เซ็นทรัลเวิลด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เซ็นทรัลเวิลด์
เซ็นทรัลเวิลด์ logo
แผนที่
ที่ตั้ง4, 4/1-4/2, 4/4 ถนนราชดำริ; 999/9, 999/99 ถนนพระรามที่ 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
พิกัด13°44′48″N 100°32′21″E / 13.746534°N 100.539220°E / 13.746534; 100.539220
เปิดให้บริการพ.ศ. 2532
ชื่อเดิมศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2545)
ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พลาซา (พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2550)
ผู้พัฒนาบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
ผู้บริหารงานบริษัท เซ็นทรัลเวิลด์ จำกัด
เจ้าของกองทุนรวมธุรกิจไทย 4 (TBF4)
บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลเวิลด์ จำกัด
กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซีพีเอ็น คอมเมอร์เชียล โกรท
พื้นที่ชั้นขายปลีก850,000 ตารางเมตร
ที่จอดรถ7,000 คัน
ขนส่งมวลชน สถานีสยาม, สถานีชิดลม
สถานีสยาม
เรือโดยสารคลองแสนแสบ ท่าประตูน้ำ
เว็บไซต์www.centralworld.co.th
เซ็นทรัล โดม (ลิฟต์แก้ว)

เซ็นทรัลเวิลด์ (อังกฤษ: CentralWorld เขียนในรูปแบบ: centralwOrld) เดิมชื่อ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมใจกลางกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของย่านการค้าราชประสงค์ ระหว่างถนนพระรามที่ 1 และถนนราชดำริ ในพื้นที่แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน โครงการประกอบด้วยศูนย์การค้า โรงแรม และอาคารสำนักงาน โดยเป็นศูนย์การค้าที่มีพื้นที่รวมใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ขายมากเป็นอันดับ 4 ของไทย และมีพื้นที่ชั้น 1 มากเป็นอันดับ 4 ของโลก[1]

ประวัติ[แก้]

พื้นที่ของศูนย์การค้าเป็นที่ตั้งเดิมของพระราชวังปทุมวัน และต่อมาเป็นวังเพ็ชรบูรณ์ วังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย โดยเมื่อปี พ.ศ. 2466 เจ้าของวังสิ้นพระชนม์ และหลังจากนั้น 9 ปี คือในปี พ.ศ. 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วังหลายแห่งถูกคณะราษฎรเข้ายึดครองและตกเป็นสมบัติของรัฐ รวมถึงวังเพ็ชรบูรณ์ด้วย แต่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด[2][3] ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 บริษัท วังเพชรบูรณ์ จำกัด โดยนายอุเทน เตชะไพบูลย์ ได้ขอเช่าที่ดินผืนนี้เพื่อก่อสร้างศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในชื่อ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์

นับตั้งแต่ทำสัญญาเช่า บจก.วังเพชรบูรณ์ ประสบความล่าช้าในการก่อสร้างเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งต้องเลื่อนไปเปิดดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2532 โดยประกอบด้วยตัวอาเขตและห้างสรรพสินค้าเซน ก่อนที่ห้างสรรพสินค้าอิเซตันจะเข้ามาเปิดดำเนินการใน พ.ศ. 2535 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายเพิ่มเติมเพื่อให้โครงการแล้วเสร็จตามสัญญาที่ทำไว้ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่ในปลายปี พ.ศ. 2545 บจก.วังเพชรบูรณ์ ประสบปัญหาทางการเงินและไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงแรมและอาคารสำนักงานให้แล้วเสร็จตามกำหนด สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จึงได้ยกเลิกสัญญาเช่าและเปิดโอกาสให้บริษัทอื่นเข้ามาประมูลเพื่อบริหารศูนย์การค้า รวมทั้งพัฒนาพื้นที่และต่อเติมอาคารให้แล้วเสร็จตามข้อตกลงในคู่สัญญา โดยสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้เปิดประมูลและปรับโครงสร้างจากเดิมด้วยวิธีการเปลี่ยนถ่ายสัญญาไปเป็นบริษัทที่ชนะการประมูล โดยมีผู้เข้าร่วมการประมูลครั้งนี้เป็น 2 ธุรกิจค้าปลีกหลักของไทยคือกลุ่มเซ็นทรัลและกลุ่มเดอะมอลล์ และเป็นกลุ่มเซ็นทรัลที่ชนะการประมูลดังกล่าว

ปัจจุบันโครงการนี้บริหารงานโดย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาโครงการของกลุ่มเซ็นทรัล โดยในระยะแรกเป็นการปรับปรุงและต่อเติมอาคารสำนักงานในสมัยเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เสร็จสมบูรณ์ จากนั้นจึงเริ่มปรับปรุงศูนย์การค้าโดยเปลี่ยนชื่อจากเดิม เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (อังกฤษ: World Trade Center) เป็น เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซา (อังกฤษ: Central World Plaza) และสร้างทางเดินเชื่อม "เซ็นทรัลเวิลด์สกายวอล์ก" ซึ่งเป็นทางเชื่อมลอยฟ้าจากสถานีสยาม ซึ่งเป็นจุดตัดของรถไฟฟ้าบีทีเอสสายหลักทั้ง 2 สาย คือสายสุขุมวิทและสายสีลม ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับลูกค้าจากย่านสยามที่อยู่ใกล้เคียง และคาดว่าจะมาใช้บริการเพิ่มขึ้นในอนาคต และยังได้ร่วมทุนกับกลุ่มผู้ประกอบการย่านการค้าบริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อสร้างทางเดินเชื่อม "ราชประสงค์สกายวอล์ก" จากสถานีชิดลมของสายสุขุมวิท มาจนถึงโครงสร้างเดิมที่ได้ก่อสร้างไว้บริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าเกษรพลาซา ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2548[4]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 บริษัทได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบทั้งหมด ต่อเติมโครงสร้างที่เหลือจากชั้นบนให้เป็นพื้นที่สำหรับลานกิจกรรม ก่อสร้างอาคารเซนเวิลด์ รวมทั้งภัตตาคารและส่วนโรงแรมซึ่งต่อเติมไปจากช่วงอิเซตัน และครั้งนี้ได้มีเปลี่ยนชื่อศูนย์การค้าอีกครั้งโดยให้ชื่อสั้นลงและตัดคำว่าพลาซ่าออกเหลือ เซ็นทรัลเวิลด์ (อังกฤษ: CentralWorld) โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์การค้าด้วยพระองค์เองเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

