคารสูง 8 ชั้น และชั้นใต้ดินอีก 2 ชั้น มีลิฟต์แก้วที่ใช้กระจกทั้งหมดเป็นแห่งแรกของประเทศไทย มีจำนวนลิฟต์ทั้งหมด 26 ตัว แบ่งเป็นลิฟต์แก้วแบบใช้กระจกทั้งหมด 2 ตัว, ลิฟต์แก้วแบบธรรมดา 2 ตัว, ลิฟต์ธรรมดา 22 ตัว, บันไดเลื่อน 88 ตัว, ทางเลื่อน 4 ตัว พื้นที่ใช้สอยประมาณ 500,000 ตารางเมตร และใช้เงินลงทุนมากกว่า 15,000 ล้านบาท[16] ประกอบด้วยพื้นที่สำคัญดังนี้
ห้างสรรพสินค้าพารากอน
[แก้]ห้างสรรพสินค้าพารากอน (อังกฤษ: Paragon Department Store) เป็นห้างสรรพสินค้าในอาคารสยามพารากอน บริหารงานโดย บริษัท สยามพารากอน รีเทล จำกัด ซึ่งกลุ่มเดอะมอลล์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีพื้นที่รวม 50,000 ตารางเมตร[10] ภายในประกอบด้วยแผนกและร้านค้าย่อยต่าง ๆ
ศูนย์การค้าพารากอน
[แก้]ศูนย์การค้าพารากอน (อังกฤษ: Paragon Shopping Complex) เป็นศูนย์การค้าในอาคารสยามพารากอน บริหารงานโดย บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งกลุ่มสยามพิวรรธน์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยโอบล้อมส่วนของห้างสรรพสินค้าทางทิศเหนือ ตะวันตก และใต้ ในลักษณะคล้ายรูปตัวแอล ภายในพื้นที่ศูนย์การค้า ประกอบด้วยร้านสินค้าลักชูรี ร้านค้าแฟชัน ร้านสินค้าเทคโนโลยี โชว์รูมรถยนต์ ร้านสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ร้านอาหาร นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของร้านภูฟ้าผสมผสาน, ร้านหนังสือคิโนะคูนิยะ, เทสลา เอ็กซ์พีเรียนซ์ สโตร์ สาขาแรกในประเทศไทย[17], เอสซีบี เอ็กซ์ เน็กซ์ เทค ชุมชนด้านเทคโนโลยี[18] และสถานออกกำลังกายฟิตเนส เฟิร์ส แพลทินัม ซึ่งสร้างบนพื้นที่เดิมของแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ อีกด้วย[ต้องการอ้างอิง]
ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหาร
[แก้]สยามพารากอน เป็นที่ตั้งของซูเปอร์มาร์เก็ต "กูร์เมต์ มาร์เก็ต" แห่งที่สองต่อจากเอ็มโพเรียม นอกจากนี้ยังมีโซนร้านอาหารต่างๆ อาทิ กูร์เมต์ อีทส์, เดอะ กูร์เมต์ การ์เดน, ฟู้ด พาสซาจ ออน โฟร์ธ เป็นต้น และยังมีร้านอาหารต่างๆ กระจายตัวโดยรอบศูนย์การค้า
บางกอก ซี ไลฟ์ โอเชียนเวิลด์
[แก้]พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ซี ไลฟ์ โอเชียน เวิลด์ กรุงเทพ หรือ บางกอก ซี ไลฟ์ โอเชียนเวิลด์ (อังกฤษ: Sea Life Bangkok Ocean World; ชื่อเดิม: สยามโอเชียนเวิลด์) เป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในอาคารสยามพารากอน บริหารงานโดย เมอร์ลิน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ กรุ๊ป
พารากอน ซีนีเพล็กซ์
[แก้]พารากอน ซีนีเพล็กซ์ (อังกฤษ: Paragon Cineplex) เป็นโรงภาพยนตร์ในศูนย์การค้าสยามพารากอน บริหารงานโดย บริษัท สยาม ซีนีเพล็กซ์ จำกัด ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ โดยมีพื้นที่รวม 20,000 ตารางเมตร ออกแบบโดยร็อกเวลล์กรุ๊ป[19][20] โดยมีโรงภาพยนตร์ย่อยจำนวน 16 โรง ซึ่งทั้งหมดใช้เครื่องฉายระบบเลเซอร์ ในจำนวนนี้มีโรงภาพยนตร์ระบบสกรีนเอ็กซ์[21], ซัมซุง โอนิกซ์, โฟร์ดีเอกซ์ ระบบละ 1 โรง โดยมีโรงภาพยนตร์สยามภาวลัย