ข้ามไปเนื้อหา

เลโอพ็อลท์ รูฌิทช์คา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เลโอพ็อลท์ รูฌิทช์คา
เกิด13 กันยายน ค.ศ. 1887(1887-09-13)
วูกอวาร์ ราชอาณาจักรโครเอเชีย-สลาโวเนีย จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
(ปัจจุบันอยู่ในโครเอเชีย)
เสียชีวิต26 กันยายน ค.ศ. 1976(1976-09-26) (89 ปี)
มัมเมิร์น สวิตเซอร์แลนด์
สัญชาติโครแอต/สวิส
พลเมืองออสเตรีย-ฮังการี (ค.ศ. 1887–1917)
สวิตเซอร์แลนด์ (ค.ศ. 1917–1976)
ศิษย์เก่าวิทยาลัยเทคนิคคาลส์รูเออ
มีชื่อเสียงจากเทอร์พีน
รางวัล
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาชีวเคมี
สถาบันที่ทำงานสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส ซือริช
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกแฮร์มัน ชเตาดิงเงอร์
ลูกศิษย์ในระดับปริญญาเอกจอร์จ บือชี

เลโอพ็อลท์ รูฌิทช์คา (เยอรมัน: Leopold Ružička, ออกเสียง: [ˈʀuːʒɪt͡ʃka]; 13 กันยายน ค.ศ. 1887 – 26 กันยายน ค.ศ. 1976) เป็นนักชีวเคมีชาวโครเอเชีย/สวิส เกิดที่เมืองวูกอวาร์ในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (ปัจจุบันอยู่ในประเทศโครเอเชีย) มีชื่อเกิดว่าลาว็อสลัฟ ชเตียปัน รูฌิชกา (Lavoslav Stjepan Ružička) เป็นบุตรของสเตปัน รูฌิทช์คาและลูบิกา เซเวอร์[2] เรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนในเมืองออซิเยกโดยเขาตั้งใจจะเป็นพระ แต่ต่อมาเปลี่ยนมาเรียนวิชาเคมี รูฌิทช์คาเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคคาร์ลสรูเออ หลังเรียนจบ รูฌิทช์คาทำงานเป็นผู้ช่วยแฮร์มัน ชเตาดิงเงอร์ อาจารย์ของเขาที่เมืองซือริช รูฌิทช์คาศึกษาสารธรรมชาติหลายชนิดและสนใจในด้านอุตสาหกรรมน้ำหอม ในปี ค.ศ. 1923 รูฌิทช์คาดำรงตำแหน่งที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส ซือริช และมหาวิทยาลัยในซือริช ขณะทำงานอยู่ที่นี่ รูฌิทช์คาศึกษาสารมัสโคนซึ่งเป็นสารที่ให้กลิ่นชะมด ค้นพบการสังเคราะห์วงแหวนใหญ่รูฌิทช์คา (Ruzicka large-ring synthesis) และสกัดฮอร์โมนเพศ แอนโดรสเตอโรนและเทสโทสเตอโรน[3] ในปี ค.ศ. 1939 รูฌิทช์คาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีจากผลงานการศึกษาพอลิเมทิลีนและเทอร์พีน ร่วมกับอาด็อล์ฟ บูเทอนันท์ นักชีวเคมีชาวเยอรมัน[4] ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รูฌิทช์คาสร้างห้องปฏิบัติการขึ้นใหม่และร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์หลายท่าน รวมถึงวลาดีเมียร์ เพรล็อก รูฌิทช์คาเกษียณในปี ค.ศ. 1957 และให้เพรล็อกดูแลห้องปฏิบัติการต่อ รูฌิทช์คาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1976

ด้านชีวิตส่วนตัว รูฌิทช์คาแต่งงาน 2 ครั้ง ครั้งแรกแต่งงานกับอันนา เฮาส์มันระหว่างปี ค.ศ. 1912–1950 ปีต่อมาแต่งงานอีกครั้งกับแกร์ทรูท อัคคลิน การแต่งงานทั้งสองครั้งไม่มีบุตร[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Prelog, V.; Jeger, O. (1980). "Leopold Ruzicka. 13 September 1887-26 September 1976". Biographical Memoirs of Fellows of the Royal Society. 26: 411. doi:10.1098/rsbm.1980.0013.
  2. 2.0 2.1 "Leopold Ruzicka - NNDB.com". สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2016.
  3. Leopold Ruzicka - Biographical - Nobelprize.org
  4. The Nobel Prize in Chemistry 1939 - Nobelprize.org

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]