บีบีซีไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บีบีซีไทย
สกรีนช็อตของหน้าหลัก
ประเภทข่าว
ภาษาที่ใช้ได้ภาษาไทย
เจ้าของบีบีซี
บุคคลสำคัญนพพร วงศ์อนันต์
ยูอาร์แอลwww.bbc.com/thai
ลงทะเบียนไม่จำเป็น

บีบีซีไทย หรือ บีบีซีแผนกภาษาไทย เป็นสื่อออนไลน์ เสนอข่าว เรื่องราวทางธุรกิจ วัฒนธรรม สุขภาพ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ บันเทิง รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสตรีและสังคม และมีสอนภาษาอังกฤษ เดิมเป็นรายการทางสถานีวิทยุทางคลื่นเอฟเอ็มและเอเอ็ม กระจายเสียงในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 40 สถานี ทั่วประเทศ ส่วนผู้ฟังทั่วโลกรับฟังบีบีซีภาษาไทยได้ทั้งทางคลื่นสั้นและทางอินเทอร์เน็ต[1] เนื้อหาส่วนมากเป็นรายงานข่าว มีการสอนภาษาอังกฤษด้วยวิธีการใหม่ที่มีชาวอังกฤษมาพูดเป็นตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม ได้ยุติการออกอากาศภาคภาษาไทยเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2549 จน 10 กรกฎาคม 2557 ได้กลับมาในรูปแบบสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก และเปิดเว็บไซต์ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559

ภายใต้การสนับสนุนจากบีบีซี เวิลด์ ประเทศอังกฤษ โดยมีบรรณาธิการคนปัจจุบันคือ นพพร วงศ์อนันต์[2] โดยปัจจุบันสำนักงานในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อาคารมณียาเซ็นเตอร์ ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร[3][4]

ประวัติ[แก้]

บีบีซีแผนกภาษาไทยก่อตั้งปี พ.ศ. 2484 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ที่ทำหน้าที่ประสานงานขณะนั้นคือนายอเล็ค อดัมส์ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยได้ขอคำปรึกษาไปยัง พระมนูเวทย์วิมลนาถ ทูตไทยประจำอังกฤษขณะนั้น แต่เงื่อนไขสำคัญที่บีบีซีภาคภาษาไทยต้องถือปฏิบัติ คือ เนื้อหาในการออกอากาศต้องรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และต้องไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง จึงได้ออกอากาศครั้งแรกจากกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2484 ในเวลา 20.30-20.45 น.ตามเวลาในประเทศไทย

ระยะแรกรูปแบบรายการเป็นลักษณะ "จดหมายจากอังกฤษ" ดำเนินรายการโดยเสนาะ ตันบุญยืน และเสนาะ นิลกำแหง สัปดาห์และครั้ง ทุกวันอาทิตย์ และได้ขยายเวลาออกอากาศเป็นสัปดาห์ละ 3 วันในเวลาต่อมา เนื้อหารายการมีการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในเมืองไทย ต่อมาในปี 2490 บีบีซีได้เริ่มระบบทำสัญญาว่าจ้างคนไทยเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เต็มเวลา ปรับปรุงเนื้อหารายการเป็นการเสนอข่าว บทวิจารณ์และรายงานสารคดี

หลังจากนั้น 2 ปี ได้รับการประสานงานจากกรมโฆษณา หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน ส่งเจ้าหน้าที่มาฝึกงานกับบีบีซี ซึ่งถือเป็นความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ในระหว่างปี พ.ศ. 2500-2501 มีการออกอากาศเป็นภาษาลาว 15 นาที เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ในปี พ.ศ. 2489 บีบีซีแผนกภาษาไทยได้เปลี่ยนชื่อเป็น "แผนกภาษาสยาม" จนถึงปี 2492 กระทั่งปี 2492 จึงกลับไปใช้ชื่อเดิมอีกครั้งหนึ่ง

กระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษมีคำสั่งให้ยุติบีบีซีแผนกภาษาไทยในวันที่ 5 มีนาคม 2503 เนื่องจากเศรษฐกิจทางภาคพื้นยุโรปตกอยู่ในภาวะฝืดเคืองอย่างหนัก แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จเยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมปีนั้น บีบีซีแผนกภาษาไทยจึงกลับมาออกอากาศอีกครั้งเป็นกรณีพิเศษ วันละ 15 นาที ระหว่างวันที่ 18-23 กรกฎาคม

