เอียน รัช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอียน รัช
เอียน รัช ใน ประเทศสิงคโปร์
ข้อมูลส่วนตัว
ชื่อเต็ม เอียน เจมส์ รัช
เกิดที่ เซนต์ อะซาฟ เวลส์
สูง 5 ฟุต 11 นิ้ว (1.80 เมตร)
ตำแหน่ง กองหน้า
ชุดใหญ่*
ปี ทีม ลงเล่น (ประตู)
1978–1980 เชสเตอร์ซิตี 34 (14)
1980–1987 ลิเวอร์พูล 224 (139)
1987–1988 ยูเวนตุส 29 (7)
1988–1996 ลิเวอร์พูล 245 (90)
1996–1997 ลีดส์ ยูไนเต็ด 36 (3)
1997–1998 นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด 10 (2)
1998เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด (ยืม) 4 (0)
1998–1999 เร็กซ์แฮม 17 (0)
1999–2000 ซิดนีย์โอลิมปิก 3 (1)
รวม 602 (254)
ทีมชาติ
1980–1996 เวลส์[1] 73 (28)
ผู้จัดการทีม
2004–2005 เชสเตอร์ซิตี
  • จำนวนนัดที่ลงเล่นให้ชุดใหญ่และจำนวนประตูนับเฉพาะลีกท้องถิ่นเท่านั้น.
† ลงเล่น (ประตู)

เอียน เจมส์ รัช, เอ็มบีอี. อดีตกองหน้าทีมชาติเวลส์ และ ลิเวอร์พูลได้รับยกย่องให้เป็นกองหน้าชั้นนำของยุโรป ในยุค 80 และต้นยุค 90 ดาวเตะชาวเวลส์ผู้นี้ถือเป็นนักเตะที่มองเกมอย่างยอดเยี่ยมและยิงประตูได้เฉียบคมอย่างมาก โดยเอียน รัชกับคู่หูของเขา เคนนี ดัลกลิช ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นคู่กองหน้าที่ดีที่สุดในวงการฟุตบอลอังกฤษ

ในระดับสโมสรเอียน รัชเคยค้าแข้งกับสโมสรชั้นนำอย่าง ลิเวอร์พูล, ยูเวนตุส, ลีดส์ ยูไนเต็ด และ นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ก่อนจะเลิกเล่นฟุตบอลที่ออสเตรเลีย ในปี 2000

ประวัติ[แก้]

เชสเตอร์ ซิตี้: 1979–1980[แก้]

เอียน รัช เกิดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1961 ที่เซนต์ อะซาฟ ในเวลส์ หลังออกจากโรงเรียนในปี 1978 รัชก็เริ่มต้นการเป็นนักฟุตบอลอาชีพด้วยการเข้าร่วมทีมเชสเตอร์ ซิตี้ในระดับดิวิชั่น 3 (เดิม) หลังฉายแววเด่นตั้งแต่อายุยังน้อยทำให้เขาได้ลงเล่นกับทีมชุดใหญ่ในปลายฤดูกาล 1978-1979 โดยเขาประเดิมลงสนามนัดแรกในตำแหน่งกองกลาง เมื่อเดือนเมษายน ปี 1979 ในเกมส์พบเชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ซึ่งจบลงที่ผลเสมอ 2-2 แต่หลังจากนั้นในฤดูกาล 1979-1980 เขาก็ได้เล่นตำแหน่งกองหน้าโดยยิงประตูแรกในอาชีพนักฟุตบอลได้ในเกมส์ที่เชสเตอร์ ซิตี้เสมอกับจิลลิ่งแฮม 2-2 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 1979 และเดือนต่อมาเขาก็ยึดตำแหน่งตัวจริงได้เมื่อสโมสรตัดสินใจขายเอียน เอ็ดเวิร์ดส์กองหน้าของทีมออกไปให้เร็กซ์แฮม

