ข้ามไปเนื้อหา

ลอร์ดชานเซลเลอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลอร์ดชานเซลเลอร์
Lord Chancellor
ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน
ชะบานา มะฮ์มูด
ตั้งแต่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 2024[1]
กระทรวงยุติธรรม
การเรียกขานเดอะไรต์ออนะระเบิล
(ภายในสหราชอาณาจักรและประเทศเครือจักรภพ)
สมาชิกของคณะรัฐมนตรี, สภาองคมนตรี
ผู้แต่งตั้งพระเจ้าแผ่นดิน
(ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี)
ตำแหน่งก่อนหน้า
สถาปนา
คนแรกลอร์ดโคเพอร์ที่ 1
ในฐานะประธานศาลสูงสุดแห่งบริเตนใหญ่
เงินตอบแทน159,038 ปอนด์ต่อปี (ค.ศ. 2022)[2]
(รวมเงินตอบแทนจำนวน 86,584 ปอนด์ที่ได้ในฐานะสมาชิกรัฐสภาด้วย)[3]
เว็บไซต์เว็บไซต์ทางการ

ลอร์ดชานเซลเลอร์[ก] หรือชื่อตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า ลอร์ดไฮชานเซลเลอร์แห่งบริเตนใหญ่[ก] เป็นหนึ่งในเจ้าพนักงานระดับสูงแห่งรัฐที่มีความอาวุโสสูงสุดในประเทศสกอตแลนด์และประเทศอังกฤษภายในสหราชอาณาจักร[ข][ค] ได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้าที่จะมีการตราพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ซึ่งรวมอังกฤษและสกอตแลนด์เป็นราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ ทั้งราชอาณาจักรอังกฤษและราชอาณาจักรสกอตแลนด์ต่างมีตำแหน่งลอร์ดชานเซลเลอร์เป็นของตนเอง ไอร์แลนด์ก็เคยมีตำแหน่งลอร์ดชานเซลเลอร์เช่นกัน จนกระทั่งยกเลิกในปี 1922

ลอร์ดชานเซลเลอร์มีศักดิ์สูงยิ่งกว่านายกรัฐมนตรี บุคคลที่มิใช่เชื้อพระวงศ์ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าลอร์ดชานเซลเลอร์มีเพียงผู้นำคริสตจักรอังกฤษอย่างอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี กล่าวคือลอร์ดชานเซลเลอร์จะเป็นบุคคลแรกที่เดินตามหลังอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี และเป็นผู้ถวายเอกสารให้แก่พระมหากษัตริย์เพื่อทรงอ่านในพิธีการสำคัญ

สมัยกลาง

[แก้]

ในสมัยกลาง ก่อนที่อังกฤษจะมีระบบคณะรัฐมนตรีลอร์ดชานเซลเลอร์เป็นตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ส่วนมากเป็นพระสงฆ์ มีน้อยมากที่เป็นฆราวาส ตำแหน่งนี้เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานที่เรียกว่า chancery (สำนักอาลักษณ์)[4] ทั้งยังเป็นผู้เก็บรักษามหาลัญจกรแผ่นดิน เป็นอธิการโบสถ์หลวง และเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์ทั้งเรื่องฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายศาสนจักร มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมราชสำนัก และต่อมามีบทบาทเป็นประธานสภาขุนนาง

ด้วยเหตุที่ลอร์ดชานเซลเลอร์มีสิทธิ์เข้าประชุมราชสำนัก จึงมีบทบาทในการนำคำอุทธรณ์จากศาลสถิตยุติธรรมในคดีที่เห็นว่าได้รับผลไม่เป็นธรรมจากกฎหมาย ขึ้นถวายต่อองค์กษัตริย์ (เปลี่ยนเป็นต่อรัฐสภาหลังมีมหากฎบัตร)[5]

หน้าที่และอำนาจ

[แก้]
ลอร์ดชานเซลเลอร์ในชุดพิธีการ ในกระเป๋าผ้าคือมหาลัญจกรแผ่นดิน

ปัจจุบันลอร์ดชานเซลเลอร์เป็นสมาชิกของคณะรัฐมนตรีและสภาองคมนตรี มีความรับผิดชอบตรวจตราการทำงานและความเป็นอิสระขององค์กรศาล เป็นผู้เก็บรักษามหาลัญจกรแผ่นดิน เป็นผู้กำกับดูแลกิจการเรือนจำและสถานคุมประพฤติในอังกฤษและเวลส์ และเป็นผู้เสนอแต่งตั้งผู้พิพากษาในอังกฤษ เวลส์ และทั่วสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา ผู้พิพากษาศาลสูงสุด, ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และประธานแผนกคดีในศาลสูง จะได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของลอร์ดชานเซลเลอร์ซึ่งรับคำปรึกษาจากคณะกรรมการแต่งตั้งตุลาการ[6]

ในอดีตลอร์ดชานเซลเลอร์เคยเป็นประธานที่ประชุมสภาขุนนาง เป็นประธานฝ่ายตุลาการแห่งอังกฤษและเวลส์ และศาลแผนกชานเซอรีในระบบศาลสูง อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 2005 ได้โอนบทบาทหน้าที่เหล่านี้ให้แก่ตำแหน่ง ประธานสภาขุนนาง อธิบดีศาลสูง และประธานศาลสูง ตามลำดับแล้ว ไม่เท่านั้น กฎหมายดังกล่าวยังตัดอำนาจของลอร์ดชานเซลเลอร์ ซึ่งเดิมเคยมีสิทธิ์เลือกให้เนติบัณฑิตคนใดเป็นทนายความส่วนพระองค์ (King's Counsel) กฎหมายใหม่กำหนดให้ลอร์ดชานเซลเลอร์มีบทบาทเป็นเพียงผู้ดูแลกระบวนการคัดเลือกรายชื่อเนติบัณฑิตโดยองค์กรอิสระ และให้คำชี้แนะต่อพระมหากษัตริย์ในการเลือกแต่งตั้งทนายความส่วนพระองค์[7]

หมายเหตุ

[แก้]

(อังกฤษ: Lord Chancellor คำเต็มว่า Lord High Chancellor of Great Britain) สำนักงานราชบัณฑิตยสภาบัญญัติคำแปลว่า ประธานศาลสูงสุด[8]

ตามจารีตประเพณีของอังกฤษลอร์ดชานเซลเลอร์มีศักดิ์เป็นรองจากเสวกใหญ่ (Lord High Steward) แต่ตำแหน่งดังกล่าวว่างลงตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้ลอร์ดชานเซลเลอร์กลายเป็นตำแหน่งพลเรือนที่มีศักดิ์สูงสุดในทางปฏิบัติของอังกฤษ อยู่เหนือนายกรัฐมนตรี และประธานองคมนตรี เป็นต้น

ตามจารีตประเพณีของสกอตแลนด์ลอร์ดชานเซลเลอร์มีศักดิ์เป็นรองจากมหาเสวกแห่งสกอตแลนด์ (Great Steward) ซึ่งตำแหน่งมหาเสวกเป็นของรัชทายาทลำดับหนึ่ง ปัจจุบันคือเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ ในกรณีนี้ลอร์ดชานเซลเลอร์ก็ยังคงเป็นตำแหน่งพลเรือนที่มีศักดิ์สูงสุดของสกอตแลนด์

อ้างอิง

[แก้]
  1. Cross, Michael (5 กรกฎาคม 2024). "Shabana Mahmood appointed lord chancellor and justice secretary in Starmer cabinet". Law Gazette. The Law Society. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2024.
  2. "Salaries of Members of His Majesty's Government – Financial Year 2022–23" (PDF). 15 December 2022.
  3. "Pay and expenses for MPs". parliament.uk. สืบค้นเมื่อ 15 December 2022.
  4. Corèdon, Christopher; Williams, Ann (2007). A Dictionary of Medieval Terms and Phrases. D.S. Brewer. p. 66. ISBN 978-1-84384-138-8.
  5. Joseph, Parkes (1828). A History of the Court of Chancery. London: Longman, Rees, Orme, Brown, and Green. pp. 29–30.
  6. "Courts and Legal Services Act 1990". The National Archives. สืบค้นเมื่อ July 18, 2023.
  7. "Constitutional reform: the future of Queen's Counsel" (PDF). The Lord Chancellor, Department for Constitutional Affairs. p. 9. สืบค้นเมื่อ 30 January 2009.
  8. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. "ศัพท์บัญญัติ ๔๐ สาขาวิชา สำนักงานราชบัณฑิตยสภา". สืบค้นเมื่อ 19 June 2023.