เจ้าอนุวงศ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าอนุวงศ์

สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 5
ครองราชย์พ.ศ. 2348-2371
รัชสมัยราว 23 ปี
รัชกาลก่อนหน้าสมเด็จพระเจ้าอินทวงศ์
รัชกาลถัดไปสิ้นสุดราชวงศ์
ประสูติพ.ศ. 2310
นครหลวงเวียงจันทน์ ราชอาณาจักรล้านช้าง
สวรรคตพ.ศ. 2371 (61 พรรษา)
กรุงเทพมหานคร อาณาจักรรัตนโกสินทร์
พระมเหสีพระอัครเทวีคำป้อง (ฝ่ายขวา) [1] และพระอัครเทวีคำจัน (ฝ่ายซ้าย)
พระราชบุตรราว 30 พระองค์
ราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์
พระราชบิดาพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 (สมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร)

เจ้าอนุวงศ์ หรือ เจ้าอนุ (ลาว : ເຈົ້າອານຸວົງ ) พระมหากษัตริย์ราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ลำดับ 5 หรือองค์สุดท้าย (ปกครองราว พ.ศ. 2348-2371) รับการยกย่องเป็นพระมหาวีรกษัตริย์และมหาราชของประเทศลาว ในฐานะผู้พยายามกอบกู้เอกราชจากการเป็นประเทศราชสยาม[2][3] นักประวัติศาสตร์ลาวและไทยนิยมออกพระนามพระเจ้าไชยเสฏฐาธิราชที่ 3 หรือพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 บางกลุ่มตรวจสอบพระนามตามจารึกโดยละเอียดพบว่าทรงเป็นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 5 เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าสิริบุญสารพระราชบิดาและพระเจ้าอินทวงศ์พระราชเชษฐาได้ออกพระนามว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเช่นกัน

พระนาม[แก้]

เจ้าอนุวงศ์มีพระนามเต็มตามจารึกวัดสีสะเกดนครหลวงเวียงจันทน์ว่า สมเด็จบรมบพิตร พระมหาขัติยธิเบศ ไชยเชษฐาชาติสุริยวงศ์ องค์เอกอัครธิบดินทร บรมมหาธิปติราชาธิราช มหาจักรพรรดิ์ภูมินทรมหาธิปตน สากลไตรภูวนาถ ชาติพะโตวิสุทธิ มกุตสาพาราทิปุล อตุลยโพธิสัตว์ ขัติยพุทธังกุโลตรน มหาโสพัสสันโต คัดชลักขรัตถราชบุรี สีทัมมาธิราช บรมนาถบรมบพิตร มีการตั้งข้อสังเกตว่าพระนามนี้อาจชี้ว่านครหลวงเวียงจันทน์คงพยายามประกาศเป็นกรุงเอกราช ส่วนจารึกหลักอื่น ๆ ออกพระนามต่างกันไป เช่น พระมหาธรรมิกสีหตบูรราชาธิราช พระศรีหะตะนุ พระมหาขัติยธิเบศไชยเชษฐา พระราชเชษฐา พระโพธิสาลราชาธิราชเจ้าจักรพรรดิธรรมิกราชาธิราช พระไชยเชษฐาธิราชชาติสุริยวงศ์องค์อัครธิบดินทร์ พระภูมินทราธิปัติธรรมิกราชาธิราช พระมหาธรรมิกราชไชยมหาจักรพรรดิ์[4] เป็นต้น ส่วนวรรณกรรมประวัติศาสตร์พื้นเวียงจันทน์ 2 สำนวนระบุพระนามว่าพระเจ้าอนุรุธราชและพระยาอนุพาวันดี[5]

พระราชประวัติ[แก้]

ราชตระกูล[แก้]

เจ้าอนุวงศ์ได้รับแต่งตั้งจากกรุงเทพฯ ให้ไปครองเวียงจันทน์ในปี พ.ศ. 2347 ภาพวาดโดย เหม เวชกร

เจ้าอนุวงศ์เป็นพระราชโอรสลำดับ 3 ของสมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร กษัตริย์ล้านช้างเวียงจันทน์ (ครองราชย์ราว พ.ศ. 2294-2322) มารดาเป็นชาวนครหลวงเวียงจันทน์ นักประวัติศาสตร์มองว่าพระราชมารดาของพระองค์อาจมีตำแหน่งเป็นนางเจ้าเอกเมืองคือพระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าศิริบุญสาร ทำให้ทราบว่าพระองค์เป็นพระราชอนุชาร่วมพระราชมารดากับสมเด็จพระเจ้าอินทวงศ์แต่ต่างพระราชมารดากับสมเด็จพระเจ้านันทเสน ส่วนราชตระกูลฝ่ายพระราชบิดาราชสืบสันตติวงศ์จากเจ้าชมภู (ซมพู) พระราชเชษฐาองค์ใหญ่ของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชซึ่งถูกเนรเทศไปเมืองเว้ราชธานีจักรวรรดิเวียดนาม เนื่องจากพระเจ้าสุริยวงศาต้องการกำจัดคู่แข่งการเมือง ครั้งเจ้าชมภูประทับอยู่เวียดนามทรงมีพระโอรสพระนามเจ้าไชย เนื่องจากประสูติที่กรุงเว้จึงออกพระนามพระไชยองค์เว้ (องค์แว้) ภายหลังพระไชยองค์เว้ชิงราชสมบัติเจ้านันทราชและปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 มีพระราชโอรสคือเจ้าองค์ลอง พระราชนัดดาคือเจ้าองค์บุญหรือสมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร พระราชพงศาวดารล้านช้าง ภาษาลาว ฉบับหอสมุดแห่งชาติกรุงเทพฯ ระบุว่า ...เจ้าสุริยกุมารลูกหล้าเจ้าต่อนคำได้เสวยเมืองล้านซ้างผาบแผ่นดินลาวทั้งมวล ทรงนามกรขึ้นซื่อว่าพระสุริยวงษาธรรมิกราชาบรมบพิตรราชะเจ้าล้านซ้างฮ่มขาวแล แล้วใส่มาบรรพาซนิยกรรมขับพี่อ้ายทั้ง 4 องค์หนีจากเมือง ส่วนดั่งเจ้าซมภูผู้เป็นพี่ตนจึ่งเอาเมียทั้งแสนทิพนาบัวหนีไปอยู่เมืองแว้พึ่งแกวนั้นแล ครั้งนั้นเจ้าบุญซูหนีไปบวชอยู่ภูหอภูโฮงโน้นแล ท้าวบุ (ปุ) นั้นพ่ายหนีมาอยู่เซียงคานก็อนิจกรรมเสียหั้นแล ท้าวส้อย (ซ้อย) ผู้น้องนั้นพ่ายไปอยู่สะพือหลวงก็ถึงอนิจกรรมเสียนั้น ดั่งเจ้าซมภูไปพึ่งอยู่สะพือหลวงแกวนั้นมีลูกผู้หนึ่งซื่อพระไซยองค์แว้...พระไซยองค์แว้ก็หลานเจ้าสุริย...พระไซยองค์แวนั่งเวียงจัน ลูกพระไซยองค์แว้นั้นแม่นองค์รอง (ลอง) ลูกเจ้าองค์รองนั้นแม่นองค์บุญ...

เหตุการณ์สงครามเจ้าอนุวงศ์[แก้]

พ.ศ. 2368 เจ้าอนุวงศ์เสด็จถวายพระเพลิงพระบรมศพ ร. 2 ของสยาม เอกสารฝ่ายสยามคือพระราชพงศาวดารระบุว่าทรงพิจารณาว่ากองทัพสยามอ่อนแอเนื่องจากแม่ทัพนายกองรุ่นเก่าที่มีฝีมือสิ้นชีวิตหลายคน และมีข่าวลือถึงนครหลวงเวียงจันทน์ว่าสยามกับอังกฤษวิวาทกันจากการทำสนธิสัญญาเบอร์นี ต่อมากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์สถาปนาขึ้นเป็น ร. 3 เจ้าอนุวงศ์ทูลขอพระราชทานละครในของเวียงจันทน์ เจ้าหญิงลาวพระนามเจ้านางดวงคำ[6] และชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาสยามสมัยธนบุรีให้กลับคืนบ้านเมืองแต่ไม่อนุญาต อาจเป็นเหตุให้พระองค์ไม่พอพระทัยจึงยกทัพลงมาโดยตั้งใจเข้าตีกรุงเทพฯ ทรงเริ่มวางอุบายแก่เจ้าเมืองลาวตามรายทางว่าจะยกทัพช่วยกรุงเทพฯ รบอังกฤษทำให้กองทัพลาวสามารถเดินทัพผ่านได้โดยสะดวก เอกสารฝ่ายลาวคือพื้นเวียงจันทน์ระบุว่าทรงโปรดฯ ให้เจ้านายหัวเมืองลาวเข้าร่วมตีนครราชสีมาเนื่องจากเจ้านครราชสีมาล่วงล้ำแดนลาวเข้าตีข่าสักเลกไปมอบให้สยาม พระองค์ไม่ได้ตั้งใจลงตีกรุงเทพฯ แต่ประการใด บรรดาเจ้าเมืองลาวทั้งสองฝั่งโขงต่างไม่พอใจเจ้าเมืองนครราชสีมาอยู่แล้วจึงร่วมมือกับพระองค์ เช่น พระยาไกรสอนคำแดงเจ้าเมืองภูขัน (ขุขันธ์) พระยาขัติยวงศาเจ้าเมืองร้อยเอ็ด พระบรมราชาเจ้าเมืองนครพนม พระยานรินทรสงครามเจ้าเมืองสี่มุม เป็นต้น เอกสารฝ่ายสยามระบุว่าเมื่อทัพลาวยกถึงนครราชสีมาทรงฉวยโอกาสที่เจ้าเมืองและพระยาปลัดเมืองนครราชสีมาไปราชการที่ขุขันธ์เข้ายึดเมืองและกวาดต้อนครัวโคราชขึ้นไปนครหลวงเวียงจันทน์ เอกสารฝ่ายลาวระบุว่าเจ้าเมืองนครราชสีมาทราบข่าวทัพลาวยกถึงนครราชสีมาเกรงว่าจะต้องโทษที่ล่วงล้ำแดนนครหลวงเวียงจันทน์และนครจำปาศักดิ์จึงทิ้งเมืองและปลอมตัวหนี เมื่อพระองค์เสด็จถึงวังเจ้านครราชสีมาอันใหญ่โตซึ่งมีถึง 7 หลังและมีพื้นที่บรรจุทหารกว่าพันคนจึงโปรดฯ ให้พระบรมราชา (มัง ต้นสกุลมังคละคีรี) เจ้าเมืองนครพนมเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมาแทน ต่อมาเอกสารฝ่ายสยามระบุว่าระหว่างทัพลาวพักไพร่พลเชลยที่ทุ่งสัมฤทธิ์ครัวเมืองนครราชสีมาวางอุบายลวงฆ่าทหารลาวจำนวนมากแล้วตั้งค่ายรอทัพกรุงเทพฯ ขึ้นมาช่วย ทหารลาวเห็นการไม่สำเร็จจึงถอยทัพกลับตั้งมั่นที่นครหลวงเวียงจันทน์เพื่อรอรับศึกสยาม สยามเห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ของท้าวสุรนารี (โม หรือโม้) ชายาเจ้านครราชสีมา[7] และวีรกรรมนางสาวบุญเหลือธิดากรมการเมืองนครราชสีมา ส่วนลาวไม่พบเอกสารชั้นต้นหรือเอกสารปฐมภูมิระบุวีรกรรมสตรีทั้งสองท่าน ข้อสังเกตในมุขปาฐะฝ่ายลาวระบุว่าท้าวสุรนารีเดิมเป็นชาวลาวมีใจใฝ่สยามจึงร่วมวางแผนกับสยามตีเวียงจันทน์ซึ่งยังไม่พบเอกสารลายลักษณ์มายืนยัน กรณีดังกล่าวลาวระบุว่าเหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นวีรกรรมเจ้าเมืองและราชวงศ์ลาวอย่างน้อย 5 ท่านที่จงรักภักดีแก่เวียงจันทน์คือ วีรกรรมพระยานรินทร์สงคราม (เจ้าจอมนรินทร์ หรือพระยาโนลิน ต้นสกุลลาวัณบุตร์) เจ้าเมืองจตุรัส (เมืองสี่มุม) และเมืองหนองบัวลุ่มภู (หนองบัวลำภู) วีรกรรมพระบรมราชา (มัง บ้างว่าสุตตา) เจ้าเมืองนครพนมและนครราชสีมา วีรกรรมเจ้าอุปอาดและท้าวคำม่วน (คำ) เมืองยโสธร[8] และวีรกรรมสมเด็จเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) พระราชโอรสของเจ้าอนุวงศ์

