เวชศาสตร์การกีฬา
เวชศาสตร์การกีฬา (อังกฤษ: Sports medicine) เป็นสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายหรือกีฬา เช่น ความผิดปกติของข้อต่อหรือกล้ามเนื้อซึ่งเกิดจากกิจกรรมทางกายภาพ
นักเวชศาสตร์การกีฬา
[แก้]นักเวชศาสตร์การกีฬา หรืออาจเรียกว่า นักกีฬาเวชศาสตร์ นั้น เป็นบุคลากรที่สำคัญในด้านเวชศาสตร์การกีฬาของทีมงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู นักเวชศาสตร์การกีฬา เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา หรือด้านพลศึกษา แล้วเข้ามาทำงานในโรงพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู
ผู้ที่จัดว่าเป็นนักเวชศาสตร์การกีฬานั้นต้องปฏิบัติงานในโรงพยาบาล หากเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำทางด้านการออกกำลังกายในโรงออกกำลังกาย (ยิม) แล้ว จะเรียกว่า นักวิทยาศาสตร์การกีฬา
ขอบเขตของงานด้านเวชศาสตร์การกีฬา
[แก้]นักเวชศาสตร์การกีฬา เป็นผู้ให้การรักษาด้วยการออกกำลังกายอย่างเป็นระบบ เช่นเดียวกับการให้การฟื้นฟูนักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บ ด้วยการประยุกต์ใช้เครื่องมือออกกำลังกาย และหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา (Sport science) ต่างๆ โดยมีการกำหนดโปรแกรมการออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายแก่ผู้ป่วยและนักกีฬาที่บาดเจ็บ ให้มีสมรรถภาพทางกายและสมรรถภาพทางการกีฬาใกล้เคียงก่อนการบาดเจ็บหรือให้มีสมรรถภาพทางกีฬามากขึ้นกว่าเดิม
นอกเหนือจากการให้การรักษาแล้ว นักเวชศาสตร์การกีฬายังเป็นผู้ทำการทดสอบต่างๆตามคำสั่งการรักษาของแพทย์ เพื่อประเมินสมรรถภาพทางกายและสมรรถภาพทางการกีฬา โดยการใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น ประเมินปริมาณการใช้อ๊อกซิเจนของร่างกาย (Oxygen consumption) ประเมินสมรรถภาพปอด (Lung function test) ประเมินความคล่องตัว (Agility test) ประเมินการเคลื่อนไหวด้วยเครื่องมือ (Instrumental gait analysis) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเป็นผู้คำแนะนำ และให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และการออกกำลังกายประเภทต่างๆ และจัดการทดสอบสมรรถภาพประจำปีอีกด้วย
เวชศาสตร์การกีฬาในต่างประเทศ
[แก้]เชื่อกันว่างานด้านเวชศาสตร์การกีฬามีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ โดยมีการประยุกต์ใช้ศาสตร์ด้านนี้ในการเสริมสร้างสมรรถภาพทางการกีฬา แก่นักกีฬาที่เข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
ในต่างประเทศ งานด้านเวชศาสตร์การกีฬาจัดว่าเฟื่องฟูมาก โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางการกีฬา เช่น อเมริกา ประเทศต่างๆในยุโรป รัสเซีย จีน ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยมีการเรียนการสอนบุคลากรทางด้านนี้ ทั้งนักเวชศาสตร์การกีฬาและแพทย์เวชศาสตร์การกีฬา และมีการตั้งองค์กรหรือสถาบันต่างๆขึ้นมาเพื่องานด้านเวชศาสตร์การกีฬาโดยตรง
เวชศาสตร์การกีฬาในประเทศไทย
[แก้]งานเวชศาสตร์การกีฬาในประเทศไทย ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่าไร และไม่ค่อยได้นำมาใช้อย่างจริงจัง เนื่องจากขาดงบประมาณ อีกทั้งทัศนคติและความคุ้นชินกับรูปแบบการฝึกสอนแบบเดิมๆของนักกีฬา และผู้เกี่ยวข้อง จึงเป็นเหตุให้ปริมาณของนักเวชศาสตร์การกีฬาในประเทศไทยมีไม่มากนัก ในประเทศไทยมีบริการด้านเวชศาสตร์การกีฬาแต่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ และโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยต่างๆ เท่านั้น วิชิต
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ตำราเวชศาสตร์ฟื้นฟู. นพ.เสก อักษรานุเคราะห์ บรรณาธิการ. จัดพิมพ์โดยสมาคมเวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย.