เจ้าผู้ครองนครพะเยา (ยุคฟื้นฟู)
เจ้าผู้ครอง แห่งนครพะเยา | |
---|---|
ราชาธิปไตยในอดีต | |
| |
ปฐมกษัตริย์ | พระยาประเทศอุตรทิศ (พุทธวงศ์) |
องค์สุดท้าย | พระยาประเทศอุดรทิศ (มหาไชย) |
ผู้แต่งตั้ง | พระมหากษัตริย์สยาม |
เริ่มระบอบ | พ.ศ. 2387 |
สิ้นสุดระบอบ | พ.ศ. 2456 |
เจ้าผู้ครองนครพะเยา (ยุคฟื้นฟู) (พ.ศ. 2387 - พ.ศ. 2456) เป็นตำแหน่งที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาน้อยอินท์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 8 กับ พระเจ้ามโหตรประเทศ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 5 ขณะดำรงพระยศ เจ้าอุปราชนครเชียงใหม่ ได้ลงมายังกรุงเทพมหานครเพื่อทูลขอตั้งเมืองเชียงรายโดยให้เป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยา เป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระราชทานตั้งเมืองและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาเจ้าผู้ครองเมืองทั้งสามมีพระนามพ้องจองกันดังนี้ เจ้าธรรมลังกา เป็น พระยารัตนอาณาเขตร เจ้าหลวงเมืองเชียงราย เจ้าพุทธวงศ์ เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ เจ้าหลวงเมืองพะเยา เจ้าหนานมหาวงศ์เป็น พระยาฤทธิภิญโญยศ เจ้าหลวงเมืองงาว [1]
จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเปลี่ยนอำนาจการบริหารปกครองประเทศใหม่โดยยกเลิกมณฑลเปลี่ยนมาเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองจึงได้ยกเลิกไป พระยาประเทศอุดรทิศเจ้าเมืองพะเยาองค์สุดท้ายได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง ทางการจึงตั้งนายคลาย บุษยบรรณ มาเป็นนายอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดเชียงราย
รายนามเจ้าผู้ครองนครพะเยา (ยุคฟื้นฟู)
[แก้]- เจ้าหลวงมหาวงศ์ (เจ้าน้อยพุทธวงศ์ ณ ลำปาง) (พ.ศ. 2387 - พ.ศ. 2391) ราชโอรสองค์ที่ 5 ใน พระยาคำโสม เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ เจ้าน้อยพุทธวงศ์ ณ ลำปาง เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ เมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นต้นราชตระกูล "มหาวงศ์"
- เจ้าหลวงมหายศ (เจ้าน้อยมหายศ ณ ลำปาง) (พ.ศ. 2391 - พ.ศ. 2398) ราชโอรสองค์ที่ 7 ใน พระยาคำโสม เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 4 เสกสมรสกับเจ้าหญิงพิมพา ศีติสาร พระธิดาเจ้าฟ้าเมืององค์ มีราชบุตร-ธิดา คือ เจ้าหญิงฟองสมุทร เจ้าราชบุตรแก้ววิราช และเจ้าราชบุตรจันทยศ
