สถาปัตยกรรมมาซิโดเนียเหนือ
สถาปัตยกรรมมาซิโดเนียเหนือ (มาซิโดเนีย: Архитектура на Македонија) หมายถึง รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ปรากฏในอาณาเขตของประเทศมาซิโดเนียเหนือในปัจจุบัน
กลุ่มคนหลายกลุ่มที่เข้ามาตั้งรกรากหรือควบคุมดินแดนซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศมาซิโดเนียเหนือ มีอิทธิพลต่อประเทศในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นที่ชัดเจนที่สุดคืองานทางสถาปัตยกรรม กลุ่มคนเหล่านี้รวมถึง ชาวไปโอเนีย (กรีก: Παίονες), ชาวอิลลิเรีย (กรีกโบราณ: Ἰλλυριοί), ชาวมาซิโดเนียโบราณ, โรมัน, ไบเซนไทน์, สลาฟ และออตโตมัน
สถาปัตยกรรมยุคแรก
[แก้]ตัวอย่างแรกสุดของงานทางสถาปัตยกรรมในดินแดนมาซิโดเนียเหนือมาจากยุคหินใหม่ ประกอบด้วยโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมหินใหญ่ กอกินอ (มาซิโดเนีย: Кокино) เป็นหอคอยหินขนาดใหญ่ที่สุดลำดับที่สี่ของโลก โดยพื้นที่ประกอบด้วยการตัดแต่งหินที่สร้างขึ้นในลักษณะเพื่อช่วยในการสังเกตวัตถุท้องฟ้า[1]
สถาปัตยกรรมของมาซิโดเนียโบราณ
[แก้]ส่วนที่เหลือของสถาปัตยกรรมจากยุคของราชอาณาจักรมาซิโดเนียโบราณจะกระจายไปทั่วมาซิโดเนียเหนือ โดยเฉพาะในภาคใต้ของอดีตดินแดนมาซิดอน (อาณาจักรมาซิโดเนียร่วมสมัยกับกรีซโบราณ)
เฮราเคลอา ลินเซสติส (กรีก: Ἡράκλεια Λυγκηστίς; ละติน: Heraclea Lyncestis) ก่อตั้งขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล เป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพราะล้อมรอบด้วยแคว้นเอปิรุส (กรีกโบราณ: Ἄπειρος) ทางทิศตะวันตกและอาณาจักรไปโอเนีย (กรีก: Παιονία) ทางทิศเหนือ สถาปัตยกรรมโรมันมีความโดดเด่นในพื้นที่ในตอนนี้ เนื่องจากระดับของการขุดค้นที่เผยให้เห็นชั้นจากสมัยโรมัน
โรงละครโบราณในพื้นที่เมืองออคริต (มาซิโดเนีย: Охрид) ในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล โดยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณลิคนิดอส (กรีกโบราณ: Λύχνιδος) ซึ่งถูกสร้างขึ้นใหม่และมีการใช้งานในปัจจุบัน สถานที่ตั้งอยู่ระหว่างเนินเขาสองแห่งที่ล้อมรอบ ทำให้สามารถป้องกันจากลมที่อาจรบกวนการได้ยินเสียงในระหว่างการแสดง
สถาปัตยกรรมโรมัน
[แก้]สถาปัตยกรรมโรมันกระจายอยู่ทั่วดินแดน ซึ่งเมืองสกอเปียเป็นที่ตั้งของตัวอย่างสถาปัตยกรรมประเภทนี้ หนึ่งในนั้นคือสะพานส่งน้ำสกอเปียซึ่งเป็นสะพานส่งน้ำเพียงแห่งเดียวในมาซิโดเนียเหนือ ประกอบด้วยซุ้มประตูหิน 55 ซุ้ม อีกตัวอย่างหนึ่งคือค่ายทหารโรมันสคูปิ (ละติน: Scupi; Colonia Flavia Scupinorum) แม้ว่าจะมีซากปรักหักพังไม่มากนักจากแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ แต่บริเวณสุสานและโรงละครก็ยังมองเห็นได้
แม้ว่าจะถูกก่อตั้งขึ้นโดยชาวมาซิโดเนียโบราณ ส่วนที่เหลือของเมืองเฮราเคลอา ลินเซสติส ส่วนใหญ่มาจากช่วงการยึดครองของโรมัน ซึ่งรวมถึงมุขเด็จ (ละติน: porticus) และโรงละครขนาดใหญ่