บีบีซีแผนกภาษาไทยได้กลับมาออกอากาศอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งใน เดือนมิถุนายน 2505 โดยกระจายเสียงวันละครึ่งชั่วโมง ซึ่งเพิ่มการออกอากาศในช่วงเช้าและค่ำ พร้อมทั้งมีการปรับรูปแบบรายการและความต้องการข่าวสารของผู้ฟังในประเทศไทยเป็นหลัก จนในปี พ.ศ. 2540 ได้ลงนามจัดตั้งศูนย์ประสานงานบีบีซี แผนกภาษาไทยกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง และมีผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทยอย่างถาวร ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543[5] แต่เนื่องจากมีการประเมินผลการออกอากาศของแผนกต่าง ๆ ทั้ง 43 ภาษา พบว่าจำนวนผู้ฟังในแผนกภาษาไทยมีอยู่น้อย และจำเป็นต้องใช้งบประมาณก้อนนี้กับภูมิภาคอื่นซึ่งความต้องการของผู้ฟังมีมากกว่าในประเทศไทย จึงเป็นเหตุให้ยุติการออกอากาศภาคภาษาไทยเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2549[6] จน 10 กรกฎาคม 2557 ได้กลับมาในรูปแบบสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก เปิดตัววันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ภายใต้การสนับสนุนจากบีบีซีเวิลด์ ประเทศอังกฤษ[7] หลังจากนั้น 2 ปี ได้เปิดเว็บไซต์ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเป็นผลมาจากการสนับสนุนเงินทุนของรัฐบาลอังกฤษให้กับบีบีซีเวิลด์เซอร์วิส[8]

เนื้อหา[แก้]

บีบีซีไทย ในช่วงออกอากาศทางวิทยุ ให้เนื้อหาข่าว รายงานและวิเคราะห์เหตุการณ์ปัจจุบัน และวิจารณ์การเมือง จนหลังเดือนพฤษภาคม ปี 2535 บีบีซีแผนกภาษาไทยได้มีการปรับทิศทางการทำงาน จากเน้นการแปลข่าว มาเป็นเน้นงานข่าวมากขึ้น หลังจากกลับมาในรูปแบบสื่อออนไลน์ ให้ข้อมูลข่าวทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยไม่อาศัยข่าวจากช่องทางของบุคคลที่สาม (third-party platform) เว็บไซต์นำเสนอเรื่องราวทางธุรกิจ วัฒนธรรม สุขภาพ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และบันเทิง รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสตรีและสังคม และมีสอนภาษาอังกฤษกับ BBC Learning English[9]

การทำงาน[แก้]

จากข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2558 ทีมงานบีบีซีไทย ส่วนใหญ่เป็นอดีตพนักงานบีบีซี แผนกภาษาไทยที่ปิดตัวไป โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่บนชั้น 5 ของอาคาร BBC Broadcasting House สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบีบีซี ทีมงานในลอนดอนมีทั้งหมด 5 คน และมีผู้สื่อข่าวประจำอยู่ที่ประเทศไทยอีก 1 คน อิสสริยา พรายทองแย้ม เป็นหนึ่งในทีมงานบีบีซีไทยที่ทำงานกับวิทยุบีบีซีแผนกภาษาไทยจนวันสุดท้ายของการออกอากาศ ได้กลับมาร่วมงานอีกครั้ง อิสสริยากล่าวว่า มีเป้าหมายในการโพสต์ข่าวขึ้นเฟซบุ๊กประมาณ 25 ข่าวต่อวัน นอกจากเฟซบุ๊ก ก็มีการโพสต์ข่าวทางยูทูบและอินสตาแกรมด้วย ส่วนการลงเสียงและคลิปวิดีโอ ใช้ร่วมกับแผนกอื่น และเธอตั้งข้อสังเกตว่า ผู้อ่านคนไทยจะสนใจข่าวการเมืองเป็นพิเศษ เห็นได้จากการเข้ามาแสดงความคิดเห็น รองลงมาเป็นข่าวสถานการณ์ เช่น แผ่นดินไหวในเนปาล และเรื่องราวแปลก ๆ จากรอบโลก[10]

ความน่าเชื่อถือและความเป็นกลาง[แก้]

บีบีซีไทยอ้างว่ามีความน่าเชื่อถือเรื่องความเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด นำเสนอเรื่องราวและความเห็นจากทั้งสองฝ่ายได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากอคติทางการเมือง[10] ผู้จัดการออนไลน์วิจารณ์ว่า บีบีซีไทยให้ความสำคัญกับการนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐประหารและบ่อยครั้งเลือกจับประเด็นข่าววิจารณ์การทำหน้าที่ของรัฐบาลในทางลบมานำเสนอ เช่น กรณีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่าที่พยายามชักนำให้เข้าใจว่าเป็นการจับแพะ กรณีชาวโรฮีนจาและชาวอุยกูร์ที่เสนอข่าวว่ารัฐบาลไทยไร้มนุษยธรรม ละเมิดกติกาสากล ฯลฯ เป็นการเสนอข่าวที่อยู่บนพื้นฐานของการเลือกข้าง มีอคติและบิดเบือน[11] ทีนิวส์ ซึ่งเป็นสื่อสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา วิจารณ์ว่า มีลักษณะทิศทางการทำงานไปในแนวทางเดียวกับระบอบทักษิณ โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลในเชิงลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลประยุทธ์ หรือบางประเด็นมีความล่อแหลมต่อการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย[12] เดอะนิวแอตแลสพาดพิงการเสนอข่าวการเปลี่ยนรัชกาล โดยอ้างว่าบีบีซีก็ยังคงให้ข้อมูลที่ผิดเพื่อสร้างข้อสงสัยและการแบ่งแยกท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในช่วงอ่อนไหวของประเทศไทย[13]

