ข้ามไปเนื้อหา

วงศ์อาร์มาดิลโล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วงศ์อาร์มาดิลโล
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: พาลีโอซีน-ปัจจุบัน, 58.7–0Ma
อาร์มาดิลโลเก้าแถบ (Dasypus novemcinctus)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับใหญ่: Xenarthra
อันดับ: Cingulata
วงศ์: Dasypodidae
Gray, 1821
สกุลต้นแบบ
Dasypus
Linnaeus, 1758
สกุล
โครงกระดูกอาร์มาดิลโลเก้าแถบ

วงศ์อาร์มาดิลโล (อังกฤษ: Dasypodidae) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในอันดับ Cingulata ในอันดับใหญ่ ซีนาร์ทรา

อาร์มาดิลโลมีลักษณะเด่น คือ มีส่วนหน้าและจมูกที่ยาว มีปากขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นรูเล็ก ๆ มีกรงเล็บที่แหลมคมทั้งตีนหน้าและตีนหลัง ใช้สำหรับขุดทำโพรงอยู่อาศัยและขุดหาอาหารกิน กินอาหารโดยการใช้ลิ้นที่ยื่นยาวและน้ำลายที่เหนียวตวัดกินแมลงจำพวกมด ปลวก และหนอนตามพื้นดิน และมีเกราะหุ้มอยู่ตามตัวเป็นแผ่น ๆ มีข้อต่อเชื่อมต่อกันเหมือนชุดเกราะ โดยเฉพาะที่หัวไหล่และด้านท้ายลำตัว ทำให้ดูเหมือนกับลิ่นซึ่งเป็นสัตว์ในอันดับ Pholidota มาก แต่ทั้งอาร์มาดิลโลและลิ่นเป็นสัตว์ที่อยู่ต่างอันดับกัน และอยู่ในอันดับใหญ่คนละอันดับกันด้วย โดยอาร์มาดิลโลมีความใกล้เคียงกับสลอทหรือตัวกินมดมากกว่า แต่ในอดีตทั้งอาร์มาดิลโลและลิ่นเคยถูกจัดอยู่ในอันดับเดียวกัน คือ Edentata ซึ่งแปลว่า "ไม่มีฟัน" แต่ความจริงแล้ว อาร์มาดิลโลมีฟัน เป็นฟันกรามที่มีขนาดเล็ก และไม่แข็งแรง[1]

บรรพบุรุษของอาร์มาดิลโลที่สูญพันธุ์ไปแล้วราว 10,000 ปีก่อน มีชื่อว่า "คลิปโตดอน" ที่มีขนาดตัวใหญ่เท่ากับรถยนต์คันเล็ก ๆ คันหนึ่ง คลิปโตดอนอาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ มีเกราะที่หุ้มตัวเป็นชิ้น ๆ รูปหกเหลี่ยม ไม่เหมือนกับอาร์มาดิลโลในปัจจุบัน ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีโครงกระดูกของคลิปโตดอนที่สมบูรณ์แบบจัดแสดงอยู่ เป็นตัวอย่างที่ชาลส์ ดาร์วิน ได้ส่งมาให้เมื่อครั้งเดินทางไปสำรวจที่ทวีปอเมริกาใต้[2][3]

เมื่ออาร์มาดิลโลถูกคุกคามแล้วจะขดตัวเป็นวงกลมคล้ายลูกบอล โดยเก็บส่วนหน้าและขาทั้ง 4 ข้างไว้ เหมือนกับลิ่น โดยที่ชื่อ armadillo นั้นในภาษาสเปนออกเสียงว่า "อาร์มาดีโย" และมีความหมายว่า "ตัวหุ้มเกราะน้อย" ขณะที่ชาวแอซเท็ก จะเรียกว่า azotochtli หมายถึง "กระต่ายเต่า" แต่ชื่อในภาษาถิ่นของชาวลาตินอเมริกาในปัจจุบันจะเรียกว่า ปีชี (Pichi)[3][4]

อาร์มาดิลโลกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะทวีปอเมริกาทั้งอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง จนถึงอเมริกาใต้ แบ่งออกได้ทั้งหมด 10 สกุล 20 ชนิด โดยชนิดที่ใหญ่ที่สุด คือ อาร์มาดิลโลยักษ์ ที่มีขนาดยาวได้ถึง 150 เซนติเมตร (59 นิ้ว) และน้ำหนักมากกว่า 59 กิโลกรัม (130 ปอนด์) และชนิดที่มีขนาดเล็กที่สุด คือ พิงก์แฟรีอาร์มาดิลโล ที่ยาวเพียงไม่เกิน 6 นิ้ว เท่านั้น

