มงกุฎแห่งสกอตแลนด์
มงกุฎแห่งสกอตแลนด์ Crown of Scotland | |
---|---|
มงกุฎแห่งสกอตแลนด์ในรัฐพิธีการเปิดประชุมสภาของสกอตแลนด์ ในปีค.ศ. 2011 | |
ตราสัญลักษณ์ | |
รายละเอียด | |
สำหรับ | สกอตแลนด์ |
ผลิตเมื่อ | ค.ศ. 1540 |
ผู้ครอบครอง | พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร |
น้ำหนักสุทธิ | 1.64 กิโลกรัม (3 ปอนด์ 10 ออนซ์) |
จำนวนโค้ง | 2 โค้ง |
วัตถุดิบหลัก | ทองคำ |
วัสดุซับใน | กำมะหยี่สีแดงกรุขอบด้วยขนเออร์มิน |
อัญมณีสำคัญ | อัญมณี 22 เม็ด รัตนชาติ 20 เม็ด ไข่มุกน้ำจืดสกอตแลนด์ 68 เม็ด |
องค์ประกอบอื่นๆ | ยอดทรงกางเขนประดับไข่มุก |
มงกุฎแห่งสกอตแลนด์ (อังกฤษ: The Crown of Scotland) เป็นมงกุฎที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์สกอตแลนด์ โดยได้ทำการจัดสร้างขึ้นใหม่เลียนแบบของเดิมที่ทรงโดยพระเจ้าเจมส์ที่ 5 แห่งสกอตแลนด์เมื่อปีค.ศ. 1540 มงกุฎองค์นี้ถือเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสกอตแลนด์ และยังเป็นถือเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักรที่เก่าแก่ที่สุด โดยปรากฎหลักฐานจากพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์ ซึ่งปรากฎในหนังสือกำหนดเทศกาล (Book of Hours) เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับมาร์กาเร็ต ทิวดอร์
การจัดสร้าง
[แก้]ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1540 พระเจ้าเจมส์ที่ 5 ได้ทรงมีพระราชบัญชาให้จอห์น มอสแมน ช่างทองประจำราชสำนักทำการปรับแต่งมงกุฎแห่งสกอตแลนด์ โดยมงกุฎองค์เดิมนั้นมีลักษณะบอบบาง และถูกซ่อมแซมอย่างน้อยสองครั้งภายในรอบ 30 ปี และจากการตรวจนับใหญ่ในปีค.ศ. 1539 ก็ได้พบว่ามีการชำรุดเพิ่มขึ้นโดยมีชิ้นส่วนเฟลอ-เดอ-ลีส์สูญหายไปจำนวน 1 ชิ้น โดยได้มีการบูรณะโดยการแยกชิ้นส่วนของมงกุฎองค์เดิม แยกอัญมณีและรัตนชาติออก โดยส่วนที่เป็นโลหะได้นำไปหลอมใหม่ โดยเพิ่มน้ำหนักทองคำเพิ่มขึ้นอีกถึง 41 ออนซ์
องค์มงกุฎทำจากทองคำ โดยมีส่วนประกอบคือบริเวณฐาน ซึ่งทำเป็นรูปดอกลิลลี หรือเฟลอ-เดอ-ลีส์ สลับกับใบสตรอเบอร์รี่สี่แฉก มีส่วนโค้งเหนือฐานทั้งหมด 4 ด้านทำจากทองคำและรูปใบโอ้คสีแดง บริเวณเหนือส่วนตัดตรงกลางมงกุฎเป็นลูกโลกทองคำทาสีฟ้าประดับด้วยดาวทำจากทองคำ เหนือลูกโลกเป็นยอดกางเขนขนาดใหญ่ตกแต่งด้วยไข่มุกและทองคำ มงกุฎทั้งองค์ประกอบด้วยอัญมณีถึง 22 เม็ด รวมถึงโกเมนและแอเมทิสต์ รัตนชาติ 20 เม็ด และไข่มุกน้ำจืดของสกอตแลนด์จำนวน 68 เม็ด
พระเจ้าเจมส์ที่ 5 ได้มีพระราชบัญชาให้ใช้ขนเออร์มินสีม่วงจากช่างตัดเสื้อ โธมัส อาร์เธอร์แห่งเอดินบะระบุทำเป็นหมวกด้านใน ต่อมาพระเจ้าเจมส์ที่ 7 ได้มีพระราชบัญชาให้เปลี่ยนเป็นสีแดง ต่อมาได้มีการเปลี่ยนหมวกด้านในบ่อยครั้ง และในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนในปีค.ศ. 1993 มงกุฎทั้งองค์มีน้ำหนักทั้งสิ้น 1.64 กิโลกรัม (3 ปอนด์ 10 ออนซ์)
การใช้งาน
[แก้]มงกุฎได้ถูกใช้สวมโดยพระเจ้าเจมส์ที่ 5ในงานพระราชพิธีสถาปนามารีแห่งกีซ พระมเหสีพระองค์ที่สองขึ้นเป็นพระราชินีในปีเดียวกันกับการจัดสร้างมงกุฎ และต่อมาได้ใช้สวมในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีในปีค.ศ. 1643 และในงานบรมราชาภิเษกของพระเจ้าเจมส์ที่ 6 ในปีค.ศ. 1567
