ข้ามไปเนื้อหา

หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หลวงสารานุประพันธ์
(นวล ปาจิณพยัคฆ์)
เกิด24 สิงหาคม พ.ศ. 2439
ตำบลสะพานถ่าน จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม (ปัจจุบันคือ แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร)
ถึงแก่กรรม14 มิถุนายน พ.ศ. 2497 (57 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย (ปัจจุบันคือ กรุงเทพมหานคร)
มีชื่อเสียงจากบิดาแห่งเพลงชาติไทย
บุตรนายภากร ปาจิณพยัคฆ์
บิดามารดา
  • นายนูน ปาจิณพยัคฆ์ (บิดา)
  • นางบุญเกิด ปาจิณพยัคฆ์ (มารดา)
ลายมือชื่อ

พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) (24 สิงหาคม พ.ศ. 2439 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2497) นักเขียน นักประพันธ์ บรรณาธิการหนังสือ สารานุกูล เป็นผู้แต่งเพลงชาติไทย เป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ คนที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2483

พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) รับราชการเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยทหารบก และเป็นบรรณาธิการหนังสือ เสนาศึกษา" และ "แผ่วิทยาศาสตร์ ก่อนจะลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2468 เพื่อก่อตั้งนิตยสาร สารานุกูล วางจำหน่ายฉบับแรกเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 เป็นผู้ประพันธ์นิยายเรื่อง หน้าผี แพรดำ ราสปูติน ทูตแห่งกาลี

พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) เคยรับราชการกระทรวงกลาโหม เคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม) เป็นผู้แปลนิยายเรื่อง เชอร์ล็อก โฮมส์ ของเซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ เป็นคนแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2455 เป็นผู้ประพันธ์คำร้องเพลงเพลงชาติไทยฉบับปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. 2482 เมื่อครั้งเปลี่ยนชื่อประเทศจาก สยาม เป็น ไทย

ประวัติ

[แก้]

พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2439 ที่บ้านตำบลสะพานถ่าน จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันคือ กรุงเทพมหานคร) เป็นบุตรคนเดียวของ นายนูน และนางบุญเกิด ปาจิณพยัคฆ์ เจ้าของและครูใหญ่โรงเรียนราษฎร์ "บำรุงวิชา" สมรสกับ นางทิพย์วิมล สารานุประพันธ์ (ทิพย์วิมล ปาจิณพยัคฆ์) ใน พ.ศ. 2456 มีบุตรและธิดารวม 6 คน

การศึกษา

[แก้]

พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) เริ่มศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนบำรุงวิทยาของผู้เป็นบิดา แล้วเข้าโรงเรียนมัธยมวัดสุทัศน์เทพวราราม สอบไล่ได้ที่ 1 ในวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษในการสอบประโยคมัธยมบริบูรณ์รวมหมดทุกโรงเรียนในประเทศไทย และได้รับรางวัลเมื่อ พ.ศ. 2451 อายุ 13 ปีเศษ เข้าโรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จังหวัดธนบุรี (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) สอบวิชาครูได้ แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษ สำนักวัดเทพศิรินทร์อีก 2 ปี สอบประโยคมัธยมพิเศษ (คิงสกอลลาชิป -(King Scholarship) ได้ที่ 1 ใน พ.ศ. 2453 แต่สละสิทธิการไปศึกษาต่างประเทศ ออกไปเป็นครู ป.ป. ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ใน พ.ศ. 2454 เมื่ออายุได้ 15 ปี 14 วัน และสอบวิชาครู ป.ม. ได้ต่อมาใน พ.ศ. 2456

เมื่อ พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น นายนวล ปาจิณพยัคฆ์ จึงได้รับพระราชทานนามสกุล "ปาจิณพยัคฆ์" และในปีเดียวกันนี้เองท่านได้สมรสกับ นางสาวทิพย์วิมล ภายหลังมีบุตรธิดา รวม 6 คน

หน้าที่ราชการ

[แก้]

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2459 กระทรวงกลาโหมได้ขอโอนตัวนายนวล ปาจิณพยัคฆ์ ไปสอนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก ความสามารถของนายนวล ปาจิณพยัคฆ์ เป็นที่เลื่องลือมาก ถึงกับสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ได้เคยรับสั่งกับหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี ว่า "ฉันได้ช้างเผือกมาจากโรงเรียนสวนกุหลาบมาเป็นครูโรงเรียนนายร้อย ชื่อ นายนวล ปาจิณพยัคฆ์"

