พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ในยามค่ำคืน
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระตำหนัก
สถาปัตยกรรมเรือนไทยภาคกลาง
เมืองจังหวัดเชียงใหม่
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้าง2471
ผู้สร้างสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร
วิศวกรหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร

พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ตั้งอยู่บนดอยบวกห้า ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,373.197 เมตร ในเนื้อที่โดยรอบประมาณ 284 ไร่ คำว่า “ดอยบวกห้า” เป็นชื่อเรียกตามคำพื้นเมือง "ดอย" หมายถึงภูเขา "บวก" หมายถึงหนองน้ำ "ห้า" หมายถึงต้นหว้า รวมหมายความว่า ที่ยอดดอยแห่งนี้มีหนองน้ำอุดมไปด้วยต้นหว้าขึ้นปกคลุมทั่วบริเวณหนองน้ำ

ประวัติ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2504 และพระราชทานนาม พระตำหนักองค์นี้ว่าภูพิงคราชนิเวศน์ โดยทรงเลือกจาก หนึ่งใน 2 ชื่อ ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งเป็นที่ พระศาสนโสภณ เป็นผู้คิดชื่อถวาย คือ “พิงคัมพร” กับ “ภูพิงคราชนิเวศน์” พระตำหนักแห่งนี้ ใช้เป็นที่ประทับในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรม ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทรงงาน และเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตภาคเหนือ รวมทั้งเพื่อรับรองพระราชอาคันตุกะที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในโอกาสต่างๆ การที่ทรงเลือกสร้างที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีอากาศเย็นสบาย ภูมิประเทศสวยงาม อีกทั้งเคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน ผู้คนพลเมืองยังดำรงรักษาจารีตขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามไว้

สถาปัตยกรรม[แก้]

พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ มีลักษณะเป็นแผนผังแบบเรือนไทยภาคกลางที่เรียกว่า “เรือนหมู่” มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นไทยประเพณีประยุกต์ ก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูงหลังคาทรงไทย ภายในประกอบไปด้วยท้องพระโรง ห้องเสวย ห้องบรรทม และห้องสรง และส่วนที่ประทับสำหรับพระราชอาคันตุกะ โดยมีเฉลียงใหญ่ และพลับพลาหอนกเป็นที่ประทับทอดพระเนตรทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่ ชั้นบนเป็นที่ประทับ ชั้นล่างเป็นที่อยู่ของมหาดเล็ก และคุณข้าหลวง ออกแบบแปลนโดยหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกพิเศษ กรมศิลปากร ออกแบบรูปด้านโดยหม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ เกษมศรี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานทรัพย์สิน ส่วนพระมหากษัตริย์ดำเนินการก่อสร้างโดยมีหม่อมเจ้า สมัยเฉลิม กฤดากร เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี และนายประดิษฐ์ ยุวพุกกะ จากกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรเป็นผู้ช่วย และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกหลวงกัมปนาท แสนยากร องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ในการวางศิลาฤกษ์พระตำหนักเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2504 เวลา 10 นาฬิกา 49 นาที การก่อสร้างพระตำหนักใช้เวลา 5 เดือนก็แล้วเสร็จ จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี เป็นทั้งสถาปนิก และมัณฑนากรออกแบบ ตกแต่ง ภายในพระตำหนัก ทั้งในส่วนที่ประทับและส่วนที่ใช้รับรองพระราชอาคันตุกะทั้งหมด โดยออกแบบให้เป็นแบบไทยประยุกต์ ดัดแปลงให้เหมาะสมกับการใช้แบบสากลมากขึ้น

สถานที่อื่น ๆ ภายในพระตำหนัก[แก้]