โดย กรุงไทยแอ๊กซ่า เป็นโรงภาพยนตร์ระบบดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ความจุ 1,164 ที่นั่ง[22] ใช้เครื่องฉายเลเซอร์จากคริสทีย์ (Christie) เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยชื่อของโรงภาพยนตร์เป็นชื่อได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มีความหมายว่า "ความสว่างเรืองรองแห่งสยาม" นอกจากนี้พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ยังเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์กรุงศรี ไอแมกซ์ เลเซอร์ ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ที่บริหารงานโดย บริษัท กรุงเทพไอแมกซ์เธียเตอร์ จำกัด โดยถือเป็นโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยความสูง 21 เมตร หรือเทียบเท่าอาคาร 8 ชั้น[19] พร้อมกันนี้ในชั้นเดียวกันยังเป็นที่ตั้งของโถงกิจกรรมอินฟินิซิตี้ฮอลล์ และบลูโอ รึธึ่ม แอนด์ โบว์ล สาขาแรกในประเทศไทย
พารากอน ฮอลล์
[แก้]พารากอนฮอลล์ (อังกฤษ: Paragon Hall, ชื่อเดิม: รอยัล พารากอน ฮอลล์) เป็นศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมในสยามพารากอน บริหารงานโดย บริษัท สยามอัลไลแอนซ์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ภายในประกอบด้วยห้องโถงใหญ่ 3 ห้อง (Paragon Hall 1–3) ขนาดตั้งแต่ 2,000 ถึง 2,828 ตารางเมตร โดย Paragon Hall 2–3 สามารถเชื่อมต่อกันเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการจัดคอนเสิร์ตความจุ 5,000 คน หรือ แบบนั่งชมได้ 5,200 คน และห้องประชุมเล็กขนาด 40–300 ตารางเมตร อีก 6 ห้อง (Meeting Room 1–6) รองรับได้ตั้งแต่ 30–120 คนต่อห้อง ทั้งนี้ พารากอนฮอลล์ได้ปิดปรับปรุงตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 และมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567
สยาม เคมปินสกี กรุงเทพ
[แก้]โรงแรมสยาม เคมปินสกี กรุงเทพ (อังกฤษ: Siam Kempinski Bangkok) เป็นโรงแรมในโครงการสยามพารากอน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอาคารหลัก โดยเป็นการร่วมทุนกับเครือโรงแรมและรีสอร์ท เคมปินสกีอาเก ประเทศเยอรมนี ภายในประกอบด้วยห้องพัก ห้องจัดเลี้ยง และร้านอาหาร โดยหนึ่งในนั้นคือร้าน "สระบัว บาย กิน กิน" ซึ่งเคยได้รับดาวมิชลินหนึ่งดวง
พาร์ค พารากอน
[แก้]พาร์ค พารากอน (อังกฤษ: Parc Paragon) ลานกิจกรรมที่สามารถเชื่อมตัวศูนย์การค้าเข้ากับสถานีสยามของรถไฟฟ้าบีทีเอส และสยามเซ็นเตอร์ได้ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของจอแอลอีดีขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อมต่อกับจอแอลอีดีที่ติดตั้งบริเวณสยามเซ็นเตอร์ และอาคารจอดรถสยาม
พื้นที่ในอดีต
[แก้]สยามพารากอนเคยเป็นที่ตั้งของ คิดส์ซาเนีย กรุงเทพ (อังกฤษ: KidZania Bangkok) ศูนย์การเรียนรู้ในรูปแบบเมืองจำลองสำหรับเด็ก ลิขสิทธิ์จากประเทศเม็กซิโก ซึ่งสร้างในพื้นที่ที่เคยวางแผนเป็นโรงละครสยามโอเปร่า[23] คิดส์ซาเนียปิดการให้บริการอย่างกะทันหันตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 โดยที่ผู้บริหารของศูนย์การค้าไม่สามารถติดต่อกับเจ้าของโครงการได้ และพนักงานของคิดส์ซาเนียก็ถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหันเช่นกัน อนึ่ง ผลประกอบการในปี พ.ศ. 2561-2562 ของคิดส์ซาเนีย กรุงเทพ ขาดทุนสะสม 68 ล้านบาท[24]
เหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิต
[แก้]วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 มีผู้พลัดตกจากบันไดเลื่อนที่กำลังเคลื่อนอยู่ระหว่างชั้น M และ G ลงไปยังชั้น B บริเวณลานด้านหน้า บางกอก ซี ไลฟ์ โอเชียนเวิลด์ บาดเจ็บสาหัส ก่อนจะเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บในวันถัดมา[25]
เหตุกราดยิงที่สยามพารากอน
[แก้]ช่วงเย็นของวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เกิดเหตุกราดยิงโดยสุ่มภายในห้าง เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 4 คน ผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนชายวัย 14 ปี และถูกจับกุมหลังเกิดเหตุ[26]
รางวัล
[แก้]ปี | รางวัล | สาขา | ผล |
---|---|---|---|
2566 | Thailand Zocial Awards 2023[27] | Best Brand Performance on Social Media กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า | ชนะ |
ระเบียงภาพ
[แก้]-
ศูนย์อาหารในปี 2549 ก่อนการปรับปรุง
-
ทางเข้าศูนย์อาหารกูร์เมต์ อีทส์ ในปี 2563
-
เพดานกูร์เมต์ การ์เดน ออกแบบโดย กรกต อารมย์ดี
-
ชั้นเอ็ม
-
ชั้น 2 ก่อนการปรับปรุง
-
ชั้น 3 ก่อนการปรับปรุง
-
ฟู้ด พาสซาจ ออน โฟร์ธ
-
คิดส์ซาเนีย (พื้นที่ในอดีต)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ admin (2006-05-05). "ZARA สาวงามจากสเปน". Positioning Magazine (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "HERMÈSเปิดร้านโฉมใหม่พร้อมนิทรรศการ Hermès Heritage". thansettakij. 2019-10-07.
- ↑ ""สยามพารากอน" ประกาศความยิ่งใหญ่ 9 ปี แห่งความสำเร็จกับการเป็นผู้นำสร้างประสบการณ์ระดับโลกที่แตกต่างและตรงใจ". โพสต์ทูเดย์. 26 พฤศจิกายน 2014.
- ↑ "สยามพารากอน ครองแชมป์สถานที่ถ่ายอินสตาแกรมมากสุดในโลก". ไทยรัฐ. 15 ธันวาคม 2013.
- ↑ "สุดยิ่งใหญ่ 12 ปีสยามพารากอน". กรุงเทพธุรกิจ. 13 ธันวาคม 2017.
- ↑ "สยามพารากอนอัดโปรดูดเงินนักช็อปจีน". ฐานเศรษฐกิจ. 14 กุมภาพันธ์ 2017.
- ↑ Pasick, Adam (5 เมษายน 2015). "Bangkok's lavish, air-conditioned malls consume as much power as entire provinces". Quartz. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2015.
- ↑ อรวรรณ บัณฑิตกุล (เมษายน 2002). "Siam Paragon The Pride of Bangkok". นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 มกราคม 2022. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2022.
- ↑ นภาพร ไชยขันแก้ว (มกราคม 2010). "ความสัมพันธ์ระหว่างเดอะมอลล์กับสยามพิวรรธน์". นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 มกราคม 2021. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2018.
- ↑ 10.0 10.1 "เดอะ สยามพารากอน ปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ของการผนึกกำลังสองผู้นำธุรกิจ". ryt9.com. 22 พฤศจิกายน 2001.