ชื่อของเอียน รัชเริ่มถูกพูดถึงเมื่อเป็นผู้ยิงประตูให้เชสเตอร์ ซิตี้บุกเอาชนะนิวคาสเซิ่ลไปอย่างพลิกล็อก 2–0 ในเอฟเอคัพ รอบ 3 ในเดือนมกราคม ปี 1980 ก่อนจะมาแพ้อิปสวิช ทาวน์ในอีก 2 รอบต่อมามา แมตช์สุดท้ายของเขาและเชสเตอร์ ซิตี้คือเกมส์ที่เปิดบ้านพบกับเซาธ์เอนด์ ยูไนเต็ดที่สนามซีแลนด์ โร้ดสนามเหย้าของทีมในเวลานั้น เมื่อวันที่ 26 เมษายน 1980 ซึ่งถึงแม้เอียน รัชจะยิงประตูไม่ได้แต่ทีมก็ชนะ 2-1 และจบฤดูกาลด้วยอันดับ 9 ในดิวิชั่น 3

แม้จะได้รับความสนใจจากแมนเชสเตอร์ซิตีแต่กลับเป็นลิเวอร์พูลที่สามารถคว้าตัวดาวรุ่งแห่งเวลส์ผู้นี้มาได้เมื่อบ็อบ เพลสลีย์กุนซือของลิเวอร์พูลซื้อตัวเขามาจากเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยราคา ถึง 300,000 ปอนด์ และเป็นสถิติการขายผู้เล่นที่ได้ค่าตัวสูงสุดของเชสเตอร์ ซิตี้ที่ยืนยาวมาจนถึง 28 ปี

ตลอดช่วงเวลาของเขาที่เชสเตอร์ ซิตี้ เขาอยู่ภายใต้การคุมทีมของอลัน โอ๊คส์ และผู้ที่มีส่วนอย่างยิ่งในการพัฒนาฟอร์มการเล่นของเขาก็คือคลิฟฟ์ เซียร์โค้ชทีมเยาวชนของเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งภายหลังอีก 20 ปีต่อมาทั้งคู่ได้ร่วมงานกันอีกครั้งในทีมงานสตาฟฟ์โค้ชของเร็กซ์แฮม

ลิเวอร์พูล: 1980–1987[แก้]

เอียน รัช ได้เล่นให้ทีมชาติชุดใหญ่ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม ปี 1980 ก่อนที่เขาจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในฐานะผู้เล่นของลิเวอร์พูล โดยการลงสนามนัดแรกของเขาให้ลิเวอร์พูลต้องรอถึงวันที่ 13 ธันวาคม ปีเดียวกัน ในเกมส์ดิวิชั่น 1 พบกับทีมอิปสวิช ทาวน์

รัชใช้เวลาบางช่วงในฤดูกาลแรกของเขากับลิเวอร์พูลในทีมสำรองเพื่อศึกษาแนวทางของทีม และต้องฝึกฝนไม่ต่างจากดาวรุ่งคนอื่นก่อนจะก้าวขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่

การฝึกในทีมสำรองของสโมสรเป็นเรื่องยากและไม่ใช่สิ่งที่เขาชื่นชอบนัก และดาวรุ่งในทีมมีความต้องการย้ายทีมเพื่อให้ได้ลงเล่นในทีมชุดแรกรวมถึงตัวของเขาเองด้วย แต่ภายหลังเมื่อได้พูดคุยและได้รับการชี้แนะจากสุดยอดกุนซืออย่าง บ็อบ เพลสลี่ ที่แนะให้เขามีความเห็นแก่ตัวมากขึ้นเวลาได้บอลทำให้เขาตัดสินใจอยู่เพื่อสู้แย่งตำแหน่งในทีมต่อไป