นอกจากเป็นครูที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแล้ว นายนวล ปาจิณพยัคฆ์ ยังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการของหนังสือเสนาศึกษา และแผ่วิทยาศาสตร์ จนกระทั่งพันโท พระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์) กราบบังคมทูลลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2464 นายนวล ปาจิณพยัคฆ์ ซึ่งขณะนั้น เป็น ร้อยเอก นวล ปาจิณพยัคฆ์ ได้ทำหน้าที่บรรณาธิการแทน และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสารานุประพันธ์

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการ (ปัจจุบันคือ กรมประชาสัมพันธ์) สืบต่อจาก พลเอก สุรจิตร จารุเศรณี[1]

อุปสมบท

[แก้]

พ.ศ. 2462 พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ขณะเป็น นายร้อยเอก นวล ปาจิณพยัคฆ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม โดยมี พระธรรมวโรดม เป็นพระอุปัชฌาย์ และมี พระนิกรมนุนี และพระศรีวิสุทธิวงศ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า "กนฺตวณฺโณ" แปลว่า ผู้ที่มีเกียรติ มีผิวพรรณที่เป็นศิริมงคล ในขณะอุปสมบทอยู่นั้น ได้แต่งเรียงความแก้กระทู้ธรรม ซึ่งท่านได้แสดงความรู้ความสามารถในการแต่งเรียงความแก้กระทู้ธรรมได้อย่างงดงาม ซึ่งวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามได้รวบรวมผลงานของท่านจัดพิมพ์เป็นหนังสือไว้ด้วย

เรียงความแก้กระทู้ธรรมของ พระกนฺตวณฺโณ (นายร้อยเอก นวล ปาจิณพยัคฆ์) มีดังนี้

  • ครั้งที่ 1 - "ขนฺติ หิตสุขาวหา" ขันตินำมาซึ่งประโยชน์สุข
  • ครั้งที่ 2 - "พฺรหฺมมาติ มาตาปิตโร" มารดาบิดาชื่อว่าพรหมของบุตร
  • ครั้งที่ 3 - "หิริโอตฺตปฺปิยญฺเญว โลกํปาเลติสาธุกํ" หิริ และโอตตัปปะ ย่อมรักษาโลกไว้เป็นอันดี
  • ครั้งที่ 4 - "อปฺปมาโท อมตํ ปทํ" ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย
  • ครั้งที่ 5 - "นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา" แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี
  • ครั้งที่ 6 - "นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต" คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก
  • ครั้งที่ 7 - "น สิยา โลกวฑฺฒโน" ไม่ควรเป็นคนรกโลก
  • ครั้งพิเศษ - "สุวิชาโน ภวํ โหติ ทุวิชาโน ปราภโว ธมฺมกาโม ภวํ โหติ ธมฺมเทสฺสี ปราภโว" ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ ผู้รู้ชั่วเป็นผู้ฉิบหาย ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ ผู้ชังธรรมเป็นผู้ฉิบหาย
  • ครั้งสอบไล่ - "กาลานุรูปํ - วธุรํนิยุญเช" พึงประกอบธุระให้เหมาะแก่กาลเทียว

เพลงชาติไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

[แก้]

หลังจากผ่านพ้นมรสุมชีวิตมาช่วงหนึ่งจนต้องลาออกจากราชการ มาประกอบอาชีพนักเขียน และกิจการสำนักพิพ์อยู่ช่วงหนึ่ง พันเอก นวล ปาจิณพยัคฆ์ (ยศในขณะนั้น) ก็ได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2474 ในตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฝ่ายทหารบก

ภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎร ได้ดำริให้มีเพลงชาติไทย โดยการใช้ทำนองเพลง มหาชัย ส่วนคำร้องนั้นประพันธ์โดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย
เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ
ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ
ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย
เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน
วางธรรมนูญสถาปนาพาราใหม่
ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย
ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า

แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน พันตรี หลวงนิเทศกลกิจ ร.น. (กลาง โรจนเสนา) ได้ขอให้พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ช่วยแต่งทำนองเพลงชาติให้ จากนั้นขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ได้ประพันธ์คำร้อง ดังนี้

แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า
สืบชาติไทยดึกดำบรรพ์บุราณลงมา
ร่วมรักษาเอกราษฎร์ชนชาติไทย
บางสมัยศัตรูมาจู่รบ
ไทยสมทบสวนทัพเข้าขับไล่
ตะลุยเลือดหมายมุ่งผดุงผะไท
สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราษฎร์คือกระดูกที่เราบูชา
เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสสระเสรี
ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย
สถาปนาสยามให้เทิดชัยไชโย

แต่กระนั้น เพลงชาติไทยเพลงนี้ก็ไม่ได้รับการรับรอง จนกระทั่ง พ.ศ. 2477 รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการเรื่องเพลงชาติ โดยในที่สุดได้เลือกทำนองเพลงชาติแบบสากลของ พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) จากนั้นมา การประกวดคัดเลือกเนื้อร้องโดยคณะกรรมการตัดสินให้ใช้เนื้อร้องของ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ที่แต่งไว้เดิม และเนื้อร้องที่ประพันธ์โดย นายฉันท์ ขำวิไล โดยที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ประธานคณะกรรมการ ได้ขอแก้ไขถ้อยคำบางแห่งของขุนวิจิตรมาตรา เป็นดังนี้

แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
ร่วมรักษาสามัคคีทวีไทย
บางสมัยศัตรูจู่โจมตี
ไทยพลีชีพร่วมรวมรุกไล่
เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงผะไท
สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
อันสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราษฎร์คือเจดีย์ที่เราบูชา
เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี
ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย
สถาปนาสยามให้เทอดไทย ชโย

ส่วนเนื้อร้องของนายฉันท์ ขำวิไล มีดังนี้

เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต
รักษาสิทธิ์อิสสระณแดนสยาม
ที่พ่อแม่สู้ยอมม้วยด้วยพยายาม
ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา
แม้ถึงไทยไทยด้อยจนย่อยยับ
ยังกู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า
ควรแก่นามงามสุดอยุธยา
นั้นมิใช่ว่าจะขัดสนหมดคนดี
เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย
มิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้
ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสสระเสรี
เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย
จะสิ้นชีพไว้ชื่อให้ลือลั่น
ว่าไทยมั่นรักชาติไม่ขาดสาย
มีไมตรีดียิ่งทั้งหญิงทั้งชาย
สยามมิวายผู้มุ่งหมายเชิดชัยไชโย

เพลงชาติไทยเพลงนี้ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477 โดยให้ร้องทั้งหมด 4 เที่ยว แต่คนมักจะร้อง แต่ส่วนบทร้องของขุนวิจิตรมาตราเพียงสองเที่ยวเท่านั้น เพราะถึงแม้ร้องเพียงสองเที่ยว ก็ยังยืดยาวเกินไปอยู่ดี

จนกระทั่ง พ.ศ. 2482 รัฐบาลเปลี่ยนชื่อ ประเทศจาก ประเทศสยาม เป็น ประเทศไทย จึงต้องมีการแก้ไขเพลงชาติขึ้นอีกครั้ง โดยการจัดประกวดชิงเงินรางวัล 1,000 บาท ขณะนั้นหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองเจ้ากรมเสมียนตรา กระทรวงกลาโหม ได้พบกับ พลเอก มังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรองผู้บัญชาการทหารบก ขณะเดินไปรับประทานอาหารกลางวันที่โรงอาหาร พลเอก มังกร พรหมโยธี ได้ขอให้ หลวงสารานุประพันธ์ แต่งเพลงชาติเข้าประกวดเพื่อชื่อเสียงของกองทัพบก ท่านก็ได้ตอบตกลงแต่ไม่ขอรับเงินรางวัลหากได้รับรางวัลการประกวดครั้งนี้

นายภากร ปาจิณพยัคฆ์ บุตรชาย ได้กล่าวถึงการทำงานและการประพันธ์เพลงของหลวงสารานุประพันธ์ ไว้ว่า

