วัดสุทธิวราราม

พิกัด: 13°42′46″N 100°30′47″E / 13.712701°N 100.513080°E / 13.712701; 100.513080
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสุทธิวราราม
อุโบสถวัดสุทธิวราราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดสุทธิวราราม
ที่ตั้งถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระประธานพระพุทธสุทธิมงคลชัย
เจ้าอาวาสพระสุธีรัตนบัณฑิต (สุทิตย์ อาภากโร รศ.ดร. ป.ธ.๗)
ความพิเศษเป็นวัดราษฎร์แห่งแรกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน, วัดประจำสกุล ณ สงขลา
จุดสนใจอุโบสถหินอ่อนจตุรมุข 2 ชั้น และภาพจิตรกรรมฝาผนังภายใน, รมณียสถาน
เว็บไซต์วัดสุทธิวราราม , Watsuthiwararam
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดสุทธิวราราม ตั้งอยู่บน ถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 13 วา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2424 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี นับเป็นวัดประจำสกุล ณ สงขลา ในกรุงเทพมหานครอีกแห่งหนึ่งนอกจากวัดสุวรรณคีรี จังหวัดสงขลา[1]

ประวัติ[แก้]

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกอบกู้เอกราชแล้ว ได้เสด็จไปปราบหัวเมืองที่ตั้งตนเป็นก๊กต่างๆ และในปี พ.ศ. 2312 ได้ยกทัพทางเรือไปปราบก๊กเจ้านครศรีธรรมราชที่เมืองนครศรีธรรมราช แล้วได้นำตัวพระยานครศรีธรรมราช (หนู) พร้อมภรรยาและธิดามายังกรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้พำนักอยู่ฝั่งธนบุรีประมาณ 2 ปี ต่อมาพระยานครนครศรีธรรมราช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ย้ายมามาตั้งบ้านพักอยู่ฝั่งพระนคร ตามแนวคลองกรวย ติดแม่น้ำเจ้าพระยา (ปรากฏชื่อว่า “ตรอกพระยานคร” ซอยเจริญกรุง 69 ในปัจจุบัน) ก็ได้รับพระราชทานที่ดินประมาณ 200 ไร่ โดยพระยานครศรีธรรมราช ขอพระราชทานสร้างวัดใกล้ๆ กับวัดคอกควายหรือที่เรียกว่า “วัดยานนาวา” ในปัจจุบัน โดยยกเนื้อที่พระราชทานถวายเป็นที่วัด 48 ไร่ เบื้องต้นไม่ปรากฏชื่อวัดไม่ปรากฏชัดเจน[2] ต่อมาในปี พ.ศ. 2319 สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงแต่งตั้งให้พระยานครศรีธรรมราช (หนู) กลับไปครองเมืองนครศรีธรรมราชดังเดิม และพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระเจ้านครศรีธรรมราช ให้มีเกียรติเสมอเจ้าประเทศราช มีอำนาจแต่งตั้งขุนนางตามแบบจตุสดมภ์ได้เช่นเดียวกับราชธานี[3] วัดแห่งนี้ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าอยู่ในอุปภัมป์ของผู้ใดหลังจากนั้น ต่อมาภายหลังมีชาว "ลาวเวียง" ซึ่งถูกการกวาดต้อนมาจากกรุงเวียงจันทน์ตั้งแต่สงครามเจ้าอนุวงศ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้กับวัด จึงเป็นที่มาให้คนทั่วไปเรียกวัดแห่งนี้ว่า "วัดลาว"[4]