การจัดสรรพื้นที่[แก้]

ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ประกอบด้วยอาคารทั้งหมด 7 หลัง และแบ่งพื้นที่ออกเป็นทั้งหมด 10 โซน โดยมีพื้นที่สำคัญดังต่อไปนี้

ห้างสรรพสินค้า[แก้]

เซ็นทรัล แอท เซ็นทรัลเวิลด์
คาเฟ่ % อะราบิกา สาขาเซ็นทรัลเวิลด์

เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งอยู่บริเวณโซน A ของอาคาร โดยเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลสาขาหลักและสาขาใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่รวม 50,000 ตารางเมตร เดิมคือห้างสรรพสินค้าเซน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลมาตลอด แต่มีคอนเซปต์เป้นห้างสรรพสินค้าสำหรับวัยรุ่น และยังเป็นที่ตั้งของร้านมูจิ สาขาเรือธงของประเทศไทย คาเฟ่ % อะราบิกา สาขาที่สองในกรุงเทพมหานคร จุดบริการของไทยทิคเก็ตเมเจอร์ และจุดบริการสำหรับลูกค้าบัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน นอกจากนี้ยังมีอาคาร "เซ็นทรัล ทาวเวอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์" (อาคารเซน เวิลด์ เดิม) ที่สร้างต่อเติมจากอาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รวมพื้นที่ทั้งหมด 20 ชั้น ก่อนหน้านี้เซ็นทรัลเวิลด์ยังเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ห้างสรรพสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นสาขาแรกและสาขาเดียวในประเทศไทยที่เปิดทำการเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2535 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563[5]

ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหาร[แก้]

เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นที่ตั้งของ ท็อปส์ ฟู้ด ฮอลล์ ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับบนของกลุ่มเซ็นทรัล และเป็นฟู้ดสโตร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริหารงานโดย บจก. เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ภายในเป็นที่ตั้งของร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ "ท็อปส์ ไวน์ เซลลาร์" ร้านอาหาร "ท็อปส์ อีทเทอรี่" และร้านกาแฟ "ปีเตอร์ คอฟฟี" โดย Peter Weckström นอกจากนี้ยังมีศูนย์อาหาร "ฟู้ดเวิลด์" และ "ลิฟวิ่ง เฮาส์ โค-ลิฟวิ่งแอนด์อีตติ้ง สเปซ" บริเวณชั้น 7, ศูนย์อาหาร "ฮักไทย" และ "ตลาดจริงใจ" บริเวณชั้น 1 รวมถึงร้านอาหารต่าง ๆ กระจายตัวภายในศูนย์การค้า

ร้านค้าในศูนย์การค้า[แก้]

แอปเปิลสโตร์ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์

เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นที่ตั้งของร้านค้าสาขาเรือธง ทั้งที่อยู่ในกลุ่มเซ็นทรัล ได้แก่ ซูเปอร์สปอร์ต, เพาเวอร์บาย และธิงค์สเปซ บีทูเอส ในชื่อ เพาเวอร์บาย x บีทูเอส ธิงค์สเปซ และนอกกลุ่มเซ็นทรัล อาทิ ยูนิโคล่ เอชแอนด์เอ็ม เอสบีดีไซน์สแควร์ อาดิดาส คิโนะคูนิยะ และนิโตริ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีลานไอซ์สเก็ต "เดอะ ริงก์" สถานออกกำลังกาย "โซน บาย ฟิตเนส เฟิร์ส" ร้านสตาร์บัคส์ รีเซิร์ฟ คอนเซปต์ สโตร์ และแอปเปิลสโตร์[6][7] ซึ่งแต่ละร้านมีขนาดพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

โรงภาพยนตร์[แก้]

เซ็นทรัลเวิลด์ มีโรงภาพยนตร์ประกอบกิจการหนึ่งแห่ง คือ เอสเอฟเวิลด์ ซีเนม่า เป็นโรงภาพยนตร์ที่บริหารงานโดยเอสเอฟ ซีเนม่า และเป็นสาขาเรือธงของบริษัท ภายในประกอบด้วยโรงภาพยนตร์ย่อย 15 โรง โดยมี "มาสเตอร์การ์ด ซีเนม่า" เป็นโรงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ยังมีโรงภาพยนตร์สี่มิติ "เอ็มเอ็กซ์โฟร์ดี" เป็นแห่งแรกของประเทศไทยและโรง "ซิกม่า ซีเนสเตเดียม"[8] ที่มีระบบการฉายแบบเลเซอร์ด้วยเครื่องฉาย 4K RGB Pure Laser ของยี่ห้อคริสตี้ (Christie) และระบบเสียงดอลบี แอทมอส[9]