ตัวอย่างอื่น ๆ ของสถาปัตยกรรมโรมันในมาซิโดเนียเหนือรวมถึงซากปรักหักพังของโรมันภายในและรอบ ๆ เมืองสตรูมิตซา (มาซิโดเนีย: Струмица) หนึ่งในซากที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีที่ใหญ่ที่สุดคือ โรงอาบน้ำสาธารณะหรือแทรไม (ละติน: Thermae) ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงปลายยุคโบราณ
สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์
[แก้]สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดในมาซิโดเนียเหนือ ส่วนใหญ่จะเห็นในโบสถ์และอาราม เช่นอาราม เตรสกาเวตซ์ (มาซิโดเนีย: Манастир Трескавец) ใกล้เมืองปรีเลป (มาซิโดเนีย: Прилеп)
สถาปัตยกรรมออตโตมัน
[แก้]ชาวออตโตมันควบคุมดินแดนมาซิโดเนียในปัจจุบันเป็นเวลาประมาณห้าศตวรรษ พวกเขาได้ทิ้งร่องรอยไว้กับมัสยิด และอาคารในศาสนาอิสลามอื่น ๆ ที่ได้สร้างขึ้น
สถาปัตยกรรมออตโตมันมีความโดดเด่นในบางเขตของเมืองสกอเปียโดยเฉพาะเขตเมืองเก่า มัสยิดมุสตาฟา ปาชา (ตุรกี: Mustafa Paşa Camii) เป็นหนึ่งในอาคารออตโตมันที่มีชื่อเสียงที่สุดในมาซิโดเนียเหนือ มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1492 มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของโดม 16 เมตร เสาของพะไล (ตุรกี: sütunlu giriş) ตกแต่งด้วยส่วนแขวนประดับ (ตุรกี: mukarnas; อังกฤษ: stalactite) ที่เป็นแบบฉบับของสถาปัตยกรรมออตโตมัน[2]
สถาปัตยกรรมออตโตมันยังสามารถเห็นได้ในเมืองบิตอลา (มาซิโดเนีย: Битола) และเตตอวอ (มาซิโดเนีย: Тетово)
สถาปัตยกรรมสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19
[แก้]ตัวอย่างของสถาปัตยกรรมในแนวลัทธิคลาสสิกใหม่หรือแบบบารอกมีอยู่ทั่วประเทศมาซิโดเนียเหนือ แต่อาจหายากและจำกัดเพียงหนึ่งโครงสร้างในแต่ละเมือง สามารถพบเห็นสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกในเมืองสกอเปียที่ อาคารริสติเชวา ปาลาตา (เซอร์เบีย: Ристићева палата) ข้อยกเว้นของรูปแบบนี้อยู่ในเมืองบิตอลา ซึ่งถนนคนเดินชีรอก ซอกัก (ตุรกี: Širok Sokak) เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกใหม่และบารอก รวมทั้งโบสถ์คาทอลิกแบบกอทิก
-
ศูนย์กลางของเมืองสกอเปีย ในคริสต์ศตวรรษที่ 19
-
ป้อมกาเล และโรงละครแห่งชาติสกอเปีย ก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหวปี พ.ศ. 2506
-
อาคารริสติเชวา ปาลาตา ในสกอเปีย
สถาปัตยกรรมยูโกสลาเวีย
[แก้]นวนิยมช่วงระหว่างสงคราม (ช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 2)
[แก้]สถาปัตยกรรมยูโกสลาเวียเริ่มต้นขึ้นในทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก่อนการก่อตั้งรัฐ ในช่วงเวลานี้มีผู้สร้างสรรค์ชาวสลาฟใต้จำนวนหนึ่ง ที่กระตือรือร้นในความเป็นไปได้ของการก่อตั้งรัฐของชาวสลาฟ ได้มีการจัดชุดนิทรรศการศิลปะในเซอร์เบียในฐานะอัตลักษณ์ร่วมของชาวสลาฟ หลังจากการรวมศูนย์อำนาจของรัฐบาลหลังจากการก่อตั้งราชอาณาจักรยูโกสลาเวียในปี พ.ศ. 2461 ความกระตือรือร้นจากฐานสู่ยอดเริ่มเบาบางลง สถาปัตยกรรมยูโกสลาเวียเริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามอำนาจแห่งชาติซึ่งพยายามที่จะสร้างเอกลักษณ์ของรัฐแบบรวมศูนย์[3]
ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 สถาปนิกชาวยูโกสลาเวียเริ่มให้การสนับสนุนรูปแบบสถาปัตยกรรมในแนวนวนิยม ฉายภาพของสไตล์ซึ่งเป็นส่วนขยายตรรกะของการรังสรรค์ความก้าวหน้าของชาติ กลุ่มสถาปนิกของขบวนการสมัยใหม่ (เซอร์เบีย: Група архитеката модерног правца; ГАМП) ซึ่งก่อตั้งองค์กรในปี พ.ศ. 2471 โดยสถาปนิก บรานิสลาฟ กอยิช (เซอร์เบีย: Бранислав Ђ. Којић), มิลาน ซลอกอวิช (เซอร์เบีย: Милан Злоковић), ยาน ดูบอวี (เช็ก: Jan Dubový) และ ดูซาน บาบิช (เซอร์เบีย: Душан Бабић) ผลักดันให้เกิดความแพร่หลายในการประยุกต์สถาปัตยกรรมในแนวสมัยใหม่ ในฐานะสไตล์รูปแบบ "แห่งชาติ" ของยูโกสลาเวีย ที่แตกต่างกว่ารูปแบบอื่นในภูมิภาค แม้การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่แยกห่างออกไปกับประเทศตะวันตก จะทำให้การยอมรับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เกิดความไม่แน่นอนในยูโกสลาเวียในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยในขณะนั้นรัฐโครเอเชียและสโลวีเนียทางด้านตะวันตก ซึ่งมีความคุ้นเคยกับอิทธิพลของประเทศตะวันตก มีความกระตือรือร้นที่จะนำสถาปัตยกรรมในแนวนวนิยมมาใช้ แต่บอสเนียที่ได้รับอิทธิพลของออตโตมันมาอย่างยาวนานยังคงต่อต้านรูปแบบดังกล่าว ในทุกเมืองของยูโกสลาเวียนั้น เบลเกรดมีปริมาณโครงสร้างสถาปัตยกรรมในแนวสมัยใหม่มากที่สุด[4][5]
-
โรงพยาบาลนครสกอเปีย ได้รับการออกแบบในทศวรรษ 1930 โดย ดราโก เอบเลร์
-
สถานีรถประจำทาง (เก่า) ของสกอเปีย
สัจนิยมสังคมนิยม (พ.ศ. 2488-2491)
[แก้]ทันทีหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ความสัมพันธ์สั้น ๆ ของยูโกสลาเวียกับรัฐกลุ่มตะวันออกนำเข้ามาซึ่งช่วงเวลาสั้น ๆ ของแนวคิดสัจนิยมแบบสังคมนิยม การรวมศูนย์ในรูปแบบคอมมิวนิสต์นำไปสู่การยกเลิกการปฏิบัติงานสถาปัตยกรรมส่วนตัว และการควบคุมสถานะของวิชาชีพ ในช่วงเวลานี้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวียซึ่งมีอำนาจปกครองประณามแนวคิดนวนิยมว่าเป็น "คตินิยมของชนชั้นกลาง" ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดแรงเสียดทานกับงานแนวนวนิยมเช่นที่มีในช่วงก่อนสงคราม ของหมู่สถาปนิกที่มีชื่อเสียงของประเทศ[6]
นวนิยมสังคมนิยม
[แก้]สถาปัตยกรรมสัจนิยมแบบสังคมนิยมในยูโกสลาเวีย มาถึงจุดสิ้นสุดอย่างกระทันหันในปี พ.ศ. 2491 เมื่อยอซีป บรอซ ตีโต แยกแนวทางกับสตาลิน ในปีต่อ ๆ มาประเทศก็หันไปสร้างความสัมพันธ์กับประเทศทางตะวันตกมากขึ้นเรื่อย ๆ สถาปัตยกรรมยูโกสลาเวียกลับสู่แนวนวนิยมที่โดดเด่นในยุคก่อนสงคราม[5] ในช่วงยุคนี้สถาปัตยกรรมแนวสมัยใหม่นั้นเป็นสัญลักษณ์ของการแยกห่างจากสหภาพโซเวียต (ในเวลาต่อมาความคิดนี้ได้ลดน้อยลง ด้วยการยอมรับที่เพิ่มขึ้นของแนวคิดนวนิยมในกลุ่มตะวันออก)[6][7]
สปอแมนิก (Spomenik)