สงครามนี้ฝ่ายกรุงเทพฯ ทราบข่าวทัพลาวช้ากว่าที่คิดหลังทัพลาวตั้งมั่นที่นครราชสีมา ต่อมาสยามส่งกองลาดตระเวนหาข่าวถึงเมืองสระบุรี เมื่อ ร. 3 ทราบข่าวศึกจึงโปรดเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์เป็นแม่ทัพใหญ่ยกจากสระบุรี ให้พระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งเอกสารฝ่ายลาวเรียกพระยามุนินเดช ยกทัพไปทางเมืองปัก (อำเภอปักธงชัย) สมทบกันที่นครราชสีมา กองทัพทั้ง 2 ตีทัพลาวแตก ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จลี้ภัยและปรึกษาราชการศึกที่เวียดนามโดยความคุ้มครองของจักรพรรดิเวียดนาม หลังทัพสยามทำลายนครหลวงเวียงจันทน์ได้กรมพระราชวังบวรฯ โปรดฯ ให้สร้างเจดีย์ปราบเวียงที่หนองคาย และให้พระยาราชสุภาวดีกวาดครัวนครหลวงเวียงจันทน์ไปกรุงเทพฯ ทัพสยามอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญไปจำนวนมาก​ เช่น​ พระบาง พระแซกคำ (พระแทรกคำ) พระสันส้มมอ (พระฉันสมอ) พระเสริม พระสุก พระใส พระแสน พระแก่นจันทน์ พระเงินหล่อ พระเงินบุ พระสรงน้ำ พระศิลาเขียว (พระนาคสวาดิเรือนแก้ว) เป็นต้น เอกสารฝ่ายลาวระบุว่ายังมีสมบัติล้ำค่าและพระพุทธรูปประจำหัวเมืองลาวหลายองค์ที่ทัพสยามพยายามอัญเชิญไปแต่ประชาชนลาวนำไปซ่อนในถ้ำก่อน อาทิ พระแสงเมืองนครพนมซ่อนที่เมืองมหาไชย พระแก้วมรกตจำลองซ่อนในองค์พระธาตุพนม พระทองคำจำนวนมากซ่อนในถ้ำปลาฝาและถ้ำพระเมืองท่าแขก เป็นต้น

พ.ศ. 2370 ร.3 ไม่พอใจที่พระยาราชสุภาวดีไม่ทำลายนครหลวงเวียงจันทน์ให้สิ้นซากจึงโปรดเกล้าฯ ให้กลับไปทำลายอีกครั้ง ความชอบนี้ทรงโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี ที่สมุหนายก พระยาพิชัยสงครามคุมทหาร 300 ข้ามโขงดูลาดเลา ได้ความว่าพระราชวงศ์เหงียนให้ข้าหลวงเชิญเจ้าอนุวงศ์และเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) กลับมาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามอีกครั้ง เอกสารฝ่ายลาวระบุว่าเจ้าอนุวงศ์ไม่พอพระทัยพระจักรพรรดิเวียดนามที่ไม่มีความจริงใจและคิดแสวงหาทรัพย์สินเงินทองจากลาวครั้นเห็นทหารสยามอาศัยในนครหลวงเวียงจันทน์จึงนำพลฆ่าฟันขับไล่ทหารสยามออกไป เอกสารฝ่ายสยามระบุว่ารุ่งขึ้นเจ้าอนุวงศ์และเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) กลับยกพลเข้าโจมตีทหารสยามล้มตายเป็นอันมาก เจ้าพระยาราชสุภาวดีเห็นทหารลาวไล่ฆ่าทหารสยามถึงชายหาดหน้าเมืองพันพร้าวทราบว่าเกิดเหตุร้ายจึงขอกำลังเพิ่มจากเมืองยโสธร เจ้าอนุวงศ์โปรดฯ ให้เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) นำพลข้ามตามมาปะทะทัพสยามที่ค่ายบกหวาน บ้านบกหวาน เมืองหนองคาย สู้กันถึงขั้นตะลุมบอน แม่ทัพทั้ง 2 รบกันตัวต่อตัวจนบาดเจ็บปรากฏฝ่ายเจ้าราชวงษ์ (เหง้า) มีชัย ส่วนเจ้าพระยาราชสุภาวดีแพ้ราบคาบเพราะถูกฟัน ทหารสยามยิงปืนต้องเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) บาดเจ็บเล็กน้อย ทัพสยามเร่งติดตามทัพลาวถึงพันพร้าวปรากฏทัพลาวข้ามโขงไปแล้ว ทหารลาวหามเจ้าราชวงษ์ (เหง้า) ไปรักษาพระองค์ในค่ายและไม่ปรากฏเรื่องราวของพระองค์อีกเลย

เจ้าอนุวงศ์เห็นเหตุการณ์จึงพาครอบครัวและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จขึ้นเหนือไปพึ่งพระราชธิดาซึ่งเป็นพระมเหสีพระเจ้าสุททะกะสุวันนะกุมาร เจ้านครเชียงขวาง (เจ้าน้อยเมืองพวน) เจ้าน้อยถูกสยามลวงให้บอกที่ซ่อนและจับกุมพระองค์พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ลงกรุงเทพฯ เอกสารฝ่ายลาวระบุว่าสงครามนี้ทรงสูญเสียพระราชโอรสพระนามท้าวหมื่นนาม ซึ่งประสูติแต่พระนางสอนราชเทวี ราชธิดาพระบรมราชา เจ้าเมืองนครพนม พระนางสอนถูกทหารสยามนำไปถวาย ร.3 สยามนำเจ้าอนุวงศ์ประทับกรงเหล็กประจานหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ นำเครื่องทรมานต่าง ๆ ทรมานพระองค์อย่างโหดร้าย ให้อดข้าว น้ำ ทั้งพระมเหสี พระชายา พระสนม ตลอดจนพระราชโอรสธิดาพระราชนัดดาหลายพระองค์ ไม่นานก็สิ้นพระชนม์ด้วยความทุกข์ทรมานสิริพระชนมายุรวม 61 ชันษา เสวยราชย์ราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ 23 ปี สยามลดฐานะนครหลวงเวียงจันทน์เป็นหัวเมืองชั้นจัตวาขึ้นเมืองหนองคาย ยกหนองคายเป็นเมืองชั้นเอก ให้มีเจ้าเมืองลาวอยู่รักษาเมืองเวียงจันทน์ ไม่สถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดในราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ขึ้นเสวยราชย์ นครหลวงเวียงจันทน์ถูกปล้นเผาทำลายไม่เหลือสภาพราชธานีกลายเป็นเมืองร้างเหลือวัดสำคัญไม่กี่แห่งคือวัดสีสะเกด หลังสิ้นพระชนม์ราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ถึงกาลอวสาน เอกสารฝ่ายสยามไม่ระบุพระราชพิธีพระบรมศพของพระองค์ เอกสารฝ่ายลาวระบุว่าสยามจัดอย่างพิธีลาวใหญ่โตและงดงามกลางกรุงเทพฯ ไม่พบข้อมูลการสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิ ลือว่าพระบรมอัฐิของพระองค์ถูกรักษาไว้ใต้บันไดวัดอรุณราชวราราม วรรณกรรมประวัติศาสตร์พื้นเมืองเวียงจันทน์หรือพื้นเจ้าราชวงศ์เหลาคำระบุการสิ้นพระชนม์ต่างไปโดยทรงสั่งพระมเหสีนำง้วนสาร (ยาพิษ) เจือข้าวต้มมัดมาเสวย สยามนำพระบรมศพฝังใต้ฐานพระธาตุดำกลางนครหลวงเวียงจันทน์ สมัย ร.4 ทรงปรารถนาชุบเลี้ยงเจ้านายราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ทายาทเจ้าอนุวงศ์ จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมมารดาดวงคำพระราชนัดดาเจ้าอนุวงศ์ขึ้นเป็นเจ้าจอมพระสนม โปรดเกล้าฯ พระราชนัดดาทั้ง 2 คือ เจ้าจันทรเทพสุริยวงศ์ ดำรงรัฐสีมามุกดาหาราธิบดี (หนู ต้นสกุลจันทนากร) ขึ้นเสวยราชย์เมืองมุกดาหารบุรี (มุกดาหาร) ในฐานะประเทศราช โปรดฯ ให้เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ ดำรงรัฐสีมาอุบลราชธานีบาล (หน่อคำ ต้นสกุลเทวานุเคราะห์, พรหมโมบล, พรหมเทพ) เสวยราชย์เมืองอุบลราชธานีในฐานะเมืองประเทศราชเช่นกัน

ข้อสังเกตการพ่ายสงครามของเจ้าอนุวงศ์[แก้]

นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มวิเคราะห์เหตุผลการพ่ายแพ้ของเจ้าอนุวงศ์ไว้หลายประการคือ

  1. ทัพลาวอาจมีแสนยานุภาพน้อยกว่าทัพสยามและทัพนครราชสีมา เมื่อตรวจสอบหลักฐานฝ่ายลาวกลับพบว่านครราชสีมาด้อยกว่าลาวมากแต่สยามมีแสนยานุภาพ มียุทธศาสตร์และยุทธวิธีมากกว่าลาวเนื่องจากอาวุธที่ทันสมัย
  2. เจ้าอนุวงศ์ถูกทรยศโดยสมเด็จเจ้ามหาอุปราช (ติสสะ) พระราชอนุชาต่างพระราชมารดาของพระองค์ และถูกทรยศโดยเจ้าน้อยเมืองพวนแห่งอาณาจักรเชียงขวาง ราชบุตรเขยของพระองค์
  3. อาณาจักรลาวหลวงพระบางและล้านนาต่างเป็นเอกเทศหรืออาจฝักใฝ่สยามจึงไม่ร่วมมือกับทัพลาว
  4. ทายาทบุตรหลานเจ้านายลาวบางกลุ่มซึ่งเป็นผู้นำท้องถิ่นขณะนั้นถูกเกณฑ์เข้าร่วมทัพสยามเพื่อต้านอิทธิพลของเวียงจันทน์[9]

มูลเหตุสงครามจากเอกสารปฐมภูมิพื้นเวียงจันทน์ของลาวและอีสาน[แก้]

จากพื้นเมืองเวียงจันทน์สามารถสรุปมูลเหตุสงครามได้ดังนี้

1. เจ้าพระยานครราชสีมามีพฤติการณ์ยุแยงเจ้านายลาวให้วิวาทกันเป็นนิจ เช่น ยุเจ้าเมืองขุขันธ์และน้องชายให้แย่งเมืองกัน ยุเจ้าหัวสาเกียดโง้งเข้ายึดและเผาจำปาศักดิ์ ใช้อำนาจเหนือเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ให้สักเลกข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนม ติดสินบนพระยามหาอำมาตย์ให้ตนพ้นคดีจนได้เป็นเจ้าเมืองและได้ปกครองด่านเมืองโขงเพื่อต้านอิทธิพลเวียดนาม เป็นต้น

2. การยุยงเจ้าหัวสาภูเกียดโง้ง (ภูเขียดโง้ง) ให้นำกำลังข่าระแดในลาวใต้เข้าเผาจำปาศักดิ์จนร้อนถึงเจ้าอนุวงศ์เสด็จปราบกบฏด้วยพระองค์เอง และกษัตริย์จำปาศักดิ์องค์ก่อนซึ่งเป็นญาติกษัตริย์เวียงจันทน์ถูกเจ้านครราชสีมาบริภาษว่าหวาดกลัวข้าศึก อาจเป็นแรงผลักดันให้เวียงจันทน์ต้องหาทางจัดการนครราชสีมา

3. เจ้านครราชสีมายุน้องชายพระยาไกรภักดีหรือพระยาไกรสอนคำแดงเจ้าเมืองภูขัน (ขุขันธ์) ให้สู้กับพี่ชายเพื่อชิงตำแหน่งเจ้าเมืองและเผาเมืองภูขัน ทำให้เจ้าเมืองภูขันไม่พอใจและเข้าเป็นกำลังสำคัญของเวียงจันทน์

4. สยามอาจพอใจผลงานการตีข่าสักเลกหัวเมืองลาวของเจ้านครราชสีมา แต่ลาวไม่พอใจเนื่องจากเลกส่วนมากเคยขึ้นกับเวียงจันทน์

5. เจ้าพระยานครราชสีมาบริภาษสมเด็จเจ้าราชบุตร์ (โย้) กษัตริย์จำปาศักดิ์พระราชโอรสของเจ้าอนุวงศ์ พร้อมไม่ฟังคำทัดทานห้ามตีข่าในแดนลาว ซึ่งพื้นเมืองอุบลระบุว่าเหตุการณ์นี้สร้างความไม่พระทัยต่อสมเด็จเจ้าราชบุตร์ (โย้) อย่างมากจนเสด็จขึ้นไปฟ้องพระราชบิดาที่นครหลวงเวียงจันทน์ด้วยพระองค์เอง

6. การล่วงพระราชอำนาจกษัตริย์เวียงจันทน์ของเจ้านครราชสีมาโดยนำนายกองเข้าสักเลกข้าอุปัฏฐากพระธาตุพนมซึ่งเป็นศูนย์กลางทางศาสนาของอาณาจักร จากการสนับสนุนของเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ขัดต่อประเพณีพระพุทธศาสนาของบ้านเมือง เนื่องจากข้าเลกเหล่านี้ได้ถูกกัลปนาไว้ไม่มีหัวเมืองใดสามารถแย่งชิงเป็นข้าของตนได้ และการสักเลกนี้ยังลามถึงประชาชนที่อาศัยอยู่บนภูเขา (ไทภู) ด้วย[10]