ก่อนหน้านี้ยังมีโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ อีกจำนวน 8 โรง ที่เปิดทำการมาตั้งแต่สมัยศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในปี พ.ศ. 2543 [10] แต่ปิดตัวลงหลังการเปิดตัวของเอสเอฟเวิลด์ ซีเนม่า ได้หนึ่งปี เนื่องจากยอดผู้เข้าชมภาพยนตร์ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ศูนย์การเรียนรู้[แก้]

ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้ขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยเป็นที่ทำการหลักของ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือไทยแลนด์ โนวเลดจ์ พาร์ค (ทีเคพาร์ค) โดย สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้แบบองค์รวมสองแห่ง ได้แก่ "จีเนียส แพลเน็ต" แหล่งรวมสถาบันกวดวิชา ซึ่งพัฒนาจากพื้นที่ "เอเชียน เซนเซส" เดิม และ "แฟมิลี่ แพลเน็ต" แหล่งรวมศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว ซึ่งพัฒนาจากพื้นที่เดิมในโซน F2 และยังมีสถาบันกวดวิชา โรงเรียนสอนภาษา และโรงเรียนการโรงแรมเปิดทำการภายในอาคารสำนักงานทั้งอาคารดิ ออฟฟิสเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ และอาคารเซ็นทรัล ทาวเวอร์

กรูฟ แอท เซ็นทรัลเวิลด์[แก้]

กรูฟ เป็นอาคารความสูง 2 ชั้น สร้างบนพื้นที่ติดถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเดิมเป็นลานกิจกรรมกลางแจ้งหน้าอาคารสำนักงาน จุดเด่นคือเป็นอาคารที่มีการต่อพื้นที่สองส่วนเข้าด้วยกัน คือพื้นที่แบบปิดและพื้นที่แบบเปิด ซึ่งพื้นที่แบบปิด เป็นที่ตั้งของร้านค้าแนวฮิปชิค ส่วนหนึ่งเป็นร้านจากศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซีที่มาเปิดทำการ และพื้นที่แบบเปิด เป็นที่ตั้งของร้านอาหารแนวฮิปชิค ผับ บาร์ อาคารนี้เป็นอาคารเดียวในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ที่เปิดทำการจนถึงเวลา 01.00 น. ของวันถัดไป เป็นอาคารส่วนหน้าสุดที่ติดจากสกายวอล์คไปยังรถไฟฟ้าบีทีเอสสองจุด และยังเป็นต้นแบบของอาคารศูนย์การค้า เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ ด้วย

พื้นที่จัดกิจกรรม[แก้]

เซ็นทรัลเวิลด์มีพื้นที่ลานกิจกรรมออกเป็นหลายส่วน ได้แก่

  • เซ็นทรัลเวิลด์สแควร์ ลานกลางแจ้งพื้นที่ 8,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่หน้าอาคารศูนย์การค้า ฝั่งติดกับถนนราชดำริ
  • คราฟต์สตูดิโอ พื้นที่จัดกิจกรรมเชิงการเรียนรู้ ตั้งอยู่ชั้น 5-6 โซน A
  • เซ็นทรัล แกลอรี่ พื้นที่จัดกิจกรรมของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ตั้งอยู่ชั้น 8 อาคารฝั่งห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล
  • เซ็นทรัลเวิลด์ไลฟ์ (ช่วงปี พ.ศ. 2557 - 2563 มีการร่วมทุนกับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในชื่อ "จีเอ็มเอ็มไลฟ์เฮาส์") หอประชุมขนาดใหญ่และโรงมหรสพอเนกประสงค์ ประกอบด้วยโถงประชุมสำหรับจัดแสดงคอนเสิร์ต ทำกิจกรรม พื้นที่รวม 4,500 ตารางเมตร ความจุสูงสุด 3,000 ที่นั่ง ตั้งอยู่ชั้น 8 โซน A
  • บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ ศูนย์ประชุมและโรงมหรสพอเนกประสงค์ บริหารงานโดยเครือโรงแรมเซ็นทารา ประกอบด้วยโถงประชุมหลัก ความจุสูงสุด 7,000 ที่นั่ง ห้องเวิลด์บอลรูม ห้องประชุมเอ็ม 23 และห้องประชุมย่อยโลตัสสวีทอีก 17 ห้อง ตั้งอยู่ชั้น 23M โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ หรือชั้น 10 โซน D
  • ลานกิจกรรมภายในศูนย์การค้า ประกอบด้วย ลานกิจกรรมชั้น 1 จำนวน 5 จุด (ลาน A1, B1, C1, E1 และ G1), ลานกิจกรรมชั้น 3 จำนวน 2 จุด (ลาน A3 และ E3), ลานกิจกรรมชั้น 6 จำนวน 1 จุด (B6) และลานกิจกรรมชั้น 7 จำนวน 1 จุด (ลาน C7)

เทวรูป[แก้]

บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์สแควร์ด้านหน้าอาคารโซน I เป็นที่ตั้งของเทวรูปพระตรีมูรติ ซึ่งย้ายมาจากลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลที่ปัจจุบันคือแอปเปิลสโตร์ และพระพิฆเนศ

โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์[แก้]

โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นโรงแรมระดับห้าดาว ความสูง 55 ชั้น ประกอบด้วยห้องพัก จำนวน 505 ห้อง ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า ห้องอาหาร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตัวอาคารเป็นอาคารทรงกระบอกสองอันมาผสานต่อกัน และมีจุดเด่นคือมีพื้นที่ไขว้ออกมานอกอาคารสลับกันไปตามแต่ละความสูง และชั้นเพดานเปิดโล่งพร้อมติดตั้งสถาปัตยกรรมโค้งสูงนับเป็นยอดสูงสุดของอาคารหลังนี้

อาคารสำนักงาน เซ็นทรัลเวิลด์ ออฟฟิสเศส[แก้]

เซ็นทรัลเวิลด์ ออฟฟิสเศส เป็นอาคารสำนักงานอัจฉริยะอาคารแรกในประเทศไทย ตัวอาคารมีความสูง 45 ชั้น มีระบบการจัดการการจราจรในแนวตั้งด้วยลิฟท์โดยสารความเร็วสูง และระบบคีย์การ์ดที่ลิฟท์ อาคารดังกล่าวเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของเซ็นทรัลพัฒนา ซึ่งได้ย้ายออกมาจากอาคารสำนักงานที่เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าวเดิม นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทในกลุ่มเซ็นทรัลบางส่วน และสำนักงานสาขาประเทศไทยของบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ

รางวัล[แก้]

  • Best of the Best Awards ประจำปี 2010 จากสมาคมศูนย์การค้าระหว่างประเทศ (International Council of Shopping Centers : ICSC) ถือเป็นรางวัลระดับโลก[11]
  • Thailand Energy Awards ประจำปี 2011 ประเภทอาคารควบคุมดีเด่น โดยกระทรวงพลังงาน
  • Asean Energy Award ประจำปี 2011 ประเภท Asean Best Practices for Energy Management in Large Building Category : Winner
  • สมาคมศูนย์การค้านานาชาติ (ICSC) มอบรางวัลห้างสรรพสินค้าดีเด่นระดับโลก ด้านการออกแบบและพัฒนา เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
  • Building of the Year ประจำปี 2021 (แอปเปิลสโตร์)[12]

เหตุการณ์และกรณีอื้อฉาว[แก้]

ความเสียหายที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553[แก้]

อาคารส่วนของ ห้าง ZEN ที่ถล่มลงมา
ZEN World ส่วนที่เหลือ

ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน เริ่มใช้พื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เป็นสถานที่จัดกิจกรรมการชุมนุมทางการเมือง จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าสลายการชุมนุม จนทำให้แกนนำต้องประกาศยุติการชุมนุม และเข้ารายงานตัวกับตำรวจ หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุจลาจลขึ้นทั่วกรุงเทพมหานคร ลุกลามไปสู่ปริมณฑลและต่างจังหวัด โดยจุดหนึ่งที่มีการลอบวางเพลิง และเข้าทุบทำลายอาคารคือ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์[13][14] ทั้งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ด้วยสาเหตุข้างต้น จึงส่งผลให้เซ็นทรัลเวิลด์เกิดเพลิงไหม้ในบริเวณพื้นที่ห้างสรรพสินค้าเซน หลังเพลิงไหม้ได้ลุกขึ้นนานเกินกว่า 10 ชั่วโมง จนกระทั่งเวลา 01.00 น. เพลิงไหม้เริ่มส่งผลให้ส่วนของห้างสรรพสินค้าเซนทรุดตัวลงจนด้านหน้า (บริเวณป้ายโลโก้เซ็นทรัลเวิลด์) ถล่มลงมา และเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้ในเวลา 02.00 น. วันที่ 20 พฤษภาคม[15]

หลังจากนั้นเซ็นทรัลพัฒนาได้เข้ามาสำรวจสภาพของศูนย์การค้าที่คงเหลืออยู่ในวันถัดมา พบว่าเพลิงไหม้ได้ทำลายตัวอาคารประมาณหนึ่งในสาม โดยส่วนของห้างสรรพสินค้าเซน ได้รับความเสียหายมากที่สุด ส่วนโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ อาคารสำนักงาน และอาคารอิเซตัน ไม่ได้รับความเสียหาย ซึ่งต่อมาเซ็นทรัลพัฒนาได้แถลงข่าวชี้แจงว่า การซ่อมแซมจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างสมบูรณ์ ประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 หลังจากนั้นไม่นานส่วนของห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ก็สามารถเปิดให้บริการตามปกติได้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ส่วนศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ได้เปิดให้บริการตามปกติในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553 โดยจะปรับภูมิทัศน์ใหม่ ให้เป็นสวนใจกลางเมือง เสริมเทคโนโลยี ที่สามารถเปลี่ยนสีสันของแต่ละโซน ได้ตามช่วงเวลาของวัน และเพิ่ม "เดอะริงก์" ลานสเก็ตน้ำแข็งในร่มขนาดใหญ่ บริเวณหน้าบีทูเอส ส่วนของห้างสรรพสินค้าเซนได้เปิดให้บริการตามปกติในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

