ทวีป วรดิลก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทวีป วรดิลก

เกิด25 สิงหาคม พ.ศ. 2471
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต8 เมษายน พ.ศ. 2548 (76 ปี)
จังหวัดนครนายก ประเทศไทย
นามปากกาทวีปวร, กฤษณ์ วรางกูร, เทอด ประชาธรรม
อาชีพนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักแต่งเพลง นักกฎหมาย
คู่สมรสกานดา พงศ์ธรานนท์

ทวีป วรดิลก (25 สิงหาคม พ.ศ. 2471 - 8 เมษายน พ.ศ. 2548) นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2538 และเป็นอดีตรองหัวหน้าพรรคกิจประชาคม[1]

ประวัติ[แก้]

ทวีป วรดิลก เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 9 คนของ พระทวีปธุรประศาสน์ (วร วรดิลก) อดีตเจ้าเมืองกระบี่และชลบุรีซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในกรณีกบฏบวรเดช พี่ทั้งสามคนล้วนอยู่ในวงการนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์คือ ดรุณ ศิวะศริยานนท์ สุวัฒน์ วรดิลก และถวัลย์วร วรดิลก ใช้ชีวิตในวัยเด็กที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดโสมนัส และโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร และศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ระหว่างเรียนธรรมศาสตร์ได้ทำกิจกรรมนักศึกษา และทำนิตยสาร "ธรรมจักร" ของสโมสรนักศึกษา จนถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายบริหาร และเป็นหนึ่งในห้านักศึกษาที่ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา ฐานยุยงให้มีการต่อต้านรัฐบาล ในปี พ.ศ. 2494 เป็นเหตุชนวนให้เกิดเหตุการณ์ กบฏสันติภาพ

ชีวิตส่วนตัว ทวีปสมรสกับ กานดา พงศ์ธรานนท์

นายทวีป วรดิลก ได้ถึงแก่อนิจกรรมลงด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ที่อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2548 สิริรวมอายุได้ 76 ปี มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร

การทำงาน[แก้]

ทวีป วรดิลก ทำงานกับหนังสือพิมพ์หลายฉบับในช่วง พ.ศ. 2496 - 2506 เช่น สยามนิกร พิมพ์ไทย สุภาพบุรุษ-ประชามิตร และเสียงอ่างทอง จนถูกจับด้วยข้อหากบฏและคอมมิวนิสต์ ใน พ.ศ. 2503 ถูกคุมขังพร้อมกับ จิตร ภูมิศักดิ์ และทองใบ ทองเปาด์ ในระหว่างถูกคุมขัง ได้สอบผ่านเป็นเนติบัณฑิต โดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวออกจากเรือนจำไปสอบในตอนเช้า และกลับเรือนจำในตอนเย็น

ในปี พ.ศ. 2506 เริ่มทำงานเป็นทนายความให้กับสำนักกฎหมายมารุต บุนนาค และย้ายไปเป็นฝ่ายกฎหมายของธนาคารมหานคร (สมัยนั้นชื่อ ธนาคารไทยพัฒนา) หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ย้ายไปอยู่ประเทศอังกฤษกับน้องสาว ก่อนจะกลับมาทำงานเขียนบทความ แปลนวนิยาย แต่งบทกวี เขียนสารคดีประวัติศาสตร์ และเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับหลายบริษัท

ผลงานเขียน[แก้]

ผลงานที่มีชื่อเสียง คือ นวนิยายแปลเรื่อง "คนขี่เสือ" และบทกวีนิพนธ์เพื่อชีวิต เช่น "จงเป็นอาทิตย์เมื่ออุทัย" "กำแพงเงา" และผลงานแต่งคำร้อง เพลง "โดมในดวงใจ" (เอื้อ สุนทรสนาน แต่งทำนอง) "นิมิตสวรรค์" (เอื้อ สุนทรสนาน แต่งทำนอง) "มนต์รักนวลจันทร์" (เอื้อ สุนทรสนาน แต่งทำนอง)"มาร์ช ม.ธ.ก." (ทำนองเพลงชาติฝรั่งเศส "ลามาร์แซแยส") "นางในสวรรค์" "รุ้งสวรรค์" "รักข้ามขอบฟ้า" (สง่า อารัมภีร แต่งทำนอง) และ "มาร์ชเทิดสิทธิมนุษยชน" (สุธรรม บุญรุ่ง (จิตร ภูมิศักดิ์) แต่งทำนอง)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • คำประกาศเกียรติคุณ นายทวีป วรดิลก ศิลปินแห่งชาติ[ลิงก์เสีย]
  • ประทีป เหมือนนิล. 100 นักประพันธ์ไทย. กรุงเทพ : สุวีริยาสาส์น, 2542. หน้า 479. ISBN 974-8267-78-4