มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด
St Edward's Crown

มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด
ตราสัญลักษณ์
รายละเอียด
สำหรับ อังกฤษ (จนกระทั่งค.ศ. 1707)
 สหราชอาณาจักร (ค.ศ. 1707-ปัจจุบัน)
ผลิตเมื่อค.ศ. 1661
ผู้ครอบครองพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร
น้ำหนักสุทธิ2.3 กิโลกรัม
จำนวนโค้ง2 โค้ง
วัตถุดิบหลักทองคำ 22 กะรัต
วัสดุซับในกำมะหยี่สีม่วงกรุขอบด้วยขนเออร์มิน
องค์ก่อนหน้ามงกุฎทิวดอร์

มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด (อังกฤษ: St. Edward's Crown) เป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักรและเป็นกกุธภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่ง โดยเรียกชื่อตามพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี โดยใช้เป็นมงกุฎราชาภิเษก (Coronation crown) อย่างเป็นทางการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา

มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดองค์ปัจจุบันสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1661 โดยมีลักษณะคล้ายกับมงกุฎองค์เดิมโดยต่างเพียงแค่ส่วนโค้งซึ่งทำแบบศิลปะบารอกแทน ซึ่งใช้สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ทำจากทองคำสูง 30 ซม. หนัก 2.23 กิโลกรัม ประดับด้วยอัญมณีและรัตนชาติกว่า 444 ชิ้น โดยสร้างขึ้นแทนมงกุฎองค์เดิมที่ถูกทำลายในสมัยของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ระหว่างสงครามกลางเมือง และเชื่อกันว่าเป็นมงกุฎที่สร้างเลียนแบบมงกุฎของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขีที่มีองค์ประกอบบางส่วนมาจากมงกุฎของสมเด็จพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช[1]

ภายหลังจากปีค.ศ. 1689 มงกุฎองค์นี้ไม่ได้ถูกใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเลยกว่า 200 ปี โดยในปีค.ศ. 1911 พระเจ้าจอร์จที่ 5 ได้รื้อฟื้นการใช้มงกุฎองค์นี้ในพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และถือปฏิบัติต่อเนื่องเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (ยกเว้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8) โดยมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดได้นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ประกอบตราอาร์ม และตราสัญลักษณ์ต่างๆ ในประเทศในราชอาณาจักรเครือจักรภพเพื่อแสดงถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดปัจจุบันถูกเก็บรักษาอยู่ที่หอคอยแห่งลอนดอนร่วมกับมงกุฎอิมพีเรียลสเตตและเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ

มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดองค์เดิม[แก้]

มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด (องค์เดิม)

มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดองค์เดิมทรงสวมโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเมื่อวันคริสต์มัส ค.ศ. 1065 และว่ากันว่าเป็นมงกุฎที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ในวันคริสตมาสปีต่อมา ค.ศ. 1066 เพื่อเป็นการแสดงว่าทรงสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมิใช่ด้วยการพิชิตอังกฤษของพระองค์ และใช้กันต่อมาในบรรดาพระมหากษัตริย์นอร์มันจนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ผู้ทรงได้รับการสวมมงกุฎครั้งแรกโดยบาทหลวงแห่งวินเชสเตอร์ที่กลอสเตอร์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1216[2]

มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดองค์ปัจจุบัน[แก้]

สร้างขึ้นสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ว่ากันว่าบางส่วนสร้างจากทองจากมงกุฎเดิมที่ถูกทำลายโดยครอมเวลล์ และมีไข่มุกที่เป็นของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 มงกุฎที่ถูกทำลายอาจจะเป็นมงกุฎที่สร้างเลียนแบบมงกุฎของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพที่ไม่ใช่มงกุฎเดิมที่หายไปในสมัยของสมเด็จพระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษในปี ค.ศ. 1216[3] แต่แสตนลีย์อ้างว่าเครื่องราชกกุธภัณฑ์มีอยู่จน ค.ศ. 1642 และเก็บไว้ที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์จนกระทั่งถึงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8.[4]

ตัวมงกุฎบนฐานประกอบด้วยกางเขนแพตตี สี่กางเขนที่ฐานสลับกับสัญลักษณ์ดอกลิลลีจำนวนสี่ดอก เหนือจากฐานขึ้นไปเป็นโค้งสองโค้งที่มีกางเขนอยู่ข้างบน ตรงกลางมงกุฎเป็นหมวกกำมะหยี่ที่มีขอบเป็นขนเออร์มิน เดิมประดับด้วยอัญมณีที่เช่ามาเฉพาะเมื่อมีการราชาภิเษก โดยเมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีก็ถอดคืนเหลือแต่โครงมงกุฎเปล่าๆ และแต่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1911 เป็นต้นมาก็ได้มีการฝังอัญมณีอย่างถาวร ประกอบด้วยอัญมณี 444 ชิ้น ประกอบด้วยอะความารีนทรงกุหลาบ 345 เม็ด โทปาซสีขาว 37 เม็ด ทัวร์มาลีน 27 เม็ด ทับทิม 12 เม็ด แอเมทิสต์ 7 เม็ด ไพลิน 6 เม็ด เพทาย 2 เม็ด โกเมน 1 เม็ด ทับทิมสปิเนล 1 เม็ด และคาร์บันเคิล 1 เม็ด ไข่มุกเทียมบริเวณส่วนโค้งด้านบนและบริเวณฐานของมงกุฎได้ถูกเปลี่ยนเป็นทอง ซึ่งในสมัยนั้นใช้วัสดุเป็นทองคำเคลือบแพลตตินัม[5] โดยได้ถูกสร้างให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้เข้ากับพระเจ้าจอร์จที่ 5 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดเป็นพระองค์แรกในรอบ 200 ปี