เกราะของอาร์มาดิลโลนั้นมีน้ำหนักเบา จึงทำให้เคลื่อนตัวได้อย่างสะดวก เรียกว่า "สกูต" ซึ่งเป็นเกล็ดอย่างหนึ่งที่สัตว์ใช้สำหรับป้องกันตัว พฤติกรรมตามธรรมชาติจะอาศัยอยู่ตามพื้นที่โล่ง เช่น ทะเลทราย หรือป่าละเมาะที่มีพุ่มไม้เตี้ย ๆ ขึ้น อาศัยอยู่ด้วยการขุดโพรงอยู่ใต้ดิน กินแมลงเป็นอาหาร หากินในเวลากลางคืน อาร์มาดิลโลตัวผู้จะมีพฤติกรรมฉี่กลิ่นฉุนทิ้งไว้ตามที่ต่าง ๆ เพื่อประกาศอาณาเขต ขณะที่ตัวเมียในบางชนิดไข่ที่เมื่อได้รับการปฏิสนธิแล้ว จะยังไม่พัฒนามาเป็นตัวอ่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการมีลูกในช่วงฤดูหนาวด้วยการอุ้มไข่ได้นานถึง 2 ปี ส่วนตัวผู้จะมีอวัยวะเพศที่เป็นเส้นยาว เพราะเมื่อผสมพันธุ์จะติดขัดทั้งเกราะและหางของตัวเมีย[3] ในบางชนิดที่มีขนาดใหญ่อาจยาวได้ถึง 1.2 เมตร [4]

ชาลส์ ดาร์วิน เคยบันทึกไว้ถึงอาร์มาดิลโลเมื่อครั้งเดินทางไปสำรวจยังทวีปอเมริกาใต้ว่า

เนื้อของมันเมื่อถูกย่างพร้อมทั้งเกราะแม้ว่าจะมีรสชาติอร่อย แต่ก็ไม่เพียงพอที่เป็นอาหารเช้าสำหรับผู้ชายที่หิว ๆ 2 คน

[3]

อาร์มาดิลโลสามารถว่ายน้ำและดำน้ำได้ ด้วยการเดินอยู่ใต้น้ำนานได้ถึง 6 นาที ด้วยการกลืนอากาศลงไปคำใหญ่และขยายกระเพาะให้พองออกเหมือนเสื้อชูชีพ ปัจจุบันในหลายพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา จะมีอาร์มาดิลโลจำนวนมากที่ถูกรถชนตายอยู่ข้างถนน และเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ง่ายทั่วไปแม้แต่ในชุมชนเมืองหรือสนามกอล์ฟ ในโบลิเวียและเปรู เกราะของอาร์มาดิลโลถูกมาทำกีตาร์แบบของชาวสเปน โดยจะถูกขึงด้วยลวด 10 เส้น และโดยปรกติจะถูกปรับให้อยู่ในคีย์เอไมเนอร์[4]

การจำแนก

[แก้]

ปัจจุบัน วงศ์ Dasypodidae ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 9 ชนิด

† – สูญพันธุ์

อ้างอิง

[แก้]
  1. หน้า 44, สัตว์สวยป่างาม โดย ชมรมนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล (สิงหาคม, 2518)
  2. "สัตว์สูญพันธุ์ที่นักวิทย์อยากโคลนนิ่ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-01. สืบค้นเมื่อ 2013-01-17.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Pink Fairy Armadillo, "Nick Baker's Weird Creatures". สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: พฤหัสบดีที่ 17 มกราคม 2556
  4. 4.0 4.1 4.2 อาร์มาดิลโล สัตว์ที่มีอวัยวะเพศยาวที่สุด[ลิงก์เสีย]
  5. Guillaume Billet, Lionel Hautier, Christian de Muizon and Xavier Valentin (2011). "Oldest cingulate skulls provide congruence between morphological and molecular scenarios of armadillo evolution". Proceedings of the Royal Society. 278. doi:10.1098/rspb.2010.2443.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]