และประตูแรกของเขาก็มาถึงในวันที่ 30 กันยายน 1981 ในยูโรเปี้ยน คัพ รอบแรก นัดที่ 2 ที่สนามแอนด์ฟิลด์ในเกมส์พบสโมสร โอลุน ซึ่งในนัดแรกลิเวอร์พูลบุกไปชนะมา 1-0 และในนัดที่ 2 ลิเวอร์พูลก็ไล่ถล่มทีมจากฟินแลนด์ไป 7–0 รัชยิงประตูได้ในนาทีที่ 67 และในฤดูกาลนั้นเขาปิดฉากอย่างสวยหรูด้วยตำแหน่งดาวซัลโวของสโมสร เมื่อยิงไป 30 ลูก จากการลงสนาม 49 เมื่อรวมทุกรายการ และเป็นการยิงในลีกถึง 17 ประตู และพาสโมสรคว้าแชมป์ลีกในที่สุด

ฤดูกาล 1982-1983 เขาได้รับเลือกให้เป็นดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งพีเอฟเอ หลังนำลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ลีกสูงสุดและชนะเลิศถ้วยลีกคัพ โดยยิงในลีกไป 24 ประตูและมีแต้มห่างจากอันดับ 2 อย่างวัตฟอร์ดถึง 11 คะแนน โดยในวันที่ 6 พฤศจิกายน 1982 เอียน รัช ยิงคนเดียว 4 ประตูใส่เอฟเวอร์ตันในชัยชนะ 5-0 ทำให้เขาเป็นผู้เล่นที่ยิงประตูในเมอร์ซี่ไซด์ ดาร์บี้แมตช์มากที่สุดใน 1 นัด

ฤดูกาล 1983-1984 เขาได้รับรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของพีเอฟเอเมื่อพาสโมสรคว้าแชมป์ลีกสูงสุดและชนะเลิศลีกคัพ อีกทั้งยังคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพได้อย่างยิ่งใหญ่ และเขายังได้รับรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของสมาคมผู้สื่อข่าวอังกฤษอีก 1 รางวัล ในฤดูกาลนั้นเขายิงระเบิดถึง 47 ประตูจากการลงสนาม 65 นัด ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ลีกโดยมีคะแนนห่างจากเซาธ์แฮมป์ตัน 3 คะแนน และชนะคู่ปรับอย่างเอฟเวอร์ตัน 1-0 ในนัดรี-เพลย์ลีก คัพรอบชิงชนะเลิศ รวมถึงคว้าแชมป์ยุโรปสมัยที่ 4 ให้สโมสร ด้วยการพาทีมชนะโรม่า 4–2 ในการดวลจุดโทษ (รัช ยิงนำ 3-2 ก่อนที่ บรู๊ซ กร็อบเบลล่า จะงัดลีลาการเซฟจุดโทษด้วยการเต้นเหมือนปลาหมึกที่เป็นตำนานในเวลาต่อมา) หลังจากเสมอในเวลา 1-1

ฤดูกาล 1984–85 เป็นปีที่ไม่สู้ดีนักของลิเวอร์พูลเมื่อสโมสรปราศจากตำแหน่งแชมป์เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยในนัดชิงชนะเลิศยูโรเปี้ยน คัพกับยูเวนตุสที่สนามเฮย์เซลล์ สเตเดี้ยม, กรุงบรัซเซลส์, ประเทศเบลเยี่ยม เป็นแมตช์ที่เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นเมื่อกองเชียร์ของทั้ง 2 ทีมก่อเรื่องวิวาทกันจนมีผู้บาดเจ็บกว่า 350 คนและแฟนบอลของยูเวนตุสเสียชีวิตถึง 39 คน และส่งผลกระทบถึงสภาพจิตใจของนักเตะทั้ง 2 ทีม เกมกลับมาแข่งใหม่และจบลงด้วยชัยชนะ 1-0 ของยูเวนตุส และลิเวอร์พูลเสียแชมป์ลีกให้เอฟเวอร์ตันคู่แข่ง หลังจบฤดูกาลทีมจากอังกฤษถูกแบนในเวทีระดับยุโรปถึง 5 ปีจากเหตุการณ์ที่สนามเฮย์เซลส์ ทำให้เอฟเวอร์ตันที่คว้าแชมป์ลีกได้ในปีนั้นไม่ได้ลงแข่งยูโรเปี้ยน คัพในปีต่อมา

