ข้ามไปเนื้อหา

ทำเนียบท่าช้าง

พิกัด: 13°45′42″N 100°29′33″E / 13.7616034°N 100.4924423°E / 13.7616034; 100.4924423
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วังถนนพระอาทิตย์)
ทำเนียบท่าช้าง
แผนที่
ชื่อเดิมวังถนนพระอาทิตย์
ที่มาท่าช้างวังหน้า
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปลี่ยนสภาพ
ประเภททำเนียบ
ที่ตั้งแขวงชนะสงคราม เขตพระนคร
เมือง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
พิกัด13°45′42″N 100°29′32″E / 13.76167°N 100.49222°E / 13.76167; 100.49222
เริ่มสร้างไม่ปรากฏ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์
ขึ้นเมื่อ25 กันยายน พ.ศ. 2552
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0005553
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย

ทำเนียบท่าช้าง หรือ วังถนนพระอาทิตย์ ตั้งอยู่บนถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นบ้านของเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ คชเสนี) บุตรเจ้าพระยามหาโยธานราธิบดีศรีพิชัยณรงค์ (พญาเจ่ง) ต้นสกุลคชเสนี เชื้อสายมอญ เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรีย)เป็นปู่ของเจ้าจอมมารดากลิ่นในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นมรดกตกทอดมาถึง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ (พระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร) ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนัก 2 ชั้น เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทิธิ์และเจ้าจอมมารดา ต่อมาเรียกอาคารหลักนี้ว่า ตำหนักเดิม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตำหนักใหม่ ในปี พ.ศ. 2460 สร้างเป็นอาคารทรงยุโรปก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น เรียกว่า วังมะลิวัลย์ จากนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ทรงย้ายไปประทับอยู่ ณ วังมะลิวัลย์จนสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2468 ส่วนตำหนักเดิมนั้น สันนิษฐานว่าเป็นที่พำนักของเจ้าจอมมารดากลิ่น หลังจากที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์สิ้นพระชนม์ พระโอรสองค์ใหญ่ซึ่งทรงเป็นผู้จัดการมรดก ได้ทูลเกล้าฯ ถวายร.7ขายตำหนักและที่ดินแก่พระคลังข้างที่ใน พ.ศ. 2468 ต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตกมาเป็นกรรมสิทธิของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในปัจจุบัน

รัชกาลที่ 7 พระราชทาน วังถนนพระอาทิตย์ ให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์ เมื่อทรงพักที่ตำหนักเดิมได้ระยะหนึ่ง จวบจนตำหนักใหม่สูง 3 ชั้นสร้างเสร็จ ตำหนักเดิมจึงไม่มีผู้ใดอาศัย

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยคณะราษฎร์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฏ์ เสด็จออกจากวังนี้ ทรงลี้ภัยทางการเมืองสู่ ปีนัง

เข้าสู่ ร.8 ประมาณปี พ.ศ. 2479-2481 คุณหญิงลิ้นจี่ สุริยานุวัตร เข้ามาพำนักที่ตำหนักเดิม ต่อมารัฐบาลได้จัดให้วังถนนพระอาทิตย์ เป็นที่พักของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในระหว่างปี พ.ศ. 2485-2490 ซึ่งใช้เป็นที่ทำการการผู้สำเร็จราชการ จนเป็นที่รู้จักในชื่อ ทำเนียบท่าช้าง

จากกรณี คดีสวรรคตของร. 8 นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนีออกจากวังถนนพระอาทิตย์ หรือทำเนียบท่าช้างแห่งนี้ ออกนอกประเทศไทย

เมื่อครั้ง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จนิวัติประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้เตรียมจัดวังถนนพระอาทิตย์หรือทำเนียบท่าช้างถวายเป็นที่ประทับแต่ด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเชิญเสด็จไปประทับ ณ วังสระปทุม จึงมิได้มาประทับ ณ วังนี้

ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. 2515-2524 สำนักงานการวางแผนการสื่อสาร เพื่อการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNDP/DTCP) และคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชย์นาวี (Office of Maritime Commission) ได้เช่าตำหนักเดิมและทำเนียบท่าช้าง จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และต่อมาในปี พ.ศ. 2521 สำนักงานกองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) ได้เช่าร่วมกันในตำหนักเดิม จนเมื่อคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชย์นาวีได้ย้ายออกไป และสำนักงานการวางแผนการสื่อสาร เพื่อการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้ปิดทำการใน พ.ศ. 2530 ยูนิเซฟจึงได้เป็นผู้เช่าอาคารแต่ผู้เดียว และต่อมายูนิเซฟได้ย้ายสำนักงานเขต (Area Office) และฝ่ายบัตรอวยพร (Greeting Cards Operation) มาที่ตำหนักเดิมในปลายปี พ.ศ. 2535

สถาปัตยกรรม

[แก้]

ตำหนักเดิม เป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน หลังคาปั้นหยามุงกระเบื้องว่าว มีจั่วเปิดคู่ด้านแม่น้ำเจ้าพระยา และจั่วเปิดหนึ่งจั่วด้านถนนพระอาทิตย์ หน้าจั่วประดับปูนปั้นลายพรรณพฤกษา เชิงชายประดับไม้ฉลุ ระเบียงมีทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ราวระเบียงชั้นล่างเป็นลูกกรงปูนปั้น

ลูกกรงชั้นบนเป็นเหล็กหล่อ หน้าจั่วด้านถนนพระอาทิตย์มีเสาสูงรับ มีลักษณะได้รับอาคารอิทธิพลคลาสิครีไววัล ด้านทิศเหนือมีมุขครึ่งแปดเหลี่ยม ผนังอาคารตกแต่งด้วยลวดบัวปูนปั้น และเซาะร่องตามแนวนอน หน้าต่างโค้ง มีการใช้ไม้ฉลุลายโปร่งแบบเรือนขนมปังขิงบริเวณช่องระบายอากาศ

อ้างอิง

[แก้]
  • วารสารอาษา ฉบับเดือน สิงหาคม-กันยายน 2550 ISSN 0857-3050

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°45′42″N 100°29′33″E / 13.7616034°N 100.4924423°E / 13.7616034; 100.4924423