ข้ามไปเนื้อหา

วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดร่ำเปิง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดร่ำเปิง
ที่ตั้งตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระภาวนาธรรมาภิรัช (สุพันธ์ อาจิณฺณสีโล)
เว็บไซต์http://www.watrampoeng.net/watrampoeng/
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดร่ำเปิง (ไทยถิ่นเหนือ: ) ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 1 หมู่ 5 ถนนคันคลองชลประทาน ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นอกเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ อีกทั้งอยู่ใกล้บริเวณวัดอุโมงค์ วัดป่าแดง และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายในวัดมีพื้นที่ทั้งหมด 19 ไร่ 1 งาน 78 ตารางวา

วัดร่ำเปิง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2478[1]

วัดร่ำเปิงยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติฯ ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2542 และสำนักปฏิบัติธรรม ประจำจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 2 ปี พ.ศ. 2547

ประวัติ

[แก้]

เหตุการณ์ล่วงผ่านไปในอดีต ในสมัยพญามังรายองค์ที่ 12 ปกครองเมืองเชียงใหม่ ท่านมีพระราชโอรสนามว่า ท้าวศรีบุญเรือง ต่อมามีคนกล่าวหาว่าท้าวศรีบุญเรืองเตรียมการจะกบฏ พระเจ้าติโลกราชจึงแก้ไขสถานการณ์ด้วยการให้ไปปกครองเมืองเชียงแสนและเชียงรายแทน ต่อมา ท้าวศรีบุญเรือง มีพระราชโอรส ซึ่งประสูติบนยอดเขาสูงในเชียงราย (ยอดดอกบัว) ท่านได้ประทานนามพระราชโอรสว่า “พระเจ้ายอดเชียงราย” จนกระทั่งวันหนึ่ง ติโลกราชถูกเพ็ดทูลจากนางหอมุข พระสนมเอกว่าท้าวศรีบุญเรืองเตรียมการก่อกบฏอีก จึงมีพระกระแสรับสั่งให้ปลงพระชนม์พระราชโอรสเสีย และหลังจากนั้นโปรดให้ราชนัดดา คือ พระเจ้ายอดเชียงราย ครองเมืองเชียงรายสืบต่อมา

เหตุการณ์ต่อจากนั้น มีพระธุดงค์รูปหนึ่งปักกลดตรงบริเวณวัดร่ำเปิงในปัจจุบัน ท่านทูลพระเจ้ายอดเชียงรายว่าเมื่อตอนกลางคืน ท่านเห็นรัศมีสว่างบริเวณต้นมะเดื่อซึ่งไม่ห่างจากที่ท่านปักกลด จึงสงสัยว่าน่าจะมีพระธาตุประดิษฐานอยู่บริเวณดังกล่าว เมื่อพระเจ้ายอดเชียงรายทราบดังนี้ จึงอธิษฐานว่า ถ้าที่แห่งนั้นมีพระบรมธาตุฝังอยู่ ขอให้ช้างพระที่นั่งที่ท่านกำลังทรงไปหยุด ณ ที่แห่งนั้น จากนั้นช้างเดินไปหยุดที่ใต้ต้นมะเดื่อ พระองค์จึงขุดดินบริเวณนี้และพบพระเขี้ยวแก้วบรรจุอยู่ในผอบดินแบบเชียงแสน พระองค์จึงทรงทำพิธีสมโภช และอธิษฐานขอเห็นอภินิหารของพระบรมสารีริกธาตุนั้นจากนั้นจึงบรรจุลงในผอบทอง แล้วนำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ในบริเวณนั้น และจารึกประวัติหารสร้างวัดนี้ลงในศิลาจารึกเป็นตัวหนังสือฝักขาม แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “วันศุกร์ขึ้นสามค่ำเดือนเจ็ด ปีชวด พุทธศักราชสองพันสามสิบหาปี เวลา 08.20 น. ได้ฤกษ์ภรณี (ดาวงอนไถ) ได้โยคมหาอุจจ์” โดยมีพระนางอะตะปาเทวี ซึ่งเป็นพระมเหสี ดำเนินการสร้างแต่งตั้งคณะกรรมการทั้งที่เป็นพระมหาเถระและผู้สร้างฝ่ายอาณาจักร นอกจากนี้ยังมีการสร้างพระพุทธรูปเป็นประธาน และพระพุทธรูปตามซุ้มที่พระธาตุเจดีย์กับได้สร้างพระไตรปิฏกและพระราชทานทรัพย์ (นา) เงิน (เบี้ย) เป็นจำนวนมหาศาล

จากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง ทหารญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งได้เข้ามาพื้นที่วัดและลักลอบขุดพระธาตุเจดีย์ได้นำวัตถุโบราณและพระพุทธรูปไป ส่วนอุโบสถ และวิหาร ชำรุดทรุดโทรมลง วัดนี้จึงร้างมาหลายยุคสมัย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้สร้างพระวิหารขึ้นใหม่ จากนั้นอาราธนาพระภิกษุชาวบ้านร่ำเปิงรูปหนึ่งชื่อ หลวงปู่จันทร์สม หรือ ครูบาสม มาปกครองดูแลวัดจนวิหารสร้างเสร็จเสร็จในปี พ.ศ. 2516 ในปีเดียวกัน ท่านถึงแก่มรณภาพ วัดจึงขาดพระจำพรรษาจนถึงปลายปี 2517

ส่วนวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระประธานนั้นมีต้นไม้ขึ้นรกปกคลุมมาก แผ่นศิลาจารึกได้จมดินอยู่ในวิหาร ปี พ.ศ. 2484 คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ประชุมตกลงกันให้อัญเชิญพระประธานไปประดิษฐานไว้ ณ ด้านหลังพระวิหารวัดพระสิงห์วรมหาวิหารในจังหวัดเชียงใหม่ และได้ร่วมกับกรรมการวัดทั้งผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ทำการก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2515

เมื่อปี พ.ศ. 2519 มีการสร้างอุโบสถที่มีอยู่ในเลา มีผู้มีจิตศรัทธาช่วยซ่อมให้ได้ใช้ในการปฏิบัติสังฆกรรมมาจนถึงปัจจุบัน พระพุทธรูปพระประธานนั้นมีอายุประมาณ 700-800 ปี และมีชื่อว่า หลวงพ่อศรีอโยธยา

พระครูพิพัฒน์คณาภิบาล (ทอง สิริมงคโล) เป็นเจ้าอาวาสวัดเมืองมางและเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระประจำสำนักวัดเมืองมาง ได้ธุดงค์วัตรมาปักกลดอยู่บริเวณวัดร่ำเปิงนี้ ได้เล็งเห็นว่าสถานที่เหมาะแก่การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จึงมีโครงการที่จะขยายงานวิปัสสนากรรมฐานขึ้นอีกแห่งหนึ่งจึงได้มาจำพรรษาอยู่ทีวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) แห่งนี้ และชักชวนชาวบ้าน ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์ฟื้นฟูขึ้นจนสำเร็จ

ในปี พ.ศ. 2533 ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์จากพระครูชั้นพิเศษเป็นพระราชคณะที่ราชทินนาม “พระสุพรหมยานเถร” และในปี พ.ศ. 2534 พระครูภาวนวิรัชได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์ใหม่ โดยท่านเจ้าอาวาสรูปใหม่ ท่านสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านเจ้าคุณฯ พระอาจารย์ อดีตเจ้าอาวาส อีกทั้งได้ก่อสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม 3 ชั้น เพื่อส่งเสริมในด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยเฉพาะในด้านพระอภิธรรม นอกจากนี้ได้สร้าง อาคาร “80 ปี พระราชพรหมาจารย์” ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับพุทธศาสนิกชน

วัดนี้เป็นแหล่งวิปัสสนากรรมฐานทางภาคเหนือที่ทำการอบรมพระกรรมฐานในแนวสติปัฎฐาน 4 ปัจจุบันมีชาวไทยและชาวต่างประเทศ สนใจมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกันอย่างมากมาย นอกจากนี้วัดนี้เป็นแห่งแรกที่มีพระไตรปิฏกฉบับล้านนา อีกทั้งเป็นแหล่งรวบรวมที่มีพระไตรปิฏกฉบับภาษาต่าง ๆ มากที่สุดในโลก

ปูชนียวัตถุ

[แก้]
  • พระบรมธาตุเจดีย์ ในพงศาวดารโยนก และชิกาลมาลีปกรณ์
  • พระพุทธรูปหลวงพ่อตโป
  • พระพุทธรูปหลวงพ่อศรีอโยธยา

รูปภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]