จากเหตุการณ์ในครั้งนี้เซ็นทรัลพัฒนาต้องสูญเสียรายได้บางส่วน ซึ่งประกอบไปด้วยรายได้จากการเช่าพื้นที่ที่จำเป็นต้องละเว้นให้กับร้านค้าผู้เช่า เนื่องจากไม่สามารถเปิดทำการได้ตามปกติ รวมถึงรายได้สัมพัทธ์รายการอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้บริษัท ยังต้องบันทึกค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมโครงการทั้งหมดเอง โดยระหว่างนั้นเซ็นทรัลพัฒนาได้แจ้งไปยังบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน เพื่อขอเบิกค่าสินไหมทดแทนกรณีที่อาคารถูกเพลิงไหม้ แต่เทเวศประกันภัยกลับแจ้งว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหตุก่อการร้ายจึงไม่ได้เข้าเงื่อนไขการเบิกสินไหมทดแทน ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานเซ็นทรัลพัฒนาก็ได้ดำเนินการฟ้องร้องเทเวศประกันภัยต่อศาลฎีการ่วมกับ กองทุนรวมธุรกิจไทยสี่ (ในฐานะโจทย์คนที่หนึ่ง) บริษัท เซ็นทรัลเวิลด์ จำกัด (ในฐานะโจทย์คนที่สาม) และบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด (ในฐานะโจทย์คนที่สี่) ในเวลาต่อมา[16] รวมถึงได้ยื่นฟ้องร้องเอาผิดกลุ่มคนเสื้อแดงในข้อหาบุกรุกและทำลายทรัพย์สินกับศาลอาญาด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 ศาลได้มีคำสั่งตัดสินเกี่ยวกับสองคดีที่เซ็นทรัลพัฒนายื่นฟ้องร้องไป โดยคดีแรกที่ได้รับการตัดสินก็คือคดีการเบิกสินไหมทดแทน โดยศาลแพ่งตัดสินว่าให้เทเวศประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเซ็นทรัลพัฒนาเป็นจำนวนเงิน 2,719 ล้านบาทสำหรับค่าความเสียหายของทรัพย์สิน รวมถึงค่าชดเชยทดแทนกรณีเหตุธุรกิจหยุดชะงักอีก 989 ล้านบาท โดยให้จ่ายรวมดอกเบี้ยอีก 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554 ไปจนกว่าจะชำระครบทั้งหมด พร้อมทั้งจ่ายค่าทนายและค่าดำเนินการทั้งหมดให้แก่เซ็นทรัลพัฒนาอีก 60,000 บาทด้วย[17] แต่อย่างไรเสีย เทเวศประกันภัย กลับยื่นอุทธรณ์คดีโดยชี้แจงถึงเหตุที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้เพราะเงื่อนไขไม่ตรงกับกรมธรรม์ที่เซ็นทรัลพัฒนาได้ทำไว้ ศาลอุทธรณ์จึงมีคำสั่งพิพากษากลับให้เทเวศประกันภัยไม่ต้องดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเซ็นทรัลพัฒนา ทั้งนี้เซ็นทรัลพัฒนาได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่ากองทุนรวมธุรกิจไทยสี่ได้ทำกรมธรรม์คุ้มครองในกรณีการก่อการร้ายเอาไว้อีกกรมธรรม์หนึ่งกับ บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทจะดำเนินการเบิกสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์นี้แทนเป็นจำนวนเงิน 3,500 ล้านบาท และไทยเศรษฐกิจประกันภัย ได้ดำเนินการจ่ายสินไหมทดแทนเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560

ส่วนคดีความที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษที่ 4 ได้ยื่นฟ้องกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น ศาลอาญาได้ตัดสินว่าจำเลยทั้งสองนั้นไม่มีความผิดเพราะศาลเห็นว่าในหลักฐานจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลที่ถือถังดับเพลิง ไม่ใช่อุปกรณ์วางเพลิง ถึงแม้ว่าจากหลักฐานจะมีภาพถ่ายของยามรักษาความปลอดภัยของศูนย์การค้าที่สามารถจับภาพของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บุกทำลายเข้ามาเข้ามาพร้อมโยนขวดเครื่องดื่มชูกำลังที่บรรจุน้ำมันก๊าซพร้อมจุดไฟเอาไว้ได้ แต่ศาลวินิจฉัยว่าพยานที่เห็นเหตุการณ์นั้น อยู่ไกลจากตัวจำเลยที่ 1 ไปเกินกว่า 30 เมตร ศาลจึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดไป[18]

เหตุนั่งร้านถล่มเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553[แก้]

ในระหว่างการซ่อมแซมห้างสรรพสินค้าเซนนั้น ได้เกิดเหตุนั่งร้านที่ใช้ค้ำยันเพดานชั้น 7 ได้เกิดทรุดตัวลงและถล่มลงมา ส่งผลให้คนงานเสียชีวิต 2 คน และ ได้รับบาดเจ็บ 6 คน และยังมีถังแก๊สที่ใช้ในการเชื่อมเหล็กได้ถูกแผ่นปูนตกลงมาใส่ ได้เกิดความเสียหายและมีแก๊สรั่วออกมา จึงทำให้ต้องรีบตัดกระแสไฟฟ้า ก่อนใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำเพื่อให้แก๊สเจือจาง สาเหตุนั้นเกิดจากบริเวณระหว่างนั่งร้านชั้น 1 กับชั้น 2 ซึ่งใช้เป็นที่พักของอิฐก่อสร้าง รวมถึงนั่งร้านได้ถูกใช้งานเป็นที่ขนแผ่นพื้นคอนกรีต จึงไม่สามารถแบกรับน้ำหนักเอาไว้ได้ส่งผลให้นั่งร้านพังถล่มลงมาจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บดังกล่าว จากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้การซ่อมแซมห้างสรรพสินค้าเซนต้องระงับการซ่อมแซมไปเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับการออกแบบของแบบแปลนนั่งร้าน[19]

