ยิบรอลตาร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยิบรอลตาร์

Gibraltar (อังกฤษ)
คำขวัญMontis Insignia Calpe  (ละติน)
(อังกฤษ: Badge of the rock of Gibraltar)​
[1]
เพลงชาติก็อดเซฟเดอะคิง (อย่างเป็นทางการ)

เพลงชาติยิบรอลตาร์ (ระดับท้องถิ่น)
ที่ตั้งของยิบรอลตาร์
เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
ยิบรอลตาร์
ภาษาราชการอังกฤษ
ภาษาพูด
กลุ่มชาติพันธุ์
การปกครองราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
ดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร
สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3
• ผู้สำเร็จราชการ
พลเรือโท เซอร์ เดวิด สตีล[2]
ฟาเบียน พีคาร์โด
จอห์น กงซัลวิส[3]
สภานิติบัญญัติรัฐสภา
เอกราช
• ถูกยึดครอง
4 สิงหาคม พ.ศ. 2247[4]
• ถูกมอบให้สหราชอาณาจักร
11 เมษายน พ.ศ. 2256
(สนธิสัญญายูเทรกต์)[5]
10 กันยายน
พื้นที่
• รวม
6.5 ตารางกิโลเมตร (2.5 ตารางไมล์) (229)
0
ประชากร
• กันยายน พ.ศ. 2563 ประมาณ
34,003 (220)
5,230 ต่อตารางกิโลเมตร (13,545.6 ต่อตารางไมล์) (2)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) 2556 (ประมาณ)
• รวม
1,640 ล้านปอนด์ (200)
50,941 ปอนด์ (?)
เอชดีไอ (2561)0.920
สูงมาก · 15
สกุลเงินยิบรอลตาร์ปอนด์ (GIP)
เขตเวลาUTC+1 (CET)
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)
UTC+2 (CEST)
ขับรถด้านขวา2
รหัสโทรศัพท์3503
โดเมนบนสุด.gi
1ชาวยิบรอลตาร์มีเชื้อสายทางบรรพบุรุษผสมผสานกันจากชาวมอลตา,เจนัว, โปรตุเกสและชาวสเปน
2ต่างจากประเทศในเครือสหราชอาณาจักรอื่นๆ
ที่ใช้ระบบจราจรด้านซ้าย
มีเพียงยิบรอลตาร์และบริติชอินเดียนโอเชียนเทร์ริทอรี
ที่ใช้ระบบการจราจรด้านขวา
39567 จากสเปน
ยิบรอลตาร์
ภาพถ่ายยิบรอลตาร์ทางอากาศ

ยิบรอลตาร์ (อังกฤษ: Gibraltar) เป็นดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร ตั้งอยู่ใกล้กับจุดใต้สุดของคาบสมุทรไอบีเรีย[6][7] ในบริเวณช่องแคบยิบรอลตาร์ มีเนื้อที่โดยรวมประมาณ 6.5 ตารางกิโลเมตร ทางทิศเหนือมีพรมแดนติดต่อกับประเทศสเปน และมีประชากรประมาณ 34,000 คน[8] สถานที่ที่มีชื่อเสียงของยิบรอลตาร์คือ โขดหินยิบรอลตาร์ (Rock of Gibraltar) ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยาแห่งหนึ่งของโลก

เดิมทียิบรอลตาร์เคยเป็นดินแดนหนึ่งของราชอาณาจักรสเปน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1704 ขณะกำลังเกิดสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน ราชอาณาจักรอังกฤษ และสาธารณรัฐดัตช์ ได้ยึดครองดินแดนยิบรอลตาร์มาจากสเปน โดยได้ใช้เป็นชัยภูมิสำคัญในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ต่อมาภายหลังจากการทำสนธิสัญญายูเทรกต์เพื่อยุติสงคราม ทำให้ยิบรอลตาร์ มีสถานะเป็นดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1713 เป็นต้นมา โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยิบรอลตาร์เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของกองทัพเรือสหราชอาณาจักร ในการควบคุมการผ่านเข้า-ออกในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ปัจจุบันรายได้สำคัญของยิบรอลตาร์ส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว, ธุรกิจการพนันออนไลน์, การบริการทางการเงิน และการนำเข้า-ส่งออกสินค้า[9][10]

อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนยิบรอลตาร์ ยังเป็นความขัดแย้งสำคัญของสหราชอาณาจักรและสเปน โดยสเปนยังคงเรียกร้องให้ยกเลิกข้อตกลงในสนธิสัญญายูเทรกต์ และให้สหราชอาณาจักรคืนยิบรอลตาร์ให้กับสเปนหลังจากที่ได้มอบดินแดนนี้ให้กับสหราชอาณาจักรไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1713

โดยในปี ค.ศ. 1967 ได้มีการเปิดโอกาสให้กับประชาชนชาวยิบรอลตาร์ได้ลงประชามติในเรื่องอำนาจอธิปไตยของตนเองเป็นครั้งแรก ว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองสหราชอาณาจักรต่อไป หรือกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของสเปน [11] ซึ่งผลการลงประชามติเมื่อวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1967 ปรากฏว่าประชาชนชาวยิบรอลตาร์ ถึงร้อยละ 99.6 ยินยอมอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร และยังได้ถือเอาวันที่ 10 กันยายน ของทุกปี เป็น วันชาติยิบรอลตาร์ เพื่อระลึกถึงการลงประชามติเรื่องอธิปไตยของชาติเป็นครั้งแรก

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

คำว่ายิบรอลตาร์ในภาษาอังกฤษหรือคีบรัลตาร์ในภาษาสเปนมีรากศัพท์มาจากภาษาอาหรับว่า ญะบัลฏอริก (อาหรับ: جبل طارق, Jabal Ṭāriq) แปลว่า "ภูเขาแห่งฏอริก" หรือ ญิบรัลฏอริก (Gibr al-Ṭāriq) แปลว่า "โขดหินแห่งฏอริก"

โดย "ฏอริก" คือชื่อของนายพลชาวเบอร์เบอร์ของรัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์แห่งดามัสกัส​ มีชื่อเต็มว่า ฏอริก อิบน์ ซิยาด (Ṭāriq ibn Ziyād) เขาเป็นผู้นำพากองทัพของรัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์ บุกไปพิชิตและยึดครองราชอาณาจักรวิซิกอทและดินแดนฮิสเปเนีย (ซึ่งก็คือบริเวณคาบสมุทรไอบีเรียทั้งหมดรวมถึงยิบรอลตาร์ในปัจจุบัน) ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 711-718 ในสมัยเคาะลีฟะฮ์อัลวะลีดที่ 1

บริเวณที่ฏอริก อิบน์ ซิยาด ใช้รวบรวมกองกำลังสำหรับสู้รบและใช้รวบรวมผู้คนคือภูเขาแห่งหนึ่ง ต่อมาในปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในชื่อโขดหินยิบรอลตาร์ ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่ดินแดนบริเวณดังกล่าวถูกกองทัพมุสลิมยึดครอง จึงได้มีการตั้งชื่อดินแดนบริเวณนั้นว่า "ญะบัลฏอริก" หรือ "ญิบรัลฏอริก" แปลว่า ภูเขาแห่งฏอริก เพื่อเป็นเกียรติแก่ฏอริก อิบน์ ซิยาด ต่อมาชาวสเปนได้เรียกเป็น คีบรัลตาร์ (Gibraltar)

ทุกวันนี้ ยิบรอลตาร์มีชื่อเรียกสั้น ๆ อย่างไม่เป็นทางการว่า "ยิบ" (Gib) หรือ "เดอะร็อก" (the Rock)[12]

ประวัติศาสตร์[แก้]

