พระตำหนักพัชราลัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระตำหนักพัชราลัย
เรือนแก้ว พระตำหนักพัชราลัย
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทวัง
สถาปัตยกรรมเรือนไม้ไทยผสม
เมืองหัวหิน, ประจวบคีรีขันธ์
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2473
ผู้สร้างพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างพระตำหนัก สวน เรือนพัก

ตำหนักพัชราลัย ตั้งอยู่บนถนนเพชรเกษม ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีทรงซื้อตำหนักพลับป่า ข ที่อยู่ติดชายทะเลจากหม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล องค์ตำหนักเป็นไม้ ใต้ถุนสูงสีเหลือง ต่อมาได้มีการปรับปรุงให้เป็นตึกก่ออิฐถือปูน และมีเรือนสีเทาเป็นที่พักของผู้ตามเสด็จ พระตำหนักองค์นี้ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีจะเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับในฤดูร้อน ปีละประมาณ 3 เดือน

ประวัติ[แก้]

ในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 7 เมื่อถึงฤดูร้อน ชาวกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะพระราชวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคหบดียุคนั้น นิยมไปพักตากอากาศที่ชายทะเลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดช่วงฤดูร้อน เมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเจริญพระชนมายุขึ้นราว 5-6 พรรษา พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระชนนีจึงทรงซื้อตำหนักเป็นตำหนักพลับป่า ที่อยู่ติดชายทะเลของหม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล อยู่ติดชายทะเล เคยใช้รับเสด็จสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร โดยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงซื้อพระตำหนักนี้ด้วยทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อใช้เป็นที่พักผ่อนและสำราญพระอิริยาบถของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยจะเสด็จลงเล่นสรงน้ำทะเล ทรงพระสำราญกับพระสหายนับแต่ทรงพระเยาว์ และทรงแปรมาประทับในช่วงฤดูร้อน เพื่อทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในเขตจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ โดยจะทรงอัญเชิญเทวรูปท้าวหิรัญพนาสูร เทวดารักษาพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาทรงสักการบูชาด้วยเสมอ แม้ในคราวที่จะทรงซื้อพระตำหนักนั้นจะมีพระญาติทูลทัดทานไว้หลายคน

ลักษณะ[แก้]

ตำหนักพัชราลัย เดิมเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงทาสีเหลือง เพดานสูง ผนังไม้ ตลอดแนวผนังส่วนบนมีช่องลมไม้โปร่ง บานพระทวารและบานพระแกลเป็นไม้ มีเครื่องเรือน เช่น โต๊ะ ตู้ โซฟาและพระเก้าอี้ส่วนใหญ่ทำจากไม้ ต่อมาได้ปรับปรุงเป็นตึกก่ออิฐถือปูนขนาดย่อม สูงสองชั้น ชั้นบนแบ่งเป็นสองปีก ปีกด้านทิศใต้เป็นห้องบรรทมของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ปีกด้านทิศเหนือเป็นห้องบรรทมของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี มีชานเชื่อมถึงกัน ชานตรงกลางเป็นที่ประทับทรงสำราญพระอิริยาบถของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีโปรดประทับบนพระเก้าอี้เอนทอดพระเนตรไปทางทะเล ทรงฟังดนตรี ทรงเปียโน และทรงถักนิตติ้งอยู่เสมอ ชั้นล่างเป็นห้องวรภาชน์และห้องสำนักงาน มีเรือนบริวารสำหรับข้าราชบริพาร แวดล้อมด้วยต้นไม้ร่มรื่น มีไก่แจ้ปล่อยให้เดินในสวนอย่างอิสระ ในเวลาเช้ามักเสด็จลงทรงบาตรที่หน้าตำหนัก เวลาบ่ายคล้อยซึ่งแสงแดดอ่อน โปรดเสด็จลงทรงพระดำเนินออกกำลังพระวรกายตามชายหาด บางทีทรงพระดำเนินไกลไปถึงเขาตะเกียบ ขณะทรงพระดำเนินนั้นชาวบ้านตลอดจนผู้คนที่มาพักผ่อนตามชายหาดหัวหินสามารถมาเฝ้าได้โดยง่าย และจะมีรับสั่งด้วยอย่างไม่ถือพระองค์ ไม่โปรดให้เจ้าหน้าที่กีดกันประชาชนให้หลบถอยไปไกลพระองค์ ทั้งยังโปรดเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรในบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรี เช่นที่บริเวณหุบกะพงและพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน กับทั้งเสด็จไปทอดพระเนตรโครงการส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่หาดทรายใหญ่ ตลอดจนเสด็จไปทรงบำเพ็ญพระกุศลตามวัดต่างๆ ในท้องที่ใกล้เคียงอยู่เสมอ

ครั้นสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงพระชรา ทรงพระดำเนินตามชายหาดได้ไม่สะดวกเหมือนครั้งอดีต สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยและมีพระราชเสาวนีย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “ศาลาแก้ว” เป็นอาคารส่วนเชื่อมต่อจากตำหนักลงไปริมชายหาด มีระเบียงโดยรอบ เพื่อเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประทับพระเก้าอี้เข็นไปประทับทอดพระเนตรและรับลมทะเลได้อย่างใกล้ชิดเป็นที่ทรงพระสำราญยิ่งในบั้นปลายแห่งพระชนมชีพ

นามตำหนัก[แก้]

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

นามตำหนัก "พัชราลัย" เป็นนามที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงผูกขึ้นถวายมีความหมายว่า "ที่อยู่ของเพชร" เป็นสนธิระหว่างคำว่า

  • พัชร มาจากพระนาม "เพชรรัตน" และพระนาม "เครือแก้ว" ซึ่งเป็นพระนามเดิมของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ซึ่งพระนามหมายความได้ว่า ดวงแก้ว ทั้งสองพระองค์
  • อาลัย เป็นภาษาสันสกฤต หมายความว่า ที่อยู่

การใช้สอย[แก้]

บรรณานุกรม[แก้]