เพลิงไหม้อาคารเซนเวิลด์ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554[แก้]

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าเซนที่ยังอยู่ในระหว่างการซ่อมแซม จุดเกิดเหตุอยู่บนชั้น 11 ของอาคารเซนเวิลด์ โดยมีกลุ่มควันโพยพุ่งออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เจ้าหน้าดับเพลิงใช้เวลาเพียง 15 นาทีจึงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ โดยตัวอาคารได้รับความเสียหายที่ส่วนฝ้าเพดานและช่องแอร์ ได้ถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหายกินพื้นที่ประมาณ 15 ตารางเมตร ในเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้นั้นคาดว่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ในขณะที่เกิดเหตุการณ์นั้นศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ยังคงเปิดให้บริการตามปกติอยู่ และไม่ได้กระทบกับผู้ที่ใช้บริการศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์[20]

เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของ กปปส. มกราคม - กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557[แก้]

เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557 คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ กปปส. ได้เริ่มปักหลักชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพมหานครชั้นในเป็นจำนวนกว่า 9 จุด เพื่อเป็นการขัดขวางไม่ให้ข้าราชการและตำรวจสามารถเดินทางไปทำงานได้ตามปกติ โดยจุดหนึ่งที่มีการตั้งเวทีใหญ่ก็คือบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งหลังจากที่เริ่มมีการตั้งเวทีการชุมนุม เซ็นทรัลพัฒนาก็ได้ส่งจดหมายด่วนถึงร้านค้าเช่าว่าจะขอปิดศูนย์การค้าเร็วกว่าปกติ ก็คือเวลา 10.00-18.00 น. โดยใช้เวลานี้เท่ากันทั้งอาคารศูนย์การค้าหลักและอาคารกรูฟ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ในช่วงอาทิตย์แรกของการชุมนุม แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเวลาเปิด-ปิดศูนย์การค้าเป็น 10.00 - 20.00/21.00 น. ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในแต่ละวัน ก่อนที่จะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติในช่วงอาทิตย์ที่สามของการชุมนุม แต่ภายหลังที่เกิดเหตุปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุม เซ็นทรัลพัฒนาก็ใช้เวลาในการเปิดปิดศูนย์การค้าเป็นเวลา 10.00-19.00 น. อีกครั้ง และจะประเมินสถานการณ์รายวันต่อไป

จากเหตุการณ์นี้ทำให้เซ็นทรัลเวิลด์ต้องปิดกั้นพื้นที่บริเวณศูนย์การค้าบางส่วน และไม่อนุญาตให้รถยนต์ผ่านเข้า-ออกบริเวณถนนพระรามที่ 1 ทุกกรณี ซึ่งรถที่จะเข้า-ออกศูนย์การค้า จะต้องใช้ทางเลี่ยงด้านหลังสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน ในการเดินทางเข้ามาแทน แต่ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมก็มีการเปิดเส้นทางให้รถยนต์สามารถเข้า-ออกศูนย์การค้าได้จากฝั่งถนนราชดำริตามปกติ อีกทั้งเหตุการณ์นี้ทำให้การตกแต่งภายในของอาคารกรูฟ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงการก่อสร้างศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากลำเลียงวัสดุก่อสร้างเข้ามาไม่ได้อีกด้วย แต่พอกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เซ็นทรัลเวิลด์ก็กลับมาเปิดให้บริการตามปกติอีกครั้งตั้งแต่เวลา 10.00-22.00 น. สำหรับอาคารศูนย์การค้า และเวลา 10.00-01.00 น. สำหรับอาคารกรูฟ

ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้เซ็นทรัลพัฒนาต้องปรับลดค่าเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าอีกครั้ง นับเป็นการปรับลดราคาเช่าพื้นที่เป็นครั้งที่สองหลังจากไม่ได้ปรับลดอีกตั้งแต่เหตุชุมนุม พ.ศ. 2553 และทำให้เซ็นทรัลพัฒนาต้องสูญเสียรายได้ไปกว่าร้อยล้านบาทภายในระยะเวลา 2 เดือนที่ กปปส. ใช้พื้นที่บริเวณศูนย์การค้าเป็นที่ชุมนุม

เหตุเพลิงไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ 10 เมษายน พ.ศ. 2562[แก้]

เมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. ของวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2562 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ บริเวณโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์[21][22][23][24] โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน และเจ้าหน้าที่สายด่วน 199 ได้รับแจ้งเมื่อเวลา 17.49 น. จึงเดินทางไปตรวจสอบยังที่เกิดเหตุ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงบรรทัดทอง สถานีดับเพลิงพญาไท และสถานีดับเพลิงคลองเตย เพื่อระดมเจ้าหน้าที่ให้ได้มากที่สุดในทันที โดยเมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ สภาพอาคารยังมีเปลวไฟและควันดำพุ่งออกมาจากบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงได้กันประชาชนที่อพยพออกมาให้ออกนอกพื้นที่ และสั่งห้ามเคลื่อนย้ายยานพาหนะทุกชนิดออกจากศูนย์การค้า ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้ในเวลา 18.45 น. ก่อนเข้าสู่สถานการณ์ปกติในเวลา 21.00 น. เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ผู้ได้รับบาดเจ็บ 16 ราย และเสียชีวิต 3 ราย โดยเป็นพนักงานของ บริษัท เซ็นทรัลเวิลด์ จำกัด 2 ราย ได้แก่[25]นายศักดิ์ชัย เจริญลาภ และนายอาทิตย์ คำสาย และประชาชนทั่วไปหนึ่งราย และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ต้องปิดทำการในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2562 เป็นเวลา 1 วัน เพื่อระบายควันออกจากพื้นที่ ก่อนเปิดให้บริการตามปกติในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2562

