พิงก์แฟรีอาร์มาดิลโล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิงก์แฟรีอาร์มาดิลโล
สถานะการอนุรักษ์

ไม่มีข้อมูล (IUCN 3.1)[1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Cingulata
วงศ์: Dasypodidae
วงศ์ย่อย: Euphractinae
สกุล: Chlamyphorus
Harlan, 1825
สปีชีส์: C.  truncatus
ชื่อทวินาม
Chlamyphorus truncatus
Harlan, 1825
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์

พิงก์แฟรีอาร์มาดิลโล หรือ แฟรีอาร์มาดิลโลเล็ก (อังกฤษ: Pink fairy armadillo, Lesser fairy armadillo; ชื่อวิทยาศาสตร์: Chlamyphorus truncatus) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กจำพวกอาร์มาดิลโลชนิดหนึ่ง นับเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Chalamyphorus[2]

จัดเป็นอาร์มาดิลโลที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก มีรูปร่างลักษณะประหลาด คือ มีรูปร่างเป็นทรงกระบอก ขณะที่ส่วนท้ายลำตัวมีแผ่นปิดอยู่เป็นแผงขนยาว ส่วนหางสั้น มีเกราะหุ้มตัวเฉพาะแค่ด้านหลัง ขณะที่ด้านข้างและด้านล่างลำตัวเป็นขนอ่อนนุ่มสีชมพู มีกรงเล็บหน้าที่แหลมคม โดยเฉพาะตีนหน้า

พิงก์แฟรีอาร์มาดิลโลมีความยาวเพียง 4-6 นิ้วเท่านั้น อาศัยอยู่เฉพาะแถบตะวันตกของประเทศอาร์เจนตินา เช่น ตอนใต้ของรัฐเมนโดซา, ตอนเหนือของรัฐริโอเนโกร และตอนใต้ของรัฐบัวโนสไอเรสเท่านั้น[3] โดยอาศัยในพื้นที่แห้งแล้งแบบทะเลทรายเท่านั้น พิงก์แฟรีอาร์มาดิลโลมีชื่อเรียกในภาษาถิ่นว่า "ปีชีเซียโก" (pichi ciego) เป็นสัตว์ที่ออกหากินเฉพาะในเวลากลางคืน โดยกินแมลงต่าง ๆ เป็นอาหาร รวมถึงซากสัตว์ขนาดใหญ่ด้วย เช่น ซากวัว ในบางครั้งจะขุดโพรงใต้ดินอยู่ใต้พื้นที่ซากสัตว์นั้นตาย เพื่อง่ายต่อการกินหนอนหรือแมลงที่มาตอมซาก

พิงก์แฟรีอาร์มาดิลโลเป็นสัตว์ที่ไม่อาจจะพบเห็นตัวได้ง่าย และเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีข้อมูลน้อยมาก ชาวพื้นเมืองของอาร์เจนตินากล่าวว่า จะพบเห็นได้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้นในแต่ละปี โดยเฉพาะเวลาหลังฝนตก ซึ่งพื้นที่ที่มันอยู่อาศัยนั้นมีปริมาณฝนตกต่อปีน้อยกว่า 200 มิลลิเมตรเสียด้วยซ้ำ พิงก์แฟรีอาร์มาดิลโลจะโผล่ออกมาจากโพรงหลังฝนตก เป็นเพราะน้ำท่วมโพรง และออกมาหาแมลงกินอีกประการหนึ่ง โดยปกติแล้ว พวกมันจะอาศัยและเดินทางในโพรงใต้ดินด้วยการขุดโพรงไปเรื่อย ๆ เหมือนตุ่นสีทองในทวีปแอฟริกา หรือตุ่นมาร์ซูเปียล ที่เป็นสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง ในทะเลทรายของออสเตรเลียตะวันตก[4]

รูปภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. จาก IUCN
  2. จาก itis.gov
  3. Borghi, C. E; Campos, C. M.; Giannoni, S. M.; Campos, V. E.; Sillero-Zubiri, C. (2011). "Updated Distribution of the Pink Fairy Armadillo, Chlamyphorus truncatus, the World's Smallest Armadillo". Sloth and Armadillo Specialist Group. 1: 14–19. doi:10.5537/020.012.0103. hdl:11336/56208.
  4. Pink Fairy Armadillo, "Nick Baker's Weird Creatures". สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: พฤหัสบดีที่ 17 มกราคม 2556

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Chlamyphorus truncatus ที่วิกิสปีชีส์