[แก้]ในช่วงเวลาที่ยูโกสลาเวียได้แยกตัวออกจากแนวคิดสัจนิยมแบบสังคมนิยมของสหภาพโซเวียต รวมกับความพยายามที่จะรำลึกถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้นำไปสู่การสร้างประติมากรรมในแนวนามธรรมจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า สปอแมนิก (โครเอเชีย: Spomenik)[8]
สถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์
[แก้]ในช่วงปลายคริสตทศวรรษ 1950 และต้นทศวรรษ 1960 แนวคิดสถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์เริ่มมีการสนับสนุนเพิ่มขึ้นในยูโกสลาเวีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่สถาปนิกรุ่นใหม่ โดยมีแนวโน้มที่จะได้รับอิทธิพลจากการล่มสลายในปี พ.ศ. 2502 ขององค์กรการประชุมนานาชาติว่าด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Congrès Internationaux d'Architecture Moderne; CIAM)[9]
อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นในประเทศของแนวคิดบรูทัลลิสต์ เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดในความพยายามฟื้นฟูเมืองสกอเปียหลังเกิดความเสียหายจากแผ่นดินไหวในปี พ.ศ. 2506[10] สถาปนิกชาวญี่ปุ่น เคนโซ ตังเง (ญี่ปุ่น: 丹下 健三; โรมาจิ: Tange Kenzō) มีบทบาทสำคัญในการผลักดันสถาปัตยกรรมในแนวบรูทัลลิสต์ในเมือง จนถึงกับมีการเสนอการออกแบบเมืองสกอเปียใหม่ทั้งหมดในแนวทางนี้[11][12]
สมัยการกระจายศูนย์กลาง
[แก้]ด้วยนโยบายการกระจายอำนาจและการเปิดเสรีในคริสตทศวรรษ 1950 ในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย รูปแบบสถาปัตยกรรมเริ่มแยกแนวทางมากขึ้นตามชาติพันธุ์ สถาปนิกมุ่งเน้นไปที่การสร้างอาคารเพิ่มมากขึ้น โดยอ้างอิงกับมรดกทางสถาปัตยกรรมของสาธารณรัฐสังคมนิยมแต่ละประเทศ ในรูปแบบของการเปลี่ยนผ่านสู่ภูมิภาคนิยม[13] ความแตกต่างทางอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ในงานสถาปัตยกรรมของแต่ละเชื้อชาติภายในยูโกสลาเวียนั้นทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ด้วยการกระจายอำนาจขององค์กรอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นศูนย์กลางตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ทำให้แต่ละภูมิภาคมีโอกาสมากขึ้นในการคิดวิเคราะห์อย่างจริงจังถึงการแสดงออกทางวัฒนธรรมของตนเอง[3]
สถาปัตยกรรมร่วมสมัย
[แก้]อาคารร่วมสมัยส่วนใหญ่ในมาซิโดเนียเหนือ ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองสกอเปีย ตัวอย่างหนึ่งคือสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติมาซิโดเนีย ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศสูงถึง 70 เมตร (230 ฟุต) ตัวอย่างของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยยัง พบได้ในเมืองอื่น ๆ โดยเฉพาะบิตอลา (มาซิโดเนีย: Битола) และกอสติวาร์ (มาซิโดเนีย: Гостивар)
โครงการสกอเปีย 2014 (Skopje 2014)