ต่อมา บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ได้ออกหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงสาเหตุที่แท้จริงของเพลิงไหม้ในครั้งนี้ โดยสาเหตุและต้นเพลิงอยู่ภายในบริเวณภายในห้องเครื่องชั้น B2 ของอาคารสำนักงาน โดยเหตุเกิดบริเวณบ่อดักไขมันของศูนย์การค้าที่เกิดความร้อนสะสมถึง 800 องศา เมื่อมีความร้อนสูงบวกกับสภาพอากาศภายนอกที่ร้อนจัด จึงเกิดประกายไฟอันเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้ในครั้งนี้ เพลิงไหม้สร้างความเสียหายบริเวณห้องเครื่องอย่างหนัก ก่อนกลุ่มควัน ประกายไฟและความร้อนจะลามขึ้นไปยังชั้น 8 อย่างรวดเร็วผ่านช่องลมระบายควัน แต่จากความร้อนที่สูงมากจึงทำให้ช่องลมเกิดการละลายจนถล่มลงมา ก่อให้เกิดกลุ่มควันหนาแน่นบริเวณห้องเครื่องชั้น 8 ก่อนเพลิงไหม้ซ้ำอีกครั้งในบริเวณสำนักงานและห้องเก็บเอกสาร และกลุ่มควันบางส่วนได้ลอยเข้าไปในศูนย์การค้าและตัวโรงภาพยนตร์เอสเอฟเวิลด์ ซีเนม่า[26] อย่างไรก็ตามส่วนของโรงแรมไม่ได้รับความเสียหายในครั้งนี้ และแขกที่เข้าพักรวมถึงพนักงานทุกคนปลอดภัยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น[27] ในส่วนของกรณีสัญญาณเตือนภัยที่ถูกสังคมออนไลน์ร้องเรียน เซ็นทรัลพัฒนาได้ชี้แจงว่าเนื่องจากเซ็นทรัลเวิลด์เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ จึงได้วางระบบป้องกันอัคคีภัยให้แจ้งเตือนเป็นโซน ๆ แทนการวางระบบให้เตือนพร้อมกันทั้งศูนย์ฯ เพื่อป้องกันความตื่นตระหนกตกใจของประชาชนที่จะเพิ่มความลำบากในการอพยพ[28] และในระหว่างที่เกิดเหตุ เชียร์ - ฑิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์ ได้อธิบายถึงวิธีการที่ทางศูนย์ฯ ใช้ว่า ทางห้างใช้วิธีการแชร์โค้ดลับภายในซึ่งรู้กันทั้งหมดในการพูดคุยกัน ตนรู้เรื่องอีกทีคือมีกลุ่มควันลอยมาจากทางศูนย์อาหารฟู้ดเวิลด์ และเริ่มมีประชาชนวิ่งหนีมาจากทางดังกล่าว พนักงานทั้งหมดจึงได้เริ่มทำหน้าที่อพยพคนออกจากห้างให้เร็วที่สุด[29]

เหตุทำร้ายร่างกาย 19 เมษายน พ.ศ. 2565[แก้]

วันที่ 19 เมษายน 2565 เกิดเหตุชายใช้มีดคัตเตอร์ฟันลูกค้าของศูนย์การค้าได้รับบาดเจ็บ 2 คน ด้านเซ็นทรัลเวิลด์แจ้งว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสามารถควบคุมตัวผู้ก่อเหตุไว้ได้ในเวลา 5 นาที[30]

เหตุเพลิงไหม้อาคารกรูฟ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2565[แก้]

เมื่อเวลาประมาณ 15:30 น. ของวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2565 มีรายงานสัญญาณแจ้งเตือนเพลิงไหม้ดังบริเวณอาคารอี และอาคารเอ ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และมีรายงานจากประชาชนทางสื่อสังคมออนไลน์และทวิตเตอร์เป็นจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันได้รับแจ้งในเวลา 16:23 น. และมีประชาชนแตกตื่นวิ่งหนีออกจากศูนย์การค้าเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ศูนย์การค้าแจ้งว่าพบเพลิงไหม้บริเวณใต้บันไดเลื่อนภายในอาคารกรูฟ โซนอินดอร์ ชั้น 1 (บริเวณหน้าร้านคาร์มาคาร์เม็ต) ถนนพระรามที่ 1 เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ของศูนย์การค้าสามารถควบคุมเหตุการณ์เบื้องต้นได้ และอยู่ในระหว่างการระบายควันออกจากตัวอาคาร เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเหตุน่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร และบริเวณใต้บันไดเลื่อนมีการจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ประจำเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นวัสดุติดไฟได้ เลยทำให้เหตุการณ์และความเสียหายออกมาค่อนข้างรุนแรง

ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และศูนย์การค้าในบริเวณอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาคารกรูฟ รวมถึงโรงแรมเซ็นทารา และโรงภาพยนตร์เอสเอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ

รางวัล[แก้]