เมื่อวัดลาวตั้งมาได้เป็นระยะเวลาประมาณ 100 ปี ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดเพลิงไหม้วัดทั้งหมด จึงต้องย้ายวัดไปสร้างในที่ป่าช้าของวัด ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดสุทธิวรารามในปัจจุบัน[5] ที่ตั้งวัดเดิมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็รกร้างว่างเปล่า ต่อมาบริษัทวินเซอร์โรซ (Windsor, Rose&Co.,) ซึ่งเป็นบริษัทชาวเยอรมัน มาขอเช่าทำที่ดิน โดยทำสัญญาเช่าที่ดินจากกระทรวงธรรมการ ตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จรด ถนนเจริญกรุง เพื่อสร้างเป็นโกดังเก็บสินค้า เมื่อได้เช่าแล้วก็ได้สร้างรั้วรอบพื้นที่ สร้างท่าเทียบเรือตรงมาจากถนนซอยแสงจันทร์ลงไปแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเรียกชื่อว่า “ท่าเจ้าพระยา” แต่ในฐานะที่ผู้จัดการบริษัทวินเซอร์โรซสวมแว่นตา[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งคนไทยในสมัยนั้นยังไม่ค่อยรู้จักแว่นตามากนัก[ต้องการอ้างอิง] จึงเรียกท่าน้ำนี้ว่า “ท่าสี่ตา” จนถึงปัจจุบัน[6][7]

จากจารึกในแผ่นศิลาที่ติดไว้หน้าโบสถ์หลังเก่า ระบุว่า วัดนี้เดิมเป็นวัดร้าง เมื่อปี ร.ศ. 100 ปีมะเส็ง จุลศักราช 1243 ตรงกับพุทธศักราช 2424 ท่านผู้หญิงสุทธิ์ ภริยาเจ้าพระยาสงขลา (เม่น ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ลำดับที่ 6 ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างขึ้นใหม่ และเมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดสุทธิวราราม” ตามนามของท่านผู้หญิงสุทธิ์

ต่อมาวัดนี้ทรุดโทรมลง ท่านปั้น หรือ นางอุปการโกษากร (ปั้น ณ สงขลา วัชราภัย) ภรรยาหลวงอุปการโกษากร (เวท วัชราภัย) ซึ่งเป็นบุตรีเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) และท่านผู้หญิงสุทธิ์ มีกตัญญูระลึกถึงคุณบิดา มารดา และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ปฏิสังขรณ์ก่อสร้างขึ้นบริบูรณ์ ในปี ร.ศ. 118 จุลศักราช 1262 ตรงกับพุทธศักราช 2442[6] และได้รับแต่งตั้งให้เป็นมรรคทายิกาวัดสุทธิวราราม ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2445 โดยให้ความอุปถัมภ์ตลอดมา

และเมื่อท่านปั้น อุปการโกษากร ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2451 ด้วยโรคฝีที่ข้อศอกข้างซ้าย[8] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาฯ โปรดเกล้าให้ บุตรชายของท่านปั้น พระศิริศาสตร์ประสิทธิ์ (สุหร่าย วัชราภัย) ดำรงตำแหน่งมรรคนายกวัดสุทธิวรารามต่อจากมารดา เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2451[9] บุตรธิดาของท่านปั้น ได้แก่

  1. คุณหญิงวิเชียรคีรี (สมบุญ วัชราภัย ณ สงขลา) ภริยาพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ลำดับที่ 8
  2. คุณหญิงสุรบดินทรสุรินทรฦๅชัย (บุญรอด วัชราภัย จารุจินดา) ภริยา เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦๅชัย (พร จารุจินดา) สมุหพระนครบาล อุปราชมณฑลพายัพ และองคมนตรี
  3. นางอนันตสมบัติ (เชื้อ วัชราภัย ณ สงขลา) ภริยาพระอนันตสมบัติ (เอม ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา มารดาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานองคมนตรี และพระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) องคมนตรี
  4. พระศิริศาสตร์ประสิทธิ์ (สุหร่าย วัชราภัย) ต่อมาเป็น ต่อมาเป็น พระยาพิจารณาปฤชามาตย์มานวธรรมศาสตร์สุปฤชา (สุหร่าย วัชราภัย) องคมนตรี
  5. คุณหญิงเพชรกำแหงสงคราม (เป้า วัชราภัย ยุกตะนันท์) ภริยาพระยาเพชรกำแหงสงคราม (มะลิ ยุกตะนันท์) ผู้สำเร็จราชการเมืองชุมพร ลำดับที่ 12
  6. หลวงการุญนรากร (แดง วัชราภัย) ต่อมาเป็น พระกรณีศรีสำรวจ (แดง วัชราภัย)
  7. คุณหญิงศรีสังกร (ตาบ วัชราภัย จารุรัตน์) ภริยาพระศรีสังกร (ตาด จารุรัตน์) ต่อมาเป็นพระยาศรีสังกร (ตาด จารุรัตน์) ประธานศาลฎีกา

