พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

พิกัด: 6°24′43″N 101°52′01″E / 6.412°N 101.867°E / 6.412; 101.867
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์
Thaksin Ratchaniwet Palace
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระตำหนัก
สถาปัตยกรรมแบบปั้นหยา
เมืองจังหวัดนราธิวาส
ประเทศ ไทย
พิกัด6.4135° N, 101.8804° E
เริ่มสร้างพ.ศ. 2516
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ตั้งอยู่บริเวณเขาตันหยง (ตันหยง แปลว่า พิกุล) ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4084 ห่างจากตัวเมืองนราธิวาสประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นที่แปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ในช่วงเดือนสิงหาคมและตุลาคมของทุกปี

ประวัติ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระตำหนักขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 โดยใช้เวลา 6 เดือนในการก่อสร้าง โดยเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชประสงค์ที่จะประทับทางภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อจะได้ทรงใกล้ชิดและเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์ในภาคใต้ จึงมีพระบรมราชโองการให้เลือกสถานที่เพื่อความเหมาะสม ซึ่งพระองค์ทรงเลือกสร้างพระตำหนักที่เขาตันหยง เพราะเป็นพื้นที่สูง มีต้นไม้ป่าขนาดใหญ่ อุดมสมบรูณ์ งดงาม อยู่ริมทะเลตลอดแนวชายฝั่ง และอยู่สุดเขตแดนประเทศไทยที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย

เมื่อราษฎรที่อยู่ในละแวกดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ทราบถึงพระราชประสงค์ที่จะสร้างพระตำหนัก ก็ยินดีน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินในการสร้างพระตำหนัก แต่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ได้พระราชทานทรัพย์ให้แก่มุสลิมเพื่อสร้างเป็นมัสยิดขึ้นในบริเวณใกล้กับเขตพระราชฐานเช่นกัน รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 300 ไร่ ด้านหน้าของเขาตันหยงริมอ่าวไทย สูงจากระดับน้ำทะเล 173 ฟุต

พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เป็นพระตำหนักที่ประทับในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อเสด็จมาประทับแรมที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งตามปกติแล้วจะเสด็จแปรพระราชฐานอยู่เป็นประจำทุกปี เพื่อทรงงานตามโครงการพระราชดำริ และทรงตรวจเยี่ยมราษฎรในพื้นที่จังหวัดภาคใต้

สถาปัตยกรรม[แก้]

เป็นอาคารคอนกรีตก่ออิฐถือปูน ลักษณะเป็นทรงปั้นหยา สมัยใหม่ มีการประดับตัวเรือนด้วยไม้ฉลุเป็นลวดลายประดับยอดจั่ว ช่องลม และเชิงชาย เป็นเรือนไม้ยกพื้นใต้ถุนสูง ซึ่งเป็นลักษณะร่วมทางสถาปัตยกรรมพื้นฐานของภูมิภาคศูนย์สูตร

อีกทั้งยังมีลักษณะรูปทรงหลังคาที่โดดเด่นเป็นพิเศษ อันเป็นสถาปัตยกรรม ที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคมของชาวตะวันตก นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ โดยที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริ ให้สถาปนิกออกแบบให้มีรูปทรงประสานกลมกลืน กับอาคารบ้านเรือนแบบท้องถิ่นที่มีอยู่แต่ดั้งเดิม

เขตพระราชฐาน[แก้]

พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ แบ่งออกเป็น 3 เขตพระราชฐาน ประกอบด้วย เขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นใน และเขตพระราชฐานที่ประทับ โดยเขตพระราชฐานที่ประทับ ประกอบด้วย พระตำหนักตันหยงและศาลาบุหลัน ซึ่งเป็นศาลาเอนกประสงค์สำหรับประกอบพระราชพิธีและฝึกงานศิลปาชีพ พื้นที่ส่วนล่างเป็นที่พักข้าราชบริพาร หน่วยแพทย์ สถานที่ฝึกสอนศิลปาชีพ โดยมีนามคล้องจองกันว่า