ฤดูกาล 1985–86 ลิเวอร์พูลกลับมาสร้างผลงานอีกครั้ง เอียน รัชยิงคนเดียว 2 ประตูพาทีมชนะเซาธ์แฮมป์ตัน 2-0 ในเกมส์เอฟเอคัพรอบรองชนะเลิศ ที่สนามไวท์ ฮาร์ท เลน และเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศไปพบกับคู่ปรับสำคัญอย่างเอฟเวอร์ตัน ซึ่งในเกมส์นัดดังกล่าวถือเป็นเมอร์ซี่ไซด์ ดาร์บี้แมตช์ในนัดชิงชนะเลิศเอฟเอคัพครั้งแรก ทำให้ทั้ง 2 ทีมต้องการชัยชนะในนัดนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยลิเวอร์พูลซึ่งคว้าแชมป์ลีกได้เรียบร้อยแล้วต้องการชัยชนะเพื่อเป็นทีมที่ 5 ที่คว้าดับเบิลแชมป์ คือได้แชมป์ลีกและเอฟเอคัพ ในขณะที่เอฟเวอร์ตันก็ต้องการถ้วยนี้และที่สำคัญพวกเขาต้องการขัดขวางลิเวอร์พูลในการทำสถิติดังกล่าว โดยเกมส์จบครึ่งแรกพร้อมกับความได้เปรียบของเอฟเวอร์ตันเมื่อได้ประตูขึ้นนำ 1-0 จากประตูของ แกรี่ ลินิเกอร์ ศูนย์หน้าทีมชาติอังกฤษของทีม

ครึ่งหลังทีมหงส์แดงภายใต้การคุมทีมของเคนนี ดัลกลิชที่รับตำแหน่งผู้เล่น-ผู้จัดการทีมก็กลับมาเล่นด้วยฟอร์มที่ผิดกับครึ่งแรก และเอียน รัชก็สามารถยิงประตูตีเสมอให้ทีมได้สำเร็จในนาทีที่ 57 จากการผ่านบอลของ แยน โมลบี้ และเข้าไปยิงผ่านบ็อบบี้ มิมส์ผู้รักษาประตูเอฟเวอร์ตันอย่างสบายๆ และอีก 6 นาทีต่อมา โมลบี้ผู้เป็นหัวใจสำคัญในแนวรุกของลิเวอร์พูลได้บอลในเขตโทษของเอฟเวอร์ตันก่อนจะผ่านบอลอย่างสุดยอดให้เคร็ก จอห์นสตันยิงประตูให้ลิเวอร์พูลกลับมาแซงเป็น 2-1 เกมสู้กันอย่างสูสีจนกระทั่งนาทีที่ 84 รัชก็มายิงประตูชัยได้สำเร็จพร้อมกับพาลิเวอร์พูลคว้าดับเบิ้ลแชมป์หนแรกในประวัติศาสตร์สโมสรและได้รับรางวัลแมน ออฟ เดอะ แมตช์หลังจบเกมส์

ยูเวนตุส : 1987–1988[แก้]

หลังได้รับความสนใจจากทีมยักษ์ใหญ่หลายทีมในยุโรป ทำให้เขาเริ่มคิดถึงการย้ายออกจากถิ่นแอนด์ฟิลด์ในช่วงต้นฤดูกาล 1986-1987 และในวันที่ 1 กรกฎาคม 1987 เขาก็ถูกขายให้สโมสรยูเวนตุส มหาอำนาจลูกหนังในแดนอิตาลีด้วยค่าตัว 3 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นการย้ายทีมไปเล่นให้กับคู่กรณีในเกมส์แห่งความหายนะที่สนามเฮย์เซลส์ ทั้ง 2 สโมสรฟื้นฟูความสัมพันธ์กันอีกครั้งและมีการเตะแมตช์กระชับมิตรของทั้ง 2 สโมสร และดูเหมือนว่ามันจะเป็นความท้าทายใหม่ของรัช ในการที่จะต้องถูกกองหลังประกบตายในลีกอิตาลี แต่อย่างไรก็ตามเขาไม่ประสบความสำเร็จที่นี่ เมื่อยิงได้เพียง 12 ประตูจาก 29 นัด และพบกับช่วงเวลายากลำบากในตูริน