มีประสงค์จะสร้างอนุสรณ์สถานเพื่ออุทิศเป็นทักษิณานุปทานแด่มารดา โดยมีพระศิริศาสตร์ประสิทธิ์เป็นหัวหน้า จึงได้รวบรวมทุนทรัพย์จัดสร้างโรงเรียนขึ้นในบริเวณที่ธรณีสงฆ์ซึ่งบริษัทวินเซอร์โรซเช่าอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นสถานที่อบรมและให้การศึกษาแก่เยาวชนของชาติ ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวราราม” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาทรงกระทำพิธีเปิด[ต้องการอ้างอิง] เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 เป็นโรงเรียนแรกที่สร้างขึ้นในรัชกาลของพระองค์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรสชมเชย ให้การสร้างโรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวราราม เป็นแบบอย่างของการบำเพ็ญกุศลที่ต้องด้วยพระราชนิยมเป็นอย่างยิ่ง[10][11]

ในปี พ.ศ. 2460 ทางบริษัทวินเซอร์โรซ (ห้างสี่ตา) ได้หมดสัญญาเช่าที่ดิน(ด้านหน้า) ท่านขุนสุทธิดรุณเวทย์ (ชื่น วิเศษสมิต) อาจารย์ผู้ปกครองได้ขอสถานที่จากทางวัดสุทธิราราม เพื่อสร้างเป็นโรงเรียนชั้นประถม เมื่อท่านเจ้าอาวาสวัดสุทธิรารามได้กรุณาให้เป็นไปตามความประสงค์ จึงได้รื้อโรงเรียนประถมวัดยานนาวา มาปลูกสร้างต่อจากโรงเรียนเดิมไปทางทิศตะวันตก เมื่อสร้างเสร็จแล้ว กระทรวงธรรมการ เห็นสมควรจะเปิดเป็นโรงเรียนสตรีอีกแผนกหนึ่ง

พ.ศ. 2461 เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงประกาศสงครามกับประเทศเยอรมัน จึงส่งทหารเข้ายึดโกดังของบริษัทวินเซอร์โรซ ในฐานะเชลยสงคราม เมื่อยึดโกดังทรัพย์สินไปแล้ว ที่ดินวัดซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ก็พลอยติดไปด้วย ที่ดินนี้จึงเป็นที่ราชพัสดุ แล้วกลายเป็นที่ตั้งองค์การสะพานปลาในปัจจุบัน โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด 18 ไร่
ต่อมาวัดนี้ทรุดโทรมลงอีก ในปี พ.ศ. 2473 เชื้อ ณ สงขลา ภรรยาพระอนันตสมบัติ (เอม ณ สงขลา) บุตรี ท่านปั้นฯ และหลวงอุปการโกษากร (เวท วัชรภัย) ได้จัดการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยได้รื้อเพิงทั้งด้านและด้านหลังของอุโบสถ เปลี่ยนมุขซ้อนลงมาและได้ปฏิสงขรณ์อุโบสถทั้งหลัง รวมทั้งได้ย้ายแท่นระประธานซึ่งเดิมตั้งอยู่ด้านตะวันตก เปลี่ยนมาเป็นทิศตะวันออกและสร้างพระประธานขึ้นใหม่หันพระพักตร์ไปทางถนนเจริญกรุง วัดนี้ได้อยู่ในความอุปถัมภ์ของท่านผู้สร้างในครั้งแรก และครั้งต่อ ๆ มา ดังได้ออกนามมาแล้ว ตลอดจนถึงผู้ที่สืบตระกูลของท่านเหล่านั้น เป็นต้นว่า เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) และพระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) ผู้เป็นองคมนตรี โดยเป็นผู้ช่วยเหลือ อุปถัมภ์สืบต่อจาก เชื้อ ณ สงขลา ผู้เป็นมารดา