- เจ้าหลวงฟ้าเมืองแก้วขัตติยะ (เจ้าฟ้าขัตติยะ ศีติสาร) (พ.ศ. 2398 - พ.ศ. 2403) ราชบุตรของเจ้าฟ้าเมืององค์ เสกสมรสกับเจ้าหญิงอุบลวรรณา ณ ลำปาง ราชธิดาองค์สุดท้าย ใน พระยาคำโสม เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 4 มีราชบุตรและราชธิดาทั้งสิ้น 2 พระองค์ คือ เจ้าหลวงอินทะชมภู เจ้าหญิงบัวทิพย์ และเจ้าหลวงฟ้าเมืองแก้วขัตติยะได้เสกสมรสกับเจ้าหญิงเทียมตา (ราชธิดาของเจ้าราชบุตรคำเครื่องนครลำปาง) มีราชบุตรอีก 3 องค์ คือ เจ้าหลวงไชยวงศ์ เจ้าน้อยมหายศ เจ้าหลวงมหาไชย
- เจ้าหลวงอินทะชมภู (เจ้าหนานอินต๊ะชมภู ศีติสาร) (พ.ศ. 2403 - พ.ศ. 2413) ราชบุตรของเจ้าฟ้าขัตติยะ ศีติสาร เสกสมรสกับเจ้าหญิงฟองสมุทร (พระธิดาของเจ้าหลวงมหายศ) มีราชธิดา คือ เจ้าหญิงอุษาวดี (เสกสมรสกับเจ้าราชสัมพันธวงศ์ (เจ้าคำผาย) ณ ลำปาง ราชบุตรของเจ้าชวลิตวรวุธ หรือเจ้าน้อยหมู ณ ลำปาง ราชโอรสใน เจ้านรนันทไชยชวลิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ ๑๑) เจ้าหญิงบุษย์ (เสกสมรสกับเจ้าราชบุตรแก้วเมืองมูล ต้นสกุล ณ ลำปาง สายพะเยา(ราชโอรสใน เจ้าสุริยะจางวาง หรือเจ้าน้อยคำป้อ ณ ลำปาง ราชโอรสใน เจ้าวรญาณรังษี เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ ๙)
- เจ้าหลวงอริยะราชา (เจ้าน้อยขัตติยะ ณ ลำปาง) (พ.ศ. 2413 - พ.ศ. 2437) ราชบุตรของพระยาอุปราชหมูล่าและเจ้าหญิงสนธนา ณ ลำปาง มีราชบุตร 2 องค์ คือ เจ้าบุรีรัตน์เมืองพะเยา (เจ้าเมืองแก้ว) และเจ้าราชบุตรศรีสองเมือง (เจ้าน้อยใจเมือง)
- เจ้าหลวงไชยวงศ์ (เจ้าหนานไชยวงศ์ ศีติสาร) (พ.ศ. 2437 - พ.ศ. 2448) ราชบุตรของเจ้าฟ้าขัตติยะ ศีติสาร มีชายา 2 องค์ คือ เจ้าหญิงกาบแก้วและเจ้าหญิงอุ้ม มีราชบุตร-ธิดารวมทั้งสิ้น 10 องค์ คือ เจ้าราชวงศ์เมืองพะเยา (เจ้าน้อยอินทร์) พระญาบุรีรัตน์ (เจ้าน้อยพรหม) เจ้าน้อยแก้วมูล เจ้าน้อยวงศ์ เจ้าหนานเทพ เจ้าน้อยแก้ว เจ้าน้อยแสงฟ้า เจ้าหญิงบัวจี๋น (คู่แฝด) เจ้าหญิงบัวคำ (คู่แฝด) และเจ้าหญิงตุ้ม (แม่เจ้าคือเจ้าหญิงอุ้ม)
- เจ้าหลวงมหาไชย (เจ้าน้อยมหาไชย ศีติสาร) (พ.ศ. 2449 - พ.ศ. 2456) ราชบุตรของเจ้าฟ้าขัตติยะ ศีติสาร มีชายาทั้งสิ้น 3 องค์ คือ เจ้าหญิงจำปี เจ้าหญิงบัวเหลียว และเจ้าหญิงบัวไหว ศักดิ์สูง (พระธิดาเจ้าบุรีรัตน์เมืองพะเยา) และมีราชบุตร - ธิดา ทั้งสิ้น 5 องค์ คือ เจ้าอืด เจ้าหญิงบัวเงา เจ้าหญิงจ๋อย เจ้าศรีนวล เจ้าภูมิประเทศ *( ในหนังสือประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง โดยพระเทพวิสุทธิเวที รองเจ้าคณะภาค ๖ ได้บันทึกไว้ว่าเมื่อสิ้นเจ้าหลวงมหาไชยแล้วจึงถือเป็นการสิ้นสุดตำแหน่งเจ้าหลวงเมืองพะเยา ทางการได้แต่งตั้งให้นายคลาย บุษยบรรณ เป็นนายอำเภอเมืองพะเยา และในพุทธศักราช 2457 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่รองอำมาตย์โท ขุนสิทธิประศาสน์ ปกครองเมืองพะเยาสืบต่อมา )* ป่วยลำไส้พิการ อนิจกรรมวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 สิริอายุ 69 ปี