ภาพหอคอยฮอมิจแห่งปราสาทมัวร์ โบราณสถานสำคัญของยิบรอลตาร์ และเป็นหอคอยที่ใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรไอบีเรียเมื่อสมัยที่ถูกปกครองโดยอิสลาม

ยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคสมัยโบราณ[แก้]

Three—quarter view of the mostly intact skull of a Neanderthal female
"สตรียิบรอลตาร์" – กะโหลกของมนุษย์โบราณนีแอนเดอร์ทาล​เพศหญิง ซึ่งอาศัยอยู่ในยิบรอลตาร์เมื่อ 50,000 ปีก่อน

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า เคยมีมนุษย์โบราณนีแอนเดอร์ทาล​ (Neanderthal) อาศัยอยู่ในยิบรอลตาร์เมื่อ 50,000 ปีก่อน โดยมีการค้นพบกระดูกของมนุษย์โบราณนีแอนเดอร์ทัล ที่ถ้ำกอร์แฮมส์ ซึ่งเป็นโพรงหินชายฝั่ง ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของโขดหินยิบรอลตาร์ ทำให้ยิบรอลตาร์กลายเป็นหนึ่งในแหล่งที่ค้นพบร่องรอยของมนุษย์โบราณนีแอนเดอร์ทาล หลังจากมนุษย์โบราณนีแอนเดอร์ทาลสูญพันธุ์ลง ถ้ำกอร์แฮมส์ยังคงถูกใช้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในยุคต่อ ๆ มา โดยมีการค้นพบซากเครื่องมือที่ทำจากหิน เตาโบราณและกระดูกสัตว์ที่มีอายุตั้งแต่ 5,000 ถึง 40,000 ปี ในถ้ำกอร์แฮมส์[13] นอกจากนี้ยังมีการค้นพบซากหม้อดินในสมัยยุคหินใหม่อยู่​ภายในถ้ำ และเมื่อถึงยุคสัมฤทธิ์มนุษย์เริ่มใช้ชีวิตเป็นชุมชนอยู่นอกถ้ำมากขึ้นจึงทำให้ค้นพบหลักฐานของมนุษย์ยุคสัมฤทธิ์ภายในถ้ำได้เพียงเล็กน้อย

ในสมัยโบราณยิบรอลตาร์ได้รับการยกย่องจากชาวทะเลเมดิเตอร์เรเนียนว่าเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาและยังพบว่าชาวฟินิเชียที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนยิบรอลตาร์ ในช่วง 950 ปีก่อนคริสต์ศักราช ใช้บริเวณภายในถ้ำเป็นที่บูชาวิญญาณจีเนียส โลไซ

สมัยกลาง[แก้]

หลังจากนั้นชาวโรมันได้เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร จนกระทั่งจักรวรรดิโรมันล่มสลายลง ดินแดนนี้จึงถูกปกครองโดยชาวแวนดัล ก่อนจะอยู่ในปกครองของราชอาณาจักรวิซิกอท ตั้งแต่ ค.ศ. 414 จนกระทั่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์แห่งดามัสกัส ได้แผ่ขยายอำนาจและบุกพิชิตคาบสมุทรไอบีเรียได้สำเร็จ ทำให้ดินแดนของราชอาณาจักรวิซิกอทตกเป็นของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ตั้งแต่ ค.ศ. 711 โดยดินแดนในคาบสมุทรไอบีเรียมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของรัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์ ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการตั้งชื่อบริเวณภูเขาที่ใช้รวบรวมทหารในการบุกพิชิตคาบสมุทรไอบีเรียเพื่อเป็นเกียรติแก่ ​ฏอริก อิบน์ ซิยาด​ แม่ทัพของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ว่า ​ญะบัลฏอริก​ หรือ ​ญิบรัลฏอริก ซึ่งมีความหมายว่า ​ภูเขาแห่งฏอริก​ ก่อนจะกลายมาเป็นคำว่า ยิบรอลตาร์ มาจนถึงปัจจุบัน

เดือนมกราคม ค.ศ. 750 รัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์ได้พ่ายแพ้ในยุทธการที่แม่น้ำซาบต่อราชวงศ์อับบาซียะฮ์ หลังพ่ายแพ้ในยุทธการครั้งนี้ เคาะลีฟะฮ์มัรวานที่ 2 ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ได้หลบหนีไปที่เมืองอะบูซีร ริมแม่น้ำไนล์ของอียิปต์ แต่ภายหลังถูกจับตัวได้และถูกสังหาร ทำให้ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ล่มสลายลง ต่อมาอัส-ซัฟฟะห์ แห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ์ได้ขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮ์องค์ใหม่และได้สถาปนารัฐเคาะลีฟะฮ์อับบาซียะฮ์ขึ้นปกครองแทน

โดยกลุ่มผู้นำของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ที่หลงเหลืออยู่นำโดยเจ้าชายอับดุลเราะห์มานที่ 1 ได้หลบหนีมาที่คาบสมุทรไอบีเรีย และท้าทายอำนาจของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ด้วยการประกาศเป็นอิสระและประกาศตนเป็นเอมีร์แห่งกอร์โดบา ใน ค.ศ. 756 โดยดินแดนในคาบสมุทรไอบีเรียรวมทั้งยิบรอลตาร์ถือเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเอมีร์แห่งกอร์โดบา

ในปี ค.ศ. 929 สมัยของเจ้าชายอับดุลเราะห์มานที่ 3 ได้เปลี่ยนฐานะเป็นรัฐเคาะลีฟะฮ์แห่งกอร์โดบา โดยยิบรอลตาร์ถือเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดเซบิยา ต่อมาในปี ค.ศ.1023 จังหวัดเซบิยาได้แยกตัวจากรัฐเคาะลีฟะฮ์แห่งกอร์โดบาออกมาเป็นรัฐย่อยๆ (Taifa) และถูกปกครองโดยอาบู อัลกอซิม

ปี ค.ศ. 1091 เซบิยา ได้ถูกราชวงศ์อัลมูราบิตูน (Al-Moravids) จากโมร็อกโกยึดครอง ทำให้ยิบรอลตาร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของเซบิยา กลายเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนในปกครองของราชวงศ์อัลมูราบิตูน จากนั้นในปี ค.ศ. 1147 ราชวงศ์อัลมูราบิตูน ได้พ่ายแพ้สงครามในยุทธการที่มาร์ราคิชให้แก่ราชวงศ์อัลมูวาห์ฮิดูน (Almohads) และทำให้อัลมูวาห์ฮิดูนได้เข้ามาปกครองแทนที่

ในช่วงที่ยิบรอลตาร์อยู่ภายใต้ใต้ปกครองของ รัฐเคาะลีฟะฮ์อัลมูวาห์ฮิดูน โดยอับดุล อัลมุมิน เคาะลีฟะฮ์ผู้ปกครองดินแดนในสมัยนั้น ได้สร้างหอคอยขนาดใหญ่ขึ้นในบริเวณปราสาทมัวร์ (Moorish Castle) และให้ชื่อว่า มะดีนะฮ์ อัลฟัตฮ์ ซึ่งต่อมากลายเป็นโบราณสถานสำคัญ และถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของยิบรอลตาร์ในปัจจุบัน ในชื่อ เดอะทาวเวอร์ออฟฮอมิจ แห่งปราสาทมัวร์ (The Tower of Homage of Moorish Castle)