หลังเล่นที่อิตาลีอยู่ 1 ฤดูกาลเขาก็ย้ายกลับถิ่นแอนด์ฟิลด์อีกครั้งด้วยค่าตัวถึง 2 ล้าน 7 แสนปอนด์ในวันที่ 18 สิงหาคม 1988 และเป็นสถิติค่าตัวแพงที่สุดในเกาะอังกฤษ ก่อนที่สถิติดังกล่าวจะถูกทำลายในอีก 3 ปีต่อมา

ช่วงที่ 2 ในถิ่นแอนด์ฟิลด์ 1988–1996[แก้]

หลังกลับมาแอนด์ฟิลด์ รัชต้องแย่งตำแหน่งกองหน้าในทีมกับ ปีเตอร์ เบียร์ดสลี่ย์ และ จอห์น อัลดริดจ์ ผู้มาแทนที่เขาในช่วงที่ผ่านมา และด้วยสไตล์การเล่นที่คล้ายคลึงกันทำให้พวกเขาไม่สามารถลงเล่นพร้อมกันหมดได้ จอห์น อัลดริดจ์ เริ่มฤดูกาลอย่างยอดเยี่ยมด้วยการยิงประตูที่สม่ำเสมอ จึงทำให้นักเตะจากเวลส์ต้องนั่งอยู่ที่ม้านั่งสำรอง และดูเหมือนรัชจะกลับมาเข้าฟอร์มอีกครั้งในเกมส์ที่ยิง 2 ประตูใส่เอฟเวอร์ตัน พาทีมชนะ 3-2 ในนัดชิงชนะเลิศเอฟเอคัพ ปี 1989 โดยเขาเป็นตัวสำรองที่ลงมาแทน จอห์น อัลดริดจ์ ผู้ซึ่งเป็นคนยิงประตูแรกให้ทีมในช่วงต้นเกมส์ก่อนที่เกมส์จะจบลงในช่วงเวลาปกติที่ 1-1 ในช่วงต่อเวลาพิเศษรัชพาทีมขึ้นนำอีกครั้ง จากนั้น สจ๊วต แมคคอลล์ กองกลางของเอฟเวอร์ตันยิงประตูตีเสมอ 2-2 แต่รัชผู้กลับมายิงประตูเฉียบคมก็ยิงประตูชัยในนาทีที่ 103 พาสโมสรคว้าแชมป์อย่างสุดตื่นเต้น

ฤดูกาล 1989–90 รัชได้แชมป์ลีกอีกครั้งมันเป็นครั้งที่ 5 ของเขาและเป็นการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดครั้งสุดท้าย โดยลิเวอร์พูลจบฤดูกาลด้วยการทำแต้มห่างจากอันดับ 2 อย่างแอสตันวิลลาถึง 9 แต้ม และเอียน รัชยิง 18 ประตู จาก 36 นัด และสโมสรพลาดการคว้าดับเบิ้ลแชมป์อีกสมัยอย่างน่าเสียดายเมื่อพลาดท่าแพ้ต่อคริสตัล พาเลซไปแบบเหลือเชื่อ

ในปี 1992 เขาคว้าแชมป์เอฟเอคัพสมัยที่ 3 ของตนเองได้สำเร็จ เมื่อเป็นผู้ยิงประตูที่ 2 ในนัดชิงชนะเลิศเอฟเอคัพในชัยชนะเหนือซันเดอร์แลนด์ 2-0 ที่สนามเวมบลีย์ ในลีกเขาต้องพบการปัญหาอาการบาดเจ็บทำให้ได้ลงสนามในลีกเพียง 18 นัดและยิงได้เพียง 3 ประตูเท่านั้น แต่หนึ่งในนั้นเป็นการยิงประตูใส่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดและพาทีมคว้าชัยชนะในแมตช์ดังกล่าว