[แก้]สกอเปีย 2014 เป็นโครงการที่ประกาศโดยรัฐบาลในปี พ.ศ. 2553 มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงให้เมืองหลวงสกอเปีย มีรูปแบบภูมิทัศน์ในแบบคลาสสิกที่ดึงดูดความสนใจมากขึ้น โดยการสร้างอาคารหลายหลังซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสไตล์คลาสสิกใหม่[14] ซึ่งต่อมาได้รับการวิจารณ์จากสถาปนิกหลายคนว่าเป็นศิลปะที่ปราศจากรสนิยม[15]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Kokino Official Website". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 6, 2008.
- ↑ "Culture in MK". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 6, 2009.
- ↑ 3.0 3.1 Darren Deane; Sarah Butler (December 5, 2016). "Conceptualizing National Architectures: Architectural Histories and National Ideologies among the South Slavs". Nationalism and Architecture. Taylor & Francis. ISBN 9781351915793.
- ↑ Đorđević, Zorana (2016). "Identity of 20th Century Architecture in Yugoslavia: The Contribution of Milan Zloković" (PDF). Култура/Culture. 14: 154–167.
- ↑ 5.0 5.1 Babic, Maja (2013). Modernism and Politics in the Architecture of Socialist Yugoslavia, 1945-1965 (PDF). University of Washington (MSc).
- ↑ 6.0 6.1 Vladimir, Kulić (2012). Modernism in-between : the mediatory architectures of socialist Yugoslavia. Jovis Verlag. ISBN 9783868591477. OCLC 814446048.
- ↑ Alfirević, Đorđe; Simonović Alfirević, Sanja (2015). "Urban housing experiments in Yugoslavia 1948-1970" (PDF). Spatium (34): 1–9.
- ↑ Kulić, Vladmir. "Edvard Ravnikar's Liquid Modernism: Architectural Identity in a Network of Shifting References" (PDF). New Constellations New Ecologies. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ February 1, 2019.
- ↑ di Radmila Simonovic, Ricerca (December 2014). "New Belgrade, Between Utopia and Pragmatism" (PDF). Sapienza Università di Roma. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-12-23. สืบค้นเมื่อ 2020-05-29.
- ↑ Lozanovska, Mirjana (2015). "Brutalism, Metabolism and its American Parallel". Fabrications. 25 (2): 152–175. doi:10.1080/10331867.2015.1032482.
- ↑ Maja Babić (August 1, 2018). "Curating the Yugoslav Identity: The Reconstruction of Skopje | post". post.at.moma.org.
- ↑ "Reconstruction Plan for Skopje". architectuul.com. สืบค้นเมื่อ February 1, 2019.
- ↑ David Huber. "YUGOTOPIA: The Glory Days of Yugoslav Architecture On Display". PIN–UP. New York. สืบค้นเมื่อ February 5, 2019.
- ↑ Jonathan P. Stein (2000). The Politics of National Minority Participation in Post-Communist Europe: State-Building, Democracy, and Ethnic Mobilization. M.E. Sharpe. p. 91. ISBN 978-0-7656-0528-3.
- ↑ Koteska, Jasna (December 29, 2011). "Troubles with History: Skopje 2014". Art Margins Online. Republic of Macedonia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-16. สืบค้นเมื่อ 8 June 2012.