ในช่วงศตวรรษที่ 12 ยิบรอลตาร์ ถูกยึดครองหลายครั้ง ทั้งจากราชวงศ์นาสริดแห่งอาณาจักรเอมีร์แห่งกรานาดา ใน ค.ศ. 1237 และราชวงศ์มารีนิดแห่งโมร็อกโก ก่อนที่จะมาตกอยู่ในอำนาจของราชบัลลังก์กัสติยา ใน ค.ศ. 1309 จากนั้นราชวงศ์มารีนิดแห่งโมร็อกโกได้ยึดกลับคืนไปในปี ค.ศ. 1333 และกลับไปตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์นาสริดแห่งกรานาดาอีกครั้งหนึ่ง โดยราชบังลังก์กัสติยาพยายามจะตีคืนหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1462 ราชบัลลังก์กัสติยาภายใต้การบัญชาการรบของ ​ฮวน อลอนโซ เดอ กุสมัน, ดยุกที่ 1 แห่ง เมดีนา ซีโดเนีย ประสบความสำเร็จในการยึดยิบรอลตาร์คืนมาจากอาณาจักรกรานาดาได้สำเร็จ[14] โดยในปี ค.ศ. 1501สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา​ได้พระราชทานตราตั้งอนุญาตให้ยิบรอลตาร์มีตราอาร์ม​เป็นของตนเอง โดยตราอาร์มดังกล่าวใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ปี ค.ศ. 1704 ช่วงระหว่างสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน​ กองทัพเรือฝ่ายสัมพันธมิตร (อังกฤษ​ -​ ดัตช์​)​ ได้ยึดครองดินแดนยิบรอลตาร์เพื่อใช้เป็นท่าเรือแถบคาบสมุทรไอบีเรีย​ในการควบคุมช่องแคบยิบรอลตาร์​ สำหรับการรบกับฝรั่งเศส และสงครามจบลงที่ทั้งสองฝ่ายทำสนธิสัญญายูเทรกต์​ ในปี ค.ศ. 1713 ส่งผลให้ยิบรอลตาร์อยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรนับแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากนั้นสเปนพยายามยึดยิบรอลตาร์กลับคืนเป็นระยะ เช่นการปิดล้อมยิบรอลตาร์ในสงครามระหว่างอังกฤษกับสเปน ในปี ค.ศ.1727 และการร่วมมือกับฝรั่งเศสเพื่อยึดยิบรอลตาร์ระหว่างปี (ค.ศ. 1779-1883) ในสงครามปฏิวัติอเมริกา​ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

อ้างอิง[แก้]

  1. "National Symbols". Gibraltar.gov.gi. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2014. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2013.
  2. "New Gibraltar governor pledges to ensure sovereignty, safety and success for the Rock". MercoPress. 20 January 2016. สืบค้นเมื่อ 20 January 2016.
  3. "New Mayor John Gonçalves says he wants to give young people a voice". สืบค้นเมื่อ 5 April 2019.
  4. Gibraltar was captured on 24 July 1704 Old Style or 4 August 1704 New Style.
  5. The treaty was signed on 31 March 1713 Old Style or 11 April 1713 New Style (Peace and Friendship Treaty of Utrecht between France and Great Britain).
  6. Dictionary Reference: Gibraltar
  7. The Free Dictionary: Gibraltar
  8. https://www.gibraltar.gov.gi/statistics/key-indicators
  9. Foreign and Commonwealth Office. "Country Profiles: Gibraltar"., Foreign and Commonwealth Office, 6 May 2010; retrieved 16 April 2015
  10. Informe sobre la cuestión de Gibraltar, Spanish Foreign Ministry. เก็บถาวร 2010-03-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
  11. Garcia, Joseph (1994). Gibraltar - The Making of a People. Gibraltar: Medsun.
  12. Hills, George (1974). Rock of Contention: A history of Gibraltar. London: Robert Hale & Company. p. 13. ISBN 0-7091-4352-4.
  13. Finlayson, J. C.; Barton, R. N. E.; Stringer, C. B. (2001). "The Gibraltar Neanderthals and their Extinction". Les Premiers Hommes Modernes de la Peninsule Iberique. Actes du Colloque de la Commission VIII de l'UISPP. Lisbon: Instituto Português de Arqueologia. p. 48. ISBN 978-972-8662-00-4.
  14. "The History of Gibraltar and of Its Political Relation to Events in Europe, From the Commencement of the Moorish Dynasty in Spain to the Last Morocco War". Mocavo.