ที่สำคัญยิ่งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดสุทธิวราราม ซึ่งเป็นการทอดผ้าพระกฐินหลวงครั้งแรก ณ วัดที่ไม่ใช่พระอารามหลวง[12] หลังจากถวายผ้าพระกฐินเสร็จแล้ว ได้ตรัสกับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานองคมนตรี ผู้รับเสด็จใกล้ชิดว่า

ขอฝากดูแลวัดนี้ด้วย มีโอกาสจะมาอีก

หลังจากนั้น วัดสุทธิวราราม ก็ได้มีการพัฒนาเพื่อเป็นสถานที่พักอาศัยและศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุ สามเณร รวมทั้งเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลของพุทธศาสนิกชนและเป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนของกุลบุตร กุลธิดา สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันวัดสุทธิวราราม มีรองศาสตราจารย์ ดร. พระสุธีรัตนบัณธิต (สุทิตย์ อาภากโร) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและรองคณบดีคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย[13] เป็นเจ้าอาวาส

ถาวรวัตถุภายในวัด[แก้]

วัดสุทธิวรารามมีที่ดินที่ตั้งวัด โดยมีเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 13 วา มีสิ่งปลูกสร้างดังนี้

สิ่งปลูกสร้าง[แก้]

อุโบสถ[แก้]

สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2537 เป็นอุโบสถจัตุรมุข กว้าง 9 เมตร ยาว 25 เมตร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาแกรนิต พื้นทั้ง 2 ชั้น ปูด้วยหินแกรนิต ฝาผนังทั้งด้านในและด้านนอกบุด้วยหินอ่อน

กุฏิสงฆ์สุทธิวราราม[แก้]

สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2530 กว้าง 9 เมตร ยาว 21 เมตร สูง 4 ชั้น สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นด้านล่างโล่งเป็นอเนกประสงค์ ชั้นบนทั้ง 3 ชั้นเป็นห้องพักพระภิกษุ-สามเณร 21 ห้อง มีห้องน้ำ – ห้องส้วมในตัว

ศาลา อโศกมหาราช[แก้]

สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2535 เป็นอาคารตรีมุข 4 ชั้น กว้าง 12 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาหินอ่อนกลม พื้นแกรนิต ชั้นล่างโล่งเป็นอเนกประสงค์ เช่นเดียวกับชั้นที่ 2 ส่วนชั้นที่ 3-4 เป็นห้องพักสงฆ์มีห้องน้ำ – ห้องส้วมในตัว พื้นปูด้วยหินอ่อน

ศาลา นวมินทรมหาราช[แก้]

สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2544 เป็นอาคารตรีมุข กว้าง 16 เมตร รวมมุข 5 เมตร ยาว 36 เมตร เสากลมแกรนิต พื้นแกรนิต ชั้นล่างกว้างโล่ง ชั้นที่ 2 เสาหินอ่อน เปิดโล่งตลอดสำหรับเป็นห้องประชุม ชั้นที่ 3-4 เป็นห้องพักสงฆ์ 32 ห้อง มีห้องน้ำครบ

อื่นๆ[แก้]

  • กุฏิ ที่พักสงฆ์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2473 เป็นอาคารฝาแฝด 2 ชั้น หันหน้าเข้าหากัน กว้าง 14 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างด้วยไม้สัก ผสมคอนกรีต ชั้นล่างเป็นพื้นที่โล่งใช้อเนกประสงค์ ส่วนชั้นที่ 2 มีห้องพักพระภิกษุ-สามเณรจำนวน 16 ห้อง
  • ศาลาการเปรียญ สร้างในปี พ.ศ. 2474 เป็นอาคารไม้สักทองทั้งหลัง 2 ชั้น กว้าง 12 เมตร ยาว 12 เมตร
  • กุฏิเจ้าอาวาส สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2473 เป็นอาคารไม้สักทอง 2 ชั้น กว้าง 15 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างโดยท่านเชื้อ ณ สงขลา
  • หอระฆัง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2475 อุปถัมภ์โดยคุณหญิงจำเริญ พิจารณาปรีชามาตย์
  • เจดีย์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2480
  • เมรุเผาศพ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2529 ใช้เตาเผาระบบป้องกันมลภาวะ 2 หัวเตา
  • ศาลาบำเพ็ญกุศล 3 หลัง

ปูถุชนียวัตถุที่สำคัญ[แก้]

องค์พระประธานในอุโบสถ ปางมารวิชัย ศิลปะแบบสุโขทัย โดยท่านผู้หญิงสุทธิ์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6

เจดีย์ทรงลังกา 1 องค์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นแบบศิลปะไทยประยุกต์ โดยสร้างครอบเจดีย์องค์เก่า ซึ่งเรียกว่าเจดีย์ดำ

พระพุทธบาทจำลอง ยาวขนาด 1 เมตร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 มีความสวยงามตามลักษณะแห่งพระมหาบุรุษ

อ้างอิง[แก้]

  1. หนังสือเวียนฉบับที่ 4 / 2556 การทำบุญในโอกาสครบ 100 ปีวันพระราชทานนามสกุล ณ สงขลา ชมรมสายสกุล ณ สงขลา
  2. วัดสุทธิวราราม, ประวัติวัดสุทธิวรารามโดยสังเขป, หน้า15
  3. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 2 [เรื่องตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรี]
  4. เสถียรโกเศศ, ฟื้นความหลัง, หน้า 26
  5. วัดสุทธิวราราม, ความรู้เรื่องพระราชพิธีที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดสุทธิวราราม 12 ตุลาคม 2533, ไม่ปรากฏเลขหน้า
  6. 6.0 6.1 วัดสุทธิวราราม, ประวัติวัดสุทธิวรารามโดยสังเขป, หน้า 16
  7. กาญจนาคพันธุ์ (ขุนวิจิตรมาตรา), กรุงเทพฯ เมื่อ 70 ปีก่อน, หน้า 326
  8. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 25, แจ้งความกระทรวงธรรมการ [เรื่อง ปั้นมรรคนายิกาวัดสุทธิวรารามป่วยถึงแก่กรรม] หน้า 116
  9. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 25, พระราชทานสัญญาบัตรมรรคนายก [พระศิริศาสตร์ประสิทธิ์เป็นมรรคนายกวัดสุทธิวราราม] หน้า 585
  10. สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ มร. 6ศ/5, เรื่องโรงเรียนวัดสุทธิวรารามแลประกาศพระราชนิยมในการสร้างโรงเรียน, หน้า 10-11
  11. สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ มร. 6ศ/5, ทูลเกล้าถวายร่างประกาศพระราชนิยมเรื่องบำเพ็ญกุศลในวิธีสร้างโรงเรียน
  12. ตอนบ่ายวันที่ 12 ตุลาคม 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม, วัดมหาพฤฒารามและวัดสุทธิวราราม -- สำนักพระราชวัง[ลิงก์เสีย]
  13. http://www.mcu.ac.th/site/director1.php เก็บถาวร 2017-07-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้อำนวยการ - มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บรรณานุกรม[แก้]

  • ศตวัชรบงกช 100 ปี โรงเรียนวัดสุทธิวราราม.-- กรุงเทพฯ : โรงเรียนวัดสุทธิวราราม, 2554.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°42′46″N 100°30′47″E / 13.712701°N 100.513080°E / 13.712701; 100.513080