พระราชพิธีบรมราชาภิเษก[แก้]

มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดใช้ทรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรจำนวนเจ็ดพระองค์ ได้แก่ พระเจ้าชาลส์ที่ 2 (ค.ศ. 1661), พระเจ้าเจมส์ที่ 2 (ค.ศ. 1685), พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษ (ค.ศ. 1689), พระเจ้าจอร์จที่ 5 (ค.ศ.1911), พระเจ้าจอร์จที่ 6 (ค.ศ.1937), สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (ค.ศ. 1953) และ สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 (ค.ศ. 2023)

สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 และสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ ได้เลือกทรงมงกุฎเพชรของพระองค์เอง พระเจ้าจอร์จที่ 1 พระเจ้าจอร์จที่ 2 พระเจ้าจอร์จที่ 3 และพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 ได้เลือกทรงมงกุฎพระเจ้าจอร์จที่ 1 ส่วนพระเจ้าจอร์จที่ 4 ทรงมงกุฎราชาภิเษกองค์ใหญ่ที่จัดสร้างขึ้นใหม่สำหรับพระองค์เอง

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ทรงเลือกทรงมงกุฎอิมพีเรียลสเตท ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแทนมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดเนื่องจากน้ำหนักซึ่งหนักถึงสองกิโลกรัมกว่าๆ (2,155 กรัม)

ในกรณีที่ไม่ได้ใช้มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดทรงในระหว่างพระราชพิธี มงกุฎจะถูกเชิญไว้บนแท่นบูชาในระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ไม่พบการปฏิบัติเช่นนี้ในคราของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย[6]

ก่อนหน้าค.ศ. 1649 ในพระราชพิธีบรมราชภิเษก พระมหากษัตริย์จะทรงมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดองค์เดิม และจะเปลี่ยนไปทรงมงกุฎองค์อื่นๆ ในระหว่างพระราชพิธี

หลังจากปี ค.ศ. 1689 มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดมิได้ถูกใช้ในการราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรนานกว่าสองร้อยปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1911 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงเลือกมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดในพระราชพิธีราชาภิเษก นับตั้งแต่นั้นมุงกุฏก็ได้ถูกใช้มาตลอดจนถึงรัชสมัยปัจจุบัน

ตราสัญลักษณ์[แก้]

ตราสัญลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยปรากฏสัญลักษณ์มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดอยู่ด้านบนอักษรย่อพระบรมนามาภิไธย

มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดใช้เป็นสัญลักษณ์ปรากฏในตราสัญลักษณ์ ตราอาร์ม และตราอื่นๆ ใช้สำหรับราชอาณาจักรเครือจักรภพ (Commonwealth Realms) โดยแสดงออกซึ่งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 โดยมีพระบรมราชโองการ[7]ใช้ตรามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดแทนตรามงกุฎทิวดอร์ (ซึ่งใช้ตั้งแต่ค.ศ. 1902) นับตั้งแต่ปีที่ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นต้นมา อนึ่งการใช้ตราสัญลักษณ์มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตเท่านั้น[8][9]

อ้างอิง[แก้]

  1. King-Hall 1936-37.
  2. Arthur Penrhyn Stanley, Historical Memorials of Westminster Abbey (London, John Murray 1876 (4th Edn)), 42-54.
  3. This theory is referred to by Stanley 1876, p. 54, citing vol. I of a work by Reinhold Pauli, (presumably his continuation of J. M. Lappenberg's Geschichte von England, 1154-1509 (Henry II to Henry VII), (Gotha 1853-1858)), p. 489.
  4. Stanley 1876, pp. 45, and 458-459.
  5. Tessa Rose (1992). The Coronation Ceremony and the Crown Jewels. HM Stationery Office. p. 29. ISBN 978-0-117-01361-2.
  6. Kenneth J. Mears; Simon Thurley; Claire Murphy (1994). The Crown Jewels. Historic Royal Palaces Agency. p. 23. ASIN B000HHY1ZQ.
  7. "Victorian Coat of Arms". Victoria State Government. สืบค้นเมื่อ 15 December 2015.
  8. "Royal Crown and Cypher". Government of Canada. Canadian Heritage. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-20. สืบค้นเมื่อ 3 December 2016.
  9. "Symbols of Canada" (PDF). Department of Canadian Heritage. 2010. p. 2. สืบค้นเมื่อ 3 December 2016.
  • Stephen King-Hall, The Crowning of the King and Queen (London: Evans Brothers (Russell Square), 1936-1937), Plate 1 and caption, facing p. 4.

ดูเพิ่ม[แก้]