พระตำหนักพฤกษาวิสุทธิคุณ
  • พระตำหนักยูคาลิปตัส 1 ก่อสร้างตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงให้ทดลองนำเอาไม้ที่เจริญเติบโตไว เช่น ยูคาลิปตัสมาใช้ประโยชน์ ในการก่อสร้างที่พักอาศัยในรูปแบบ Log Cabin เพื่อทรงต้องการให้ลดการใช้ไม้สักในประเทศลง มีนายกิตติ คุปตะวินิจ เป็นสถาปนิกออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง โดยก่อสร้างพร้อมตกแต่งแล้วเสร็จต้นเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕
  • เรือนรับรอง เป็นอาคาร 2 ชั้น สถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ใช้เป็นที่พักของพระราชอาคันตุกะและข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ที่ตามเสด็จนอกจากนี้ยังใช้เป็นที่รับรองแขกในขณะรอเข้าเฝ้าหรือร่วมงานพระราชทานเลี้ยง
  • พลับพลาผาหมอน เป็นพลับพลาที่ประทับทำด้วยไม้สักทองแบบกระท่อมของชาวนาใช้เป็นที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถและเสวยพระกระยาหารในบางครั้ง
  • น้ำพุทิพย์ธาราของปวงชน เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เก็บกักน้ำไว้ใช้ในพระตำหนัก ริมอ่างเก็บน้ำมีพลับพลาที่ประทับตั้งอยู่
  • สวนสุวรี เป็นสวนกุหลาบซึ่งตั้งตามชื่อของท่านผู้หญิงสุวรี เทพาคำนางสนองพระโอษฐ์
  • หอพระ เป็นหอพระที่ตั้งอยู่สูงสุดสำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเพื่อทรงสักการะเมื่อเสด็จมาประทับแรม เป็นหอขนาดเล็กแบบไทยล้านนาประยุกต์

การรับรองพระราชอาคันตุกะ[แก้]

พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์นอกจากจะเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมวงศานุวงศ์แล้วยังมีพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศอีกหลายพระองค์เช่น สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 แห่งเดนมาร์ก และ สมเด็จพระราชินีอิงกริดแห่งเดนมาร์ก เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๐๕ สมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนาแห่งเนเธอร์แลนด์ และ เจ้าชายแบร์นฮาร์ทแห่งลิพเพอ-บีสเทอร์เฟ็ลท์ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงแห่งเบลเยียม และสมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาแห่งเบลเยียม แห่งประเทศเบลเยี่ยม

ข้อแนะนำเมื่อเข้าชมพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์[แก้]

  • ห้ามส่งเสียงดังหรือก่อความไม่สงบในลักษณะใด ๆ
  • โปรดแต่งกายให้เหมาะสม ห้ามสวมกางเกงขาสั้น เสื้อกล้าม และเสื้อแขนกุด
  • ห้ามเข้าแปลงดอกไม้และสนามหญ้า ห้ามเด็ดดอกไม้
  • ห้ามพกพาอาวุธทุกชนิด
  • ห้ามนำสุนัขและสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าโดยเด็ดขาด
  • ห้ามใช้โดรนในเขตพระราชฐาน

เวลาทำการ[แก้]

  • เวลาทำการ (ทุกวัน): 08.30 – 16.30 น.
  • เวลาจำหน่ายบัตร: 08.30 – 15.30 น.
  • งดการเข้าชมในระหว่างเสด็จแปรพระราชฐาน (เดือนมกราคม-ต้นเดือนมีนาคม)

ค่าเข้าชม[แก้]

  • ผู้ใหญ่ 20 บาท
  • เด็กนักเรียน 10 บาท
  • ชาวต่างชาติ 50 บาท

ระยะเดินทาง[แก้]

  • ระยะทาง จาก หน้าสวนสัตว์เชียงใหม่ จนถึง วัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นระยะทาง 13 กิโลเมตร
  • ระยะทาง จาก หน้าสวนสัตว์เชียงใหม่ จนถึง พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นระยะทาง 17 กิโลเมตร
  • ระยะทาง จาก วัดพระธาตุดอยสุเทพ จนถึง พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร
  • ระยะทาง จาก พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จนถึง ดอยปุย เป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร

บริการ เช่า รถโดยสาร[แก้]

  • บริการเช่ารถโดยสาร (สี่ล้อแดง) หน้าสวนสัตว์เชียงใหม่
  • จากสวนสัตว์เชียงใหม่ขึ้นไปยังพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
  • ค่าบริการเหมารถ ราคาประมาณคนละ 60 บาท (ตกลงราคากับผู้ให้บริการ)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 18°48′19″N 98°53′51″E / 18.80528°N 98.89750°E / 18.80528; 98.89750