ปี รางวัล สาขา ผล
2566 Thailand Zocial Awards 2023[31] Best Brand Performance on Social Media กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า ชนะ

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Forbes list of large shopping malls". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-02. สืบค้นเมื่อ 2009-11-04.
  2. https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2298898076840544&id=1174884455908584
  3. เด็กดี.คอม (30 กันยายน 2553). "อาถรรพ์วังเพชรบูรณ์ - - สถานที่ตั้งห้างเซนทรัลเวิด์ล". www.dek-d.com. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. Sky Walk สะพานช็อปปิ้งคนกรุงเทพ
  5. เซ็นทรัลเวิลด์ ดึงพันธมิตรนานาชาติสร้างประสบการณ์ใหม่ หลังอิเซตันหมดสัญญาเช่า - กรุงเทพธุรกิจ , สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2563
  6. เผยโฉมร้าน Apple Central World โลโก้เล่นคำเป็นชื่อเต็มของกรุงเทพฯ เตรียมเปิดเร็ว ๆ นี้
  7. Apple Central World จะเปิดให้บริการในประเทศไทยในวันศุกร์นี้
  8. "เอสเอฟเปิดตัวโรงภาพยนตร์ระบบใหม่ "ซิกม่า ซีเนสเตเดียม"".
  9. "ดู Avatar: The Way of Water อวตาร: วิถีแห่งสายน้ำ ผ่านเครื่องฉาย Christie 4K RGB Pure Laser เครื่องฉายระบบ Laser รุ่นใหม่ล่าสุด ที่มอบความคมชัดที่เหนือกว่าและสีสันสมจริงสมบูรณ์แบบ ครบทั้ง Red, Green และ Blue". www.facebook.com.
  10. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ทุ่มงบกว่า 450 ล้านบาท บุกใจกลางเมืองเปิดโครงการใหม่ที่ เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์
  11. http://www.cpn.co.th/presscenter/detail.asp?id=215[ลิงก์เสีย]
  12. Apple Central World Bangkok / Foster + Partners
  13. "แดงคลั่งเผาสยามเซ็นเตอร์-เซ็นทรัลเวิลด์พินาศ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-24. สืบค้นเมื่อ 2010-05-25.
  14. "ไฟไหม้อาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ควันยังพวยพุ่ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-22. สืบค้นเมื่อ 2010-05-19.
  15. เซ็นทรัลเวิลด์เพลิงเริ่มสงบ วิศวกรรมสถานห่วงถล่มชี้ปกติอาคารรับเพลิงได้แค่2-3ชม. ห้ามปชช.เข้าใกล้
  16. เซ็นทรัลเวิลด์ลั่นฟ้องประกันเบี้ยวจ่ายเพลิงไหม้ ทุ่ม20ล.จัดเคาท์ดาวน์[ลิงก์เสีย]
  17. "ศาลแพ่งสั่งเทเวศประกันภัยจ่ายเซ็นทรัลเวิลด์ 3.7 พันล้าน ชดเชยไฟไหม้วันสลายม็อบแดง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-02. สืบค้นเมื่อ 2016-03-24.
  18. ศาลปล่อย2นปช. ยกฟ้อง! เผาเซ็นทรัลเวิลด์[ลิงก์เสีย]
  19. "นั่งร้านห้าง ZEN ถล่ม คนงานเสียชีวิต 2 คน ได้รับบาดเจ็บ 6 คน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-03. สืบค้นเมื่อ 2011-01-03.
  20. "ไฟไหม้ห้างเซนศูนย์ค้าเซ็นทรัลเวิลด์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-23. สืบค้นเมื่อ 2011-02-22.
  21. ด่วน! ไฟไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ สั่งปิดห้าง เร่งอพยพคน
  22. ด่วน! ไฟไหม้ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เสียชีวิต 3 คน
  23. ด่วน! ไฟไหม้ เซ็นทรัลเวิลด์ โซนโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ควันดำพุ่งเต็มฟ้า
  24. "ระทึก!! ไฟไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ โซนโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ควันดำโขมง หนีตายโกลาหล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-10. สืบค้นเมื่อ 2019-04-10.
  25. เกาะติด! เหตุไฟไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ เสียชีวิต 3 บาดเจ็บ 7 ราย
  26. แจ้งเกี่ยวกับเหตุการณ์เกิดกลุ่มควันบริเวณโครงการเซ็นทรัลเวิลด์ - บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา
  27. "แจ้งเกี่ยวกับเหตุการณ์เกิดกลุ่มควันบริเวณโครงการเซ็นทรัลเวิลด์ - บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-04-11. สืบค้นเมื่อ 2019-04-11.
  28. แถลงการณ์จากบมจ. เซ็นทรัลพัฒนา
  29. "โดม-เชียร์"เล่านาทีระทึกหนีตาย ไฟไหม้เซ็นทรัลเวิลด์
  30. "เซ็นทรัลเวิลด์ เข้มรักษาความปลอดภัยหลังเกิดเหตุทำร้ายร่างกาย". ประชาชาติธุรกิจ. 19 April 2022. สืบค้นเมื่อ 19 April 2022.
  31. "ประกาศผล Thailand Social Awards ครั้งที่ 11 แบรนด์และผู้ทรงอิทธิพลบนโลกโซเชียลยกทัพร่วมงานคับคั่ง". ไทยรัฐ. 2023-02-24. สืบค้นเมื่อ 2023-02-25.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°44′48″N 100°32′21″E / 13.746534°N 100.539220°E / 13.746534; 100.539220