มุมมองเหตุการณ์และทรรศนะประชาชนสองประเทศ[แก้]

สงครามเจ้าอนุวงศ์ถูกเรียกต่างกันขึ้นกับมุมมองแต่ละฝ่าย ลาวใช้พระองค์เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อปลดแอกจากการปกครองของสยามจึงเรียกเหตุการณ์นี้เป็น สงครามกู้เอกราช ทั้งยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษและมหาราชของชาติทั้งสมัยพระราชอาณาจักรลาวและสมัยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกที่สำคัญและทรงคุณธรรมทางการปกครอง[11] เป็นพระหน่อพุทธเจ้าผู้เปี่ยมพระราชอำนาจราชบารมีเป็นที่ครั่นคร้ามและนับถือของเจ้านายหัวเมืองลาว เอกสารพื้นเวียงชี้ว่าพระราชอำนาจของพระองค์เป็นที่หวั่นเกรงไปถึงนครราชสีมาและหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตสยาม แต่ไทยมองการบุกรุกของพระองค์เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของราชอาณาจักรจึงเรียกเหตุการณ์นี้ว่า กบฏเจ้าอนุวงศ์ เอกสารประวัติศาสตร์สยามกล่าวขวัญถึงพระองค์ในฐานะกษัตริย์ประเทศราชผู้ก่อการขบถต่อแผ่นดิน[12] เอกสารชั้นต้นของไทยส่วนหนึ่งซึ่งถูกรวบรวมตีพิมพ์ในหนังสือชุดประชุมพงศาวดารภาคต่างๆ จึงดูหมิ่นพระเกียรติยศของพระองค์โดยออกพระนาม อ้ายอนุ และเชื่อว่าทรงมีพระราชประสงค์แน่ชัดที่จะทำลายกรุงเทพฯ เพื่อยึดสยามเป็นเมืองขึ้น หากไม่สามารถยึดได้ก็เผาทำลายกรุงเทพฯ และยึดบางส่วนที่สามารถปกครองได้[13] นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มมองว่าเหตุการณ์นี้อาจไม่ใช่การทั้งการกอบกู้เอกราชและกบฏ แต่เป็นสงครามชิงอำนาจตามปกติเหมือนอาณาจักรต่าง ๆ ในยุคนั้น หากทรงปรารถนากอบกู้เอกราชเพียงตั้งแข็งเมืองก็พอแล้ว

ผลพวงของสงครามในยุคปัจจุบัน[แก้]

หลังเหตุการณ์เผานครเวียงจันทน์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางสำคัญของการปกครองหัวเมืองลาว และหลังความพยายามทำลายราชวงศ์เวียงจันทน์ให้สิ้นซากของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) แห่งสยามนั้น ได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์กบฏหัวเมืองลาว-อีสานยืดเยื้อตามมาอีกหลายครั้งสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ กบฎเจ้าแก้ว ผู้เป็นราชโอรสในเจ้าราชบุตร (โย้) เจ้านครจำปาศักดิ์ พระราชนัดดาในเจ้าอนุวงศ์ กบฏผีบุญอีสานและฝั่งซ้าย ซึ่งนำโดยกลุ่มองค์มั่นและกลุ่มต่างๆ ตามหัวเมืองลาว-อีสาน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ตลอดจนกบฏของเตียง ศิริขันธ์และกลุ่มรัฐมนตรีอีสาน ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้น บ่อยครั้งชาวลาวและชาวอีสานต่างก็นิยมอ้างถึงเหตุการณ์เผานครเวียงจันทน์ในอดีต มาเป็นเหตุผลในการต่อสู้กับอำนาจสยามและอำนาจรัฐ เรื่องราวของเจ้าอนุวงศ์ไม่เพียงแต่เป็นชนวนเหตุความขัดแย้งของประชาชนชาวลาวกับชาวไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นชนวนเหตุให้ชาวลาวในภาคอีสานขัดแย้งกับชาวไทยสยาม เป็นชนวนเหตุให้ชาวลาวในอีสานที่นิยมสยามกับชาวลาวในอีสานที่นิยมลาวขัดแย้งกันเอง และเป็นชนวนเหตุให้เกิดการปลุกระดมการแบ่งแยกดินแดนของชาวลาวอีสาน [14] ไม่เพียงเท่านี้ เหตุการณ์สงครามเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ยังสามารถถือเป็นทั้งจุดเปราะบางและจุดแตกหักของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศลาวและประเทศไทยอีกด้วย

องค์ศาสนูปถัมภก[แก้]

พ.ศ. 2349 (จ.ศ. 1168) ปีฮวายยี่ (ปีขาล) เจ้าอนุวงศ์สร้างพระราชวังหลวง (โฮงหลวง) นครเวียงจันทน์ จากนั้นเสด็จสร้างสะพาน (ขัวตะพาน) ปูลานอิฐจากท่าน้ำโขงสู่หน้าลานพระธาตุพนมพร้อมพระบรมราชา (สุตตา) เจ้าเมืองนครพนมและเจ้าพระยาจันทรสุริยวงศา (กิ่ง) เจ้าเมืองมุกดาหารที่เมืองธาตุพนม แล้วเสด็จไปวัดพระธาตุสีโคดตะบอง เมืองเก่าท่าแขก ทรงบูรณะพระธาตุสีโคดตะบองร่วมกับเจ้าขัตติยะราชเจ้าเมืองมรุกขนคร (เมืองเก่าท่าแขก) จนแล้วเสร็จ พระธาตุสีโคดตะบองเป็นปูชนียสถานเก่าแก่สมัยศรีโคตรบูรสร้างโดยพระยาสุบินราช (สุมินทราช) กษัตริย์เมืองมรุกขนคร รับการบูรณะอีกครั้งโดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชมหาราชแห่งนครหลวงเวียงจันทน์ พ.ศ. 2350 (จ.ศ. 1169) ปีเมิงเม่า (ปีเถาะ) เสด็จฉลองสะพานหน้าวัดพระธาตุพนมพร้อมเจ้าเมืองนครพนมและมุกดาหาร โปรดฯ ให้สร้างทวารบาล 2 ตน อุ้มบาตรประทับนั่งทับส้นเท้าประดิษฐานที่ท่าน้ำโขงปากสะพานต่อหน้าลานพระธาตุ คนนิยมเรียกท้าวเทวา-นางเทวา ตนหนึ่งมีรูปเป็นยักษ์ตนหนึ่งมีรูปเป็นเทดา พร้อมโปรดฯ สร้างฮาวใต้เทียนแผงไม้ปิดทองประดับแก้วสีรูปสัตตะบูลิพันมีราหูสูนจันทร์ขนาดใหญ่ประดิษฐานที่สิม (พระอุโบสถ) วัดพระธาตุพนม ปัจจุบันชำรุดและรักษาชิ้นส่วนที่พิพิธภัณฑ์รัตนโมลีศรีโคตรบูร วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ทรงถวายข้ามโหรีหลวงในราชสำนักเวียงจันทน์ไว้บรรเลงถวายพระธาตุพนมเป็นพุทธบูชา ถวายเครื่องดนตรี เช่น ฆ้องสำริด เป็นต้น แต่งตั้งบรรดาศักดิ์ขุนนางท้องถิ่นตำแหน่งพระละครให้เป็นหัวหน้าควบคุมคณะมโหรีหลวง[15] เอกสารประวัติวัดหัวเวียงรังสีซึ่งเป็นวัดอรัญวาสีประจำหัวเวียงธาตุพนมระบุว่าทรงโปรดฯ ให้ขุดสระน้ำมงคลขนาดใหญ่ 3 แห่งในบริเวณวัดและรอบวัดทิศเหนือใกล้น้ำโขง ปัจจุบันถูกถม 2 แห่ง เหลือ 1 แห่ง เชื่อว่าเป็นสระสำหรับชำระพระวรกายครั้งเสด็จมานมัสการพระธาตุพนมและใช้ประกอบพิธีมุทธาพิเสกฮดสรง (มุรธาภิเษก) ขุนโอกาสขึ้นปกครองข้าโอกาสเมืองธาตุพนม

พ.ศ. 2351 (จ.ศ. 1170) เสด็จสร้างวัดสีบุนเฮือง (ศรีบุญเรือง) เมืองหนองคาย (ลาหนองคายเดิม) บูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม ประกอบพระราชพิธียกฉัตรทองคำ 7 ชั้น ประดับยอดพระธาตุ ยกช่อฟ้าประดับหลังคาสิมและอุทิศถวายข้าโอกาสแด่พระธาตุพนมตามโบราณราชประเพณีกษัตริย์ลาว ต่อมา พ.ศ. 2353-2355 (จ.ศ. 1172-1174) เสด็จสร้างวัดหอพระแก้วเมืองศรีเชียงใหม่หรือเมืองพันพร้าวเก่าตรงข้ามนครหลวงเวียงจันทน์ ปัจจุบันคืออำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นเมืองประทับของเจ้ามหาอุปฮาด (ติสสะ) พระราชอนุชาต่างพระราชมารดา หล่อพระพุทธปฏิมาเป็นพระประธานสิม โปรดฯ สร้างพระปูนปั้น 113 องค์ประดิษฐานรอบกมมะละเลียน (ระเบียงคต) ให้ช่างเขียนฮูปแต้ม (จิตกรรรมฝาผนัง) ภาพอดีตพุทธมากถึง 1,000 ที่วัดช้างเผือก จากนั้นสร้างขัว (สะพาน) ข้ามน้ำโขงระหว่างศรีเชียงใหม่ไปนครหลวงเวียงจันทน์ ณ ที่สร้างวัดหอพระแก้ว[16] จารึกวัดหอพระแก้วมี 2 ด้าน ด้าน 1 จารึก จ.ศ. 1172 (พ.ศ. 2353) ด้าน 2 จารึก จ.ศ. 1174 (พ.ศ. 2355) ด้านที่ 1 ระบุว่าทรงสร้างวัดหอพระแก้วพร้อมอุทิศที่ดินถวายข้าโอกาสให้วัด ถวายสิ่งของต่าง ๆ ในการสร้างวัด ด้าน 2 ระบุว่าทรงสร้างสะพานข้ามน้ำโขง ฉลองวัดหอพระแก้ว ถวายเครื่องของไทยทานจำนวนมากแก่ภิกษุ และพระราชทานสิ่งของบริจาคเป็นทานเพื่อสร้างหอแจก (ศาลาโรงทาน) ของวัด พ.ศ. 2355 (จ.ศ. 1174) เสด็จฉลองหอพระวัดพระธาตุพนม ราว พ.ศ. 2356 (จ.ศ. 1175) ปีกาเฮ้า (ปีระกา) เดือนเจียง แรม 4 ค่ำ เสด็จทำบุญฉลองที่วัดพระธาตุพนม ราว พ.ศ. 2359 (จ.ศ. 1178) ตั้งบุญหลวง (กองบุญใหญ่) ฉลองหอพระแก้วและหอไตรนครหลวงเวียงจันทน์ สร้างหอพระแก้วและพระพุทธรูปมารวิชัยประดิษฐานภายในหอพระแก้ว