รัช คว้าแชมป์ลีกคัพ สมัยที่ 5 ของตัวเองในปี 1995 เมื่อ 2 ประตูของ สตีฟ แม็คมานามาน ดับฝันโบลตัน ที่หวังจะสร้างปาฏิหาริย์ แต่กลับแพ้ 2-1 และเขาปิดฉากกับสโมสรในเอฟเอคัพ นัดชิงชนะเลิศปี 1996 กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด โดยรัชเป็นผู้เล่นตัวสำรอง แต่จบลงด้วยความผิดหวังเมื่อเอริก กองโตนายิงประตูชัยพาทีมปีศาจแดงคว้าแชมป์ในท้ายที่สุด

โดยรวมแล้วรัชยิงไป 346 ประตูในการลงสนามในทีมชุดใหญ่เกือบ 658 นัด ถึงแม้ว่า ในลีก เขาจะยิงได้น้อยกว่าสถิติสโมสรของโรเจอร์ ฮันท์ที่ทำได้ 245 ประตูก็ตามแต่นั่นเป็นสถิติเดียวที่รัชเป็นรองในสโมสร ในถ้วยเอฟเอคัพเขายิงให้ลิเวอร์พูล 39 ลูก (จากทั้งหมด 44 ลูก) ในขณะที่ประตูรวมในนัดชิงชนะเลิศเขาทำได้ 5 ประตู (2 ประตูในปี 1986 และ 1989 และ 1 ประตูในปี 1992 ทั้งหมดส่งผลให้ลิเวอร์พูลได้แชมป์) นับเป็นสถิติรายบุคคลที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล รัชยังเป็นเจ้าของยิงประตูในลีก คัพมากที่สุดด้วยจำนวน 49 ประตู เช่นเดียวกับเจฟฟ์ เฮิร์สท์ และเป็นนักฟุตบอลคนแรกที่ชนะการแข่งขันรายการดังกล่าวถึง 5 ครั้ง รวมถึงเป็นกัปตันทีมพาลิเวอร์พูลลงแข่งกับโบลตันในนัดชิงชนะเลิศปี 1995 เขายิง 10 ประตูในการลงสนามที่เวมบลีย์ทั้งหมด 18 นัด

นอกจากนี้รัชยังคว้าแชมป์ลีกกับลิเวอร์พูลได้ 5 สมัย ยูโรเปี้ยน คัพอีก 1 สมัย และได้รับราลวัลเครื่องราชย์ชั้นเอ็มบีอี รัชทำสถิติยิงประตูในศึกเมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บี้ แมตช์กับเอฟเวอร์ตันได้ทั้งหมด 25 ประตู ได้รับรางวัลรองเท้าทองคำแห่งยุโรป ด้วยการยิง 32 ประตูในลีกในปี 1984 และได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปี จาก 2 สถาบัน

ปลายชีวิตค้าแข้ง 1996–2000[แก้]

รัชต้องกล่าวอำลาถิ่นแอนฟิลด์ในวันที่ 20 พฤษภาคม 1996 เมื่อเขาย้ายไปร่วมทีมลีดส์ ยูไนเต็ด รัชที่ล่วงเลยจุดสุดยอดมาแล้วยิงได้ 3 ประตูจากการลงเล่น 36 นัดในพรีเมียร์ลีก และถูกปล่อยตัวเมื่อจบฤดูกาล