พ่อทำตัวง่ายๆในการดำรงชีวิต ไม่พิถีพิถันในสถานที่และความโอ่อ่าภายในบ้าน
พ่อจะนั่งเขียนหนังสือได้ทุกแห่งถ้าสมองแล่น แม้แต่เนื้อร้องเพลงชาติที่พ่อแต่งให้กับกองทัพบก
พ่อก็ลงมือแต่งในตอนเช้าวันหนึ่งก่อนหน้าวันประกวดไ ม่กี่วัน พ่อยังนุ่งผ้าขาวม้าจะเข้าห้องน้ำ
แต่สมองแล่น คว้าได้กระดาษดินสอ พ่อก็นั่งลงตรงเชิงบันไดหลังบ้านนั้นเอง
วางข้อศอกพาดธรณีประตูแล้วก็วาดอักขระออกมาเป็นเนื้อร้องที่เกือบจะใช้การได้เลย

เพลงชาติไทย โดย หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)

[แก้]
บทร้องของเพลงชาติไทยฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ของพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ในนามกองทัพบก

การประกวดแต่งเพลงชาติไทยในครั้งนั้น[2] มีผู้ส่งบทเนื้อร้องเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก ในที่สุดคณะกรรมการได้คัดเลือกบทเนื้อร้องของ พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) เสนอให้คณะรัฐมนตรีวินิจฉัย ที่ประชุมปรึกษาพิจารณาแล้วลงมติรับบทเพลงนั้น โดยแก้ไขไปบ้างตามความเหมาะสม

จนเมื่อ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 รัฐบาลจึงได้ประกาศ "รัฐนิยมฉบับที่ 6"[3] ให้ใช้ทำนองเพลงชาติของพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ตามแบบที่มีอยู่ในกรมศิลปกร ส่วนเนื้อร้องเพลงชาติให้ใช้บทเพลงของ พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ซึ่งประพันธ์ขึ้นในนามของกองทัพบก ดังที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่ในทุกวันนี้

พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) มีความปลาบปลื้มแและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับได้สั่งเสียกับบุตรธิดา ไว้ว่า

ฉันได้สั่งบุตรธิดาของฉันไว้ทุกคนว่า
ในกาลภายหน้าเมื่อถึงวาระที่ฉันจะต้องเกษียรอายุลาโลกไปแล้ว
ขณะจะใกล้ขาดอัสสาสะ ขอให้หาจานเสียงเพลงชาติอันนี้ มาเปิดให้ฟังให้จงได้
เพื่อบังเกิดความชุ่มชื่นระรื่นใจ อันไม่มีเสื่อมคลายตราบสิ้นปราณ

เนื้อร้องเพลงชาติไทยของ พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน มีดังนี้

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย

ยศ

[แก้]

ยศพลเรือน

[แก้]
  • – ราชบุรุษ
  • 6 มีนาคม 2458 – รองอำมาตย์ตรี[4]

ยศทหาร

[แก้]
  • 20 เมษายน 2461 – ร้อยเอก[5]
  • 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2467 พันตรี[6]
  • 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2481 พันโท[7]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

งานศึกษาที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • นางทิพย์วิมล ปาจิณพยัคฆ์. หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์). กรุงเทพมหานคร : การพิมพ์ไชยวัฒน์, 2497. หน้า 226 หน้า. ภาพประกอบ.
  • ประทีป เหมือนนิล. 100 นักประพันธ์ไทย. กรุงเทพ : สุวีริยาสาส์น, 2542. หน้า 479. ISBN 974-8267-78-4
  • osknetwork.com
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ แต่งตั้งอธิบดีกรมโฆษณาการ, เล่ม 67, ตอนที่ 32, วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2493, หน้า 2317.
  2. เพลงชาติไทย เนื้อร้อง ประวัติที่มาจากอดีตสู่ปัจจุบัน
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉะบับที่ 6 เรื่องทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 56 วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482, หน้า 2653 - 2654.
  4. พระราชทานยศและเลื่อนยศ
  5. พระราชทานยศนายทหารบก
  6. พระราชทานยศ
  7. ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง พระราชทานยศทหาร http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/410_2.PDF
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 70 ตอนที่ 78 หน้า 4337, 22 ธันวาคม 2496
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความ เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ, เล่ม 51 หน้า 2071, 30 กันยายน 2477
ก่อนหน้า หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ถัดไป
พลเอก สุรจิต จารุเศรณี
อธิบดีกรมโฆษณาการ
(วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 - วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2496)
พลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร
อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์