พ.ศ. 2362 (จ.ศ. 1180-1181) ทรงบูรณะสิมและหอไตรวัดสีสะเกดนครหลวงเวียงจันทน์ครั้งใหญ่จนเสร็จ ปรากฏในจารึกวัดสีสะเกดบนผนังระเบียงข้างประตูทางเข้าทิศตะวันตก จารึกข้อความด้านเดียวว่ามีพระราชโองการนี้ไว้กับวัดสัตตสหัสวิหารามหรือวัดแสน อันเป็นนามเดิมของวัด บูรณะและก่อสร้างระเบียงคด สร้างพระพุทธรูปและพระพิมพ์ประดิษฐานที่ช่องผนัง สร้างจุลวิหาร ถวายสิ่งของเครื่องใช้จำนวนมากแก่พระอารามนี้ พระราชอุทิศส่วนกุศลถวายพระราชบิดา พระราชมารดา พระญาติวงศ์ และสรรพสัตว์ทั้งปวง วัดสีสะเกดปัจจุบันมีสภาพสมบูรณ์ในอดีตไม่ถูกทำลายจากสงครามสยาม ปฏิสังขรณ์จากสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศเมืองฮานอย เป็นวัดที่มีผังต่างจากวัดต่าง ๆ ในนครหลวงเวียงจันทน์เนื่องจากมีจงกม (กมมะเลียนหรือระเบียงคต) ล้อมสิมเช่นเดียวกับวัดช้างเผือกเมืองพันพร้าว รอบระเบียงคตประดิษฐานพระปูนปั้นขนาดเท่ากันแบบเดียวกันหมดโดยขนาดเท่าคนจริง 120 องค์ มีประตูเข้าออกสี่ทิศ พระระเบียงตอนบนทุกด้านมีช่องกุดบรรจุพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ เช่น พระบุเงิน พระบุคำ (บุทอง) และพระพิมพ์จำนวนมาก พบหลักฐานในศิลาเลกจารึกข้างประตูด้านหน้าว่า ...ส้างพระใส่ซ่องกุดฝาผนังวัด พระเงินบุ 276 องค์ พระพิมพ์ 2052 องค์...พระพิมพ์ใส่ซ่องกุดฝาผนังจงกม 6840 องค์... ผนังระเบียงใกล้ประตู 4 ทิศมีฮูปแต้มงดงาม ภายในสิมเหนือผนังระดับหน้าต่างเจาะช่องกุดเล็ก 7 แถว เรียง 3 ด้าน มีฮูปแต้มชาดกและทศชาติเต็มทุกด้าน บานประตูเขียนลายฟอกคำรูปทวารบาลหรือเสี้ยวกางคล้ายแบบจีน หัตถ์ขวาจับเครายาวหัตถ์ซ้ายทรงกริช ผสมลายดอกพุดตาน บานหน้าต่างด้านนอกเขียนลายพอกคำบานด้านในเขียนรูปเทวดาประนมหัตถ์ยืนบนแท่นคล้ายวัดดุสิตารามหรือวัดสุวรรณารามธนบุรี จารึกความว่า ...จ้างซ่างเขียนฝาผนังวัดและจงกมเป็นนิทานหลายประการต่าง ๆ เป็นเงินซ่าง 2 ตำลึงเฟื้อง เบี้ย 5 แหว้น 15 หน่วย... ภายในสิมนอกจากสร้างพระประธานปูนปะทายเพ็ด (ซะทายเพ็ชร) ขนาดใหญ่ยังสร้างพระพุทธรูปสำริดประทับยืน 2 องค์ขนาดเท่าพระองค์จริงประดิษฐานหน้าพระประธาน 2 ข้าง จารึกความว่า ...ส้างฮูปพระทองหล่อค่าพระองค์ 2 องค์ หนัก 4 แสน 9 หมื่น 8 พัน.. หอไตรนั้นโปรดฯ สร้างทรงมณฑปมีเสาหานรอบรองรับปีกพาไล หลังคาซ้อนชั้นวิจิตร อาคารและเสาก่ออิฐถือปูนมีบันไดขึ้น ภายในมีซุ้มประตูสี่ทิศมีตู้พระไตรปิฎกลงรักเขียนลายพอกคำหรือแต้มคำ (ปิดทอง) ขอบประตูฐานมีปูนปั้นประดับ ตัวอาคารประดับลายเครือเถา กระจกสี (แก้วซืน) ดอกกกาละกับ บานประตูด้านนอกมีรูปรดน้ำเสี้ยวกาง คันทวยลายดอกก้านดกแปว และตีนเสาประดับกาบพรหมศร[17]

พ.ศ. 2362-2365 (จ.ศ. 1181-1184) ราวช่วงปีเดียวกันกับที่บูรณะวัดสีสะเกดหรือหลังจากนั้นไม่กี่ปี ทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานเขตที่ดินเขตบ้านเหนือและบ้านใต้แก่วัดป่านันทวัน โดยมีพระยาหลวงจันทบุรีและพระยายศเสถียรฝ่ายฆราวาสเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการใส่เกล้า ปรากฏความตามจารึกวัดป่านันทวัน ปัจจุบันจารึกนี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดสีอำพอน กำแพงนครเวียงจันทน์ เป็นจารึกด้านเดียวไม่ระบุศักราช นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชโองการพระราชทานเขตที่ดินค่านาและค่าที่แก่วัดมณีเชษฐาราม เพื่อสืบต่อพระวรพุทธศาสนาตราบห้าพันวรรษา ปรากฏความตามจารึกวัดมณีเชษฐารามหรือวัดจอมมณี ตำบลมีชัย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย จารึกมี 3 ด้าน อ่านได้เฉพาะด้านที่ 2 และด้านที่ 3 บางส่วนของจารึกนั้นชำรุด

พ.ศ. 2363 (จ.ศ. 1182) ทรงสร้างจารึกวัดสีสะเกด (ศีรษะเกศ) นครเวียงจันทน์หลังจากบูรณะวัดเสร็จแล้ว พ.ศ. 2364 (จ.ศ. 1183) ทรงเสด็จไปสร้างเมืองนครจำปาศักดิ์ใหม่ และมีพระบรมราชโองการให้พระราชโอรสคือ เจ้าราชบุตร์ (โย้หรือโย่) คณะอาชญาสี่นครเวียงจันทน์ เสด็จไปครองนครจำปาศักดิ์ ปรากฏในพงศาวดารย่อเมืองเวียงจันทน์ว่า "...ศักราชได้ 183 ปีฮวดไส้ เดือนยี่ ขึ้น 9 ค่ำ วันอังคาร... เจ้าแผ่นดินเสด็จจากเมืองไปสร้างปาศักดิ์ เจ้าราชบุตรไปนั่งแล..." [18] พ.ศ. 2367 (จ.ศ. 1186) ทรงตั้งบุญหลวงฉลองวัดสีสะเกด หลังจากที่ทรงบูรณะวัดนี้สำเร็จแล้ว ทรงสร้างหอพระบางเพื่อประดิษฐานพระบางเจ้า ซึ่งพระเจ้านันทเสนพระราชเชษฐาทรงขออัญเชิญคืนจากกรุงเทพพระมหานครมาประดิษฐาน ณ นครเวียงจันทน์เมื่อพุทธศักราช 2326

พ.ศ. 2369 (จ.ศ. 1188) ทรงยกหอพระบางทิศตะวันออก (ตะเว็นออก) สองหลังที่นครเวียงจันทน์ และทรงสร้างพระพุทธรูปสำริดพระแก้วมรกตองค์เทียมหรือองค์จำลอง สูง 36.5 ซม. พร้อมทรงจารึกพระนามที่ฐานพระพุทธรูปองค์นั้น ปัจจุบันประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จารึกด้านล่างฐานพระพุทธรูปนี้มี 5 บรรทัด ความว่า "...สมเด็จพระราชเชษฐาอาปณคามาธิราชชาติสายสุริยวงศ์ ทรงมีกุศลเจตนาในบวรพุทธศาสนาเป็นอันยิ่ง ให้หล่อพระพุทธรูปเจ้าน้ำหนัก 2 หมื่น 5 พัน เทียมพระแก้วมรกตเจ้า เพื่อให้มั่นคงแก่พระพุทธศาสนาตราบเท่า 5000 พระวัสสา..." พระพุทธรูปองค์นี้ประวัติกล่าวว่า พระองค์ทรงหล่อในปีเดียวกันกับที่เสด็จกรีฑาทัพเข้าตีและยึดเมืองนครราชสีมาสำเร็จ เชื่อว่าทรงมีพระราชประสงค์ให้พระพุทธรูปองค์นี้เป็นตัวแทนพระแก้วมรกตที่ถูกสยามชิงไปครั้งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ หอพระแก้วเมืองนครเวียงจันทน์ ในปีพุทธศักราช 2370 สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพเป็นแม่ทัพตีนครเวียงจันทน์ได้ คงนำพระพุทธรูปสำคัญองค์นี้และองค์อื่นๆ กลับมาพระมหานครด้วย ภายหลังพระพุทธรูปนี้ตกเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ต่อมาพุทธศักราช 2532 จึงย้ายมาแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี

พ.ศ. 2369-2370 (จ.ศ. 1188-1189) เกิดสงครามต่อสู้ระหว่างนครเวียงจันทน์กับสยาม ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หัวเมืองต่างๆ เช่น เมืองคำเกิด คำม่วน ท่าแขก มหาไชยกองแก้ว ฯลฯ นำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองทั้งหลาย ไปประดิษฐานหลบซ่อนในถ้ำลึกตามเทือกเขาหินปูน และโปรดฯ ให้ชาวเมืองนำเงินทองไปฝังดินไว้ตามที่ต่างๆ เพื่อให้รอดพ้นจากการชิงปล้นของทหารไทย แต่อย่างไรก็ตาม พระพุทธรูปสำคัญและมีชื่อเสียงหลายองค์ก็ถูกชิงปล้นไปประดิษฐานที่สยามมาจนกระทั่งปัจจุบัน

พ.ศ. 2370 (จ.ศ. 1189) ทรงอัญเชิญพระแสง พระพุทธรูปสำคัญของนครเวียงจันทน์ไปประดิษฐาน ณ ถ้ำเมืองมหาไชยกองแก้ว ในตำนานว่าพระแสงสร้างพร้อมกันกับพระสุก พระเสริม และพระใส พระแสงสร้างโดยเจ้านางคำแสงพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ต่อมา หลังสงครามเจ้าอนุวงศ์สยามได้สั่งให้เจ้าเมืองนครพนมเชิญขึ้นไปประดิษฐาน ณ กรุงเทพมหานคร แต่พระแสงสำแดงปาฏิหาริย์ไม่ยอมเสด็จจนเกวียนอัญเชิญหัก เจ้าเมืองจึงนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดป่า ต่อมาจึงนำมาประดิษฐาน ณ วัดศรีคุณเมืองกลางเมืองนครพนม ปัจจุบันคือวัดศรีเทพประดิษฐาราม จังหวัดนครพนม[19] นอกจากนี้ ในตำนานเมืองหินบูนหรือเมืองฟองวินห์เก่า ยังกล่าวว่า เมื่อครั้งเสด็จลี้ภัยไปประทับ ณ ถ้ำผาช่างหรือถ้ำผาช้าง เขตเมืองอรันรัตจานาโบราณและเมืองเวียงสุรินทร์โบราณ ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของเมืองหินบูน ประเทศลาว ทรงโปรดให้บูรณะปัดกวาดพระอุโบสถโบราณ (สิมเก่า) ในเมืองนี้มากถึง 12 แห่ง และโปรดให้บูรณะกะตืบ (กุฏิหรืออาคารตึกดิน) ด้วยกันอีก 1 แห่ง รวมเป็น 13 แห่ง ฝ่ายตำนานเมืองมหาชนไชยก่องแก้วหรือเมืองมหาชัยของลาวนั้นกล่าวว่า เมื่อครั้งเสด็จมาสู้ศึกทหารไทยที่ถ้ำผานางเมืองมหาไชย ทรงตั้งทัพที่วัดแถนอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปทองแดง และพระพุทธรูปเงิน ทรงโปรดเกล้าให้พระสงฆ์และชาวเมืองนำพระพุทธรูปมีค่าทั้งหลายไปประดิษฐานซุกซ่อนไว้ในถ้ำผานางใกล้น้ำสร้างแก้ว[20]

นอกจากนี้ในตำนานเมืองร้อยเอ็ดยังกล่าวว่า พระองค์ยังทรงเสด็จไปสร้างสิมหลวงกลางเมืองร้อยเอ็ดและโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอุปฮาตเวียงจันทน์เสด็จไปควบคุมดูแลการก่อสร้างด้วย ในการณ์นี้พระยาขัติยวงศา (สีลัง) เจ้าเมืองร้อยเอ็จ ได้ถวายธิดาผู้หนึ่งพระนามว่า อาชญานางนุ้ย ให้เป็นหม่อมหรือบาทบริจาริกาในพระองค์ด้วย

สร้างเมืองท่าแขก[แก้]

ในสมัยเจ้าอนุวงศ์ พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมราชากิตติศัพท์เทพฤๅยศ (มัง มังคละคีรี) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองละคร) สร้างเมืองท่าแขกขึ้นฝั่งตรงข้ามกับเมืองนครพนม เพื่อกวาดต้อนผู้คนให้หนีศึกจากสยามเข้ามาอาศัยอยู่ พร้อมทั้งสั่งให้เจ้านายจากเวียงจันทน์มาช่วยควบคุมการก่อสร้าง หลังจากสยามยกทัพขึ้นมาแล้วทำให้การสร้างเมืองท่าแขกหยุดชะงักลง ดังปรากฏโดยละเอียดในเอกสารเพ็ชรพื้นเมืองเวียงจันทน์ ความว่า

...แต่นั้น เคืองพระทัยเจ้าองค์ยั้งขม่อมหลวง พระก็จัดไพร่พร้อมดาห้างแต่งตัว เฮาจงคืนเมืองตั้งหนองบัวขนันอยู่ ภายพุ้น แต่ว่าครัวขี้ฮ้ายอย่าต้านต่อซน ท่านเอ๋ย พระก็ฮับสั่งให้เจ้าแห่งเมืองลคร เจ้าจงพาพลคืนอย่านานคาค้าง คันว่าเมือเถิงห้องอย่านานเฮ็วฮีบ จริงเทอญ จัดไพร่ข้ามของแท้อย่านาน หั้นท่อน แล้วจึงพาพลตั้งแปลงเวียงขนันอยู่ แฝงฝ่ายน้ำทางพุ้นแวดระวัง เที่ยวเทอญ ฯ แต่นั้น หัวเมืองเจ้าชาวลครไวฮีบ อ่วยหน้าช้างคืนแท้บ่นาน ทั้งวันแท้ทั้งคืนเขียวถีบ ย่านแต่เศิกลัดต้อนตันฆ่าหว่างทาง เศิกเหล่าเลยถีบม้าเต้นไล่ตามหลัง เจ้าก็อวนกำลังต่อเลวหนีแท้ ตั้งแต่ครราชเท่าเถิงเขตต์ขงละมุม เขาก็นำไปลัดที่โพนทันม้า ตันขนันต้อนครัวไทยยายอยู่ เขาก็ฮัดเฮ่งต้อนตันหน้าสู่ทาง ม้มจากหั้นเถิงท่งเชียงไต เขาก็ไหลพลนำผ่าเลวฟันฆ่า ก็จึงเถิงแห่งห้องขงเขตต์เมืองพิมาย กลายแดนไทยด่วนเมือทั้งฟ้าว วันคืนแท้บ่มีนานยามยีบ ก็จึงเถิงแห่ห้องลครแท้ที่ตน หั้นแล้ว เจ้าก็ใช้ถีบม้าไปป่าวขงลคร จัดครัวไปข้ามของอย่าช้า ไผอย่าดลคาค้างจักคนลูกอ่อน จริงเทอญ ปัดกวาดข้ามของแท้สู่คน เทียวเทอญ ย่านแต่ครัวจิ่มใกล้ลุกขึ้นเป็นเศิก บ่ฮู้ เห็นแต่ครัวเต็มเมืองสู่ภายจริงแท้ โตหากไปเทม้างเมืองเขาปัดกวาดมานั้น มันก็ดูมากล้มกลัวย่านหมู่เขา แท้แล้ว เขาหากอยู่ครราชพู้นติดต่อตามมา ไผบ่อาจมืนตาฮบต่อซนเขาแพ้ แต่ภูเขาขั้นเท่าที่ศรีคอนเตา ศีร์ษะเกษเขาก็มาอยู่เต้าเต็มแท้สู่ภาย แล้วเหล่าเอาตัวข้ามแคมของปัดขอด ลาวหมู่นั้นแทนบ้านสู่ภาย หั้นแล้ว ฯ แต่นั้น เจ้าก็จัดคนสร้างแปลงเวียงท่าแขก ลวงกว้างได้สามฮ้อยชั่ววา เวียงจันทร์เจ้าเวียงแกเป็นแก่ มาแนะให้เขาตั้งก่อเวียง ลวงสูงได้พอประมาณเจ็ดศอก ใหญ่แลน้อยเวียนอ้อมสี่กำฯ...

...เถิงเมื่อเดือนหกขึ้นสิบสองค่ำ มาเถิง เจ้าก็แปลงตราขัดฮอดละครมิช้า เจ้าให้หาเกณฑ์คนกล้าไปตีเหมราษฐ เสียเทอญ เหตุว่าเหมราฐนั้นเขาเกิดเป็นเศิกขึ้นแล้ว ให้เจ้าไปตีเสียอย่ากลายเดี๋ยวนี้ อันว่าปลูกเวียงนั้นเซาดูหยุดก่อน หั้นเทอญ จักว่าดีแลฮ้ายเมือหน้าบ่เห็น ฯ แต่นั้น นายคุมเจ้าเวียงแกแจ้งเหตุ เจ้าก็ฮัดเฮ่งขึ้นทั้งฟ้าวบ่เซา เจ้าก็กลับเมือเฝ้าบาทายั้งขม่อม เห็นแต่เฮือตั้งเต้าเต็มน้ำกึ่งกอง...แต่นั้น เมืองละครพร้อม มหาไชยฟ้าวฟั่ง ไปฮอดท่าแขกแล้ว บ่เห็นแท้ที่ใด เห็นแต่ลาวเต็มเต้าเมืองลครของเก่า ภายพุ้น เขาก็คืนคอบไหว้องค์เจ้าสู่อัน หั้นแล้ว แกวก็เลยเคียดคล้อยป้อยด่าคำแข็ง สูอย่าเลิงๆ ตัวะล่ายกูฉันนี้ อันว่าของฟากนั้นบ้านอยู่เดิมเขา แท้นา สูว่าเศิกมาเต็มฝ่ายเฮาภายนี้ สูจงไปตั้งค่ายเป็นด่านหนองหลาง หั้นเทอญ กูจักเอากำลังเคลื่อนไปในหั้น หน่วยหนึ่งตั้งท่าแขกแคมของ ที่พุ้น ผุงหมู่ไทยเมืองสูอยู่ตระเวนภายหั้น คันว่าเศิกหากข้ามยามใดให้มาคอบ กูเทอญ กูก็บ่หย่อนย้านเสียมนั้นท่อใย แท้แล้ว ให้สูจัดมาเฝ้ายังกูให้มันมาก จริงเทอญ กูนี้คนเจ้าฟ้าหาญแท้อยู่กลาง หั้นแล้ว ฯ... [21]

วรรณกรรมลาวที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชประวัติ[แก้]

ในภายหลังพระราชประวัติของเจ้าอนุวงศ์ได้รับการเรียบเรียงและแต่งเติมจากนักปราชญ์ทางวรรณกรรมลาว ในฐานะวรรณกรรมประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมาก 2 เรื่องแต่ไม่เป็นที่รับรู้ของชาวไทยนัก เรื่องแรกคือพื้นเวียงจันทน์หรือเพ็ชรพื้นเมืองเวียงจันทน์ คนทั่วไปรู้จักในนามพื้นเวียง ซึ่งออกพระนามของพระองค์ว่าเจ้าอนุรุธราช และเรื่องที่สองคือวรรณกรรมประวัตินครเวียงจันทน์หรือพื้นเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งออกพระนามของพระองค์ว่าพระยาอนุราชบัพพาวันดี วรรณกรรมเรื่องแรกกล่าวถึงเรื่องราวการพยายามประกาศเอกราชของพระองค์อย่างตรงไปตรงมา ว่าไม่ได้ขัดแย้งกับสยามแต่ทรงขัดแย้งกับเมืองนครราชสีมา เอกสารชิ้นนี้ไม่มีการกล่าวถึงวีรกรรมท้าวสุรนารี (โม ณ ราชสีมา) และหลังจากตีเมืองนครราชสีมาแตกแล้วทรงตั้งพระบรมราชา (มัง มังคละคีรี) เจ้าเมืองนครพนมให้เป็นเจ้าเมืองนครราชสีมาและสร้างเมืองท่าแขกของประเทศลาวด้วย เอกสารชิ้นนี้กล่าวเนื้อความตรงกันข้ามกับทรรศนะของสยามโดยสิ้นเชิง และถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในไทยโดยนายทรงพล ศรีจักร์ บุตรชายของท้าวเพ็ชรราชหลานชายของเพียวรจักรี ชาวตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม วรรณกรรมเรื่องที่สองได้รับการปรุงแต่งออกจากวรรณเรื่องแรก แต่มีการต่อเติมเรื่องราวอื่นๆ แทรกไว้โดยคงเค้าเรื่องเดิมไว้อยู่ เช่น ความขัดแย้งกับกรุงศรีหรือบางกอก การขอกำลังจากญวณมาช่วยทัพ พร้อมทั้งแต่งตำนานคำสาปพระยาศรีโคตรบองสาปเวียงจันทร์แทรกไว้ที่ต้นเรื่อง และยังกล่าวถึงพระราชโอรสพระองค์หนึ่งของพระองค์พระนามว่า ท้าวเหลาคำ หรือเจ้าราชวงษ์ ว่ามีความสามารถมากและเป็นชนวนเหตุแห่งสงคราม เอกสารชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ในไทยจากหนังสือประเพณีอีสานของ ส. ธรรมภักดี ในสมัยก่อนรัชกาลที่ 5 นั้นวรรณกรรมทั้งสองเรื่องเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชนอีสานและชาวลาว นิยมอ่านกันในงันเฮือนดีหรืองานศพทำนองเดียวกันกับวรรณกรรมเรื่องท้าวฮุ่งท้าวเจือง หรือพื้นนิสสัยบาเจือง

นอกจากวรรณกรรมทั้งสองแล้ว ยังมีข้อสันนิษฐานว่ามีวรรณกรรมอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเชื่อว่าแต่งในรัชกาลของเจ้าอนุวงศ์ และอาจแต่งในช่วงก่อนสงครามกับสยาม คือ วรรณกรรมเรื่องกาละนับมื้อส่วยหรือวรรณกรรมสาส์นลึบพสูน นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าเจ้าอนุวงศ์ทรงแต่งเองหรืออาจใช้ให้เสนามนตรีในพระราชสำนักแต่งขึ้น เพื่อระบายความในใจเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองของพระองค์ ในยามถูกรุกรานและกดขี่ข่มเหงจากสยาม วรรณกรรมชิ้นนี้ถูกยกย่องว่าเป็นเพ็ชรน้ำเอกแห่งวรรณกรรมลาวในด้านวรรณกรรมปรัชญาหรือวรรณกรรมแฝงการเมือง พื้นเวียง พื้นเมืองเวียงจันทน์ และกาละนับมื้อส่วย ไม่ถูกนำมาศึกษาในระดับมัธยมของไทยแต่ในระดับอุดมศึกษานั้นก็มีการศึกษาอยู่บ้างแต่ไม่เป็นที่โดดเด่นในประเทศไทย อาจเนื่องจากปัญหาความมั่นคงและปัญหาการแบ่งแยกดินแดน ทว่าในประเทศลาวนั้นวรรณกรรมทั้ง 3 เรื่องเป็นที่ยกย่องเชิดชูและใช้ในการศึกษาโดยปกติ ต้นฉบับของวรรรกรรมทั้ง 3 เรื่อง ปรากฏอยู่ทั่วไปในคัมภีร์ใบลานของวัดหลายแห่งในอีสานและลาว

ทายาท[แก้]

พระมเหสีและพระสนม[แก้]

เจ้าอนุวงศ์ทรงมีพระมเหสีและพระชายาดังต่อไปนี้

  • พระอรรคเทพีคำป้อง (คำปล้อง) พระมเหสีฝ่ายขวา[22]
  • พระอรรคเทพีคำจันทร์ (คำจัน) พระมเหษีฝ่ายซ้าย
  • พระนางสอนเทวี พระราชธิดาในพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองละครหรือเมืองนครพนม ต้นสกุล มังคละคีรี (พระราชทาน) เมื่อครั้งสงครามเจ้าอนุวงศ์เสร็จสิ้นสยามได้เชิญพระนางไปเป็นนางห้ามในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) แห่งกรุงเทพพระมหานคร[23]
  • เจ้านางบุษบา (บุษบา)
  • เจ้านางคำใส
  • เจ้านางทองดี
  • เจ้านางออน
  • เจ้านางดวงแก้ว ต้นสกุลวงษ์แก้ว ขุนนรินทร์เรืองเดชผู้เป็นโอรสที่ 4 ของเจ้าอนุวงศ์ ได้ขอให้พระราชทานต้นสกุลนี้ตั้งแต่นั้นมา
  • ญาแม่หมานุย (นุย) ชาวเมืองร้อยเอ็ดออกพระนามว่า ญาแม่อุปฮาต เป็นพระธิดาในพระยาขัติยวงศาพิสุทธิบดี (สีลัง) ต้นสกุล ธนสีลังกูร (พระราชทาน) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดองค์ที่ 2 บ้างก็กล่าวว่านางเป็นหม่อมของเจ้ามหาอุปฮาตเวียงจันทน์ บ้างก็กล่าวว่านางเป็นหม่อมของเจ้าอนุวงศ์ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้ามหาอุปฮาตเวียงจันทน์
  • เจ้านางคำเพา (เพา) บ้างก็กล่าวว่าเป็นพระราชธิดาในเจ้าอนุวงศ์ บ้างก็กล่าวว่าเป็นแต่เพียงหม่อมห้ามนางกำนัน ฝ่ายตำนานเมืองวังของชาวภูไทแขวงสุวรรณเขตกล่าวว่า ทรงเป็นพระสนมเก่าที่เจ้าอนุวงศ์พระราชทานมาให้พระยาศรีวรราช (ก้า) เจ้าเมืองวัง เพื่อเจริญทางพระราชไมตรีกับกลุ่มเจ้านายภูไท

พระราชโอรส พระราชธิดา พระราชนัดดา และพระราชปนัดดา[แก้]

เจ้าอนุวงศ์ยังทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดา ดังต่อไปนี้