ในฤดูกาล 1997-1998 เขาย้ายไปร่วมทีม นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ดในสัญญาระยะสั้น 1 ปี และช่วงหลังคริสต์มาสเขาต้องสูญเสียตำแหน่งตัวจริงในทีม เมื่ออลัน เชียเรอร์ หายจากอาการบาดเจ็บ อย่างไรก็ตามเขายิงประตูสำคัญให้ทีมได้ในนัดที่ชนะเอฟเวอร์ตัน 1-0 ในเอฟเอคัพ รอบ 3 ซึ่งเป็นประตูที่ 43 ของเขาในรายการนี้

เขาย้ายไปร่วมทีมเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ดในแบบยืมตัวในช่วงสั้นๆ ก่อนจะย้ายไปเล่นให้เร็กซ์แฮมด้วยอายุ 37 ปี รัชลงสนามในลีก 18 นัดแรกแต่ยิงประตูไม่ได้และย้ายไปเล่นตำแหน่งกองกลางจบจบฤดูกาล และเขาเลิกเล่นฟุตบอลอย่างเป็นทางการที่ออสเตรเลียกับทีมซิดนี่ย์ โอลิมปิกในปี 2000 ในวัย 38 ปี

ผู้จัดการทีมเชสเตอร์ ฤดูกาล 2004–2005[แก้]

หลังจากทำหน้าที่โค้ชตำแหน่งกองหน้าให้ลิเวอร์พูลภายใต้การคุมทีมของเชราร์ อุลลิเย่ร์ ในปี 2003 เขาทำหน้าที่ผู้จัดการทีมเป็นครั้งแรกกับสโมสรเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งในขณะนั้นเป็นทีมที่ลงเล่นในลีกทู เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2004 โดยสโมสรต้องพบงานช้างหลังจากกลับคืนสู่ฟุตบอลลีกอีกครั้ง และรัชต้องพบกับความยากลำบากในอาชีพนี้เมื่อนำทีมออกไปแพ้ 3-1 ต่อบอสตัน ยูไนเต็ดในการคุมทีมนัดแรกของเขา และหลังจากนั้นทีมของเขาก็ไม่แพ้ใครนานถึง 2 เดือน และทีมเข้าสู่เอฟเอคัพรอบ 3 แต่อย่างไรก็ตามเขายังคงถูกตั้งคำถามจากมาร์ค ลอว์เรนสันนักวิจารณ์ชื่อดังซึ่งเคยเป็นอดีตเพื่อนร่วมทีมลิเวอร์พูลของเขา ถึงประสบการณ์ในการเป็นโค้ชและความสามารถในการวางแทคติก

หลังจากที่รัชปฏิเสธการทำหน้าที่คุมทีมชาติเวลส์ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ปี 2004 ทีมของเขาก็มีผลงานย่ำแย่ลงอย่างมาก และรัชถูกวิจารณ์ถึงแทคติกการเล่นที่เน้นการใช้พละกำลังและการโยนบอลยาวของเขา ต่อมาเขาถูกกดดันจากประธานสโมสร หลังจากที่ออกไปแพ้ให้กับทีมเพื่อนบ้านอย่างชรูว์สบิวรี่ ทาวน์แบบน่าอับอายถึง 5-0 ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2005 แต่เขาก็ยังไม่ลาออก และเมื่อทีมแพ้ต่อดาร์ลิงตัน 1-0 ในเดือน เมษายน รัชก็ถึงคราวต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลงานที่ย่ำแย่ของทีม

บทบาทอื่นๆตั้งแต่ปี 2005 ถึงปัจจุบัน[แก้]

ในปี 2005 รัชในวัย 43 ปี ทบทวนการกลับมาเล่นฟุตบอลอีกครั้งกับสโมสรเดอะ นิว เซนต์ส หลังจากที่ทีมจากเวลส์ทีมนี้สามารถยันเสมอกับลิเวอร์พูลในรอบคัดเลือกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกได้ แต่ต่อมาความคิดนี้ได้ถูกคัดค้านจากหลายๆฝ่าย

เดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน เอียน รัช ก็ได้เข้ามาทำงานในแวดวงโทรทัศน์ในบทบาทของผู้วิเคราะห์เกมส์ทางสถานีอีเอสพีเอ็น และเขายังรับบทเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้รายงานข่าวทางสกาย สปอร์ตอีกด้วย

ในวันที่ 27 เมษายน 2006 รัชลงสนามในแมตช์ฟุตบอลการกุศล มาริน่า-ดัลกลิช โดยเป็นการลงแข่งขันของทีมคู่ชิงชนะเลิศเอฟเอคัพปี 1986 คือลิเวอร์พูลกับเอฟเวอร์ตัน ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวเป็นการหารายได้ช่วยเหลือเกี่ยวกับการวิจัยมะเร็งเต้านม เมื่อมาริน่าภรรยาของเคนนี่ ดัลกลิชล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม

ปี 2006 เอียน รัชได้รับเลือเข้าสู่หอเกียรติยศของฟุตบอลอังกฤษจากความสำเร็จที่เขาได้รับในสนามฟุตบอล

นอกจากนี้รัชยัง รับใช้ลิเวอร์พูลโดยการลงเตะแมตช์พิเศษเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ให้สโมสรในทีมชุดต่างๆ เช่นทีมลิเวอร์พูลชุดโอลด์ บอยและชุดมาสเตอร์ 5 เอ-ไซด์

วันที่ 21 สิงหาคม 2008 เอียน รัช ออกหนังสืออัตชีวประวัติของตนเองในชื่อหนังสือว่า Rush: The Autobiography

ผลงานในฐานะผู้เล่น[แก้]

สถิติ[แก้]

  • ผู้ทำประตูสูงสุดตลอดกาลอันดับที่ 2 ในถ้วยเอฟเอคัพ และสูงที่สุดในเอฟเอคัพ ศตวรรษที่ 20 ที่จำนวน 44 ประตู (39 ประตู กับลิเวอร์พูล, 4 ประตู กับเชสเตอร์ ซิตี้, 1 ประตูกับนิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด) โดยเขาเป็นรองเฮนรี่ เคอร์ชาม ของนอตตส์ เคาน์ตี้ เจ้าของสถิติอันดับ 1 ที่ยิงในถ้วยนี้ไปถึง 49 ประตู ระหว่างปี 1877 ถึง 1888
  • ยิงประตูในเอฟเอคัพนัดชิงชนะเลิศ 5 ประตู
  • เจ้าของสถิติร่วม ยิงประตูในลีกคัพมากที่สุดที่ 49 ประตู (48 ประตู กับลิเวอร์พูล), โดยเป็นสถิติร่วมกับเซอร์ เจฟฟ์ เฮิร์ส
  • ผู้เล่นคนแรกที่ชนะเลิศลีกคัพ ถึง 5 สมัย
  • ยิงประตูสูงสุดในทีมชาติเวลส์ ที่ 28 ประตู
  • ยิงประตูมากที่สุดอันดับ 1 ของลิเวอร์พูลเมื่อรวมทุกรายการ ที่ 346 ประตู
  • ยิงประตูเฉพาะในลีกให้ลิเวอร์พูลมากเป็นอันดับ 3 ที่ 229 ประตู ตามหลังโรเจอร์ ฮันท์ (245 ประตู) และ กอร์ดอน ฮอดจ์สัน (233 ประตู)
  • ยิงประตูมากที่สุดในเมอร์ซี่ไซด์ ดาร์บี้แมตช์ที่ 25 ประตู
  • สถิตินักเตะที่ขายได้ราคาแพงที่สุดของ สโมสรเชสเตอร์ ซิตี้ที่ 300,000 ปอนด์

อ้างอิง[แก้]

  • Rush, Ian (21 August 2008). Rush: The Autobiography. Ebury Press. ISBN 9780091928056.
  1. Alpuin, Luis Fernando Passo (20 February 2009). "Wales – Record International Players". Rec.Sport.Soccer Statistics Foundation. สืบค้นเมื่อ 5 August 2012.