ระนาดเอก
ระนาดเอกเป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ที่วิวัฒนาการมาจากกรับ แต่เดิมคงใช้กรับสองอันตีเป็นจังหวะ ต่อมาก็เกิดความคิดว่า ถ้าเอากรับหลาย ๆ อันวางเรียงราดลงไป แล้วแก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน แล้วทำรางรองอุ้มเสียง และใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่าง ๆ กันนั้นให้ติดกัน และขึงไว้บนรางใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง นำตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งมาถ่วงเสียงโดยนำมาติดด้านล่างของไม้กรับทั้งสองฝั่งนั้น ให้เกิดเสียงไพเราะยิ่งขึ้น เรียกไม้กรับที่ประดิษฐ์เป็นขนาดต่างๆกันนั้นว่า ลูกระนาด เรียกลูกระนาดที่ผูกติดกันเป็นแผ่นเดียวกันว่า ผืน บรรเลงในวงปี่พาทย์และวงมโหรี โดยระนาดเอกนี้ทำหน้าที่เป็นเครื่องนำในวงนั้นๆ
ลักษณะทั่วไป
[แก้]ส่วนประกอบหลักๆของระนาดเอก มี 3 ส่วน ได้แก่ ผืน ราง และไม้ตี
ส่วนที่ 1)ผืน ประกอบด้วยลูกระนาด ซึ่งทำด้วย ไม้ชิงชัน หรือไม้แก่น เช่น ไม้ไผ่บง ไม้มะหาด ไม้พะยูงก็ได้ ผืนระนาดไม้เนื้อแข็ง เสียงจะแกร่ง และดังคมชัดเหมาะสำหรับบรรเลงในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง ส่วนผืนระนาดที่ทำจากไม้ไผ่จะให้เสียงที่นุ่มนวล เหมาะสำหรับวงปี่พาทย์ไม้นวมและวงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย ลูกระนาดมีทั้งหมด 21-22 ลูก โดยลูกที่ 22 มีชื่อเรียกว่า ลูกหลีก,ลูกหลิบหรือลูกยอด ที่ท้องของลูกระนาดจะคว้านและใช้ขี้ผึ้งผสมกับตะกั่วถ่วงเพื่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างเสียง โดยเสียงจากผืนระนาดขึ้นอยู่กับส่วนประกอบ 3 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนแรก ขึ้นอยู่กับขนาดใหญ่-เล็ก ของไม้ที่ใช้ทำ ส่วนที่สอง ขึ้นอยู่กับการคว้านท้องไม้ลูกระนาดว่ามาก-น้อยเพียงใด ส่วนที่สามขึ้นกับปริมาณมาก-น้อยของตะกั่วที่ถ่วงใต้ลูกระนาดแต่ละลูก ลูกระนาดทั้งหมดจะถูกเจาะรูเพื่อร้อยเชือก และแขวนบนรางระนาด
ส่วนที่ 2)ราง เป็นส่วนที่เป็นกล่องเสียงของระนาด ทำให้หน้าที่อุ้มเสียง นิยมทำด้วยไม้สักและทาด้วยน้ำมันขัดเงา ปัจจุบันการใช้ระนาดที่ทำด้วยไม้และทาด้วยน้ำมันลดความนิยมลง นักดนตรีนิยมใช้รางระนาดที่แกะสลักลวดลายไทยและลงรักปิดทองเพื่อความสวยงาม บางโอกาส อาจมีการฝังมุก ประกอบงา ซึ่งราคาก็จะสูงตามไปด้วย จากการรณรงค์พิทักษ์สัตว์ป่าที่มีอยู่ทั่วไป รางประกอบงาจึงไม่ได้รับความนิยม รูปร่างระนาดเอกคล้ายเรือบดแต่โค้งเรียวกว่า ตรงกลางของส่วนโค้งมีเท้าที่ใช้สำหรับตั้ง เป็นเท้าเดียวคล้ายพานแว่นฟ้า ปลายทั้งสองข้างของส่วนโค้งเรียกว่า โขน จะมีขอสำหรับห้อยผืนระนาดข้างละ 2 อัน
ส่วนที่ 3)ไม้ระนาด เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้เกิดเสียงโดยตรง มี 2 ชนิด คือ ไม้แข็ง และไม้นวม ไม้แข็งพันด้วยผ้าอย่างแน่น และชุบด้วยยางรักจนเกิดความแข็งเมื่อตีจะมีเสียงดัง และคมชัด เหมาะกับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงปี่พาทย์มอญ และวงปี่พาทย์นางหงส์ ส่วนไม้นวม เป็นไม้ตีระนาดที่พันด้วยผ้า และใช้ด้ายรัดหลาย ๆ รอบเพื่อความสวยงาม มีเสียงนุ่มนวล บรรเลงในวงปี่พาทย์ไม้นวม วงมโหรี(ทุกส่วนประกอบจะมีขนาดเล็กกว่า) วงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย และวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์