  • ศาลาบุหรงสวนสรรค์
  • ศาลาอนจำนันต์
  • ศาลาปาหนันแดนดง

และถัดไป เป็นตำหนักทำงานของกองราชเลขาฯ ในพระองค์ ตึกราชองครักษ์ เรือนข้าหลวง ห้องเครื่อง และเรือนรับรอง โดยทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ประมาณ 542 ไร่ รวมถึงมีพื้นที่ป่าอีกประมาณ 1,875 ไร่ ที่จะต้องดูแลรักษา ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า การยิงและจับสัตว์บนเขาตันหยง โดยพื้นที่ส่วนนี้นับเป็นเขตพระราชฐานอีกส่วนหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ บนเขาตันหยง ยังมีสำนักสงฆ์ของพระตำหนัก สำหรับเป็นที่พัก ของพระราชาคณะ หรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่ตามเสด็จฯ อย่างเป็นสัดส่วน สำหรับภูมิทัศน์ และภูมิสถาปัตย์ของ พระราชฐานต่างจังหวัด แต่ละพระราชฐาน จะมีแบบการจัดสวน ในราชอุทยานแตกต่างกัน เช่น ราชอุทยาน ในเขตพระราชฐานพระตำหนัก ทักษิณราชนิเวศน์ จะจัดสวนแบบสวนหิน ส่วนใหญ่เป็นประเภทใบไม้ สาเหตุเพราะอยู่ใต้ร่มเงา ของต้นไม้ มีแสงแดด ไม่เพียงพอที่จะปลูกไม้ดอก ให้เจริญงอกงามได้

ต้นไม้พื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ ของ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ได้แก่ ปาล์มบังสูรย์ รักนา และดาหลา และบริเวณราชอุทยาน ในเขตพระราชฐานที่ประทับ มีคอกเลี้ยงกวางป่า และมีกรงเลี้ยงนก ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นนกหายากที่ใกล้ จะสูญพันธุ์ โดยพระองค์มีพระราชดำริ ให้ขยายพันธุ์นกขมิ้น ซึ่งเป็นนกพื้นเมืองที่หายาก เพื่อให้มีจำนวนมาก พอที่จะปล่อยเข้าป่าต่อไป

ศูนย์ศิลปาชีพพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์[แก้]

นับแต่ปี พ.ศ. 2516 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ได้เสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เพื่อทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่นต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียงในภาคใต้ ทรงพบเห็นราษฎรประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนมากมายเช่น ด้านโรคภัยไข้เจ็บ ด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ เป็นต้น จึงมีพระราชดำริที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้โปรดเกล้าให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงพระราชทานความช่วยเหลือครอบครัวราษฎรที่มีฐานะยากจนโดยพระราชทานกลุ่มอาชีพต่างๆ ให้กับราษฎรเพื่อเป็นอาชีพเสริมในยามว่างได้มีงานทำ และมีรายได้ที่แน่นอนและเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยและวัตถุดิบในท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป ซึ่งเป็น

ที่มาของโครงการส่งเสริมศิลปาชีพจังหวัดนราธิวาส ประกอบด้วย โครงการจักสานย่านลิเภา จักสานเสื่อกระจูด จักสานเสื่อปาหนัน จักสานใบลาน เรือกอและจำลอง ทรงเช่าสวน ยางพาราเพื่ออนุรักษ์ย่านลิเภา เครื่องปั้นดินเผา (เซรามิค) ปักผ้า ทอผ้าฝ้าย ทอผ้าไหม ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม จักสานไม้ไผ่ แกะสลักไม้ ดอกไม้ประดิษฐ์ ถักโครเชต์ ตัดเย็บเสื้อผ้า เขียนลายผ้าบาติก ทำมู่ลี่ฝ้ายผสมกระจูด เป็นต้น รวมทั้งได้จัดให้มีการประกวดผลิตภัณฑ์ และจัดนิทรรศการขึ้นทุกปี ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เพื่อพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และฝีมือแรงงาน โดยมีอาคารศิลปาชีพในพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นสำหรับจัดแสดงสินค้าต่างๆจากศูนย์ศิลปาชีพ

การอนุญาตให้เข้าชมและค่าธรรมเนียม[แก้]

โดยปกติจะอนุญาตให้ผู้สนใจ เข้าชมพระตำหนักได้ระหว่างเวลา 09.00 -16.00 น.ในยามที่มิได้เสด็จ แปรพระราชฐานไปพักแรม โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมการเข้าชมทั้งคนไทยและต่างชาติ

การเดินทาง[แก้]

การเดินทางโดยใช้บริการรถโดยสารประจำทาง สายนราธิวาส - ตากใบ - สุไหงโก-ลก โดยลงจอด ณ หน้าพระตำหนัก

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

6°24′43″N 101°52′01″E / 6.412°N 101.867°E / 6.412; 101.867