  • เจ้าสุทธิสาร (โป้) หรือเจ้าสิทธิสาร (โป๋) เอกสารบางฉบับออกพระนามว่า เจ้าสุทธิราช ต้นสกุล สิทธิสาริบุตร (พระราชทาน) ทรงมีพระโอรสกับหม่อมใดไม่ปราฏนาม 1 พระองค์คือ
    • เจ้ารูป (ฮูป) นอกจากนี้เจ้าสุทธิสาร (โป้) ยังทรงมีพระโอรสพระธิดาอันประสูติแต่เจ้านางศิริประภาอีก 3 องค์ ได้แก่
    • เจ้าช่วย
    • เจ้าพรหมา
    • เจ้านางทอง
  • เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) หรือเจ้าเง่า ในเอกสารเพ็ชร์พื้นเวียงจันทน์กล่าวว่า ทรงอภิเษกกับพระราชธิดาพระเจ้าแผ่นดินญวณและเป็นพระเจ้านครเวียงจันทน์พระองค์สุดท้าย เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ทรงมีหม่อมที่ได้รับถวายจากเจ้าเมืองร้อยเอ็ดนาง 1 คือ อาชญานางอ่อม ธิดาในพระรัตนวงศามหาขัติยราช (โอ๊ะ) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิราชบุรีประเทศราช นางได้ถวายตัวเป็นหม่อมเมื่อครั้งเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) เสด็จไปทำศึกกู้เอกราชช่วยพระราชบิดาพร้อมกันกับเจ้ามหาอุปฮาต (สีถาน) เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ทรงมีพระราชโอรสอันประสูติแต่นางใดไม่ปรากฏนามคือ
    • เจ้าสีหาราช ต้นสกุล สีหราช ในประเทศลาว เจ้าสีหาราชทรงมีพระโอรส 3 พระองค์คือ
      • เจ้าคำบง
      • เจ้าบุญเหลือ
      • เจ้าสมทอง ทรงมีพระโอรสพระธิดารวม 7 องค์ ที่ปรากฏนามคือ
        • ท้าวสมอก สีหราช หรือท้าวอนุวงศ์ เศษฐาธิราช ผู้ตั้งสกุล เศษฐาธิราช ในประเทศลาว ท้าวสมอก สีหราช สมรสกับนางอุไรวรรณ (อุไรวัน) เศษฐาธิราช เชื้อสายเจ้านายในราชวงศ์หลวงพระบาง และมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ
          • ท้าวฟ้าไชย เศษฐาธิราช
          • ท้าวฟ้าหงุ่ม เศษฐาธิราช
  • สมเด็จเจ้าราชบุตร (โย้) หรือเจ้าโย่ พระเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ทรงมีพระราชโอรสคือ
    • เจ้าอุปฮาต (คำป้อม) อุปฮาตแห่งนครจำปาศักดิ์[24]
    • เจ้าแก้ว
  • เจ้าหมื่นนาม หรือท้าวหมื่นนาน ทรงประสูติแต่พระนางสอนเทวี สิ้นพระชนม์เมื่อครั้งสงครามสยามเผาเวียงจันทน์ และปรากฏพระนามในเอกสารพื้นเวียง
  • เจ้าเต้
  • เจ้าชัยสาร (ไชยสาร)
  • เจ้าเถื่อน
  • เจ้าคลี่ (คี่) หรือเจ้าคี่เหี่ย ทรงสมรสกับเจ้านางท่อนแก้ว พระธิดาในเจ้ามหาอุปฮาต (ติสสะ) มีพระราชธิดาด้วยกันคือ
  • เจ้าปาน
  • เจ้าเสือ ทรงสมรสกับเจ้านางท่อนแก้ว และยังเป็นที่ถกเถียงว่าเจ้านางท่อนแก้วทรงเป็นพระองค์เดียวกันกับพระธิดาเจ้ามหาอุปฮาต (ติสสะ) หรือไม่ เจ้าเสือและเจ้านางท่อนแก้วทรงมีพระราชโอรสคือ
    • เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ ดำรงรัฐสีมา อุบลราชธานีบาล (หน่อคำ) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวนาไลยประเทษราชพระองค์สุดท้าย ต้นสกุล พรหโมบล (พระราชทาน), พรหมเทพ, เทวานุเคราะห์ (พระราชทาน)
  • เจ้านางดวงจันทร์ (แก้วจันทร์) สยามได้พาพระองค์เสด็จมาประทับที่หัวเมืองสุพรรณบุรี พร้อมกับเจ้านายลาวอีกหลายพระองค์ในคราวสงครามเจ้าอนุวงศ์ ต่อมาได้เสด็จไปประทับอยู่ ณ บ้านดอนมะขาม (ไผ่ขวาง) อำเภอเมืองสุพรรณบุรี ต่อมาทายาทบุตรหลานในชั้นหลังจึงตั้งนามหนองน้ำใหญ่ใกล้ที่ประทับเพื่อระลึกถึงพระองค์ว่า หนองยายจันทร์
  • เจ้าช้าง
  • เจ้าอึ่งคำ (อึ่ง)
  • เจ้าสุวรรณจักร
  • เจ้าขัติยะ
  • เจ้าพุทธชาติ
  • เจ้าปัน (ปั้น)
  • เจ้าดิศพงษ์
  • เจ้านางหนูจีน มีทรงมีพระโอรสคือ
    • เจ้าขำ เจ้าขำทรงสมรสกับนางบุญรอด ทรงมีบุตรธิดาด้วยกัน คือ
      • พันตำรวจเอก พระยาบุเรศผดุงกิจ (รวย พรหโมบล) อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ผู้ขอพระราชทานนามสกุล พรหโมบล มีภริยา 5 คนคือ คุณหญิงทองคำ บุเรศผดุงกิจ 1 คุณพร้อม 1 คุณใจ 1 คุณชวน 1 คุณเปรื่อง 1 พันตำรวจเอก พระยาบุเรศผดุงกิจ (รวย พรหโมบล) มีบุตรธิดาทั้งหมด คือ
        • พลตำรวจตรี หลวงพรหโมปกรณ์กิจ (รื่น พรหโมบล)
        • คุณเริญ พรหโมบล
        • คุณเลื่อน พรหโมบล
        • คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ เนติบัณฑิตหญิงคนแรกของไทย
        • คุณริ้ม พรหโมบล
        • คุณร้อม พรหโมบล
        • พันตำรวจเอก รัตน์ พรหโมบล
        • คุณเรียม พรหโมบล (บุญช่วย)
        • คุณเรียบ พรหโมบล (ผดุง)
        • คุณรุจี พรหโมบล (ไข่ขวัญ)
        • คุณรัมภา พรหโมบล
        • คุณคลอใจ พรหโมบล (ปุก)
        • คุณรุ่งเรือง พรหโมบล (ป๋อง)
        • คุณเคลือวัลย์ พรหโมบล (แป๊ด)
        • คุณสุรศักดิ์ พรหโมบล (ป๊อด)
        • คุณจิระ พรหโมบล (จุ๋มจิ๋ม)
        • คุณอมรา พรหโมบล (แป้น)
        • พันตำรวจเอก คีรี พรหโมบล (ปั้น)
        • คุณดำรงศักดิ์ พรหโมบล (ปาน)
      • นางปลั่ง สมรสกับ หลวงราชเดชา (ชม บุนนาค)
      • นางผ่อง สมรสกับ พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (เชย ไชยคุปต์)
      • นางแปลก สมรสกับ นายกราย บุนนาค
      • นางสาวสาย พรหโมบล
      • คุณหญิงน้อม พิชัยภูเบนทร์ สมรสกับ พันเอก พระยาพิชัยภูเบนทร์ (ผ่าน อินทรทัต)
  • เจ้าสุพรรณ
  • เจ้านางคำวัน (คำแว่น) ทรงอภิเษกกับพระเจ้าสุททะกะสุวันนะกุมาร เจ้าผู้ครองนครเชียงขวาง หรืออาชญาน้อยเมืองพวน ทรงมีพระราชโอรสด้วยกัน คือ
    • เจ้าโป้
    • เจ้าอึ่ง
    • เจ้าอ่าง ทรงมีพระโอรสคือ
      • เจ้าคำโง่น ทรงมีพระโอรสคือ
        • เจ้าสายถะหวิน ทรงสมรสกับหม่อมเต็มคำ และมีพระโอรสด้วยกันคือ
          • เจ้าชอบไชชะนะ สุดทะกะกุมาน อดีตราชเลขาประจำพระราชวังหลวงพระบางในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์, อดีตเจ้ากรมพิธีการมณเฑียรบาล, ประธานสภาและผู้แทนราษฎร 4 ชุดของแขวงเชียงขวาง, เอกอัครราชทูตและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลแห่งพระราชอาณาจักรลาว[25] นอกจากนี้ พระเจ้าสุททะกะสุวันนะกุมาร ยังทรงมีพระราชโอรสอีก 2 พระองค์ประสูติแต่พระมเหษีไม่ปรากฏพระนามคือ เจ้าทับ และ เจ้าพมมา (พรหมา)
  • เจ้านางคำแพง
  • เจ้านางเชียงคำ
  • เจ้านางหนู อาจเป็นพระองค์เดียวกันกับเจ้านางหนูจีน
  • เจ้านางประทุม หรือเจ้าจอมประทุม ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าจอมพระสนมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) แห่งกรุงเทพพระมหานคร
  • เจ้านางจันทร์โสม หรือเจ้าจอมมารดาจันทร์โฉม ได้รับการสถาปนาเป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) แห่งกรุงเทพพระมหานคร ทรงมีพระราชธิดาด้วยกัน 1 พระองค์ คือ
    • พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม นอกจากนี้เจ้านางจันทร์โสมยังมีบุตรชายท่านหนึ่ง คือ
    • นายจันทร์แพ เป็นผู้ขอพระราชทานนามสกุล เทวานุเคราะห์ จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)
  • เจ้านางลาวช่อฟ้า (คำเพา) หรือพระนางลาว เรื่องราวเกี่ยวกับพระนางยังเป็นข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ ตำนานเมืองวังในประเทศลาวกล่าวว่า ทรงเป็นพระชายาของพระยาศรีววราช (ก้า) เจ้าเมืองวังอ่างคำ ต้นสกุล แก้วมณีไชย, แก้วมณีชัย, แก้วมณี, อินทร์ติยะ ในอำเภอเรณูนคร ทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดาด้วยกันคือ
    • พระยาราชเตโช (เตโช) หรือพระยาเตโช เจ้าเมืองวัง ต้นสกุลเตโช ในอำเภอเรณูนคร
    • พระยาหน้าก่ำ (ก่ำ) หรือพระยาก่ำ
    • พระยาแก้ว (แก้ว) อดีตเจ้าอุปฮาตเมืองวัง ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองวังเว ทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดาคือ
      • เจ้านางเอื้อยกก ต้นสกุล บัวสาย ในอำเภอเรณูนคร
      • เจ้านางเอื้อยรอง
      • พระแก้วโกมล (เพชร) เจ้าเมืองเว
      • พระแก้วโมล (สาย) เจ้าเมืองเรณูนคร ต้นสกุลโกพลรัตน์ ในอำเภอเรณูนคร

พระราชนัดดาและพระราชปนัดดาที่ไม่ปรากฏพระนามพระบิดาและพระมารดา[แก้]

สมเด็จเจ้าอนุวงศ์ทรงมีพระราชนัดดาและพระราชปนัดดาที่ไม่ทราบว่าประสูติแต่พระราชโอรสพระราชธิดา หรือพระราชนัดดาพระองค์ใด ดังนี้[26]

  • เจ้ามหาอุปฮาต (เอม) เจ้าอุปราชนครเวียงจันทน์
  • เจ้าสุริยะ กรมการนครเวียงจันทน์
  • เจ้าสุวรรณ
  • เจ้าสุพรรณ อาจเป็นพระองค์เดียวกันกับเจ้าสุวรรณ
  • เจ้าสุพล
  • เจ้าโหง่นคำ (ง่อนคำใหญ่)
  • เจ้ากำพ้า (กำพร้า)
  • เจ้าโถง
  • เจ้าอ้ง อาจเป็นพระองค์เดียวกับเจ้าอัง พระโอรสในเจ้ามหาอุปฮาต (ติสสะ)
  • เจ้าบุตร์ (บุตร)
  • เจ้าบุ
  • เจ้าป่าน อาจเป็นพระองค์เดียวกันกับเจ้าปาน
  • เจ้าพงษ์ อาจเป็นพระองค์เดียวกันกับเจ้าดิศพงษ์ พระราชโอรสในเจ้าอนุวงศ์
  • เจ้าหลอด
  • เจ้าดี
  • เจ้าคุณปลัด (คุณพ่อปลัด) ผู้นำชุมชนชาวลาวจากนครเวียงจันทน์ บ้านดอนคา ตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ต้นสกุล กุลวงศ์ ต่อมาบุตรหลานได้รับราชการบรรดาศักดิ์ แล้วแยกออกมาตั้งสกุลต่างๆ ได้แก่ หงษ์เวียงจันทร์ เหมเวียงจันทร์ พันธุ์จันทร์ นนท์ช้าง นนท์แก้ว ยศวิชัย ปลัดม้า ตุ่มศรียา ทองเรือนดี เป็นต้น

ราชสกุลวงศ์ที่ใกล้ชิด[แก้]

สมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร หรือ สมเด็จบรมบพิตรมหาบุรีไชยเสฏฐาธัมมิกราช หรือ สมเด็จบรมบพิตรพระโพสาธรรมิกราชาไชยจักรพรรดิภูมินทราธิราช พระเป็นเจ้านครเวียงจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตอุตมราชธานีบุรีรมย์ บ้างออกพระนามว่าเจ้าธรรมเทวงศ์ หรือ เจ้าองค์บุญ พระราชบิดาในเจ้าอนุวงศ์ ทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดา ได้แก่

  • สมเด็จพระเจ้านันทเสน ทรงประสูติแต่พระอรรคเทวีฝ่ายขวา
  • สมเด็จพระเจ้าอินทวงศ์ ทรงประสูติแต่พระอรรคเทวีฝ่ายขวา
  • เจ้าอนุวงศ์ ทรงประสูติแต่พระอรรคเทวีฝ่ายขวา
  • เจ้ามหาอุปฮาต (พรมวงศ์) ทรงประสูติแต่พระอรรคเทวีฝ่ายขวา
  • เจ้ามหาอุปฮาต (ติสสะ) ประสูติแต่พระสนมหรือบาทบริจาริกา
  • เจ้ามหาอุปฮาต (สีถาน) ประสูติแต่พระสนมหรือบาทบริจาริกา
  • เจ้าพระยาหลวงบุตรโคตรวงศา ประสูติแต่พระชายาจันทะมาสเทวี[27]
  • เจ้าหน่อกะบอง หรือเจ้าพงษ์กะบอง ประสูติแต่พระชายาจันทะมาสเทวี
  • เจ้าพระยาหลวงเมืองแสน
  • เจ้าพระยาคำหาญอาสา
  • เจ้าพระยาจันทอง
  • เจ้าพระยาละคอนมหาโคตร
  • เจ้าพระยาศรีสัตนาคธรรมมา
  • เจ้าพระยาจันทรสุริยามหาเดชา
  • เจ้าสิริธรรมา
  • เจ้าคำโผย หรือเจ้าคำโปรย
  • เจ้าคำทอง หรือเจ้าแผ่นหล้า
  • เจ้าคำปุ่นบุญล่วง
  • เจ้านางแก้วยอดฟ้ากัลยาณีศรีกษัตริย์
  • เจ้านางเขียวค้อม ในพงศาวดารเมืองยโสธรกล่าวว่าเป็นพระธิดาในเจ้ามหาอุปฮาต (ดวงหน้า) ถูกส่งไปถวายพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี ในพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่าเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร แต่นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าเป็นพระองค์เดียวกันกับเจ้านางแก้วยอดฟ้ากัลยาณีศรีกษัตริย์[28]
  • เจ้าแสนปัจจุทุม หรือเจ้าแสนแก้วบุฮม ต้นวงศ์เมืองสุวรรณภูมิราชบุรี เมืองร้อยเอ็ด เมืองขรแก่น เมืองชลบถวิบูลย์ และเมืองมหาสารคาม นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าอาจเป็นพระองค์เดียวกันกับเจ้าศรีวิชัย พระราชโอรสในเจ้าอุปราชศรีวรวังโส พระราชนัดดาในพระเจ้าโพธิสาลราชแห่งนครหลวงพระบาง
  • เจ้านางแก้วกุมมารี หรือเจ้าหน่อน้อยกุมมารี ทรงประสูติแต่พระชายาจันทะมาสเทวี
  • เจ้าหน่อเมือง ในพงศาวดารย่อเมืองเวียงจันทน์ออกพระนามว่า เจ้าองค์นาง เป็นราชบุตรีที่ส่งไปถวายเป็นบาทบริจาริกาในพระเจ้ากรุงอังวะเมืองม่าน

สายสมเด็จพระเจ้านันทเสน[แก้]

สมเด็จพระเจ้านันทเสน หรือ พระเจ้านันทะเสนราชพงษมะลาน เจ้าพระนครเวียงจันทบุรี พระนามเดิมว่าเจ้านัน มีพระราชโอรสพระราชธิดาคือ

สายสมเด็จพระเจ้าอินทวงศ์[แก้]

สมเด็จพระเจ้าอินทวงศ์ หรือ พระไชยเชษฐาธิราชชาติสุริยวงศ์องค์อัคธิบดีนทระณรินทรามหาจักรพรรดิราช บรมนาถบพิต สถิดเปนพระเจ้ากรุงจันทบุรีย ศรีสัตะนาคณหุตวิสุทธิอุดมบรมรัตนธานีศรีมหาสถาน พระนามเดิมว่าเจ้าอิน นักวิชาการทั่วไปออกพระนามว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 4 ทรงมีพระอัครมเหสีปรากฏพระนามว่า พระนางคำมูลราชเทวี ทรงมีพระราชธิดาด้วยกัน คือ

สายเจ้ามหาอุปฮาต (ติสสะ)[แก้]

สมเด็จเจ้ามหาอุปฮาต (ติสสะ) ทรงเป็นอุปราชแห่งนครเวียงจันทน์ในรัชกาลเจ้าอนุวงศ์ แต่มิทรงเข้าร่วมต่อต้านอำนาจสยามกับเจ้าอนุวงศ์ ฝ่ายสยามจึงทรงอุปการะบุตรหลานของพระองค์ไว้ สมเด็จเจ้ามหาอุปฮาต (ติสสะ) ทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดาคือ

สายเจ้ามหาอุปฮาต (สีถาน)[แก้]

เจ้ามหาอุปฮาต (สีถาน) เป็นพระราชพระอนุชาต่างพระราชมารดากับเจ้าอนุวงศ์ บ้างก็กล่าวว่าอาจเป็นองค์เดียวกับเจ้ามหาอุปฮาต (ติสสะ) เคยร่วมกับเจ้าราชวงษ์ (เหง้า) ช่วยทัพเจ้าอนุวงศ์เข้าตีหัวเมืองอีสานที่กระด้างกระเดื่องเมื่อครั้งสงครามกู้เอกราชจากสยาม ทรงมีหม่อมปรากฏนามอยู่ 3 นาง ซึ่งได้รับการถวายจากเจ้าเมืองร้อยเอ็ดเมื่อครั้งเดินทางไปทำศึก ทั้งหมดล้วนเป็นพระธิดาของพระยาขัติยวงศ์พิสุทธิธิบดี (สีลัง) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ต้นสกุล ธนสีลังกูร หม่อมทั้ง 3 นาง ปรากฏนามดังนี้

  • อาชญานางหมานุย (หมานุ้ย)
  • อาชญานางตุ่ย (ตุ่ม)
  • อาชญานางแก้ว

สายเจ้าพระยาหลวงบุตร์โคตร[แก้]

เจ้าพระยาหลวงบุตร์โคตรหรือเจ้าบุตรโคตร ทรงมีพระนามเต็มว่า เจ้าพระยาหลวงบุตร์โคตรวังศาเสดถะบัวระพาสุวัณณไชยปุคคละ ทรงถูกเชิญเสด็จไปกรุงอังวะพร้อมกับเจ้าหน่อเมืองหรือเจ้าองค์นาง ทรงเป็นพระบิดาในเจ้าพระยานาเหนือ (คำมุกหรือคำบุก) หรือเจ้าพระยาแสนศรีสุวัณณไชยปุคคละ ต้นตระกูล บุคคละ และทรงเป็นพระปัยกาของเจ้าพระยาเมืองฮามนามฮุ่งศรี (คำอยู่) เจ้าพระยาเมืองฮามนามฮุ่งศรี (คำอยู่) มีพระชายาและหม่อมคือ

  • อาชญานางบุคคะลี (เจ้านางโมคคัลลี)
  • อาชญานางเทพคัณฑี
  • อาชญานางสุวรรณ์คำสุก

เจ้าพระยาเมืองฮามนามฮุ่งศรี (คำอยู่) ทรงมีพระโอรสพระธิดา คือ

สายเจ้าแสนปัจจุทุม[แก้]

สายนี้เป็นสายที่มีปัญหามากที่สุดในการนับลำดับวงศ์สกุล เจ้าแสนปัจจุทุม รับราชกาลที่เมืองธุรคมหงส์สถิต แขวงนครเวียงจันทน์ ตำนานพื้นเมืองกล่าวว่าเป็นพระราชโอรสพระองค์หนึ่งของพระเจ้าสิริบุญสาร แต่ขัดแย้งกันกับเอกสารพื้นเมืองหลายฉบับ เจ้าแสนปัจจุทุมมีพระราชโอรสคือ

1. เพียเมืองแพน (พันหรือศักดิ์)[33] เจ้าเมืองรัตนนคร ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์พระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่นองค์แรก บ้างก็ว่าเป็นหลานท้าวจารย์แก้ว เป็นต้นตระกูล เสนอพระ, อุปฮาด, นครศรีบริรักษ์ มีโอรสธิดาคือ

  • อาชญานางคำแว่น หรือเจ้าจอมแว่น (ท้าวเสือหรือคุณเสือ) ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าจอมพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) แห่งกรุงเทพพระมหานคร ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาจักรี เจ้าจอมแว่นเป็นผู้อนุบาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกุลฑลทิพยวดี พระราชธิดาในเจ้าจอมมารดาทองสุก
  • เพียวรบุตร กรมการเมืองขอนแก่น มีภริยาชื่อนางน้อย มีบุตรคือ หลวงศรีวรวงศ์ (อู๋หรืออุ) ท้าวอู๋นี้ต่อมาได้เป็นราชบุตร์เมืองขอนแก่น ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์ที่ พระนครศรีบริรักษ์เจ้าเมืองขอนแก่นฝ่ายเมืองใหม่ (บ้านดอนบม) ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยานครศรีบริรักษ์บรมราชภักดีศรีศุภสุนทร ผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่นและจางวางราชการเมืองขอนแก่น ท้าวอู๋เป็นต้นตระกูล นครศรี
  • ธิดาไม่ทราบนาม เป็นหม่อมของพระนครศรีบริรักษ์ (คำบ้งหรือคำบัง) เจ้าเมืองขอนแก่น

นอกจากนี้ เพียเมืองแพนยังมีหลานอีกผู้หนึ่งไม่ทราบว่าเกิดแต่บุตรธิดาท่านใดคือพระราชวงษา ต่อมาได้เป็นราชวงศ์เมืองขอนแก่น

2. เจ้าแสนแก้วบูฮม (แก้วมงคลหรือแก้วบรม) เอกสารบางฉบับออกนามว่า ท้าวจารย์แก้ว ตำนานเมืองมุกดาหารกล่าวว่าเป็นพี่น้องกับท้าวจารย์จันทรสุริยวงศ์ เจ้าเมืองหลวงโพนสิม ตำนานเมืองร้อยเอ็จกล่าวว่าเป็นพี่น้องกับท้าวจารย์หวด เจ้าเมืองโขง ส่วนเมืองขอนแก่นตำนานหนึ่งเห็นว่าเป็นพี่น้องกับเพียเมืองแพน อีกตำนานหนึ่งเห็นว่าเพียเมืองแพนเป็นหลานท้าวจารย์แก้ว ท้าวจารย์แก้วเป็นเจ้าเมืองท่งศรีภูมิหรือเมืองท่ง (เมืองสะพังสี่แจเก่า) บ้างก็ว่าพระองค์ทรงเป็นราชโอรสในเจ้าศรีวิชัยหรือเจ้าศรีวรมงคล เป็นราชนัดดาในเจ้าวรวังโสหรือเจ้าศรีวรวังโสราชโอรสในพระเจ้าโพธิสาลราชแห่งนครหลวงพระบาง กับเจ้านางยอดคำทิพย์แห่งนครเชียงใหม่ เจ้าจารย์แก้วเป็นต้นตระกูล ธนสีลังกูร, ณ ร้อยเอ็จ, ขัติยวงศ์, เรืองสุวรรณ บุตรหลานของพระองค์แยกอออกไปตั้งเมืองร้อยเอ็ด สุวรรณภูมิ มหาสารคาม กันทรวิชัย ชลบถวิบูลย์ ศีรษะเกศ หนองหาร พุทไธสงค์ ฯลฯ ทรงมีพระโอรสคือ เจ้าหน่อคำเจ้าผู้ครองนครน่าน1 พระรัตนวงศา (เจ้ามืดกำดล) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ์ราชบุรี1 พระขัตติยะวงศา (เจ้าสุทนต์มณี) เจ้าเมืองฮ้อยเอ็ด1 พระนครศรีบริรักษ์ (คำบังหรือคำบ้ง) เจ้าเมืองขรแก่น1 พระนครศรีบริรักษ์ (คำยวง) เจ้าเมืองขรแก่น1

พระขัตติยะวงศา (เจ้าสุทนต์มณี) มีพระโอรสคือ พระยาขัตติยวงษา (สีลัง) เจ้าเมืองฮ้อยเอ็ด1 พระรัตนะวงษา (ภู) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ์1 พระรัตนวงษา (อ่อนหล้า) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ์1 [34] ฝ่ายพระยาขัตติยวงษา (สีลัง) มีบุตร์ธิดา 14 คนคือ

1. พระพิไชย์สุริวงศ์ (เจ้าโพนแพง) เจ้าเมืองโพนพิไสย์ (โพนพิสัย)

2. พระพิทักษ์เขื่อนขันธ์ เจ้าเมืองหนองหาร (หนองหาน)

3. พระขัติยะวงสา เจ้าเมืองฮ้อยเอ็ด

4. นางแก้วนพรัตน์ หม่อมของพระยาสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์ เจ้าเมืองสุรินทร์ (คูประทายสมันต์)

5. ท้าวมหาพรหม (ยาง) เจ้าเมืองวาปีประทุม (วาปีปทุม)

6. ท้าวอุปฮาต (ก่ำ) เมืองฮ้อยเอ็ด

7. ท้าวจอม เมืองฮ้อยเอ็ด

8. นางหมานุ้ย (หมานุย) หม่อมในเจ้าอุปฮาด ต้นตระกูล ภวภูตานนท์, ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม

9. นางอุสาวะดี หม่อมของเจ้าเมืองฮ้อยเอ็ด

10. พระเจริญราชเดช (เฮืองหรือฮึง) เจ้าเมืองมหาสารคามคนที่ 2 ต้นตระกูล เรืองสุวรรณ

11. นางแหน้น หม่อมของพระปทุมวิเสส เจ้าเมืองคันธวิไชย์หรือเมืองกันทรวิชัย (โคกพระ) ต้นตระกูล สุวรรณเลิศ

12. ท้าวมหาราช (ทองคำ) นายอำเภอเมืองมหาสารคาม มีบุตรคือ นายมหาราช (พิมพา)1 นายไชยวงศา (พรหมา)1 นายโพธิราช (สีนุย)1 นายเจริญรัตนะ (บุญมี)1 ขุนพิไลย์ (หนู)1 ฝ่ายนายเจริญรัตน์หรือนายเจริญรัตนะ (บุญมี) มีบุตรเกิดจากนางเอี่ยม 6 คนคือ

  • นายจารุมุกด์ เรืองสุวรรณ
  • นายจารุพิทูรย์ เรืองสุวรรณ
  • นายจารุอุดม เรืองสุวรรณ
  • นายจารุเดือน เรืองสุวรรณ (พตอ. จารุอรรถ เรืองสุวรรณ)
  • นายจารุดาว เรืองสุวรรณ (พท.ดร. จารุภัทร เรืองสุวรรณ)

13. ท้าวจันโท (โล้น) อุปฮาตเมืองโกสุมพิสัย ต้นตระกูล ขัติยะ

14. ท้าวสุวรรณกุมาร บ้านหนองดอกแป้น เมืองกาฬสินธุ์

พระนครศรีบริรักษ์ (คำบัง) บ้างออกนามว่า ท้าวคำบ้งหรือท้าวคำบุ่ง เป็นเจ้าเมืองขอนแก่นและเป็นบุตร์เขยเมืองแพนหรือพระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่นคนแรก มีบุตร์คือ

1. ท้าวสุวัณ อุปฮาตเมืองขอนแก่น ท้าวสุวัณมีบุตรคือคือ ท้าวจันทชมภู ราชบุตร์เมืองขอนแก่น

2. ท้าวจันสีสุราช ราชวงศ์เมืองขอนแก่น

พระนครศรีบริรักษ์ (คำยวง) เจ้าเมืองขอนแก่น เดิมเป็นราชบุตร์เมืองขอนแก่น มีบุตรธิดาคือ

1. ราชบุตร์ (คำพาง)

2. พระนครศรีบริรักษ์ (มุ่งหรือมุง) เจ้าเมืองขอนแก่นฝ่ายบ้านโนนทัน เดิมเป็นที่ราชวงศ์ ต่อมาเลื่อนเป็นอุปฮาตรักษาราชการเมืองขอนแก่น มีบุตรคือ ท้าวราชวงษ์

3. พระนครศรีบริรักษ์ (อินหรืออินธิวงศ์) เจ้าเมืองขอนแก่น เดิมเป็นราชวงศ์ต่อมาเลื่อนเป็นอุปฮาต มีหลานคนหนึ่งยกเป็นบุตรบุญธรรมคือ พระยานครศรีบริรักษ์ (ท้าวอู๋ นครศรี) และพระนครศรีบริรักษ์ (อิน) มีบุตรคนสุดท้ายคือ พระพิทักษ์สารนิคม (หล่าหรือหนูหล้า) ต้นสกุล สุนทรพิทักษ์ เดิมเป็นอุปฮาตต่อมาเป็นปลัดเมืองขอนแก่นคนแรกและเลื่อนเป็นผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น

4. ธิดาไม่ปรากฏนาม สมรสกับกับท้าวขัติยะ อุปฮาตเมืองขอนแก่น

ทายาทสายตรง[แก้]

สกุลสายตรงที่สืบเชื้อสายจากเจ้าอนุวงศ์อันสืบทอดทายาทจากพระราชโอรสพระองค์โตคือ เจ้าสิทธิสาร หรือ เจ้าสุทธิสาร (โป้) เป็นสกุลสายหลักที่สามารถมีสิทธิ์ในการเป็นผู้อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ได้ สกุลนี้ถือเป็นราชตระกูลที่ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ว่า สิทธิสาริบุตร (Siddhisariputra) เลขทะเบียนพระราชทานที่ 1474 ทรงพระราชทานแก่นายนาวาตรี หลวงพรหมประชาชิต (ฟื้น) ผู้ช่วยหัวหน้ากองพัศดุ กระทรวงทหารเรือ กับหลวงภาษาปริวัตร (เต๋อ) เลขานุการชั้นที่ 2 กระทรวงการต่างประเทศ ปู่ทวดชื่อเจ้าสิทธิสาร เมืองเวียงจันทน์ 15/6/14[35]

อ้างอิง[แก้]

  1. สุเจน กรรพฤทธิ์, ตามรอยเจ้าอนุวงศ์: คลี่ปมประวัติศาสตร์ไทย-ลาว, (กรุงเทพฯ: สารคดี, 2555), หน้า 145.
  2. ดูรายละเอียดใน ประทีป ชุมพล, พื้นเวียง: วรรณกรรมแห่งการกดขี่, (กรุงเทพฯ: อดีต, 2525), 189 หน้า.
  3. ดูรายละเอียดใน ทองพูล ศรีจักร, เพ็ชร์พื้นเมืองเวียงจันทร์, (พระนคร: โรงพิมพ์บางขุนพรม, 2479).
  4. สุรศักดิ์ ศรีสำอาง, ลำดับกษัตริย์ลาว, (กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2545).
  5. ดวงจัน วันนะบุบผา (เรียบเรียงใหม่), ท้าวเหลาคำ, (เวียงจันทน์: สำนักพิมพ์และจำหน่ายปื้มแห่งรัฐ ส.ป.ป.ลาว, 2010 (2554), หน้า 7.
  6. สิลา วีระวงส์, มหา, ชีวประวัติพระเจ้าอนุวงศ์, (เวียงจันทน์: ดอกเกด, 2553 (2010)), หน้า 20.
  7. เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์อีสาน, เรียบเรียงโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์, พิมพ์ครั้งที่ 4, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2546), หน้า 597-599.
  8. ประวัติวัดสร่างโศก (วัดศรีธรรมหายโศก หรือวัดอโสการาม) ในพงศาวดารเมืองยโสธรฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี พระญาณรักขิต (ใจ ยโสธรัตน์), พงศาวดารเมืองยโสธร: พิมพ์เป็นที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพพระครูวิจิตตวิโสธนาจารย์ ณ วัดสร่างโศก อำเภอยโสธร วันที่ 23 เมษายน 2491, (ยโสธร: วัดสร่างโศก อำเภอยโสธร, 2491), หน้า 35. อ้างใน Dararat Mattariganond และ Wiangkum Choun-u-dom, "ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเผา "อุปฮาดบุตร และท้าวคำ" เมืองยโสธร", ใน Center for Research on Plurality in the Mekong Region (CERP): Proceedings of 13th International Conference on Humanities & Social Sciences 2017 (IC-HUSO 2017) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (2-3 พฤศจิกายน 2560): 2555.
  9. อภิรัตน์ชัย จอมศรี, บรรณาธิการ, (4 พฤษภาคม 2016 (2559)). "ประวัติเมืองโพนพิสัย เมืองโพนพิสัยในอดีต", โพนพิสัย หนองคาย [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.phonphisainongkhai.com/701[ลิงก์เสีย] [15 กรกฎาคม 2563]
  10. พ. ศรีจักร์, เพ็ชร์พื้นเมืองเวียงจันทน์. ธาตุพนม., 2479.
  11. ประเทือง โพธิ์ชะออน, ริ้วรอยกบฏแห่งสยามประเทศ, (นนทบุรี: ดอกหญ้า 2000, 2555), 326 หน้า. ISBN: 9789746909594
  12. ดูรายละเอียดใน ภาสกร วงศ์ตาวัน, เจ้าอนุวงศ์: กบฏหรือวีรบุรุษในสงครามไทย-เวียงจันทน์สมัยรัชกาลที่ 3, (กรุงเทพฯ: ยิปซี, 2553), 206 หน้า. ISBN: 978-616-70-7108-4
  13. สิลา วีระวง, พระราชประวัติของสมเด็ดพระเจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งพระราชวงศ์เวียงจันทน์, (เวียงจันทน์: ม.ป.พ., 2512).
  14. เพลิง ภูผา, ขบถคนอีสาน. กรุงเทพ, 2542.
  15. พระธรรมราชานุวัตร, อุรังคนิทาน : ตำนานพระธาตุพนม (พิดาร). กรุงเทพ, 2537.
  16. พ. ศรีจักร์, เพ็ชร์พื้นเมืองเวียงจันทน์. ธาตุพนม., 2479.
  17. สงวน รอดบุญ, พุทธศิลปลาว. กรุงเทพ, 2545.
  18. องค์การค้าของคุรุสภา, พงศาวดารย่อเมืองเวียงจันทน์ : ประชุมพงศาวดารภาคที่ 70. กรุงเทพ, 2512.
  19. หนูเที่ยว, สักการะพระแสง และ หลวงปู่จันทร์ เขมิโย วัดศรีเทพประดิษฐาราม จ.นครพนม จาก http://www.tinyzone.tv/TravelDetail.aspx?ctpostid=2464 เก็บถาวร 2014-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน., 2479.
  20. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, อานาจักสีโคตตะบูน. เชียงราย, 2553.
  21. พ. ศรีจักร์, เพ็ชร์พื้นเมืองเวียงจันทน์. ธาตุพนม., 2479.
  22. นางนนทปัญญา (สงวน มกรานนท์), พงศาวดารล้านช้าง และลำดับสกุลสิทธิสาริบุตร ราชตระกูลล้านช้างเวียงจันทน์. กรุงเทพ, 2484.
  23. ธวัช ปุณโณทก, พื้นเวียง : การศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณกรรมอีสาน . สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 2526.
  24. สิลา วีระวงส์, ประวัติศาสตร์ลาว. กรุงเทพ, 2539.
  25. เจ้าคำหลวง หน่อคำ, ประวัติศาสตร์อาณาจักรพวน. ปราจีณบุรี , 2555.
  26. มหาศิลา วีระวงศ์, พงศาวดานลาว. ม.ป.พ., 2496.
  27. ดวง รามางกูร, ประวัติลำดับพระญาติวงศ์อาชญาเมืองพนม. ม.ป.พ., ม.ป.ป.
  28. องค์การค้าของคุรุสภา, พงศาวดารเมืองยโสธร : ประชุมพงศาวดารภาคที่ 70. กรุงเทพ, 2512.
  29. สุจิตต์ จันทรสาขา, เมืองมุกดาหาร. ม.ป.พ., 2543.
  30. นางชาญสงคราม (แฉล้ม ชาลีจันทร์), พงศาวดารเมืองล้านช้าง และลำดับสกุลชาลีจันทร์ ราชตระกูลล้านช้างเวียงจันทน์. กรุงเทพ, 2500.
  31. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้อัญเชิญพระพุทธรูป พระเจ้าองค์แสน เมืองมหาชัยกองแก้ว ของประเทศลาว[ลิงก์เสีย]
  32. วีรพงษ์ รามางกูร, อนุสรณ์ ร้อยตำรวจตรีประดิษฐ์ รามางกูร 22 กันยายน 2528. กรุงเทพ, 2528.
  33. เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์อีสาน. กรุงเทพ, 2546.
  34. คณะศิษยานุศิษย์อดีตสมเด็จพระสังฆราชลาว (บุนทัน ธฺมมยานะมหาเถระ), ประวัติศาสตร์พระเจ้าไชยเสฏฐามหาราช เจ้ามหาชีวิตอาณาจักรล้านนา-ล้านช้าง. เชียงใหม่, 2533.
  35. นามสกุลที่ขึ้นต้นด้วย (ษ) - (ส)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า เจ้าอนุวงศ์ ถัดไป
เจ้าอินทวงศ์ พระมหากษัตริย์ลาว
แห่งอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์

(พ.ศ. 2348 - พ.ศ. 2371)
สิ้นสุดราชวงศ์