ขนาดของระนาดเอก ลูกต้นมีขนาด 39 ซม กว้างราว 5 ซม และหนา 1.5 ซม มีขนาดลดหลั่นลงไปจนถึงลูกที่ 21 หรือลูกยอดที่มีขนาด 29 ซม เมื่อนำผืนระนาด มาแขวนบนรางแล้ว หากวัดจากโขนหัวรางข้างหนึ่งไปยังโขนหัวรางอีกข้างหนึ่ง จะมีความยาวประมาณ 120 ซม
การฝึกหัดบรรเลง
[แก้]ท่านั่ง
[แก้]ท่านั่งที่นิยมในการบรรเลงระนาดเอกมี 2 ลักษณะ คือ การนั่งขัดสมาธิ และนั่งพับเพียบ โดยท่านั่งแบบขัดสมาธิถือเป็นท่านั่งที่เหมาะสมสำหรับการบรรเลงระนาดเอกมากที่สุด เพราะเป็นท่านั่งที่มีความเป็นธรรมชาติ มีความสะดวก ผ่อนคลาย ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบรรเลงได้ดีที่สุด
การจับไม้
[แก้]ให้ก้านของไม้ระนาดอยู่ในร่องของอุ้งมือ นิ้วทุกนิ้วช่วยควบคุมการจับไม้ มือทั้งสองคว่ำลง ข้อศอกทำมุมฉาก ตำแหน่งแขนซ้ายและขวาขนานกัน ตำแหน่งของนิ้วอาจแตกต่างกันบ้าง แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
การจับแบบปากกา
[แก้]ตำแหน่งของนิ้วชี้อยู่บนไม้ระนาด การเริ่มฝึกหัดระนาดเอกควรฝึกหัดโดยลักษณะนี้ ซึ่งนอกจากมีความงดงามแล้วยังมีความสะดวกและมีประสิทธิภาพสูงในการสร้างเสียง
การจับแบบปากไก่
[แก้]ตำแหน่งของนิ้วชี้จะตกไปอยู่ด้านตรงข้ามกับนิ้วหัวแม่มือ ก้านของไม้ระนาดอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างปลายนิ้วกับข้อบนของนิ้ว
การจับแบบปากนกแก้ว
[แก้]ตำแหน่งของก้านไม้ระนาดอยู่ในตำแหน่งเส้นข้อนิ้วของข้อบน
ตำแหน่งของเสียง
[แก้]เมื่อเปรียบเทียบระนาดเอกกับเครื่องดนตรีไทยชนิดอื่น ระนาดเอกเป็นเครื่องดนตรีที่มีระดับเสียงมากที่สุด โดยมีจำนวน 21-22 ระดับเสียง ความที่มีจำนวนระดับเสียงถึง 21-22 เสียง ทำให้มีความกว้างของระดับเสียงครอบคลุมถึง 3 ช่วงทบเสียง ส่งผลให้การเดินทำนองของเสียงเป็นไปอย่างไม่ซ้ำซากจำเจอยู่ที่ช่วงระดับเสียงใดเสียงหนึ่ง
หลักการตีระนาด
[แก้]หลักปฏิบัติทั่วไป
[แก้]1. ตีตรงกลางลูกระนาด
2. การเคลื่อนของมือ โดยที่มือซ้ายและมือขวาต้องอยู่ในแนวขนานกัน ตำแหน่งของหัวไม้อยู่กึ่งกลางลูกระนาด และเอียงตามทิศทางของผืนระนาด
3. การยกไม้ เสียงของระนาดเอกจะดังมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับพลังในการตี ควรยกไม้ระนาดให้สูงจากผืนระนาดประมาณ 6 นิ้วสำหรับตีฉาก และ 2 นิ้วสำหรับตีสิม
4. น้ำหนักมือ ต้องลงน้ำหนักของมือซ้ายและมือขวาให้เท่ากัน
ลักษณะการตีระนาด
[แก้]1.ตีฉาก
2.ตีสิม
3.ตีครึ่งข้อครึ่งแขน
4.ตีข้อ
วิธีการตีระนาด
[แก้]1.การเก็บ
2.ตีกรอ
3.ตีสะบัด
4.ตีรัว
5.ตีกวาด
6.ตีขยี้
นักระนาดเอกที่มีชื่อเสียง
[แก้]1. พระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร)
5. พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน)
6. พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)
7. หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
8. พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต)
9. หลวงชาญเชิงระนาด (เงิน ผลารักษ์)
อ้างอิง
[แก้]- แนะนำเครื่องดนตรีไทย จากเว็บดนตรีไทย.คอม
- [1] เก็บถาวร 2011-01-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