ในช่วงที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ประจำราชบัลลังก์สกอตแลนด์อันสืบเนื่องมาจากพระราชบัญญัติการรวมราชบัลลังก์ ค.ศ. 1603 เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 6ได้รับพระราชบัลลังก์ของอังกฤษ และทรงย้ายจากเอดินบะระไปประทับที่ลอนดอน มงกุฎนี้ได้ใช้ประดับเป็นองค์ประธานที่รัฐสภาแห่งสกอตแลนด์เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์
มงกุฎนี้ได้ใช้สวมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ในปีค.ศ. 1633 และพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ในปีค.ศ. 1651 เป็นพระองค์สุดท้ายที่ทรงมงกุฎนี้ในพระราชพิธี
ในช่วงสงครามกลางเมือง โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ได้พยายามที่จะค้นหาและทำลายเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสกอตแลนด์ ซึ่งรวมถึงมงกุฎองค์นี้ แต่ก็ได้ถูกเก็บซ่อนไว้อย่างดีจนกระทั่งมีการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ในปีค.ศ. 1660
ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 มีผลบังคับใช้ ซึ่งมีผลทำให้ทั้งสองราชอาณาจักรรวมกันเป็นราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ ทำให้มงกุฎองค์นี้ไม่มีบทบาทในการใช้บรมราชาภิเษกตามบทบัญญัติของรัฐสภาแห่งราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ จึงทำให้มงกุฎองค์นี้ถูกย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่ปราสาทเอดินบะระ โดยได้ถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลาจนกระทั่งปีค.ศ. 1818 เซอร์วอลเตอร์ สกอตต์ ได้รับหน้าที่ค้นหามงกุฎองค์นี้ ได้พบว่าถูกเก็บรักษาไว้ในหีบสมบัติใบหนึ่ง และได้นำขึ้นจัดแสดงที่ห้องเก็บรักษาภายในปราสาทเอดินบะระ ซึ่งจะถูกเชิญออกมาเฉพาะในงานรัฐพิธีสำคัญเท่านั้น โดยในครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1822 โดยได้นำมงกุฎขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าจอร์จที่ 4 ที่พระราชวังฮอลีรูด ในระหว่างที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนสกอตแลนด์ในครั้งนั้น ซึ่งถือว่าเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสกอตแลนด์โดยพระมหากษัตริย์ที่ทรงราชย์อยู่เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปีค.ศ. 1651 เป็นต้นมา
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1953 มงกุฎแห่งสกอตแลนด์ได้ถูกเชิญมาภายหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยถือนำหน้าพระองค์ในขบวนประกอบพระบรมราชอิสริยยศ โดยร่วมในขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคจากพระราชวังฮอลีรูด ไปยังอาสนวิหารเซนต์กิลส์แห่งเอดินบะระ ซึ่งได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสกอตแลนด์ให้กับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในระหว่างพิธีขอบคุณพระเจ้า
โดยครั้งล่าสุด มงกุฎแห่งสกอตแลนด์ ได้ถูกเชิญขึ้นเป็นองค์ประธานในรัฐพิธีเปิดประชุมสภาสกอตแลนด์ในปีค.ศ. 1999[1] และพิธีเปิดอาคารรัฐสภาแห่งสกอตแลนด์แห่งใหม่ในปีค.ศ. 2004[2] โดยเมื่อมีการเชิญมงกุฎ จะถูกเชิญโดยดยุกแห่งแฮมิลตัน ซึ่งโดยตามบรรดาศักดิ์แล้วเป็นผู้ถือมงกุฎแห่งสกอตแลนด์ โดยจะเดินนำหน้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในพระราชพิธีสืบเนื่องมาจากโบราณที่ใช้ในการเปิดประชุมสภาที่เรียกว่า Riding of Parliament