กรณีบีบีซีไทยรายงานข่าวภาพถ่ายรูปคู่ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับบารัก โอบามา ไทยโพสต์วิจารณ์ว่า "รายงานข่าวอย่างไม่มีที่มาที่ไป จับแพะชนแกะราวกับนิยาย"[14] ขณะที่แนวหน้าวิจารณ์ว่า "บีบีซีในปัจจุบันได้มาถึงยุคเสื่อมและถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่ต่างจากสื่อเทียมผีโม่แป้งที่สิ้นความน่าเชื่อถืออีกต่อไป"[15] ส่วน ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ แสดงความเห็นว่า ตนรู้สึกชอบกล โดยว่าอย่างน้อยควรอธิบายว่าผู้เขียนเป็นใครจึงสามารถรู้เรื่องวงใน[16] ทั้งนี้บีบีซีไทย ชี้แจงว่า มีการปกปิดชื่อแหล่งข่าว ชื่อผู้เขียนและทีมงาน[17] เพราะเห็นด้วยว่าหากเปิดเผยชื่อผู้เขียนมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบสูง แต่การไม่เปิดเผยชื่อผู้เขียน ก่อให้เสี่ยงต่อข้อครหา อาจลดความน่าเชื่อถือของรายงาน แต่ทั้งนี้ก็ต้องปิดชื่อผู้ให้ข้อมูลเพราะหวั่นเกรงต่อการถูกคุกคาม[18]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. บีบีซีไทย[ลิงก์เสีย]
  2. บีบีซีไทย เปิดเว็บไซต์ใหม่ เพิ่มช่องทางข่าวสู่คนไทยทั่วโลก
  3. บริติช บรอคาซท์ติ้ง คอร์ปอเรชั่น[ลิงก์เสีย]
  4. บริติช บรอคาซท์ติ้ง คอร์ปอเรชั่น yellowpages.co.th
  5. "บีบีซี...สถานีวิทยุที่หายไป". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-16. สืบค้นเมื่อ 2016-12-03.
  6. สัมภาษณ์ผอ.ใหญ่บีบีซีภาคบริการโลก เรื่องการปิดแผนกไทย
  7. BBC ภาคภาษาไทยกลับมาแล้วหลังปิดไป 8 ปี ทางการอังกฤษสนับสนุน[ลิงก์เสีย]
  8. "บีบีซีไทย" เปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ หลังเสนอผ่าน "เฟซบุ๊ก" นานกว่า 2 ปี ไทยพีบีเอส
  9. บีบีซีไทย เปิดเว็บไซต์ใหม่ เพิ่มช่องทางข่าวสู่คนไทยทั่วโลก
  10. 10.0 10.1 เยือน "บีบีซีไทย" ในกรุงลอนดอน : พื้นที่เล็ก-ภารกิจใหญ่ ไทยพีบีเอส
  11. "นั่งเทียนเขียนข่าว สไตล์บีบีซีไทย เลือกข้าง อคติ บิดเบือน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-07. สืบค้นเมื่อ 2016-12-04.
  12. ทีนิวส์ ลากไส้ บีบีซีไทย ตอน บิดเบือนสนั่นโลก!!ฉาวสุดๆBBC ตีข่าวมั่ว "บิ๊กตู่"สร้างภาพจับมือ"โอบามา"จนตรอกถึงขั้นสารภาพอ้างแหล่งข่าวนิรนาม??
  13. งามไส้สุดๆ..สื่ออวดตัวเป็นกลาง!!! The New Atlas อัดยับBBCไม่ใช่สำนักข่าวแต่เป็นล็อบบี้ยิสต์ ร่วมแก๊งสื่อต่างชาติรับเงินลอบทำลายรัฐบาลไทย??
  14. "สื่อเสี้ยม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-07. สืบค้นเมื่อ 2016-12-04.
  15. ยุคเสื่อมบีบีซี สื่อเทียมสิ้นเครดิต? คอลัมน์...จับได้ไล่ทัน
  16. ล้ำเส้นสำนักข่าว! บีบีซีไทยจวกภารกิจ “ประยุทธ์” ประชุมยูเอ็น “สมศักดิ์ เจียม” ยังรับไม่ได้[ลิงก์เสีย] ASTV ผู้จัดการออนไลน์
  17. "2 ขั้วเถียงกันหนัก ปม "บีบีซีไทย" ปิดชื่อแหล่งข่าว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-11. สืบค้นเมื่อ 2016-12-03.
  18. การประชุมยูเอ็นเริ่มจากในบ้าน แฟนเพจบีบีซี

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]