ปี่ชวา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปี่ชวา

ปี่ชวา เป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่งที่มีลิ้น เข้าใจว่าเมืองไทยรับมาในคราวเดียวกับกลองแขก ส่วนประกอบของปี่ชวามีดังนี้

  • ตัวเลา ทำด้วยไม้จริง ๆ แบ่งเป็น 2 ท่อน ท่อนแรกเรียกว่า"เลาปี่" กลึงให้กลมเรียวยาว ภายในโปร่งตลอด ตอนโคนกลึงให้ใหญ่เล็กน้อย มีลูกแก้วคั่น ท่อนบนของลำปี่ ใต้ลูกแก้วเจาะรู 7 รูเรียงตามลำดับ สำหรับปิดเปิด และมี"รูนิ้วค้ำ" อยู่ด้านหลังใกล้กับลูกแก้ว อีกท่อนหนึ่งเรียกว่า"ลำโพงปี่" ทำด้วยไม้จริง กลึงให้กลมเรียว ปลายบานเหมือนดอกลำโพง ภายในโปร่ง ตอนกลางกลึงเป็นลูกแก้วคั่น ตอนบนจะหุ้มด้วยแผ่นโลหะบาง ๆ โดยรอบ สวมรับกับตัวลำปี่ได้พอดี
  • ลิ้นปี่ ทำด้วยใบตาลแก่ ตัดพับซ้อนกันเป็น 4 กลีบ สอดใส่ที่ปลาย"กำพวด" ซึ่งทำด้วยโลหะกลมเล็กยาว ภายในโปร่ง ผูกด้วยเชือกเส้นเล็กๆด้วยเงื่อนตะกรุดเบ็ด เคียนด้วยด้ายที่โคนกำพวด เพื่อสอดใส่ให้แน่นในรูปี่ เฉพาะลิ้นปี่ชวาจะมี"กะบังลม"ซึ่งทำด้วยไม้หรือกะลา บางกลม สำหรับรองรับริมฝีปากขณะเป่า สำหรับตัวเลาปี่ชวา นอกจากจะทำด้วยไม้แล้ว ยังสามารถทำให้สวยงามด้วยงาทั้งเลา หรือทำด้วยไม้ประดับงา

ปี่ชวาใช้ในการบรรเลงในวงบัวลอย วงปี่พาทย์นางหงส์ และวงเครื่องสายปี่ชวา นอกจากนี้ปี่ชวายังใช้ในการเป่าประกอบการรำกระบี่กระบองและการชกมวย