ข้ามไปเนื้อหา

หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปรียนันทนา รังสิต

ปรียนันทนาใน พ.ศ. 2553
เกิด3 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 (72 ปี)
สัญชาติไทย
อาชีพสมาชิกวุฒิสภา
คู่สมรสชคัต สิงห์ (หย่า)
ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล
บุตรลลิตยา รังสิต
เทพราช รังสิต
บิดามารดาหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต

หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต (เกิด 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2495)[ต้องการอ้างอิง] เป็นนักการเมืองหญิงชาวไทย เป็นธิดาของหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต[1] เป็นหลานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร[2] และเป็นผู้มีอำนาจบริหารจัดการวังวิทยุ ซึ่งเดิมเป็นที่ประทับของกรมพระยาชัยนาทนเรนทร[1]

ปรียนันทนาเคยสมรสกับเจ้าชายชคัต สิงห์ พระโอรสของมาน สิงห์ที่ 2 มหาราชาแห่งรัฐชัยปุระ ประเทศอินเดีย ก่อนจะหย่าร้างกันใน พ.ศ. 2530[3] และสมรสใหม่กับปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล นักธุรกิจชาวไทย[4]

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]
ปรียนันทนาและครอบครัวใน พ.ศ. 2553 (จากซ้าย) ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล, ปรียนันทนา, เทพราช รังสิต (ยืนแถวหลัง), ลลิตยา รังสิต

ปรียนันทนาสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านภาษาสันสกฤต ประวัติศาสตร์อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน[ต้องการอ้างอิง]

ปรียนันทนาเคยสมรสกับชคัต สิงห์ พระโอรสของมาน สิงห์ที่ 2 มหาราชาแห่งชัยปุระ มีบุตรสองคน คือ ลลิตยา รังสิต และเทพราช รังสิต ต่อมาใน พ.ศ. 2530 ปรียนันทนาหย่าร้างกับชคัต สิงห์ และเดินทางกลับมาอยู่ประเทศไทยพร้อมกับบุตรทั้งสอง และบุตรทั้งสองได้ฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับสมบัติของชคัต สิงห์ เพื่ออ้างสิทธิ์ในกองมรดก[3]

ภายหลังปรียนันทนาสมรสใหม่กับปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล นักธุรกิจชาวไทย[4]

การเมือง

[แก้]

ปรียนันทนาเป็นสมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 10 (พ.ศ. 2551–2557) มาจากการสรรหา[4] และเป็นหนึ่งในกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา 40 คน (กลุ่ม 40 ส.ว.)[ต้องการอ้างอิง] มีตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา[ต้องการอ้างอิง] และประธานกรรมาธิการศาสนาศิลปและวัฒนธรรม วุฒิสภา[ต้องการอ้างอิง]

การสังคม

[แก้]

ปรียนันทนาเป็นประธานมูลนิธิวิภาวดีรังสิต[ต้องการอ้างอิง] ประธานกรรมการบริษัทนันทนาจำกัด[ต้องการอ้างอิง] และบรรณาธิการหนังสือ สมุดพระรูป พระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)[ต้องการอ้างอิง]

คดีความ

[แก้]

วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2564 ปรียนันทนาฟ้องณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491–2500) รวมถึงอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ คือ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด และบุคคลจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่เผยแพร่วิทยานิพนธ์ดังกล่าวเป็นหนังสือชื่อ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ประกอบด้วยชัยธวัช ตุลาธน, อัญชลี มณีโรจน์, และธนาพล อิ๋วสกุล โดยกล่าวหาว่า วิทยานิพนธ์ดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับบทบาทของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ในรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 นั้น เป็นการละเมิดต่อกรมพระยาชัยนาทนเรนทร เรียกร้องค่าเสียหาย 50 ล้านบาท[2][5]

ต่อมาในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า วิทยานิพนธ์กล่าวถึงกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ไม่ได้กล่าวถึงปรียนันทนา ปรียนันทนาจึงมิใช่ผู้เสียหาย นอกจากนี้ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรสิ้นพระชนม์ไปก่อนเกิดวิทยานิพนธ์ การฟ้องคดีนี้จึงเป็นการกล่าวอ้างความเสียหายต่อผู้ที่ไม่มีสภาพบุคคลแล้ว ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ ปรียนันทนาไม่มีอำนาจฟ้องคดี พิพากษายกฟ้อง[6]

ทรัพย์สิน

[แก้]

ตามการเปิดเผยทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปรียนันทนามีทรัพย์สินทั้งสิน 1,300,811,644 บาท มีรายได้เดือนละ 6,864,195 บาท ไม่มีหนี้สิน ส่วนปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล คู่สมรส มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 54,460,823 บาท มีรายได้เดือนละ 1,296,460 บาท ไม่มีหนี้สิน[4]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

ลำดับสาแหรก

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต". th-hellomagazine.com. 2024.
  2. 2.0 2.1 "ฟ้อง 'ณัฐพล ใจจริง-ฟ้าเดียวกัน' 50 ล้าน เขียนธีสิส ป.เอก ทำราชสกุลรังสิตเสียหาย". matichon.co.th. 2564-03-09.
  3. 3.0 3.1 "ปิดคดีมรดกหมื่นล้าน! ศาลอินเดียยกกรรมสิทธิ์ 'พระราชวังชัยมาฮาล' ให้ทายาทราชสกุล 'รังสิต'". mgronline.com. 2564-12-23.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 "กรุสมบัติ 1.3 พันล."ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต"ก่อนลูกชนะคดีได้มรดกหมื่นล". isranews.org. 2558-08-28.
  5. "หนาวแน่!ม.ล.ชัยนิมิตโชว์ประวัติ'ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต'หญิงแกร่งตัวจริงที่ฟ้องราชวงศ์อินเดีย8ปีและชนะมาแล้ว". thaipost.net. 2564-03-10.
  6. "ยกฟ้อง คดี ม.ร.ว.ปรียนันทนา ฟ้อง 'ณัฐพล-ฟ้าเดียวกัน' 50 ล้าน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตั้งแต่ต้น". matichon.co.th. 2567-11-13.
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี 2553 เก็บถาวร 2011-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 127 ตอนที่ 14 ข หน้า 61, 8 ธันวาคม 2553
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี 2552 เก็บถาวร 2011-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 126 ตอนที่ 16 ข หน้า 131, 4 ธันวาคม 2552
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2008-12-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 124 ตอนที่ 6 ข หน้า 5, 5 พฤษภาคม 2550