- ↑ "ปรากฏการณ์ สยามพารากอน". Positioningmag.com. 5 มกราคม 2006.
- ↑ "3 ยักษ์ค้าปลีก ผนึก 'พลังสยาม' เทียบชั้นมหานครใหญ่". วอยซ์ทีวี. 2 ตุลาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2021.
- ↑ "พันธมิตรพลังสยามผนึกกำลังครั้งประวัติศาสตร์ ผลักดัน "ย่านสยาม" ยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจการค้า". สมาคมการค้าพลังสยาม. 30 กันยายน 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 กรกฎาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2021.
- ↑ "สยามพารากอนจัดเต็ม รวมร้านอาหารและขนมหวานคุณภาพระดับโลกไว้ที่เดียว ไปลุยกันเลย!!". กินกับพีท. 30 พฤศจิกายน 2016. สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2021.
- ↑ "สยามพารากอน ทุ่ม 3 พันล้าน ทรานสฟอร์มครั้งใหญ่ สู่ "ที่สุดของความล้ำเลิศแห่งโลกอนาคต"". Brand Buffet. 15 กุมภาพันธ์ 2023.
- ↑ "สยามพารากอน จุดพลุ "ถนนสายช้อปปิ้ง"". Positioningmag.com. 5 ตุลาคม 2005.
- ↑ "Tesla เปิดตัว Experience Store ใจกลางพารากอน โชว์ Tesla Bot - Powerwall - Brand Buffet" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2023-12-25.
- ↑ "นายกฯ เปิดงาน SCBX NEXT TECH ที่สยามพารากอน เปิดพื้นที่คนรุ่นใหม่แลกเปลี่ยนความคิดสร้างสังคมเศรษฐกิจเทคโนโลยี". mgronline.com. 4 ตุลาคม 2023.
- ↑ 19.0 19.1 พาขวัญ ปละวุฒิ (2011). การกำหนดกลยุทธ์เพื่อการแข่งขันของธุรกิจโรงภาพยนตร์ :กรณีศึกษา บริษัทเมเจอร์ ซินีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (PDF) (M.B.A.).
- ↑ "แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2552 (แบบ 56-1) ของ บมจ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป" (DOC). สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์. 2009.
- ↑ ""ซีเจ โฟร์ดีเพล็กซ์" จับมือ "เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์" เปิดโรงภาพยนตร์ ScreenX PLF". ryt9.com. 29 เมษายน 2022.
- ↑ "เมเจอร์ฯ จับมือ กรุงไทย-แอกซ่า เปิดตัวโฉมใหม่ Siam Pavalai Royal Grand Theatre". trueid.net.
- ↑ "สยามพารากอนล้มแผนผุดโอเปร่า ดึงเม็กซิโกทุ่ม700ล.เปิดคิดซาเนีย". mgronline.com. 8 กันยายน 2009.
- ↑ kawinrat (20 มิถุนายน 2022). "Kidzania ปิดกิจการฟ้าผ่าปีที่แล้ว ลอยแพพนักงาน ไม่เยียวยา Paragon ติดต่อไม่ได้". Brand Inside (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "ชายพลัดตกห้างพารากอน ไปยังชั้นสยามโอเชี่ยนเวิลด์ เสียชีวิตแล้ว!". MThai. 26 พฤศจิกายน 2016. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2023.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "พบผู้เสียชีวิต 3 รายในเหตุยิงกันในห้างพารากอน ขณะที่ผู้ก่อเหตุถูกควบคุมตัวได้แล้ว". บีบีซีไทย. 3 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2023.
- ↑ "ประกาศผล Thailand Social Awards ครั้งที่ 11 แบรนด์และผู้ทรงอิทธิพลบนโลกโซเชียลยกทัพร่วมงานคับคั่ง". ไทยรัฐ. 24 กุมภาพันธ์ 2023. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2023.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- สยามพารากอน
- บางกอก ซี ไลฟ์ โอเชียนเวิลด์
- พารากอนซีนีเพล็กซ์, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 เมษายน 2006
- รอยัลพารากอนฮอลล์