สายสกุลเจ้าผู้ครองนครพะเยา
[แก้]มีการรวบรวมประวัติสายสกุลเจ้าหลวงเมืองพะเยาไว้มีทั้งสิ้น 12 สกุล คือ
- มหาวงศ์ ต้นสกุล คือ เจ้าหลวงมหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครพะเยา (ยุคฟื้นฟู) องค์ที่ 1
- วิรัตน์เกษม ต้นสกุล คือ เจ้าราชบุตรแก้ววิราช บุตรเจ้าหลวงมหายศ (เจ้าผู้ครองนครพะเยา (ยุคฟื้นฟู) องค์ที่ 2)
- จันทยศ, จันต๊ะยศ ต้นสกุล คือ เจ้าราชบุตรจันทยศ บุตรเจ้าหลวงมหายศ (เจ้าผู้ครองนครพะเยา (ยุคฟื้นฟู) องค์ที่ 2)
- ศีติสาร ต้นสกุล คือ เจ้าฟ้าญาร้อย (เจ้าน้อยศีธิวงศ์)
- ศักดิ์สูง ต้นสกุล คือ เจ้าบุรีรัตน์เมืองพะเยา หรือเจ้าเมืองแก้ว
- ไชยเมือง ต้นสกุล คือ เจ้าราชบุตรศรีสองเมือง หรือเจ้าน้อยใจเมือง
- เถาวัลย์ ต้นสกุล คือ เจ้าพญาวังใน (เจ้าน้อยเถา)
- สูงศักดิ์ ต้นสกุล คือ เจ้าน้อยธรรมลังกา
- ศักดิ์ศรีดี ต้นสกุล คือ เจ้าหนานญาวิราช
- สุยะราช ต้นสกุล คือ เจ้าราชสัมพันธวงศ์ หรือ เจ้าคำผาย
- วงศ์สุวรรณ ต้นสกุลคือ เจ้าราชวงศ์สุยะ มีบุตรคือ เจ้าน้อยธิ วงศ์สุวรรณ สมรส กับเจ้าปั๋น วิรัตน์เกษม (ธิดาเจ้าพระญาแก้ว วิรัตน์เกษม) มีราชบุตร - ธิดา ทั้งสิ้น 5 องค์ เจ้าบัวจันทร์ เจ้าแสนกัน เจ้าน้อยแสง เจ้าศรีพรรณ เจ้าแสงหล้า
- ณ ลำปาง (สายพะเยา) ต้นสกุลคือ เจ้าราชบุตรแก้วเมืองมูล ณ ลำปาง หรือ เจ้าชวลิตวงศ์วรวุฒิ เป็นบุตร ของ เจ้านรนันทไชยชวลิต เจ้าครองนครลำปาง องค์ที่ 12 [2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "เมืองพะเยาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-25. สืบค้นเมื่อ 2010-08-19.
- ↑ "เจ้านรนันทไชยชวลิต", วิกิพีเดีย, 2024-05-17, สืบค้นเมื่อ 2024-05-18
- ศักดิ์ รัตนชัย. พงศาวดารสุวรรณหอคำนครลำปาง (ตำนานเจ้าเจ็ดพระองค์กับหอคำมงคล ฉบับสอบทานกับเอกสารสืบค้น สรสว.ลำปาง) .
- คณะทายาทสายสกุล เจ้าหลวงเมืองพะเยา, สถาบันศิลปวัฒนธรรมโยนก. ครบรอบ 100 ปี แม่เจ้าทรายมูล (มหาวงศ์) ไชยเมือง และประวัติสายสกุลเจ้าหลวงเมืองพะเยา พุทธศักราช 2387 - 2456. พะเยา :บ.ฮาซัน พริ้นติ้ง จก., 2546
- คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ , นาวาอากาศเอก. เจ้านายฝ่ายเหนือ. [1] เก็บถาวร 2021-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน