ข้ามไปเนื้อหา

จะเข้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จะเข้
จะเข้ของประเทศไทย
ชื่ออื่นตะเข้
ประเภท เครื่องดีด
นักดนตรี
หลวงว่องจะเข้รับ (โต กมลวาทิน)
จะเข้ของมอญ ในวัดพุทธมอญ เมืองฟอร์ตเวย์น, รัฐอินดีแอนา, สหรัฐ
จะเข้ของกัมพูชา

จะเข้ (มอญ: ကျာံ, /cam/; ออกเสียง "จยาม"[1]) เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีด มี 3 สาย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากมอญ[2][3][4][1] และได้ปรับปรุงแก้ไขมาจากกระจับปี่ซึ่งมี 4 สาย นำมาวางดีดกับพื้นเพื่อความสะดวก มีประวัติและมีหลักฐานครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา จะเข้ได้นำเข้าร่วมบรรเลงเป็นเครื่องนำอยู่ในวงมโหรีคู่กับกระจับปี่ในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้นิยมเล่นจะเข้กันมาก ทำให้กระจับปี่ค่อย ๆ หายไปในปัจจุบัน เนื่องจากหาผู้เล่นเป็นน้อย

ตัวจะเข้ทำเป็นสองตอน คือตอนหัวและตอนหาง โดยลักษณะทางตอนหัวเป็นกระพุ้งใหญ่ ทำด้วยไม้แก่นขนุน หนาประมาณ 12 ซม. ยาวประมาณ 52 ซม. และกว้างประมาณ 11.5 ซม. ท่อนหัวและท่อนหางขุดเป็นโพรงตลอด รวมทั้งสิ้นมีความยาวประมาณ 130 – 132 ซม. ปิดใต้ทองด้วยแผ่นไม้ มีเท้ารองตอนหัว 4 เท้า และตอนปลายปางอีก 1 เท้า วัดจากปลายเท้าถึงตอนบนของตัวจะเข้ สูงประมาณ 19 ซม. ทำหลังนูนตรงกลางให้สองข้างลาดลง โยงสายจากตอนหัวไปทางตอนหางเป็น 3 สาย มีลูกบิดประจำสายละ 1 อัน สาย 1 ใช้เส้นลวดทองเหลือง อีก 2 สายใช้เส้นเอ็น มีหย่องรับสายอยู่ตรงปลายหางก่อนจะถึงลูกบิด ระหว่างตัวจะเข้มีแป้นไม้เรียกว่า นม รองรับสายติดไว้บนหลังจะเข้ รวมทั้งสิ้น 11 อัน เพื่อไว้เป็นที่สำหรับนิ้วกดนมแต่ละอันสูง เรียงลำดับขึ้นไป ตั้งแต่ 2 ซม. จนสูง 3.5 ซม.

เวลาบรรเลงใช้ดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลมทำด้วยงาช้างหรือกระดูกสัตว์ เคียนด้วยเส้นด้ายสำหรับพันติดกับปลายนิ้วชี้ข้างขวาของผู้ดีด และใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลางช่วยจับให้มีกำลัง เวลาแกว่งมือส่ายไปมา ให้สัมพันธ์ กับมือข้างซ้ายขณะกดสายด้วย ไม้ดีดควรยาวประมาณ 7-8 เซนติเมตร มีสายยาวประมาณ 45 เซนติเมตร

จะเข้ส่วนมากทำหน้าที่เป็นเครื่องนำในวงเครื่องสาย วงมโหรี เดินทำนองหลักคล้ายระนาดเอก แต่ไม่เล่นเก็บถี่เท่าระนาดเอก

สายของจะเข้

[แก้]

สายของจะเข้นั้นจะมีอยู่ 3 สาย ส่วนใหญ่ทำมาจากไหมหรือเอ็น สามารถแบ่งได้ดังนี้

  • สายที่อยู่ทางด้านนอกสุดของจะเข้ มีชื่อเรียกว่า สายเอก ทำมาจากไหมหรือเอ็น สายเปล่าเป็นเสียงโด ไล่ไปจนถึงนมที่ 11 เป็นเสียงซอลสูง
  • สายที่อยู่ตรงกลาง มีชื่อเรียกว่า สายทุ้ม ทำมาจากไหมหรือเอ็น สายเปล่าเป็นเสียงซอลต่ำ ไล่ไปจนถึงนมที่ 11 เป็นเสียงเรสูง
  • สายที่อยู่ติดกับตัวผู้เล่นจะเข้ มีชื่อเรียกว่า สายลวด เป็นสายที่ทำมาจากลวดทองเหลือง สายเปล่าเป็นเสียงโดต่ำ ไล่ไปจนถึงนมที่ 11 เป็นเสียงซอล

ครูจะเข้ ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน

[แก้]

ดนตรีไทยนั้นมีการสืบทอดมาเป็นรุ่นสู่รุ่น เช่นเดียวกับวิชาการด้านอื่น ๆ นั่นคือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเครื่องดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ จะเรียกว่า "คน" เครื่องดนตรีนั้น ๆ เช่น สมชายเป็นคนซอด้วง ก็หมายความว่า นายสมชาย เป็นคนที่มีความถนัด หรือมีความเชี่ยวชาญในการเล่นเครื่องดนตรี ซอด้วงมากกว่าเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ ซึ่งในสมชายอาจจะสามารถเล่นเครื่องดนตรีอื่น ๆ ได้ เช่น เล่นซออู้, เล่นจะเข้ เป็นต้น

ครูจะเข้ หมายถึง ครูที่เป็นคนจะเข้ คือเป็นผู้ที่มีความถนัด มีความรู้ความชำนาญในการเล่นจะเข้โดยเฉพาะ ซึ่งตั้งแต่อดีต อาจกล่าวย้อนไปถึงสมัยรัชกาลที่ 6 คือ "หลวงว่องจะเข้รับ" (โต กมลวาทิน)

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 จะเข้ในบริบทสังคมไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  2. "ประวัติและความเป็นมาของจะเข้ สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง เล่ม ๓ พ.ศ. ๒๕๔๒". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-19. สืบค้นเมื่อ 2017-08-18.
  3. ดนตรีมอญในพม่าว่าด้วย"จะเข้"
  4. "เครื่องดนตรีไทย จะเข้ (เครื่องดีด)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-26. สืบค้นเมื่อ 2017-08-18.